"เต้น"ชูนิรโทษทางออกวิกฤต

ข่าวสด 10 สิงหาคม 2556


รายงานพิเศษ



หมายเหตุ- นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ ในฐานะส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทร ปราการ พรรคเพื่อไทย เพราะมั่นใจว่าเป็นเครื่องมือแก้วิกฤตความขัดแย้งของประเทศ อีกทั้งการช่วยเหลือก็ครอบคลุมทุกฝ่ายทุกสีเสื้อ โดยไม่ได้รวมถึงผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

ทั้งนี้ ระหว่างการอภิปรายแม้จะมีการประท้วงจากฝ่ายค้านเป็นระยะๆ แต่สุดท้ายสภาผู้แทนราษฎรก็มีมติรับหลักการร่างกฎหมายนี้ในวาระแรก ด้วยคะแนน 300 ต่อ 124 เสียง และให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 35 คน ขึ้นมาพิจารณาแปรญัตติให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 

ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นกฎหมายฉบับสำคัญของประวัติศาสตร์ประเทศไทย เพราะขณะนี้สภาผู้แทนราษฎรกำลังหารือเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว 

ผมคิดว่าถูกที่แล้ว แม้ว่าจะไม่ถูกเวลา สำหรับข้อเท็จจริงเราควรพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรมกันมาตั้งนานแล้ว 

ขออนุญาตอธิบายเกี่ยวกับคำว่านิรโทษกรรมให้ชัดเจน ซึ่งสำหรับคนไทยนั้นการนิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นในรัฐบาลนี้ด้วย

เพราะการออกกฎหมายนิรโทษกรรมของประเทศไทยมีมาแล้วถึง 24 ฉบับ การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ก็มีการออกนิรโทษกรรมเช่นกัน โดยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเป็นหน้าที่ของรัฐสภา มีบ้างที่รัฐบาลออกเป็นพระราชกำหนด แต่ก็ต้องผ่านกระบวนการของรัฐสภาอยู่ดี 

สิ่งที่ต้องยึดไว้สำหรับการออกกฎหมายคือ หลักนิติธรรม แต่กฎหมายนิรโทษกรรมเป็นกฎหมายฉบับพิเศษ เพราะเป็นเครื่องมือที่ผู้มีอำนาจทางการเมืองทั่วโลกใช้สำหรับแก้ปัญหาทางการเมือง 

เมื่อกฎหมายนิรโทษกรรมเป็นเครื่องมือหนึ่งในการแก้ไขปัญหาทางการเมือง ดังนั้นจะคำนึงเพียงแค่หลักทางนิติกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องใช้มุมทางนิติสังคมเข้าประกอบด้วย 

กล่าวคือจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องยึดหลักมนุษยธรรมด้วยนั่นเอง ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมาก็จะค่อยๆ คลี่คลายลงไป

การออกกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ มีผู้กล่าวอ้างว่าเป็นการออกกฎหมายที่ละเมิดต่อหลักนิติรัฐ นิติธรรม แต่ผมก็อยากให้ย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ที่มีความร้ายแรงที่สุดต่อการละเมิดต่อหลักนิติรัฐ นิติธรรม นั่นก็คือการยึดอำนาจรัฐประหาร

เพราะเมื่อมีการรัฐประหารเมื่อไหร่ จะมีการออกกฎ หมายนิรโทษกรรมทุกครั้ง อย่างรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ผู้ยึดอำนาจก็นิรโทษกรรมให้กับตัวเองเช่นกัน

เห็นได้ชัดในมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกผมต้องการแก้ไขมาโดยตลอด เพราะเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักนิติรัฐและนิติธรรมที่ร้ายแรงมาก

แต่ก็มีพรรคการเมืองหนึ่งคัดค้านต่อต้านเสมอมา เพราะมีเหตุผลสำคัญที่คิดกันไปเองว่า การแก้ไขมาตรา 309 จะได้ประโยชน์กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นั่นเอง

สิ่งที่ผมจะต้องพูดคุยก็คือ เมื่อกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้แล้วหมายรวมถึงใครบ้าง 

ผมก็ต้องยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้ มุ่งที่จะต้องการช่วยเหลือบรรดาประชาชน มวลชนของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อแดง เสื้อเหลือง หลากสี รวมถึงทุกสีเสื้อ

ซึ่งคนเหล่านี้เป็นผู้ที่กระทำความผิดทางการเมือง และจะต้องมีการพิจารณาถึงมูลเหตุจูงใจการ กระทำด้วย เพราะถ้าไม่มีความขัดแย้งทางการเมือง คนเหล่านี้ก็อาจเป็นสุจริตชน ทำมาหากินอย่างสุจริต แต่เมื่อเกิดการกระทำความผิดดังกล่าวแล้ว เราจึงต้องมาหามูลเหตุจูงใจของการกระทำด้วย 

ดังนั้น หากความผิดทางการเมืองหมายถึงการกระทำที่ประชาชนกระทำต่อรัฐ ซึ่งเป็นความผิดนั้น 

ผมก็คิดว่ารัฐจะต้องมีหน้าที่มาพิจารณากันว่า พวกเขาเหล่านี้ควรที่จะได้รับโอกาสหรือไม่ เพื่อเป็นการลดทอนเงื่อนไขของความขัดแย้งแต่สิ่งที่ผมคิดว่าร้ายแรงกว่าคือ เหตุการณ์ที่หน่วยงานรัฐกระทำต่อประชาชน เพราะประเทศ ไทยเป็นประเทศแรกที่รัฐบาลอนุญาตให้นำสไนเปอร์ออกมาควบคุมการชุมนุมของประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ร้ายแรงที่สุดสำหรับประเทศไทยที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย เพราะถ้าเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วฆ่าประชาชนเขาเรียกว่า "ทรราช"

พวกผมพูดชัดเสมอว่า การนิรโทษกรรมครั้งนี้เป็นการนิรโทษกรรมให้กับประชาชนทุกฝ่ายทุกสีเสื้อ แต่ก็มีเพื่อนสมาชิกระบุว่า หากกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้มีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ พวกผมก็จะได้รับผลพวงด้วย ซึ่งเป็นคำกล่าวที่บิดเบือนเพราะศาลยังไม่มีคำพิพากษาใดๆ ออกมา พวกผมยังไม่ใช่คนผิดแล้วจะหมายรวมถึงพวกผมได้อย่างไร 

ทั้งนี้ เรื่องกรอบเวลาสำหรับการนิรโทษกรรมฉบับนี้ที่เพื่อนสมาชิกได้อภิปรายกัน เป็นสิ่งที่ผมมีความเห็นด้วยกับเพื่อนสมาชิก ดังนั้นหากในชั้น กรรมาธิการ จะมีการปรับเปลี่ยนขยายกรอบเวลาให้ครอบคลุมผมก็ไม่มีปัญหา 

แต่ประเด็นที่ยังมีเพื่อนสมาชิกออกมาขยายตลอดเวลาว่า การออกกฎหมายนิรโทษกรรมดังกล่าวจะเป็นการเว้นโทษให้กับผู้ต้องคดีหมิ่นพระ บรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

ผมก็ต้องขอยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้อง และไม่ได้รวมถึง

ดังนั้นผมคิดว่าไม่ควรอธิบายขยายความด้วยการบิดเบือนให้ประชาชนเกิดความสับสนอีกต่อไป เพราะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น มีผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีและถูกคุมขังทั้งสิ้น 5 คน 

โดยอยู่ระหว่างขั้นตอนการยื่นขอพระ ราชทานอภัยโทษ 1 คน อีก 1 คนอยู่ในขั้นตอนของการต่อสู้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ถึงชั้นศาลฎีกา อีก 2 คนอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะยื่นขอพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ และอีก 1 คน ศาลยังไม่มีคำพิพากษาคดี ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณีเม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) ซึ่งเป็นข้อมูลของนักวิชาการหลายสถาบันรวมตัวกัน แล้วลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบว่าจากเหตุการณ์การชุมนุมปี"53 

พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีไปแล้วสรุปเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2556 ทั้งสิ้น 1,833 คน และเป็นคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.การบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จำนวน 1,093 คน

เป็นเด็กและเยาวชน 167 คน และมีเด็กและเยาวชนต้องคำพิพากษาในคดีฝ่าผืนพ.ร.ก.เพียงอย่างเดียวถึง 140 คน ยืนยันว่าการนิรโทษกรรมออกได้ทั้งก่อนและหลังการตัดสินคดี ดังนั้นเมื่อกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้จึงไม่ได้มีผลแต่คนในเรือนจำ แต่จะมีผลต่อคนด้านนอกเรือนจำด้วย 

ชีวิตคนเราเกิดมา สุจริตมาโดยตลอด แต่วันหนึ่งออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยสงบ ออกมาใส่เสื้อสีแดง แล้วการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ก็ถูกจับดำเนินคดี เพราะยังอยู่ในที่ชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์ และบางส่วนถูกปล่อยออกมาแล้ว แต่มีประวัติถูกดำเนินคดี แล้วจะใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างไร