นักโทษคดี ม.112 เป็นนักโทษการเมืองหรือเปล่า..



ทีมข่าว นปช.
19 กันยายน 2556

นับตั้งแต่เกิดวิกฤตทางการเมืองครั้งใหญ่ในประเทศไทยที่มีการล้อมปราบคนเสื้อแดงในปี 2553 อย่างโหดร้ายทารุณ โดยรัฐบาลของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อชีวิต, ทรัพย์สิน และภาพลักษณ์ของประเทศไทย ซึ่งไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดวิกฤตทางการเมืองที่รุนแรงได้ถึงเพียงนี้ ความรุนแรงทางการเมืองในปี 53 นั้น เป็นที่ทราบกันดีว่ามีผู้เสียชีวิตนับร้อย บาดเจ็บนับพันคน และยังทำให้มีการจับกุมผู้ชุมนุมอีกหลายร้อยคน มีการตั้งข้อกล่าวหาอีกเป็นจำนวนมาก ทำให้มีผู้ต้องขังด้วยคดีทางการเมืองอีกหลายคนจนถึงปัจจุบันนี้ที่ยังคงถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีนักโทษอีกจำนวนหนึ่ง ที่ยังมีปัญหาในการจะจำแนกว่าเป็นนักโทษเมืองหรือเปล่า? ซึ่งก็เป็นนักโทษคดีอาญามาตรา 112 หรือ คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ปัจจุบันนี้มีนักโทษคดีอาญามาตรา 112 ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ จำนวนหนึ่ง คือที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นชาย 4 คน ทัณฑสถานหญิงคลองเปรม เป็นหญิง 1 คน และเรือนจำกลางนครราชสีมา เป็นหญิง อีก 1 คน รวมเป็น 6 คน พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้ถูกย้ายไปอยู่คุกการเมืองที่หลักสี่เฉกเช่นเดียวกับนักโทษการเมืองอื่นที่ถูกย้ายไปก่อนหน้านั้นในช่วงเดือน มกราคม ปี 2555 ทำไมนักโทษคดี ม.112 ไม่ได้ถูกย้ายไปรวมกับนักโทษการเมืองคนอื่น ๆ ? ตกลงนักโทษคดี ม.112 ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของนักโทษการเมืองหรืออย่างไร? 
ทีมข่าว นปช.มีโอกาสได้พูดคุยกับ 3 อดีตผู้ต้องขังในคดี ม.112 ซึ่งได้พ้นโทษเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อที่จะสัมภาษณ์ถึงทัศนคติของพวกเขาเหล่านี้ในฐานะของผู้ที่เคยถูกคุมขังด้วยคดีอาญามาตรา 112 ว่าพวกเขามองว่าคดีนี้เป็นเรื่องทางการเมืองหรือไม่?


โดยมี นายยุทธภูมิ มาตรนอก (คดีพี่ฟ้องน้องโดยใช้ ม.112) นายสุรภักดิ์ ภูไชยแสง และนายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล (หนุ่มเรดนนท์)  มาร่วมแสดงความคิดเห็นต่อคดีอาญามาตรา 112 

ยุทธภูมิ ผู้ซึ่งถูกพี่ชายแท้ ๆ ของตัวเองฟ้องในคดีมาตรา 112 จนตัวเขาเองต้องเข้าไปอยู่ในคุกประมาณ 1 ปี โดยที่ไม่เคยได้รับการประกันตัว ทั้ง ๆ ที่เคยยื่นขอประกันไปหลายครั้ง จนถึงวันที่ตัดสินคดี 13 กันยายน ที่ผ่านมาศาลยกฟ้องคดี เพราะเห็นว่าพยานในเหตุการณ์มีเพียงคนเดียว ซึ่งก็คือพี่ชายที่เป็นผู้กล่าวหา แถมหลักฐานในคดีก็อ่อนมาก จนไม่สามารถพิสูจน์ว่าได้ทำผิดจริง 

ยุทธภูมิ เห็นว่าคดีอาญามาตรา 112 แต่เดิมทีก็เป็นเรื่องที่ใช้ฟ้องร้องจากความขัดแย้งทางการเมือง  แต่ไป ๆ มา ๆ กลับกลายเป็นว่าเรื่องการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างบุคคล ก็ถูกนำมาฟ้องร้องได้ เพราะตัวกฎหมาย ม.112 นั้นเอื้ออย่างมากที่จะให้ใครเป็นผู้ฟ้องร้องแจ้งความก็ได้ ยุทธภูมิ เห็นว่าหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่รับฟ้องคดี ควรที่จะกลั่นกรองให้ดีกว่านี้ ไม่ใช่พอมีคนฟ้องกล่าวหาว่าคนนั้นคนนี้ทำผิด ม.112 ก็ส่งฟ้องเลยโดยที่ปราศจากหลักฐานที่ชัดเจน เพราะกรณีของยุทธภูมิ นั้นทะเลาะกันกับพี่ชายเรื่องหมา อยู่บ้านหลังเดียวกัน ทำงานด้วยกัน คือทั้งสองพี่น้องมีการทะเลาะเบาะแว้งกันบ่อยมาก หมาของพี่น้องทั้งสองก็ยังแบ่งฝ่ายเป็นพรรคเป็นพวกกัดกัน หมาของยุทธภูมิเองก็ยังเคยกัดพี่ชายเขา ความบาดหมางของสองพี่น้องจึงทวีคูณมากขึ้นลุกลามไปจนถึงปัญหาหน้าที่การงานธุรกิจที่ทำด้วย 

พี่ชายของยุทธภูมิ ยังเคยพยายามที่จะเล่นงานยุทธภูมิ ในทางกฎหมายหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่หมาของยุทธภูมิ เคยทำให้เพื่อนของยุทธภูมิได้รับบาดเจ็บจนฟันหัก พอข่าวรู้ถึงหูของพี่ชายยุทธภูมิ พี่ชายก็โทรไปยุยงให้เพื่อนของยุทธภูมิ เล่นงานฟ้องร้องเอาผิดทางกฎหมาย แต่ว่าเพื่อนไม่ยอมเล่นด้วยจึงล้มเหลว ไหนจะเรื่องที่พี่ชายเคยพยายามใส่ร้ายป้ายสียุทธภูมิว่า "ผลิตและครอบครองเคมีอันตรายในหมู่บ้านและที่ชุมชน" เพราะยุทธภูมิเคยทำธุรกิจผลิตน้ำยาล้างรถภายในครัวเรือน และผู้เป็นพี่ชายได้เคยโทรไปบอกภรรยาของนายยุทธภูมิ ว่าให้รีบย้ายออกจากบ้านภายในวันสองวัน เพราะจะมีตำรวจและเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตมาตรวจค้นในบ้าน แต่ยุทธภูมิไม่ย้ายออก เพราะรู้ตัวดีว่าไม่มีเคมีที่ผิดกฎหมายอันตรายแต่อย่างใด ตัวเขาเองแค่ผลิตน้ำยาล้างรถ ซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมายแต่อย่างใด ถ้าจะผิดที่ครอบครองก็คงผิดกันทั่วบ้านเมือง เพราะแต่ละบ้านที่มีรถยนต์ล้วนใช้น้ำยาล้างรถ ผลที่สุดตำรวจและเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตก็ไม่มาตรวจค้น เรื่องทั้งหมดเป็นเพียงคำขู่จากพี่ชายที่ต้องการหาทางกลั่นแกล้งน้องชาย แล้วไหนจะเรื่องที่พี่ชายเคยเรียกตำรวจเข้าบ้าน โดยแจ้งตำรวจว่า ยุทธภูมิ เมาอาละวาดแล้วจะทำร้ายร่างกายพี่ชาย เมื่อตำรวจมาถึงบ้านแล้วสอบถามถึงข้อเท็จจริง ยุทธภูมิก็ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงกับตำรวจว่าเป็นเพราะพี่ชายขู่จะทำร้ายหมาของยุทธภูมิ ตนจึงขู่กลับไปว่าถ้าหมาของตนถูกทำร้ายจะเอามีดแทงพี่ชาย จนรอดการดำเนินคดีไปได้ แต่ว่าพี่ชายก็ยังไม่ลดละความพยายามที่จะทางช่องทางทางด้านกฎหมายมาเล่นงานคนน้องให้ได้ จนในที่สุดก็นำไปสู่การใช้ กฎหมายอาญามาตรา 112 โดยที่พี่ชายกล่าวหาว่า ยุทธภูมิ เขียนคำหยาบลงบนแผ่นซีดี และพูดจาดูหมิ่นโดยพาดพิงถึงสถาบันเบื้องสูง ซึ่งที่กองบังคับการปราบปรามก็รับฟ้อง แล้วดำเนินคดีตามขั้นตอน

