รายงานพิเศษ
ยังถูกกระแสสังคมกดดันต่อเนื่องหลังเปิดรายงาน ′ผลสอบม็อบเสื้อแดง′ ออกมาแบบค้านสายตาทั้งนักวิชาการ และภาคประชาชน
ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ศรัทธา ของกรรมการสิทธิมนุษยชน หรือ กสม. นำมาสู่เสียงเรียกร้องให้ลาออก
บทบาทของกรรมการสิทธิฯ ทั้งในส่วนของการพิทักษ์สิทธิ์ของประชาชนจากภาครัฐ และสิทธิ์ทางการเมือง เป็นที่ยอมรับมากน้อยแค่ไหน มีความเห็นจากนักวิชาการ ดังนี้
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
อักษรศาสตร์ จุฬาฯ
จะมองว่าคณะกรรมการสิทธิฯ ชุดนี้มีปัญหา เพราะเข้ามายุ่งเกี่ยวประเด็นทางการเมืองมาก คงไม่ได้ เพราะกรรมการ สิทธิฯ ต้องเกี่ยวข้องกับการเมือง
แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่กำหนดวิธี การสรรหาตัวบุคคลเข้ามาทำหน้าที่ได้ ไม่หลากหลาย ไม่มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง เป็นข้าราชการประจำ หรือเป็นตำรวจมาก่อน ส่งผลให้ภาพรวมขององค์กรมีปัญหาไปด้วย
แตกต่างจากคณะกรรมการชุดที่มี นายเสน่ห์ จามริก จะเห็นว่าตัวบุคคลมีความหลากหลาย มีประสบการณ์ มีผลงานการคลี่คลายปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนมากกว่าชุดนี้
เพราะหลายคนเคยทำงานด้านเอ็นจีโอมาก่อน มีที่มาโดยได้รับการคัดเลือกคัดกรองจาก ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง มีจุดยึดโยงกับประชาชน
ส่วนรายงานผลสอบม็อบเสื้อแดงที่กลายเป็นเรื่องอยู่ตอนนี้ เข้าใจได้ว่ากรรมการสิทธิฯ ต้องการสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่สั่งกองกำลังเข้าปิดล้อม ใช้กระสุนจริงสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ถามว่าถูกต้องหรือไม่ก็คงไม่ถูกต้อง
การให้เหตุผลว่ารัฐบาลขณะนั้นใช้อำนาจโดยชอบธรรมแล้ว เนื่องจากมีการใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก ก็ไม่ถูกต้อง ข้อเท็จจริงคือนายอภิสิทธิ์ สั่งเจ้าหน้าที่ให้ใช้กระสุนจริงเข้าล้อมปราบ
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างไรก็เกิดจากฝ่ายรัฐ การสูญเสียชีวิตก็เกิดกับฝั่งประชาชนจำนวนมาก ถ้าเหตุการณ์ดังกล่าวมีเจ้าหน้าหลายสิบนายเสียชีวิตเหมือนที่อียิปต์ ก็อาจพอบอกได้ว่าฝ่ายประชาชนใช้อาวุธจริง
อย่างไรก็ตามถึงประชาชนจะมีการใช้กำลังอาวุธเหมือนในอียิปต์ ระดับความรุนแรงก็ยังน้อยกว่าเจ้าหน้าที่อยู่ดี
ขณะเดียวกัน ในรายงานก็ยังไม่ได้อธิบาย หรือกล่าวถึงการใช้สไนเปอร์ในการปราบปรามผู้ชุมนุมที่หลายรายเสียชีวิตจากการถูกยิงที่ศีรษะ และยังมีการสร้างแผนล้มเจ้า ใส่ร้ายป้ายสี
อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าวก็คงไม่มีค่า เป็นเพียงกระดาษแผ่นหนึ่ง เป็นเพียงความคิดเห็นของคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ชอบคนเสื้อแดงเท่านั้น
คณะกรรมการสิทธิฯ ทั้งชุดต้องมีจิตสำนึกและแสดงความรับผิดชอบ แต่เขาคงไม่ทำ จึงต้องหาแนวทางแก้ไขโดยรวมถึงองค์กรอิสระทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ที่มา ต้องไม่ให้อำนาจศาลมาข้องเกี่ยวกับอำนาจทางการเมือง รวมถึงอำนาจหน้าที่
เพราะมิเช่นนั้นการใช้อำนาจก็จะผิดฝาผิดตัว
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
นักวิชาการอิสระ ด้านรัฐศาสตร์
หากเปรียบเทียบการทำงานของกรรมการสิทธิฯ ระหว่างชุดก่อน คือคณะที่นายเสน่ห์ จามริก เป็นประธาน และชุดปัจจุบันคือคณะที่นางอมรา พงศาพิชญ์ เป็นประธาน จะพบว่าชุดปัจจุบันมีผลงานที่ตกต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด
เพราะหน้าที่หลักของกรรมการสิทธิฯ คือ ป้องกันไม่ใช่ประชาชนถูกละเมิดสิทธิจากภาครัฐ รวมทั้งการละเมิดสิทธิในประเด็นต่างๆ แม้กระทั่งการละเมิดสิทธิทางการเมือง
แม้ว่ากรรมการสิทธิฯ ชุดที่แล้วจะไม่ค่อยมีบทบาทในการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิทางการเมืองมากนัก แต่การแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชนและพลเมือง ถือว่าทำได้ดีกว่ามาก
เนื่องจากบุคคลที่มาดำรงตำแหน่งล้วนเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ ในงานสิทธิมนุษยชนมาพอสมควร และค่อนข้างจะครอบ คลุมในประเด็นที่เป็นปัญหาของสังคม
แต่ชุดปัจจุบันจะพบว่าเป็นบุคคลที่สัมผัสงานด้านสิทธิมนุษยชนมาน้อยมาก ส่วนใหญ่จะมาจากหน่วยงานด้านอื่น นี่คือปัญหาเฉพาะบุคคลของกรรมการสิทธิฯ ที่ไม่มีคนที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
จะเห็นได้จากผลการสรุปรายงานการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ปี 2553 ที่กลายเป็นว่ารัฐมีความชอบธรรมในการใช้กำลังกับผู้ชุมนุม และกลายเป็นผู้ชุมนุมที่เป็นฝ่ายละเมิดสิทธิ
กรณีนี้จึงเป็นการสะท้อนให้เห็นแล้วว่ากรรมการสิทธิฯ ชุดนี้ ไม่เข้าใจเรื่องสิทธิมากพอ และไม่เข้าใจว่าละเมิดกฎหมาย
โดยเฉพาะในเรื่องความเป็นกลาง ที่กรรมการสิทธิฯ ชุดปัจจุบันค่อนข้างมีปัญหา ตัวอย่างเช่นการไม่ออกมาวิจารณ์การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในการสลายการชุมนุม แต่วิจารณ์การใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
และอีกหลายๆ กรณีที่แสดงให้เห็นแล้วว่ากรรมการสิทธิทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลง ลักษณะนี้ถ้าไม่ใช่การลำเอียง ก็คือการไม่ระมัดระวังในการแสดงความเห็นทางการเมือง
และอาจเรียกได้ว่าล้มเหลวในการแก้ปัญหาสิทธิทางการเมือง โดยยากจะฟื้นฟูหรือกู้ภาพลักษณ์ให้กลับมาเป็นที่น่าเชื่อถือได้
หากไม่นับปัญหาที่มาจากเรื่องเฉพาะ บุคคลในกรรมการสิทธิฯ ตัวองค์กรเองก็ค่อนข้างมีปัญหา เนื่องจากการตรวจสอบของกรรมการสิทธิฯ ค่อนข้างที่ จะมีเพดานและอำนาจไม่เพียงพอในการตรวจสอบ
ปัญหานี้เกิดจากข้อกฎหมายของกรรมการสิทธิฯ เอง ที่ระบุว่าหากเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของศาลหรือกระบวนการยุติธรรม กรรมการ สิทธิฯ ห้ามเข้าไปยุ่งเกี่ยว ซึ่งในข้อเท็จจริงควรต้องตรวจสอบได้ทุกเรื่อง ทุกเวลาหากพบว่ามีการละเมิดสิทธิ์
อีกทั้งข้อเสนอแนะของกรรมการ สิทธิฯ ต่อหน่วยงานรัฐก็ไม่จำเป็นต้องบังคับใช้ เป็นเพียงข้อเสนอประกอบการพิจารณาเท่านั้น เท่ากับว่ากรรม การสิทธิฯ เป็นเสือกระดาษ ไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่านี้
ถ้ากฎหมายของกรรมการสิทธิฯ ยังเป็นแบบเดิม แม้จะเปลี่ยนคณะทำงานก็ยังคงพบกับปัญหาเดิมๆ
สมบัติ บุญงามอนงค์
บ.ก.ลายจุด
ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมรู้สึกรับได้กับบท บาทการทำงานด้านอื่นๆ ของคณะกรรมการสิทธิฯ เว้นอยู่เรื่องเดียว คือการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการ เมือง ภาพลักษณ์ในส่วนนี้ของกรรม การสิทธิฯ มีปัญหามาก
หลายเรื่องเห็นได้ชัดว่าเป็นการทำงานเพื่อสนองความต้องการของฝ่ายการเมืองที่ตัวเองเลือกข้าง ไม่มีระยะห่างเลย แต่แน่นอนว่าปัญหาแบบนี้ต้องเกิดขึ้น เพราะที่มาของกรรมการสิทธิฯ ก็เป็นบุคคลที่ทางการเมืองจัดวางมาตั้งแต่ต้น
กรณีออกรายงานตรวจสอบการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดง เป็นตัวอย่างล่าสุดที่ชี้ว่าการทำหน้าที่เรื่องที่เกี่ยว ข้องทางการเมืองของกรรมการสิทธิฯ ว่ามีปัญหามาก
ส่วนตัวเห็นว่าเป็นการงานที่คุณภาพต่ำมาก ไม่ใช่แค่รายงานที่ออกมาไม่ถูกใจ แต่เป็นรายงานที่ไม่ถูกต้องเลยด้วยซ้ำ
การมีองค์กรอิสระเป็นเรื่องดีแต่ต้องมีความเป็นมืออาชีพ เช่นเดียวกับคนที่จะเป็นกรรมการสิทธิฯ ต้องเป็นมืออาชีพ แม้จะเลือกฝ่ายแต่เวลาทำหน้าที่ต้องมีความเป็นธรรม
งานของกรรมการสิทธิฯ เป็นงานที่หนัก ถ้าไม่พร้อมก็ควรพิจารณาตัวเอง ไม่ต้องรอให้มีใครไล่ การมีแรงกดดันขนาดนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อองค์กร ถ้าตัวกรรมการสิทธิฯ อยากรักษาองค์กรนี้ไว้ก็น่าจะแสดงสปิริต
ส่วนที่มีกรรมการสิทธิฯ บางคนมีความเห็นแตกต่างเกี่ยวกับรายงานการตรวจสอบการชุมนุมทางการเมืองของคนเสื้อแดง สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เป็นเอกภาพของกรรมการสิทธิฯ
คิดว่ากรรมการสิทธิฯ ต้องพิจารณาตัวเองแล้ว คงให้โอกาสไม่ได้อีกแล้ว เพราะที่ผ่านมาเกิดปัญหาหลายเรื่อง คงอยู่ยาก