ศาลชี้ 2 ศพเสื้อแดง ถูกยิงหน้าร.ร.สตรีวิทยา ตายจากกระสุนปืนฝั่งทหาร

ข่าวสด 30 กันยายน 2556


 

“จรูญ ฉายแม้น-สยาม วัฒนนุกูล”

 เมื่อเวลา 10.45 น. วันที่ 30 ก.ย. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอ่านคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพ คดีคดีหมายเลขดำที่ ช.13/2555 ที่พนักงานอัยการ สำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายจรูญ ฉายแม้น ผู้ตายที่ 1 และนายสยาม วัฒนนุกูล ผู้ตายที่ 2 โดยถูกยิงเสียชีวิตหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ ในเหตุการณ์สลายม็อบแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 ที่น่าเชื่อว่าเป็นการตายที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ เพื่อมีคำสั่งว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อใด เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150

 ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของผู้ร้องแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อระหว่างวันที่ 12 มี.ค.2553 - 19 พ.ค.2553 มีกลุ่มบุคคลจำนวนมากร่วมชุมนุมกันในกรุงเทพมหานคร โดยใช้ชื่อว่า กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่ในการชุมนุมดังกล่าวมีกลุ่มบุคคลจำนวนหนึ่งดำเนินการก่อความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ

 ต่อมาวันที่ 7 เม.ย. รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง นายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งที่ พิเศษ 1/2553 จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. โดยมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ และมีคำสั่งที่ พิเศษ 2/2553 แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบ และพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

 ศาลอ่านคำสั่งต่อว่า ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงนั้น ศอฉ.ได้ออกข้อกำหนดห้ามการกระทำต่างๆ เพื่อให้เจ้าพนักงานสามารถปฏิบัติหน้าที่แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้ โดยเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 เจ้าพนักงานซึ่งมีอาวุธประจำกาย คือ ปืนเล็กยาว เอ็ม 16 เอชเค 33 ทาโวร์ และปืนลูกซองยาว ได้รับคำสั่งจาก ศอฉ.ให้ปฏิบัติหน้าที่ขอคืนพื้นที่ชุมนุมของกลุ่ม นปช. บริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เพื่อเปิดเส้นทางการจราจรจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถึงสี่แยกคอกวัว

 ขณะที่เจ้าพนักงานเคลื่อนกำลังพลขอคืนพื้นที่ชุมนุมภายในวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ได้ตั้งแนวป้องกันบนถนนดินสอ บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา และเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณรอยต่อระหว่างหัวถนนดินสอกับวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งขัดขวางไม่ให้เจ้าพนักงานยึดพื้นที่การชุมนุมคืน จดเกิดการปะทะผลักดันกันไปมาตั้งแต่เวลา 16.30-19.30 น. โดยระหว่างนั้นมีเสียงปืนดังเป็นระยะ

 ศาลระบุอีกว่า กระทั่งเวลา 20.30 น. มีบุคคลขว้างระเบิดเข้าไปยังแนวป้องกันของเจ้าพนักงานบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานถึงแก่ความตาย และได้รับบาดเจ็บหลายนาย เจ้าพนักงานจึงถอยร่นจากแนวป้องกันบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาไปบริเวณซอยข้างวัดบวรนิเวศใกล้สี่แยกสะพานวันชาติ โดยผู้ชุมนุมบางส่วนรวมถึงนายจรูญ ฉายแม้น ผู้ตายที่ 1 และนายสยาม วัฒนุกูล ผู้ตายที่ 2 ได้ติดตามเจ้าพนักงานที่ถอยร่นเข้าไปด้วย ระหว่างนั้นเจ้าพนักงานใข้อาวุธปืนยิงมาทางผู้ชุมนุมที่ติดตามเข้าไป มีผู้เห็นผู้ตายทั้งสองล้มลงบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา และมีอาสาสมัครกู้ภัยนำผู้ตายทั้งสองส่งโรงพยาบาลกลาง และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในประการแรกว่า เหตุและพฤติการณ์แห่งการตายของผู้ตายทั้งสองเป็นอย่างไร เห็นว่า ผู้ร้องมีประจักษ์พยาน 4 ปาก อยู่ในที่เกิดเหตุบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ต่างเบิกความยืนยันว่า เห็นประกายไฟจากปากกระบอกปืนและได้ยินเสียงปืนจากทางฝ่ายเจ้าพนักงานที่ถอยร่นจากแนวป้องกันบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาไปบริเวณซอยข้างวัดบวรนิเวศใกล้สี่แยกสะพานวันชาติ ขณะนั้นประจักษ์พยานสองปากเห็นผู้ตายทั้งสองล้มลงบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ส่วนประจักษ์พยานอีกสองซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวและอาสาสมัครกู้ภัย ต่างได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนขณะที่อยู่บริเวณเดียวกันกับผู้ตายทั้งสอง ซึ่งทั้งสองปากเป็นพยานคนกลางไม่มีส่วนได้เสียกับผู้ใด จึงเชื่อว่าพยานทั้งสี่เบิกความตามความจริงที่ได้รู้เห็นมา

 ประกอบกับไดัความจากแพทย์นิติเวชที่ร่วมกันชันสูตรศพของผู้ตายทั้งสอง ยืนยันว่า ผู้ตายที่ 1 ถึงแก่ความตายด้วยสาเหตุถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง ส่วนผู้ตายที่ 2 ถึงแก่ความตายด้วยสาเหตุถูกยิงด้วยกระสุนปืน โดยตรวจพบเศษลูกกระสุนปืน เศษตะกั่ว เศษเหล็กในศพของผู้ตายที่ 1 และตรวจพบเศษตะกั่วในศพของผู้ตายที่ 2 นอกจากนี้ยังได้ความจากผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน ยืนยันว่า เศษลูกกระสุนปืนที่พบในศพของผู้ตายที่ 1 มีขนาด .223 (5.56 มม.) สามารถใช้ยิงได้กับอาวุธปืนเล็กยาว เอ็ม 16 เอชเค 33 และทาโวร์ ซึ่งเป็นอาวุธปืนที่เจ้าพนักงานใช้ในวันเกิดเหตุ