เรื่องที่ยุทธภูมิได้เล่าให้กับทีมข่าว นปช.ฟังนั้นเป็นเรื่องที่เขาต้องการชี้ให้เห็นว่าพี่ชายแท้ ๆ ของเขาเองนั้น พยายามที่จะกลั่นแกล้งเล่นงานเขาด้วยวิธีการต่าง ๆ นา ๆ ที่อยู่ภายใต้กฎหมาย แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ แต่พอหันมาใช้ ม.112 นั้นกลับประสบความความสำเร็จอย่างยิ่งในการให้ร้ายน้องชายจนต้องติดคุกถึง 1 ปี กว่าจะพิสูจน์โดยชั้นศาลว่ายุทธภูมิเป็นผู้บริสุทธิ์จงรักภักดี เขาก็ต้องไปใช้ชีวิตเยี่ยงนักโทษคดีอาญาทั่วไปเป็นเวลา 1 ปี โดยถูกปฏิเสธประกันตัวทุกครั้ง จนทำให้เราต้องมาคิดทบทวนผู้ที่สนับสนุนคดีอาญามาตรา 112 ที่ชอบกล่าวว่า "ถ้าหากคุณอยู่เฉย ๆ ไม่ทำผิดกฎหมายอาญา ม.112 ก็ไม่ต้องกลัวติดคุก" ก็ต้องต้องคิดทบทวนกันอีกทีว่า ผู้ที่ไม่เคยให้ร้ายสถาบันเบื้องสูงอย่างยุทธภูมิกลับต้องมาถูกฟ้องคดี ม.112 โดยที่ไม่ได้ทำอะไรเลย... แล้วอย่างนี้จะตอบสังคมได้อย่างไรว่า แค่อยู่เฉย ๆ ก็โดนคดีหมิ่นสถาบันอย่างไม่มีปี่ มีขลุ่ย ถ้าเรามองให้ดี ๆ ก็จะพบว่ามันเกิดจากช่องว่างทางกฎหมายของมาตรานี้ ซึ่งง่ายที่จะกล่าวโทษ ใครจะเป็นผู้ฟ้องร้องก็ได้

ส่วนในเรื่องที่ว่า ม.112 มีความเกี่ยวข้องกับคดีทางการเมืองหรือไม่ นายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล อดีตผู้ต้องขังคดี ม.112 ที่ได้รับการปล่อยตัวด้วยการพระราชทานอภัยโทษส่วนบุคคลเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมาตอบสั้นๆ ว่า "เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเมือง 100 เปอร์เซ็นต์แน่นอน" ทางด้าน นายสุรภักดิ์ ภูไชยแสง อดีตผู้ต้องขังคดี ม.112 ที่ได้รับการยกฟ้องเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2555 เมื่อปีที่แล้ว ได้ให้ความเห็นว่า มันเริ่มจากความขัดแย้งทางการเมือง จนนำไปสู่การรัฐประหารในปี 49 ดังนั้นมันเกิดความขัดแย้งทางการเมืองก่อน ฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กับนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ก็นำประเด็นเรื่องการไม่จงรักภักดีมาใช้โจมตี จนเป็นเหตุให้เกิดการรัฐประหาร ส่วนฝ่ายที่ฝักใฝ่ประชาธิปไตย ก็ไม่เห็นด้วยที่มีการรัฐประหาร คนพวกนี้มักจะเป็นคนเสื้อแดงและมักจะฝักใฝ่ในตัวนายกทักษิณ ชินวัตร ใครที่เข้าข้างทักษิณ ชินวัตร บางคนจะถูกมองจากฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นพวกไม่จงรักภักดีบ้าง เป็นพวกล้มเจ้าบ้าง.. ฯลฯ ส่วนผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าทำผิดคดีอาญามาตรา 112 นั้นแต่ละคนก็มักจะเกี่ยวข้องกับการวิจารณ์ทางการเมือง อย่างหนุ่มเรดนนท์ ซึ่งก็เป็นผู้ดูแลเว็บไซท์ทางการเมืองหรือ นปช.ยูเอสเอ 

นายสุรภักดิ์ ยกตัวอย่างต่าง ๆว่า ถ้าหากไม่มีความขัดแย้งทางการเมือง ก็จะไม่มีเว็บ นปช.ยูเอสเอ แล้วหนุ่มเรดนนท์ ก็จะไม่ต้องติดคุก แม้กระทั่งคดีของยุทธภูมิ มาตรนอกซึ่งมีพี่ชายฝักใฝ่ฝ่ายตรงข้ามก็ไปกล่าวหาว่าน้องตัวเองไม่จงรักภักดี ว่าเป็นพวกฝักใฝ่เสื้อแดง ว่าไปเข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงมา ทั้งที่จริงแล้วไม่ใช่ ,อย่าง ดา ตอร์ปิโด ก็ไปปราศรัยอยู่ที่สนามหลวงเขาก็ไปพูดในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องทางการเมือง และประวัติศาสตร์ทางการเมือง และก็ถูกจับเข้าคุกมาหลายปีในคดีอาญามาตรา 112, คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ก็ทำสื่อสิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับคนเสื้อแดง และก็มีบทความบางอย่างในสิ่งตีพิมพ์ที่คุณสมยศทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการ โดยรัฐไทยไปตีความหมายว่ามันผิดมาตรา 112 ของกฎหมายอาญา เลยต้องเข้าคุก, อ.สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ แกก็ไปให้ความรู้ทางเมือง ประวัติศาสตร์ ให้ความรู้กับประชาชน แต่การนำเสนอของแกไปโดนการกล่าวโทษใน ม.112 ซึ่งบุคคลเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนทางการเมืองด้วยกันทั้งสิ้น

ส่วนในเรื่องที่ว่าผู้ต้องคดี ม.112 ควรได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่? นายยุทธภูมิเห็นว่า "ต้องนิรโทษเพราะว่ามันเป็นเรื่องการเมือง คนที่โดนคดีทางการเมืองไม่ได้มีจิตใจอะไรที่มันเป็นภัยต่อสังคม ส่วนในกรณีของผมมันก็เป็นการกลั่นแกล้งแน่นอน แล้วก็เอาเรื่องการเมืองเข้ามากลั่นแกล้งกัน 112 ก็ไม่ต้องยกเว้นถ้าเกี่ยวกับการเมือง ส่วนไม่เกี่ยวกับการเมืองก็ต้องแยกไว้" 

ในประเด็นนี้พอที่จะสรุปได้ว่าคดีอาญามาตรา 112 หลายต่อหลายคดีที่มีการฟ้องร้องกันนั้น ตัวผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าทำผิด ม.112 ส่วนใหญ่มักจะมีแรงจูงใจทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง แต่ส่วนที่ว่าจะถูกจัดเป็นคดีการเมืองอย่างเป็นทางการหรือไม่อย่างไรนั้นมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง