แถลงการณ์ ‘ไม่ชุมนุม’ ของแกนนำ ‘พันธมิตรพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย’ ฉบับล่าสุด ทำเอาผู้เขียน ‘สะดุ้ง’ ถึงสองครั้ง!
แน่นอนว่าพันธมิตรฯ ยังคงแถลงต่อต้านการนิรโทษกรรม เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม ส่วนนี้ไม่มีอะไรแปลกใหม่
แต่ที่ส่วนที่น่าสนใจจนต้อง ′สะดุ้ง′ คือคำอธิบายการไม่ออกมาชุมนุมในช่วงเวลานี้ โดยพันธมิตรฯ ได้อธิบายในแถลงการณ์ฉบับที่ 4/2556 ว่า
…แต่สถานการณ์ปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไป เมื่อแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผู้ปราศรัย พิธีกร ศิลปิน และประชาชน ได้ถูกกลั่นแกล้งโดยยัดเยียดข้อหาร้ายแรงอันเป็นเท็จ...แม้ว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยพร้อมที่จะพิสูจน์ตัวเองตามกระบวนการยุติธรรมเพื่อรักษาหลักนิติรัฐ นิติธรรม แต่ศาลอาญาก็ได้มีคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ อ. 973/2556 ให้ประกันตัวโดยมีเงื่อนไขตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2566 ว่า
“ห้ามมิให้จำเลยกระทำการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หรืออาจก่อให้เกิดภัยอันตรายต่อความเสียหายหรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทำการใดๆ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล”
และศาลอาญาได้แถลงย้ำคำสั่งดังกล่าวอีกเป็นครั้งที่สองเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2556 ย่อมแสดงให้เห็นว่า แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผู้ปราศรัย พิธีกร ศิลปิน และประชาชนอีกจำนวนมากได้ถูกลิดรอนสิทธิจากคำสั่งดังกล่าว และเป็นข้อจำกัดจนไม่สามารถทำให้การชุมนุมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพหรือประสบผลสำเร็จได้จริงในสถานการณ์ปัจจุบัน และวิธีการชุมนุมภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวก็ยังไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับผลลัพธ์ที่ได้ในขณะนี้…
(ย่อและเน้นคำโดยผู้เขียน คำแถลงฉบับเต็ม ดูที่ http://bit.ly/PAD310713)
เมื่อได้อ่านคำแถลงส่วนนี้แล้ว ผู้เขียนต้อง ‘สะดุ้ง’ ถึงสองครั้ง !
*** สะดุ้งแรก : พันธมิตรวิจารณ์ศาล ? ***
ผู้เขียนสะดุ้งเพราะรู้สึกเป็นบุญตาที่ได้เห็นพันธมิตรฯ ออกมาวิจารณ์ "ศาลไทย" ตรง ๆ ว่าคำสั่งศาลที่กำหนดเงื่อนไขการชุมนุมนั้นเป็นการ "ริดรอนสิทธิ" ของประชาชน
ในขั้นแรก การแสดงจุดยืนเช่นนี้ จะถือว่า ‘ย้อนแย้ง’ ตนเองหรือไม่ ? เพราะในขณะที่พันธมิตรฯ กำลังเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเข้าสู่กระบวนการทางศาล แต่แถลงการณ์ฉบับเดียวกันนี้เองก็กลับเห็นว่าศาลกำลังริดรอนสิทธิของประชาชน แล้วเช่นนี้ ประชาชนจะยังพึ่งศาลได้มากน้อยเพียงใด ?
หรือพันธมิตรฯ กำลังส่งสัญญาณเพื่อต่อรองกับ "อำนาจเหนือตุลาการ" ให้ยอมผ่อนปรนเงื่อนไขการประกันตัว แลกกับการออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ?
อย่างไรก็ดี ผู้เขียนขอมองในแง่ดีว่า พันธมิตรฯ กำลังแสดงความเห็นวิจารณ์ศาลอย่างสุจริต และเป็นการวิจารณ์ทำนองเดียวกันจากประชาชนทุกสีเสื้อที่ศาลควรรับฟังอย่างยิ่ง
ผู้เขียนทราบดีว่า คำสั่งศาลอาญาไม่ได้ปิดกั้นการชุมนุม หรือการไปแสดงออกทางการเมือง โดยหากจำเลยที่ได้การปล่อยตัวชั่วคราวรายใดจะชุมนุมโดยสงบสันติ และไม่ทำผิดเงื่อนไขที่ห้าม "ยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง..." ศาลท่านก็ย่อมไม่ได้ห้ามแต่ประการใด
แต่ผู้เขียนเห็นด้วยกับพันธมิตรฯ ในแง่ที่ว่า การใช้อำนาจออกคำสั่งของศาลโดยใช้ถ้อยคำที่กินความกว้างเช่นนี้ ย่อมทำให้จำเลยเหล่านี้กลายเป็น ‘ประชาชนที่มีตราบาป’ และไม่กล้าใช้สิทธิเสรีภาพ เพราะการใช้สิทธิเสรีภาพนั้นต้อง “ถูกใจศาล” หากไม่ถูกใจก็จะถูกศาลเรียกมาไต่สวนเพื่อแสดงความสำนึกและก้มกราบขอขมาต่อศาล มิเช่นนั้น ก็อาจถูกส่งกลับเข้าคุกได้โดยไม่ต้องพิจารณาคดีใหม่
การออกคำสั่งล่วงหน้าที่พ่วงมาด้วยโอกาสติดคุกโดยไม่ต้องรับการพิจารณาคดีใหม่เช่นนี้ ถือเป็นกรณีที่ศาลสร้างเกณฑ์ขึ้นมาปรับใช้เอง ซึ่งเกินเลยไปกว่ารัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่ให้อำนาจไว้
แน่นอน ย่อมมีผู้แย้งว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 28 ได้บัญญัติว่า
"บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน"
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นมาตรานี้ หรือ มาตรา 108/1 ในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือจะมาตราใดในระบบกฎหมายไทย ก็ไม่ได้ให้อำนาจศาลออกคำสั่งกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นการทั่วไปดังเช่นที่ศาลอาญากระทำตลอดมา
หากว่ากันไปตามตัวบทกฎหมายแล้ว ศาลจะต้องกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวอย่างแคบ เช่น ห้ามจำเลยไปทำลายพยานหลักฐาน หรือทำผิดซ้ำในประเด็นที่เจาะจงกับคดีเดิม ส่วนหากจำเลยจะไปชุมนุมและละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นต่างกรรมต่างวาระ ก็ต้องถูกดำเนินคดีใหม่แยกกันต่างหาก มิใช่นำเรื่องการประกันตัวในคดีเดิมมาตีความปะปนกันประหนึ่งเป็นคำขู่ในการควบคุมความประพฤติ (ผู้เขียนเคยอธิบายข้อกฎหมายไว้แล้วที่ http://bit.ly/trabab)
การใช้อำนาจของศาลไทยเช่นนี้ เกิดขึ้นกับจำเลยชาวไทยทุกคน ไม่ว่าเสื้อเหลือง เสื้อแดง หรือเสื้ออะไร ส่งผลให้จำเลยที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวอย่างมีเงื่อนไขกลายเป็นประชาชนที่มีตราบาปอย่างไม่เป็นธรรม และถือเป็นการที่ศาลไทยละเมิดรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในเรื่องความเสมอภาค และบทสันนิษฐานความบริสุทธิ์อย่างโจ่งแจ้งที่สุด
*** สะดุ้งที่สอง : ชุมนุมทั้งที ต้องเอาให้คุ้ม ? ***
การสะดุ้งครั้งที่สอง แรงยิ่งกว่าครั้งแรก เมื่อผู้เขียนได้อ่านคำแถลงส่วนท้ายของพันธมิตรฯ ที่ว่า
"วิธีการชุมนุมภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวก็ยังไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับผลลัพธ์ที่ได้ในขณะนี้"
กล่าวคือ พันธมิตรฯ กำลังจะสื่อว่าหากต้องชุมนุมโดยสงบสันติตามเงื่อนไขของศาลอย่างเคร่งครัด จะถือเป็นการชุมนุมที่ไม่คุ้มค่า ?
หรือหากจะชุมนุมให้ได้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่า จะต้องสามารถ "ยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ" ?
แม้ผู้เขียนไม่คิดว่า พันธมิตรฯ จะเจตนาสื่อเช่นนั้น แต่ข้อความในคำแถลงอาจทำให้เข้าใจเช่นนั้นได้หรือไม่ ?
พันธมิตรฯ ไม่ควรลืมว่า ความสำเร็จและเสียงสนับสนุนใดๆ ที่พันธมิตรฯ เคยได้รับจาก "ประชนทั่วไป" ในยุคแรกเริ่ม จนกลายมาเป็น "คนเสื้อเหลือง" ในยุคเฟื่องฟูนั้น เริ่มต้นมาจากสมัยที่คุณสนธิ ลิ้มทองกุล จัดปราศรัยวิจารณ์คุณทักษิณ ชินวัตร อย่างสันติ แต่เด็ดขาด และตรงไปตรงมา เช่น รายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรที่สวนลุมพินี ฯลฯ
การปราศรัยดังกล่าวเป็นตัวอย่างของการใช้เสรีภาพที่สันติ และถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ใช้พื้นที่สาธารณะงัดข้อมูลและเหตุผลมาถกเถียงกันโดยไม่ต้องสนใจว่าจะต้องสามารถล้มรัฐบาลได้หรือไม่ ซึ่งพลังที่สันติเช่นนั้น คือ พลังที่ขาดหายไปจากสังคมไทยในวันนี้
หากพันธมิตรฯ สามารถจุดพลังสันติที่เคยมีมาในอดีต โดยมีหลักการและเหตุผลเป็น "ต้นทุน" ย่อมไม่ต้องกังวลเลยว่าชุมนุมไปแล้ว "คุ้มค่าหรือไม่"
แต่หากพันธมิตรฯ จะคิดแบบนักธุรกิจการเมือง ที่มองผล "ความคุ้มค่า" เป็นสำคัญ หลายคนก็คงอดไม่ได้ ที่จะต้อง "สะดุ้ง" ทั้งด้วยความสงสัย และความเสียดาย
และนี่อาจเป็นคำตอบส่วนหนึ่งว่าเหตุใด คนที่เคยใส่เสื้อเหลือง ถึงหันมาสวม ‘หน้ากากขาว’ แทน (http://bit.ly/whiteandyellow) .