 ศาลอ่านคำสั่งต่อว่า แม้จะไม่สามารถยืนยันได้ว่า เศษตะกั่วที่พบในศพของผู้ตายที่ 2 มีขนาดเท่าใด แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ตายทั้งสองอยู่บริเวณเดียวกันและล้มลงในช่วงระหว่างที่เจ้าพนักงานใช้อาวุธปืนยิงมาทางผู้ชุมนุมที่ติดตามเข้าไป จึงเชื่อว่าผู้ตายทั้งสองถูกกระสุนปืนที่ยิงมาจากบริเวณเดียวกัน กับทั้งได้ความจากผู้ตรวจวิถีกระสุนปืนในบริเวณที่เกิดเหตุว่า ร่องรอยกระสุนปืนที่พบบนยานพาหนะและวัตถุต่างๆ ที่อยู่บนถนนดินสอในบริเวณที่เกิดเหตุ มีวิถีกระสุนปืนที่ยิงมาจากทางด้านสี่แยกสะพานวันชาติไปทางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ได้ความจากประจักษ์พยานผู้ร้อง

 จากข้อเท็จจริงและเหตุผลทั้งหมดที่ได้วินิจฉัยมา เชื่อได้ว่ากระสุนปืนที่ยิงถูกผู้ตายทั้งสองนั้น มีวิถีกระสุนปืนที่ยิงมาจากฝ่ายเจ้าพนักงานที่ถอยร่นจากแนวป้องกันบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ไปที่บริเวณซอยข้างวัดบวรนิเวศใกล้สี่แยกสะพานวันชาติ แต่พยานหลักฐานของผู้ร้องทั้งหมดที่นำสืบมานั้น ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ

 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในประการต่อมาว่า ผู้ตายทั้งสองถึงแก่ความตายที่ไหน ตายเมื่อใด เห็นว่า หลังจากที่ผู้ตายทั้งสองถูกยิงด้วยกระสุนปืนล้มลงบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาแล้ว มีอาสาสมัครกู้ภัยนำผู้ตายทั้งสองส่งโรงพยาบาลกลาง โดยได้ความจากพยานผู้ร้องปากแพทย์นิติเวชประจำโรงพยาบาลกลางว่า เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 เวลา 21.01 น. พยานได้รับตัวผู้ตายที่ 1 ไว้ตรวจรักษา โดยขณะนั้นผู้ตายที่ 1 ยังมีชีวิตอยู่ แต่ไม่สามารถวัดสัญญาณชีพจรได้ พยานได้ทำการรักษาช่วยชีวิตตามขั้นตอนประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ผู้ตายที่ 1 ก็ถึงแก่ความตาย

 ต่อมาวันที่ 11 เม.ย.2553 เวลา 00.46 น. พยานได้รับศพของผู้ตายที่ 2 ไว้ โดยผู้ตายที่ 2 ถึงแก่ความตายก่อนที่จะมาถึงโรงพยาบาลกลาง จึงเชื่อว่า ผู้ตายที่ 1 ถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลกลาง เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 เวลาประมาณ 22.00 น. ส่วนผู้ตายที่ 2 ถึงแก่ความตายขณะนำส่งโรงพยาบาล จากบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ถึงโรงพยาบาลกลาง แขวงป้อมปราบ เขตป้องปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร สถานที่ใดไม่ปรากฏชัด ระหว่างวันที่ 10 เม.ย. 2553 เวลา 20.30 น. ถึงวันที่ 11 เม.ย.2553 เวลา 00.46 น. วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด

 จึงมีคำสั่งว่า ผู้ตายที่ 1 คือ นายจรูญ ฉายแม้น ถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลกลาง เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 เวลาประมาณ 22.00 น. เหตุและพฤติการณ์การตายสืบเนื่องมาจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูงที่ทรวงอก ทำลายปอดและตับ ส่วนผู้ตายที่ 2 คือ นายสยาม วัฒนนุกูล ถึงแก่ความตายขณะนำส่งโรงพยาบาล จากบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ถึงโรงพยาบาลกลาง แขวงป้อมปราบ เขตป้องปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร สถานที่ใดไม่ปรากฏชัด ระหว่างวันที่ 10 เม.ย.2553 เวลา 20.30 น. ถึงวันที่ 11 เม.ย.2553 เวลา 00.46 น. วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด

 ศาลระบุถึงเหตุและพฤติการณ์การตายสืบเนื่องมาจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนที่ด้านหลังทะลุทรวงอก ทำลายหลอดเลือดแดงใหญ่ช่องอก และเสียโลหิตปริมาณมาก ซึ่งกระสุนปืนยิงถูกผู้ตายทั้งสองนั้น มีวิถีกระสุนปืนที่ยิงมาจากฝ่ายเจ้าพนักงานที่ถอยร่นจากแนวป้องกันบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาไปบริเวณซอยข้างวัดบวรนิเวศใกล้สี่แยกสะพานวันชาติ โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการฟังคำสั่งวันนี้ มีนางบุญนำ ตาเวียง พี่สาวของนายสยาม นางนวล ฉายแม้น ภรรยาของนายจรูญ และน.ส.นงลักษณ์ ฉายแม้น ลูกสาวของนายจรูญ รวมถึงญาติกว่า 10 คน เดินทางมาฟังคำสั่งด้วย