อ่านเกม "ประชาธิปัตย์" จับมือพันธมิตรฯ

ข่าวสด
22 สิงหาคม 2556

รายงานพิเศษ


ถูกจับตาอย่างมากหลังพรรคประชาธิปัตย์ประกาศจับมือ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เคลื่อนไหวล้มล้างระบอบ"ทักษิณ"

ขณะเดียวกัน กลุ่มพันธมิตรยื่น เงื่อนไขให้ส.ส.ประชาธิปัตย์ ลาออกมาร่วมกันนอกสภา

การกระทำของพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้มาจากเหตุปัจจัยอะไร

และการผนึกกำลังครั้งนี้จะบรรลุ เป้าหมาย หรือส่งผลกระทบต่อรัฐบาลขนาดไหน

ภาคประชาชน และนักวิชาการวิเคราะห์ไว้ดังนี้



อัษฎางค์ ปาณิกบุตร
อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง

การจับมือกันสามารถทำได้โดยหลักการที่พรรคการเมืองจะไปหาความร่วมมือจากภาคประชาชน แต่การไปหาแนวร่วมเพื่อมาล้มรัฐบาลนั้นโดยมารยาทตามหลักประชาธิปไตยก็ถือว่าไม่เหมาะสม

ทั้งที่พรรคประชาธิปัตย์ก็มีเวทีในสภา สามารถทำหน้าที่ฝ่ายค้านได้อย่างเต็มที่อยู่แล้ว แต่การไปจับมือกับกลุ่มพันธมิตรฯแสดงให้เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์เทหมดหน้าตัก ใช้ทุกวิถีทาง ไม่สู้เพียงแค่ในสภาอย่างเดียว

เหลือเพียงคำเดียวที่พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่พูดคือคำว่า "ไม่เอาระบอบประชาธิปไตย" เพราะพฤติกรรมที่ผ่านมาถือว่าแสดงออกมาอย่างชัดเจน

ขนาดผู้ใหญ่ในพรรค หรือส.ส.ในพรรคบางคนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว แต่กลุ่มที่ดำเนินการอยู่ในพรรคขณะนี้ก็ยังไม่ฟัง

การไปหาแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ คงเพราะพรรคประชา ธิปัตย์เชื่อว่าคนที่เห็นด้วยกับแนวทางเคลื่อนไหวนอกสภานั้นมีอยู่เยอะ ซึ่งก็ต้องดูแรงสนับสนุน และปัจจัยด้านอื่นๆ ว่ามีมากหรือน้อยเพียงใด

และจะสามารถปลุกมวลชนได้มากหรือน้อยนั้นก็ขึ้นอยู่กับประเด็นที่นำมาเรียกร้องว่ามีเหตุผลมากน้อยเพียงใด

ขณะเดียวกัน ทางฝั่งรัฐบาลก็ต้องใช้อำนาจให้ถูกต้องชอบธรรม ให้เสียงประชาชนที่เลือกตั้งเข้ามาเป็นที่พิงก็เชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหาอะไร



วิโรจน์ อาลี
รัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ปรากฏการณ์ที่พรรคประชาธิปัตย์หันไปจับมือกับกลุ่มพันธมิตรฯ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อล้มล้างรัฐบาลภายใต้ระบอบทักษิณ ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะในอดีต 2 ฝ่ายก็เคย จับมือกันบุกทำเนียบรัฐบาลมาแล้ว เป็นการแสดงของตัวละครเดิมๆ

อีกทั้งยังสะท้อนว่าพรรคประชาธิปัตย์หมดหนทางที่จะต่อสู้ในระบอบประชาธิปไตยแล้ว และสะท้อนอีกว่าพรรคประชาธิปัตย์หมดมุขที่จะงัดการต่อสู้ในเชิงนโยบาย

ที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์พยายามดึงหลายฝ่ายมาโจมตีรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นกองทัพ มวลชน หรือองค์กรอิสระ แต่ไม่ได้เน้นการต่อสู้ในเชิงนโยบาย ทั้งๆ ที่ในข้อเท็จจริง ยังมีหนทางอีกมากที่จะสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน

สังเกตได้จากการเลือกตั้งหลายๆ ครั้ง อย่างเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ส.ส.ที่ดอนเมือง หรือพื้นที่อื่นๆ คะแนนเสียงที่ออกมาแทบ ไม่แตกต่างกับพรรคเพื่อไทย

แสดงว่าประชาชนยังมีเหตุผลมากพอที่จะตัดสินใจให้ผู้ที่เหมาะสมมาบริหารประเทศ และมีปัจจัยอีกมากที่จะทำให้ชนะเลือกตั้ง แต่น่าเศร้าที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้สนใจในกรอบนี้เลย

แม้จะมีกระแสให้ปฏิรูปพรรค แต่เห็นได้ชัดว่าไม่ได้เป็นที่สนใจของแกนนำพรรค รวมทั้งไม่มีนวัตกรรมเชิงนโยบายใหม่ๆ

พรรคประชาธิปัตย์ยังทำงานในสภาน้อยเกินไป ยิ่งการหันกลับไปจูบปากกลุ่ม พันธมิตรฯ ยิ่งตอกย้ำว่าหลังจากนี้จะเลือกช่องทางที่จะใช้การเมืองนอกสภา

อย่างไรก็ตาม กำลังมวลชนของกลุ่มพันธมิตรฯ ลดน้อยลงไปมาก แม้พรรคประชาธิปัตย์จะมาเข้าร่วมก็ไม่อาจรับรองได้ว่าจะปลุกกระแสขึ้นเหมือนตอนปี 2549 หรือไม่

ฉะนั้น คงยากที่กลุ่มพันธมิตรฯและพรรคประชาธิปัตย์จะทำให้ประวัติศาสตร์ ซ้ำรอย เพราะขณะนี้บรรดาชนชั้นนำและประชาชนต่างเบื่อหน่ายที่จะเคลื่อนไหวด้วยวิธีดังกล่าว กองทัพเองก็ย้ำชัดเจนว่าให้เป็นเรื่องของรัฐสภา

จึงเป็นเรื่องที่จะจุดไฟให้ติดได้ยาก ยกเว้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับที่มาของส.ว. และองค์กรอิสระ ที่อาจเป็นเชื้อไฟได้ แต่หากรัฐบาลยังคงเดินหน้าตาม นโยบาย ยึดหลักนิติธรรมและขยันชี้แจง ก็สามารถลดความขัดแย้งลงได้

ที่กลุ่มพันธมิตรฯ ยื่นข้อเสนอให้ ส.ส.ประชาธิปัตย์ลาออกแล้วมาต่อสู้บนถนนก็จะไปซ้ำรอยกับเหตุการณ์ที่ไม่ส่งส.ส.ลงเลือกตั้ง แต่เชื่อว่าส.ส.ส่วนใหญ่คงไม่ยอมรับ ข้อเสนอนี้

เพราะหากทำจริงคงเป็นเรื่องที่น่าอายสำหรับผู้ที่สังกัดพรรคที่เก่าแก่และเคย เชื่อมั่นในประชาธิปไตยมาโดยตลอด

เชื่อว่าเสียงส่วนใหญ่ในพรรคประชาธิปัตย์คงไม่เห็นด้วยกับการไปจับมือกับ พันธมิตรฯ คงจะมีเพียงแต่กลุ่มของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เห็นด้วย และเชื่ออีกว่าหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปเสียงส่วนใหญ่จะเริ่มทนไม่ไหวจนอาจนำไปสู่การเกิดศึกภายในพรรคได้



สมบัติ บุญงามอนงค์
บ.ก.ลายจุด


การหันไปจับมือกับพันธมิตรฯ แสดงให้เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีศักยภาพในการนำมวลชนจริง และสะท้อนว่าที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีความรู้ในการจัดการมวลชน จึงต้องนำข้อเสนอของกลุ่มพันธมิตรฯ มาพิจารณา

ก่อนหน้านี้เหมือนพรรคประชาธิปัตย์จะไม่สนใจกลุ่มพันธมิตรฯ ที่เสนอเงื่อนไขให้ส.ส.ลาออก แต่ตอนนี้กลับมีท่าทีว่าจะพิจารณาข้อเสนอดังกล่าว คิดแค่ว่าถ้ารวมกันได้มวลชนจะมาก ทำให้กดดันรัฐบาลได้ เพราะคิดว่าสู้กันด้วยเสียงในสภาอย่างไรก็แพ้

เชื่อว่าต่อให้รวมกันก็ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยน แปลงได้ และมองว่าเป็นกับดักของแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นเกมหลอกพรรคประชาธิปัตย์มาตาย ต้องการ ปั่นหัวพรรคประชาธิปัตย์ ให้ส.ส.ยอมทิ้งที่นั่งในสภาแล้วลงเลือกตั้งใหม่ พอสอบตกก็ไม่เหลืออะไรเลย

ถ้าพรรคประชาธิปัตย์เดินเกมนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ของพรรค เพราะพรรคจะล้มเสียงดัง ยังคิดว่าพันธมิตรฯจะมาเอาด้วยจริงๆ หรือ อาจจะมา ร่วมแต่พลัง ความจริงใจคงไม่เท่ากับ ในอดีต

ลำพังกลุ่มพันธมิตรเองก็ไม่ได้มีกำลังมากมายอะไร ถ้าจะเล่นเกมปริมาณถึงรวมกันอย่างไรก็ไม่ชนะ

กลุ่มพันธมิตรไม่มีอะไรจะเสียขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ต้องแลกด้วยแนวทางการเมืองของตัวเอง เพราะการต่อสู้บนท้องถนนจะเป็นการลดความชอบธรรม ไปเรื่อยๆ

พรรคประชาธิปัตย์มองไม่ออกหรือว่าประชาชนไม่เอาด้วยแล้ว อย่าคิดว่าจับมือกันแล้วมวลชนจะล้นหลาม และอย่าคิดว่าจะชนะเพราะทหารก็ไม่ได้เอาด้วย

ท้ายที่สุดแล้วผู้ใหญ่ในพรรคจะคัดค้านและไม่รับข้อเสนอของพันธมิตรจะรู้สึกแปลกใจหากพรรคประชาธิปัตย์รับข้อเสนอยอมลาออกจากส.ส.

และเมื่อนั้นพรรคประชาธิปัตย์จะกลายเป็นตัวตลก ไม่ได้น่ากลัวอะไรเลย

ถ้าพรรคประชาธิปัตย์จะลองแนวทางนี้ก็ลองดู เพราะการเปลี่ยนแปลงอาจเกิดขึ้นข้างถนนได้ แต่ไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ แม้ว่าจะดูวุ่นวายกันข้างถนนแต่เชื่อว่าสำหรับรัฐบาลแล้วจะผ่านไปได้

หรือเต็มที่รัฐบาลก็ยุบสภาเลือกตั้งใหม่และจะชนะกลับมาเป็นรัฐบาลอีก ตราบใดที่พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่ปฏิรูปพรรค

อยากฝากว่าพรรคประชาธิปัตย์ต้องไม่ฟังพันธมิตรฯ แต่คนที่ควรฟังมากที่สุดคือ นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เสนอให้ปฏิรูปพรรค

ปัญหาของพรรคตอนนี้อยู่ที่ตัวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี จะพาพรรคลงเหวเช่นนั้นหรือ