มติชนวิเคราะห์ ...ปชป.ดับเครื่องชน "การเมือง" สิงหาฯ เข้าโซนเดือด!

มติชน 5 สิงหาคม 2556




4 สิงหาคม กลุ่มต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีกำหนดชุมนุมใหญ่ 

โค่นล้มระบอบทักษิณ !

นายพิเชฏฐ พัฒนโชติ กลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ แถลงข่าวล่าสุด กำหนดการเคลื่อนไหวคร่าวๆ ว่า 4 สิงหาคม นัดชุมนุม โดยวัน เวลา และสถานที่จะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

วันที่ 5-6 สิงหาคม จะยื่นหนังสือถึงสิทธิมนุษยชน องค์กรสหประชาชาติ (ยูเอ็น) รวมถึงสถานทูตต่างๆ 

และวันที่ 7 สิงหาคม จะนัดชุมนุมเพื่อคัดค้านการพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่มีข่าวว่าสภาผู้แทนราษฎรมีกำหนดพิจารณาในวันนั้น

หากแต่ลำพังการประกาศชุมนุมของกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณนั้น หน่วยข่าวความมั่นคง โดยเฉพาะสภาความมั่นคงแห่งชาติประเมินว่ามีจำนวนไม่มาก

ก่อนหน้านั้น พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาฯ สมช.ให้สัมภาษณ์ว่า คาดผู้ชุมนุมไม่น่าจะเกิน 5,000 คน 

หากแต่ระยะหลัง น้ำเสียงของ พล.ท.ภราดรเปลี่ยนไป โดยให้สัมภาษณ์ล่าสุด คาดการณ์ว่าอาจมีการระดมคนร่วมชุมนุมนับหมื่น

น้ำเสียงที่เปลี่ยนไปนั้น พล.ท.ภราดรชี้ว่ามาจากความเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์

พรรคประชาธิปัตย์ประกาศ สู้นอกสภา !



นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกสื่อและใช้เวที "ผ่าความจริง" ประกาศท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง สรุปได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และการต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรม ต้องระดมประชาชนมาอยู่ในกรุงเทพฯเพื่อคัดค้าน

สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์หลายคนขานรับ และเห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวนอกสภา

เฉพาะช่วงการชุมนุม 4 สิงหาคมของกลุ่มกองทัพประชาชนฯ พรรคประชาธิปัตย์ก็มีกำหนดจัดเวทีผ่าความจริงในกรุงเทพฯ ถี่ยิบ

กล่าวคือ ระหว่างวันที่ 3-6 สิงหาคม มีกำหนดจัดเวทีผ่าความจริง 4 แห่ง 

คำประกาศดังกล่าวทำให้หน่วยข่าว โดยเฉพาะสภาความมั่นคงแห่งชาติ ต้องกลับไปพิจารณาตัวเลขผู้มาร่วมชุมนุมกันอีกครั้ง 

พล.ท.ภราดรจึงเปลี่ยนน้ำเสียงจากการประเมินผู้ชุมนุมว่า มาไม่มากนัก กลายเป็นยอมรับว่าอาจมีผู้ชุมนุมเข้าร่วมนับหมื่น ขณะที่พรรคเพื่อไทยแถลงข่าวออกมาสอบถามท่าทีของแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ถึงการ "ปลุกม็อบ"

สุดท้ายก่อนกำหนดนัดชุมนุม 4 สิงหาคม คณะรัฐมนตรีชุดเล็ก มีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี ได้ประชุมและมีมติประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ใน 3 เขต คือเขตพระนคร เขตดุสิต และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ระหว่างวันที่ 1-10 สิงหาคม 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติเรียกประชุมตำรวจ และเตรียมพร้อมรับกลุ่มผู้ชุมนุม มีการประเมินสถานการณ์ และแถลงข่าวความพร้อม ตลอดจนถ่ายทอดผ่านสื่อ เพื่อเปิดเผยถึงขั้นตอนการควบคุมฝูงชน

ในการแถลงข่าวนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เปิดเผยขั้นตอนการปฏิบัติทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ

เท่ากับว่า การแถลงความพร้อมในมาตรการควบคุมฝูงชนครั้งนี้ มีเป้าประสงค์ทั้งการเปิดเผยข้อมูลให้คนไทยรับทราบ ขณะเดียวกันก็ต้องการตีฆ้องให้ต่างชาติรับรู้ด้วย

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสอดรับกับกระแสข่าวในแวดวงโซเชียลเน็ตเวิร์ก ที่หวาดผวากับเหตุการณ์หลังการชุมนุม 

เกรงว่า การปฏิวัติรัฐประหารจะกลับมาอีกครั้ง !



สำหรับรัฐบาลนั้น มีกระแสข่าวว่านอกจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะใช้วิธีการเดิม คือการแยกฝ่ายบริหาร กับฝ่ายนิติบัญญัติออกจากกัน โดยระบุว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นเรื่องของพรรค และสภาผู้แทนราษฎรแล้ว 

รัฐบาลยังขยับเปิดทางเลือกใหม่ให้สังคมด้วยการนำเสนอ "สภาปฏิรูปการเมือง" ขึ้นมาอีกครั้งด้วย 

สภาปฏิรูปการเมืองนี้ จะรวมเอาตัวแทนกลุ่มที่มีความขัดแย้งมาร่วมทำงาน "ปฏิรูปการเมือง" ด้วยกัน โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นคนนำเสนอรูปแบบการดำเนินการดังกล่าวด้วยตัวเอง

เป็นการนำเสนอขึ้นมาในช่วงที่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม และเป็นช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองกำลังเครียด

แต่ก็เป็นอีกความพยายามของรัฐบาลที่พยายามลดความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งต้องใช้เวลาสักพักถึงจะพิสูจน์ทราบว่า แนวทางดังว่าจะประสบผลมากน้อยเพียงใด

แต่ถึงการตอบรับจะมากหรือน้อย หากสุดท้ายสถานการณ์บานปลายจนกระทบถึงรัฐบาลเข้าเต็มๆ ดูเหมือนว่าพรรคเพื่อไทยมีความเห็นว่าทางออกที่รัฐบาลน่าจะรับมือกับเหตุความขัดแย้งได้ดีที่สุดคือ ยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่

ข้อเสนอเรื่องยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ เคยได้ยินครั้งหนึ่งจากปากของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แกนนำพรรคเพื่อไทยที่คาดการณ์ตามอำนาจที่นายกรัฐมนตรีมี เพื่อรับกับสถานการณ์วิกฤต 

เรื่องยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ ก็เคยได้ยินนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทยพูดถึง

ล่าสุด นายวรชัย เหมะ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เจ้าของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็เสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา หากสุดท้ายแล้วร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีอันเป็นไป



วันที่ 4 สิงหาคมนี้จึงเป็นวันเริ่มต้นที่จะมองเห็นพลังของฝ่ายต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณว่าจะเปิดเกมรุกได้มากหรือน้อย

อย่าลืมว่า ในสมัยการประชุมรัฐสภาที่เพิ่งเปิดขึ้นตั้งแต่ 1 สิงหาคมมานี้ มีร่างกฎหมายที่พร้อมเป็นชนวนความขัดแย้งจ่อรอให้พิจารณาอยู่หลายฉบับ

ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อาจจะเป็นกฎหมายฉบับแรก แต่ยังมีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่รอการถกเถียงพิจารณา

ยังมีร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ที่พรรคประชาธิปัตย์ประกาศล้มมาตั้งแต่ไก่โห่

ยังมีเรื่องร้องเรียนและคดีความที่ค้างการพิจารณาอยู่ในองค์กรอิสระ ทั้งในศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครอง 

ดูเหมือนว่าทุกอย่างมีกำหนดการต้องดำเนินการในเร็วๆ นี้

แม้ความเคลื่อนไหวในขณะนี้ยังเป็นเพียง "วาจา" และ "ความเชื่อ" ยังไม่ใช่ "ความจริง"

แต่กลิ่นอายจาก "วาจา" และ "ความเชื่อ" ก็เพิ่มอุณหภูมิทางการเมืองขึ้นทะลุปรอท

สิงหาคม การเมืองไทยเข้าสู่เขตร้อน !
(ที่มา:มติชนรายวัน 4 สิงหาคม 2556)