เล่าเรื่องเมื่อยังเยาว์ (ตอนที่ 1) :น.พ.เหวง โตจิราการ

Facebook น.พ.เหวง โตจิราการ


เล่าเรื่องเมื่อยังเยาว์

พี่หมอท่านหนึ่งที่คณะแพทยศาสตร์รพ.รามาธิบดี มีความตั้งใจที่จะรวบรวมประวัติศาสตร์ของรพ.รามาธิบดี ในวาระ 50ปี 2507-2556 จึงติดต่อผมมาเพื่อขอให้ผมเข้าร่วมในการสัมมนา ผมดีใจมากที่ได้รับการเชิญให้เข้าร่วม จึงรับปากว่าจะไปร่วมสัมนา แต่ปรากฏว่า พอถึงวันนัด ประชาธิปัตย์ ตีรวน การประชุมรัฐสภา ในเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ จึงไม่สามารถไปร่วมสัมมนาได้ ผมจึงบอกพี่หมอไปว่า ผมจะรวบรวมความทรงจำแล้วเขียนส่งไปให้พี่หมอเขาพิจารณา ผมก็รับผิดชอบแล้วก็ลงมือรวบรวมความทรงจำแล้วเขียนส่งให้พี่หมอเขา

ผมมานั่งนึกดู คิดไปคิดมา ก็นึกว่า อยากจะนำเรื่องนี้มาให้เพื่อนๆ อ่าน หลายท่าน คงจะทันในช่วงสมัยดังกล่าว อาจจะช่วยตรวจแก้ ข้อความที่ผมเขียนขึ้นดังกล่าวให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งก็จะขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง และก็จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
บางท่านอาจจะไม่ทัน หรือทัน แต่ไม่ได้อยู่ในแวดวงของ ม.มหิดล ไม่ได้อยู่ในแวดวงการต่อสู้ หรืออื่นๆ ก็ตาม ก็อาจจะได้รับรู้เหตุการณ์ทางสังคมในยุคนั้น ในภาพทั่วไป และในภาพที่เกี่ยวข้องกับผมโดยตรง รวมทั้งมุมมองของโลก มุมมองชีวิต มุมมองสังคมไทยในยุคนั้น ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์
ผมจึงตัดสินใจที่จะนำลงเผยแพร่ให้พี่น้องได้มีโอกาสอ่านกัน คิดว่าอาจจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆได้พอสมควร แต่ปัญหามีประการหนึ่งคือ ผมเขียนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลายาวนานถึง 20 ปีโดยประมาณ เมื่อเขียนออกมาจึงยาวมากพอดู(ประมาณ20หน้าA4ขนาด14) ผมเกรงใจไม่รู้ว่าเพื่อนๆจะเบื่ออ่านกันหรือเปล่าครับ ผมจะแบ่งออกเป็น สิบ(10)ตอน
ผมจะขอนำเสนอก่อนสักสองตอนนะครับ หากเพื่อนๆเห็นว่าเป็นประโยชน์ ยินดีที่จะเสียเวลามานั่งอ่าน ผมก็จะทะยอยนำมาลงต่อจนครบครับ
ช่วยแสดงความคิดเห็นมาให้ทราบด้วยครับ
นพ.เหวง โตจิราการ 5 กย 56 19.00น.

เล่าเรื่องเมื่อยังเยาว์(1)
ความทรงจำ เมื่อเข้าเรียน ที่คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
นพ.เหวง โตจิราการ
ความทั่วไป
ผมสอบเข้ามหาวิทยาลัยเพื่อเข้าเรียนที่แพทยศาสตร์รามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดลได้ในปี การศึกษา 2511-2512
การเรียนแพทย์นั้นต้องเรียน ที่คณะวิทยาศาสตร์ ทั่วไปก่อน สองปี
ต่อมาเรียน วิทยาศาสตร์การแพทย์(พลีคลินิค)อีกสองปี ทั้งสี่ปีนี้เรียนที่ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดลที่ถนนพระรามหก ที่เรียกกันว่าตึกจานบิน
จากนั้นจึงข้ามฟากไปเรียน วิชาแพทยศาสตร์ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีอีกสองปี
หากผม เล่าความทรงจำ เฉพาะ สองปีสุดท้ายที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ก็จะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ และอาจจะไม่สามารถเข้าใจความเป็นมาเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง
จึงขออนุญาต เล่าต่อเนื่อง ทั้งหกปี เสียทีเดียว แต่คงไม่ยาวเกินไป

ก่อนเข้ามหาวิทยาลัยมหิดล
ในช่วง มัธยมต้น(มศ.1-3)ที่โรงเรียนสหพาณิชย์แผนกสามัญสีลม
และมัธยมปลาย(มศ.4-5)ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพญาไท
ชีวิตผมอยู่ในช่วงค้นหาความหมายว่า “ชีวิต คืออะไร ชีวิต ต้องการอะไร และชีวิตควรเป็นอย่างไร”
กล่าวได้ว่า ผม “ค้นพบคำตอบดังกล่าว
แม้ไม่สมบูรณ์รอบด้าน แต่ถือได้ว่าค่อนข้างมั่นคงชัดเจน” ในช่วงมัธยมนี้แหละ
นั่นคือผมพบคำตอบ “จากคำสอนทางพุทธศาสนาของท่านอาจารย์ พุทธทาส” ว่า“เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ต้องเพื่อ ทำลาย ความยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวกู ว่าของกู”

ปีแรกในมหาวิทยาลัยมหิดล
ผมจึงเริ่มปีหนึ่งในมหาวิทยาลัย ด้วยการ เป็นเลขานุการของนักศึกษาปีหนึ่ง แต่เมื่อเกิดความไม่สะดวกในการ เผยแพร่ “คำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาส” ผมจึง ข้ามกิจกรรมอื่นๆ เพื่อไปวางน้ำหนักไว้ที่การ “คัดสรร เอาคำกลอน หรือคำสอนที่ เป็นถ้อยคำสั้นๆ แต่กินความกว้างขวางและลึกซึ้ง”มาติดไว้ที่ผนังข้างห้อง บรรยายรวมที่ตึกจานบิน เป็นประจำ
ในตอนนั้นพี่เป้งที่ เรียนปี สี่ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ พบ ผมที่สวนโมกข์หลายครั้ง เห็นผมเอาจริงเอาจังในการเผยแพร่คำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาส จึงออกปากชวนผม ให้มาทำหน้าที่เป็น “ประธานชมรมพุทธศาสนาและประเพณีของมหาวิทยาลัยมหิดล”ในตอนนั้น
ที่จริงผมยังอ่อนหัดมาก แต่เมื่อพี่เป้งออกปากชวนและผมก็ตั้งใจที่ทำการเผยแพร่คำสอนอ.พุทธทาสอย่างเต็มที่แล้ว ผมจึงรับปาก
แต่ผมก็ไม่ได้สร้างผลงานอะไรมากนัก
ในตอนนั้นเท่าที่ผมจำได้
กิจกรรมก็มี การพยายามนำเอาหนังสืออาจารย์พุทธทาสมาเผยแพร่ นำเอาคำสอนของอาจารย์พุทธทาส มาติดตามผนังหรือบริเวณที่สามารถติดได้ ทั้งใน ห้องบรรยาย ของตึกกลม และตามบอร์ดของใต้ถุน ตึกฟิสิกส์
และพยายามเชิญผู้รู้มาบรรยายธรรมตามโอกาส
ความที่ยังไม่ประสีประสาในการทำงานมากในครั้งนั้น
จึงค่อนข้างเถรตรงในการทำงาน โดยปฏิเสธ วิธีการที่ตนเองเห็นว่า เน้นหนักทางด้านวัตถุมากกว่าทางด้านจิตใจ
ในขณะเดียวกัน ผมก็ต้องทำงานทางด้านวัฒนธรรมและประเพณีด้วย
ในปีนั้นจึงได้ นำเอา “การแสดงโปงลางของพื้นบ้านอิสาน มาแสดงในงานประจำปีของมหิดล”ถือว่าเป็นผลงานค่อนข้างใหญ่หน่อยในตอนนั้น

ในขณะเดียวกัน ก็ได้ ติดต่อทำกิจกรรมกับ เพื่อนนักศึกษา ต่างมหาวิทยาลัย ที่ได้คบหาสมาคมกันและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมา ตั้งแต่มัธยมปลาย
อันได้แก่ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ซึ่งทางธรรมศาสตร์ เขาก้าวไปไกลทางการเมืองมาก เขามีการร่วมกลุ่มเป็นสภาหน้าโดม เขามีกิจกรรมต่อต้าน บอลประเพณี ต่อต้าน การรับน้อง หรือประเพณีโซตัส
ต่อมาเขายกระดับไปสู่การต่อต้านสงครามเวียดนาม และการที่รัฐบาลของถนอมประภาสในสมัยนั้นนำประเทศไทยไปเข้าร่วมสงครามอินโดจีน ยอมให้อเมริกาใช้ไทยเป็นฐานทัพในการสู้รบกับสามประเทศอินโดจีน โดยเฉพาะความหวาดกลัว ตามทฤษฎี โดมิโนของสหรัฐอเมริกาที่ภูมิภาคนี้จะพ่ายแพ้ให้แก่คอมมิวนิสต์และเปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์ทั้งภูมิภาค

ผมเริ่มขยายวงใน การศึกษาค้นคว้า และเรียนรู้ กว้างขวางมากยิ่งขึ้น
ในช่วงนี้เองที่ ผมได้มีโอกาสสัมผัส หลักปรัชญาและทฤษฎีทางการเมืองของยุโรปและการเคลื่อนไหวปฏิวัติต่างๆหลากหลายสำนัก อาทิ อริสโตเติล โสเครติด พลาโต้ ไล่มาจน มองเตสกิเออ โทมัสมัว เดวิดริคาร์โด โอเวน เฮเกล มาร์กซ เองเกล เลนิน สตาลิน เชกูวารา โฮจิมินท์ ฯลฯ
ของไทย ก็เริ่มศึกษา การเปลี่ยนแปลงการปกครอง2475 ประวัติศาสตร์การเมืองไทย การต่อสู้ระหว่าง คณะราษฎร กับคณะนิยมเจ้า ตลอดจนเริ่มได้อ่านเอกสารของปัญญาชนก้าวหน้าในอดีตที่ผ่านมา กบฏสันติภาพ รวมไปถึงเริ่มรับรู้การมีอยู่และการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย