เส้นทางพ.ร.บ.นิรโทษกรรม

ข่าวสด
13 สิงหาคม 2556
รายงานพิเศษ
การพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย แม้บรรยากาศจะดุเดือด มีการประท้วงจากฝ่ายค้านตลอด 2 วันของการอภิปราย จนต้องสั่งพักการประชุมเพื่อเบรกเกมร้อน

แต่สุดท้ายผ่านฉลุยในวาระแรกด้วยมติ 300 ต่อ 124 เสียง

การทำหน้าที่ของส.ส.ทั้ง 2 ฝ่ายเป็นอย่างไร ข้อมูลและหลักฐานที่นำมาประกอบการอภิปรายมีน้ำหนักมากน้อยเพียงใด รวมถึงเส้นทางของกฎหมายฉบับนี้จะเจออุปสรรคขวากหนามอีกหรือไม่ มีความเห็นจากผู้ติดตามสถานการณ์ดังนี้



ยุทธพร อิสรชัย
คณบดีรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช


ภาพรวมการอภิปรายร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม พบว่าทั้ง 2 ฝ่ายยังคงใช้เทคนิค ทางการเมืองเป็นหลัก ฝ่ายรัฐบาลพยายามเร่งรัดให้เดินหน้าไปสู่การลงมติโดยเร็ว เนื่องจากหากปล่อยไว้นานจะกลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบ

พรรคฝ่ายค้าน ใช้การเตะถ่วง ไม่เข้าเรื่องที่จะอภิปราย ตีรวนออกนอกเรื่อง เช่น ไปพูดเรื่องการถ่ายทอดสด กว่าจะเข้าสู่เนื้อหาได้ก็ใช้เวลากว่า 7 ชั่วโมง

ส่วนข้อมูลที่นำมาใช้ถือว่าไม่มีอะไรทั้ง 2 ฝ่าย เนื่องจากเนื้อหาสาระหลักคิดทางกฎหมายไม่ค่อยถูกกล่าวถึง มีเพียงการนำเอาประเด็นเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนเม.ย.-พ.ค.53 มาพูดถึง

กรณีฝ่ายค้านนำประเด็นชายชุดดำ กองกำลังไม่ทราบฝ่ายมาพูดถึงบ่อยครั้ง เพราะเป็นประเด็นเรียกแขก และยังเป็นการโยนว่าการเสียชีวิตของประชาชนไม่ได้เกิดจากคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)

เมื่อเข้าสู่ชั้นกรรมาธิการ ฝ่ายค้านคงเตะถ่วงได้ยากเนื่องจากมีการกำหนดเวลาแปรญัตติไว้เพียง 7 วัน คาดว่าสิ่งที่ฝ่ายค้านจะทำคือการพยายามดันเรื่องในห้องกรรมาธิการให้ออกมาเป็นข่าว

ผ่านการใช้เทคนิคการเมือง สร้างประเด็น เหมือนอย่างที่โจมตีมาตลอด เช่น ระบุว่าอาจมีส่วนใดส่วนหนึ่งของพ.ร.บ.นำไปสู่การช่วยพ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อสร้างกระแส เป็นต้น

ในชั้นกรรมาธิการนั้น คำสั่งศาลอาญากรณีการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมเดือนเม.ย.-พ.ค. 53 โดยเฉพาะกรณี 6 ศพ วัดปทุมฯ จะมีประโยชน์มาก เนื่องจากได้ปรากฏถึงข้อเท็จจริง ต่างจากรายงานในกรณีเดียวกันของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ที่ไม่ได้ชี้ถูกชี้ผิดอะไร

จากนั้นเมื่อเข้าสู่การรับหลักการในวาระ 3 คงจะเตะถ่วงไม่ได้อีกเช่นกัน เนื่องจากระเบียบการประชุมสภาระบุว่าต้องพิจารณาภายใน 15 วัน จากนั้นจะต้องผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาอีก 3 วาระ ซึ่งการเข้มข้นในการตรวจสอบคงจะไม่เท่าในสภาผู้แทนราษฎร ก็น่าจะผ่านไปได้ในที่สุด

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ระบุว่าจะคัดค้านนอกสภาอีกครั้งเมื่อถึงการพิจารณาในวาระ 3 ก็มีโอกาสที่จะจุดติดได้เหมือนกัน แต่คนคงน้อยหากไม่มีประเด็นใหม่

ซึ่งต้องดูอีกครั้งว่าสถานการณ์ขณะนั้นมีประเด็นอะไรเกิดขึ้นหรือไม่



สมบัติ บุญงามอนงค์
บ.ก.ลายจุด

เวลา 2 วันที่สภาผู้แทนราษฎรประชุมพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นช่วงเวลาที่พรรคประชาธิปัตย์สามารถแสดงความเห็นทางการเมืองได้อย่างเต็มที่ และแสดงออกในที่ทางที่ถูกต้องที่สุด

แต่จากการติดตามรับฟังปรากฏว่า พรรคประชาธิปัตย์ใช้เทคนิคเล่นเกมในสภามากเกินไป ที่จริงเริ่มมาจากการระดมมวลชนก่อนหน้านี้เพื่อไปยังหน้ารัฐสภาแล้วด้วยซ้ำ

เมื่อใช้เทคนิคเล่นเกมมากไปทำให้กว่าจะเข้าเนื้อหาสาระการอภิปรายได้จริงๆ ก็เกือบ 6 โมงเย็นของการประชุมวันแรกแล้ว ซึ่งน่าเสียดายเวลา

ยิ่งแย่ลงเมื่อพรรคประชาธิปัตย์ยังแสดงพฤติกรรมตีรวนตลอดการประชุม ทำให้ไม่ได้สาระอะไรมาก ทั้งที่พรรคประชาธิปัตย์ควรใช้เวลาที่มีในสภาแสดงเหตุผลในการไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้เต็มที่

ส่วนฝ่ายรัฐบาลเองยังยืนยันหนักแน่นว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการนิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนเท่านั้น ตรงนี้ไม่มีปัญหาอยู่แล้วเพราะเป็นฝ่ายที่เสนอ ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็มีหน้าที่แสดงความเห็นว่าไม่เห็นด้วยอย่างไร

แต่พรรคประชาธิปัตย์ทำได้ไม่ดี มัวแต่เล่นเกมป่วนสภาอยู่ และยิ่งเป็นปัญหาอย่างหนักเมื่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ พูดกลางสภาว่าไม่มี เจ้าหน้าที่ใช้สไนเปอร์ในเหตุการณ์ชุมนุมปีཱ

ถ้านายสุเทพไม่พูดแบบนี้เชื่อว่าน.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย คงไม่ลุกขึ้นพูด เพราะมีพยานเอกสารหลักฐานชัดเจนว่ามีการเบิกกระสุนพลแม่นปืนซุ่มยิง 3,000 นัด แสดงให้เห็นว่ามีการใช้สไนเปอร์จริง มีคลิปชัดเจนที่จะมัดนายสุเทพ

การที่นายสุเทพพูดอย่างนี้ไม่ต่างอะไรจากที่เคยพูดมาตลอด แต่หลักฐานและคลิปต่างๆ ทำให้เกิดความขัดแย้งกับคำพูด ดังนั้นจึงเป็นคำพูดที่น่าอนาถ

ทางที่ดีถ้านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค และนายสุเทพจะเสียสละถอนตัวออกจากพรรคประชาธิปัตย์ น่าจะเป็นทางที่ดีจะได้ไม่ถูกโต้กลับ

คำสั่งศาลจะทยอยออกมาถ้าสองคนนี้ยังอยู่เป็นภาระของพรรค เพราะนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพแทบไม่มีเวลาไปคิดเลยว่าจะพัฒนาพรรคอย่างไร พลังที่มีทั้งหมดจะต้องถูกนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาของตัวเองที่มีอยู่

อย่างไรก็ตามตอนนี้ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมผ่านความเห็นชอบจากสภาในวาระแรกแล้ว หลังจากนี้ในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญคงดุเดือดขึ้น เห็นได้จากรายชื่อของบุคคลที่มานั่งเป็นกรรมาธิการ

ก็ได้แต่ภาวนาว่าอย่ามีต่อยกันในสภาเลย คงจะมีการแสดงเทคนิคต่างๆ กันน่าดู พรรคประชาธิปัตย์เองคงสู้เต็มที่ เพราะเขาประกาศแล้ว แต่ไม่ว่าจะยากเย็นแค่ไหนก็เชื่อว่าท้ายที่สุดร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะผ่านเป็นกฎหมายได้

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์จะสู้จนแตกหักหรือไม่ก็ลองดู ถ้าคิดว่าคุ้ม



สิงห์ชัย ทุ่งทอง
ส.ว.อุทัยธานี


บรรยากาศการประชุมที่วุ่นวายถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะกระแสแรงตั้งแต่ก่อนเข้าสภาแล้ว แต่ขอชื่นชมรัฐบาลที่ตอบโต้น้อยมากทั้งที่ฝ่ายค้านพยายามอ้างต่างๆ นานา ยื้อเวลาจนไม่ได้เข้าเรื่องสักเท่าไหร่

การอภิปรายมีการพูดถึงการใช้สไนเปอร์ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมปีཱ อย่างไรก็ดี คดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล เบื้องต้นศาลวินิจฉัยแล้วว่าไม่มีชายชุดดำ กระสุนที่ยิงมาจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหาร ยังต้องมีการวินิจฉัยผู้สั่งการต่อ ไปอีก

ซึ่งถ้าฝ่ายรัฐบาลไม่ตอบโต้เรื่องนี้ ฝ่ายค้านเองที่จะถูกกินไปเรื่อยๆ

ทั้งนี้หลังจากรับหลักการแล้ว คงจะพิจารณาแก้ไขรายมาตราและให้มีการแปรญัตติภายใน 7 วัน ซึ่งการประชุมชั้นกรรมาธิการ กฎหมายสำคัญที่ผ่านมาอย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ก็ถูกสัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์พยายามปั่นป่วน ยื้อเวลา จนออกเรื่องอย่างเห็นได้ชัด

ครั้งนี้คงเช่นเดียวกัน เพราะยังคัดเลือกแนวฮาร์ดคอร์แถวหน้าของส.ส.พรรคประชาธิปัตย์มานั่งในกรรมาธิการ รวมถึง นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตส.ว.กทม. และอดีตคตส.มาร่วมด้วย

แต่เชื่อว่าจะผ่านพ้นไปด้วยดี เนื่องจากถูกบังคับตามกรอบเวลา แม้จะมีอุปสรรคบ้าง แต่ถ้ารัฐบาลอดทนและไม่ตอบโต้มากจะเป็นเรื่องดี

เชื่อว่าในที่สุดร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ จะออกเป็นกฎหมายได้ด้วยดี