นิรโทษ-ปฏิรูป ต้องแยกจากกัน

ข่าวสด 18 สิงหาคม 2556

 











2 สัปดาห์เต็มหลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศแนวทางปฏิรูปการเมือง

มอบ หมาย ?2 เทพ? นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา กับนายวราเทพ รัตนากร ทำหน้าที่ทูตเดินสายส่งเทียบเชิญผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองและตัวแทน ทุกกลุ่ม ทุกสี

ชักชวนเข้าร่วมเวทีหาทางออกให้ประเทศ ผลมีทั้งตอบรับและปฏิเสธ

อัพเดตกลุ่มบุคคลที่ตอบรับในส่วนอดีตประธานรัฐสภาและอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร มี นายอุกฤษ มงคลนาวิน นายอุทัย พิมพ์ใจชน

และ นายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึง นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภาคนปัจจุบัน

ส่วนอดีตนายกรัฐมนตรี นำโดย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และ นายบรรหาร ศิลปอาชา

ระดับ หัวหน้าพรรคและแกนนำ ประกอบด้วย นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แกนนำพรรคชาติพัฒนา นายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

และ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช. ในฐานะหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ

ส่วนภาคประชาสังคม มี นายโคทม อารียา ล่าสุดยังมี ?ดร.โกร่ง?วีรพงษ์ รางมางกูร ที่รับคำเชิญโดดเข้าร่วมวง

ตาม ด้วยแกนนำภาคธุรกิจสำคัญ ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย

จะสะดุดอยู่บ้างก็ตรงนพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ที่ตอบปฏิเสธไม่เข้าร่วม แต่ขอสนับสนุนอยู่ข้างเวที เพราะอายุมากแล้ว แถมภรรยาห้ามไว้

อย่างไรก็ตามนพ.ประเวศเสนอแนวคิดยกระดับการปฏิรูป การเมืองให้เป็น ?วาระแห่งชาติ? เปิดโอกาสให้ทุกคนทั้งฝ่ายชอบและไม่ชอบรัฐบาลเข้ามามีส่วนร่วม

พร้อมแยกเรื่องปรองดองออกจากเรื่องปฏิรูป

โดยให้เหตุผลว่าปรองดองเป็นเรื่องของอดีต แก้ไขได้ยาก และอาจทำให้ขัดแย้งมากขึ้น

แต่การปฏิรูปเป็นเรื่องอนาคต

ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง เป็นเรื่องระยะยาวและต้องทำต่อเนื่อง

ทั้งได้บอกผ่านตัวแทนไปยังรัฐบาลชุดนี้ว่า หากจะทำเรื่องปฏิรูปจริงต้องออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี สร้างกลไกไว้

ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลจะได้ทำต่อเนื่องไปได้

นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกฯ และรมช.เกษตรฯ หนึ่งในผู้ประสานบุคคลเข้าร่วมสภาปฏิรูปการเมือง ตามแนวคิดของนายกฯ ยิ่งลักษณ์

กล่าวถึงเวทีปฏิรูปว่าจะมีองค์ประกอบราว 50-100 คน กำหนดพูดคุยนัดแรกวันที่ 25 ส.ค.นี้

มีการตั้งข้อสังเกตว่าการออกมาจุดพลุเปิดประเด็นสภาปฏิรูปนี้ขึ้นมา โดยชูเป้าหมายเชิญบุคคลทุกฝ่ายฉุดประเทศขึ้นจากปลักความขัดแย้ง

ด้านหนึ่งเท่ากับเป็นการกดดันพรรคฝ่ายค้านและกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลไปในตัว

โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ที่มีจุดยืนคัดค้านทุกเรื่องที่เป็นแนวทางหรือนโยบายที่ออกมาจากมันสมองของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ด้วยความเชื่อที่ว่าทุกสิ่งที่รัฐบาลเพื่อไทยทำ

มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่การช่วยเหลือพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ให้พ้นผิด ได้เดินทางกลับประเทศ

พรรคประชาธิปัตย์แสดงออกจุดยืนดังกล่าวอย่างเปิดเผยชัดเจนผ่านเวทีผ่าความจริง ต่อต้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับของนายวรชัย เหมะ

ถึงในที่สุดพรรคจะไม่สามารถปลุกระดมมวลชนเข้าร่วมเคลื่อนไหวได้ตามเป้า ทั้งยัง เป็นฝ่ายแพ้โหวตในสภาไปในขั้นรับหลักการ วาระแรก

แต่ประชาธิปัตย์ยังประกาศยืนหยัดสู้ต่อในชั้นกรรมาธิการแปรญัตติวาระ 2

ซึ่ง น่าจะมีความเข้มข้นหากดูจากรายชื่อบุคคลที่พรรคส่งชื่อเข้ามาเป็นกรรมาธิการ ไม่ว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค หรือนายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการชื่อดัง

แต่ที่ต้องเฝ้าติดตามคือเสียงประกาศกร้าวของนาย สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ว่าหากร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมผ่านสภาวาระ 3 เมื่อใด

พร้อมเป่านกหวีดระดมมวลชนเคลื่อนไหวเต็มรูปแบบทันที คู่ขนานไปกับการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ

สถานการณ์จะไต่ระดับไปถึงจุดนั้นหรือไม่ หรือจะฝ่อแฟบระหว่างทาง

ยังเป็นเรื่องอยู่นอกเหนือการวิเคราะห์ฟันธง

อีกข้อสังเกตที่ตามมาหลังนายกฯ เปิดประเด็นสภาปฏิรูปการเมือง

คือรัฐบาลเพื่อไทยกำลังเดินตาสำคัญบนกระดานหมากการเมือง ด้วยการใช้เวทีปฏิรูปเป็นเครื่องมือโดดเดี่ยวพรรคประชาธิปัตย์

ก็แปลกเช่นกันที่รู้ทั้งรู้แต่พรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถพาตัวเองออกจากกับดักนี้ได้

เพราะ การสลัดหลุดกับดักมีแต่ต้องยอมรับการส่งตัวแทนเข้าร่วมเวทีสภาปฏิรูป ซึ่งหัวเด็ดตีนขาดพรรคประชา ธิปัตย์ไม่มีทางกระทำเช่นนั้นแน่นอน

ขนาดล่าสุดนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เอ่ยปากตรงๆ ว่าอยากให้ผู้นำฝ่ายค้านเข้าร่วมเวทีปฏิรูปมากที่สุด

แต่นายอภิสิทธิ์ กลับตอบปฏิเสธแบบไม่มีเยื่อใย พลาดโอกาสสุดท้ายที่จะได้ร่วมโดยสารขบวนรถไฟสายสันติภาพปรองดองไปแบบน่าเสียดาย

พรรค ประชาธิปัตย์และนายอภิสิทธิ์ ยืนกรานแข็งกร้าวเงื่อนไขว่ารัฐบาลเพื่อไทยต้องเลื่อนกฎหมายนิรโทษกรรมออกไป ก่อน แล้วค่อยมาพูดกันเรื่องปฏิรูป

นอกเหนือจากนั้นยังโจมตีประเด็น ว่าเป้าหมายซ่อนเร้นของรัฐบาลในการเสนอเวทีสภาปฏิรูปการเมือง ก็เพื่อใช้เป็นเส้นทางนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ซึ่งก็เป็นเหมือนกับความพยายามผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม ที่จุดหมายปลายซอยคือการล้มล้างความผิดให้กับนายใหญ่ในต่างประเทศ

เมื่อมาถึงจุดนี้จะเห็นได้ว่าเงื่อนไขของพรรคประชาธิปัตย์ ต่อเวทีปฏิรูปร่วมหาทางออกให้กับประเทศ

สวนทางโดยสิ้นเชิงกับสิ่งที่หมอประเวศ วะสี ชี้แนะให้แยกเรื่องปรองดองกับเรื่องปฏิรูปออกจากกัน

หากอธิบายในแบบของรัฐบาลเพื่อไทย คือพรรคประชาธิปัตย์ไม่ควรนำเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม มาเป็นเงื่อนไขในการเดินหน้าเวทีปฏิรูป

เพราะเป็นคนละส่วนกัน

อีก ทั้งการที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือกสม. ยื่นแขนเข้ามาโอบอุ้มพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยรายงานผลตรวจสอบเหตุ การณ์สลายม็อบปี 2553 ที่เป็นการสรุปแบบเลือกข้างด้วยแล้ว

นอกจากตัว กสม.เองจะโดนถล่มหนัก ยังส่งผล กระทบทำให้สถานการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ย่ำแย่ลงไปอีก

ที่สำคัญคือเป็นความย่ำแย่ถดถอยชนิดที่พรรคประชาธิปัตย์เองไม่รู้สึกตัว

ฟื้นขึ้นมาอีกทีขบวนรถไฟสายปฏิรูปก็วิ่งผ่านไปไกล