ศาลชี้วันนี้-ใครยิง6ศพวัดปทุม

ข่าวสด 6 สิงหาคม 2556




ไต่สวนฮิโรยูกิ-ถึงคิว มาร์ค-เทือกเบิกความ


วันนี้ ศาลมีคำสั่งผลไต่สวน 6 ศพวัดปทุมฯ เหยื่อปืนพ.ค.53 เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่หรือไม่ ขณะที่คดี"ฮิโรยูกิ" ช่างภาพชาวญี่ปุ่น กับ 2 หนุ่มนปช. ถึงคิวไต่สวน "มาร์ค-เทือก" เป็นพยานเบิกความ ด้านเมียนักโทษการเมือง ต้องคดีเผาศาลากลางอุบลฯ วอนออกกฎหมายนิรโทษกรรม ครวญชีวิตลำบากหลังสามีถูกจับ ต้องโทษจำคุก 33 ปี หมดเงินไปกับค่าใช้จ่ายทางคดี บ้านก็ถูกยึด เป็นหนี้ ยันวันเกิดเหตุสามี แค่ยืนดูไฟไหม้ ไม่ใช่มือเผาตัวจริง 



เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 6-7 ส.ค.นี้ เวลา 09.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดไต่สวนคดีที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ชาวญี่ปุ่น ผู้ตายที่ 1 นายวสันต์ ภู่ทอง ผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ผู้ตายที่ 2 และนายทศชัย เมฆงามฟ้า ผู้ชุมนุมนปช. ผู้ตายที่ 3 ทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ ในเหตุการณ์สลายม็อบเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 โดยในนัดดังกล่าว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีตผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นพยานเบิกความ



นายเจษฎา จันทร์ดี ทนายความญาติผู้ตาย กล่าวว่า ในวันที่ 6 ส.ค. คาดว่านายอภิสิทธิ์จะมาเป็นพยานเบิกความไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายฮิโรยูกิ และ 2 ผู้ชุมนุมนปช. ส่วนวันที่ 7 ส.ค. อัยการจะนำนายสุเทพ เป็นพยานเบิกความเป็นรายต่อไป



ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า นอกจากนี้ ใน วันที่ 6 ส.ค. เวลา 09.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำสั่งผลไต่สวนชันสูตรพลิกศพ คดีหมายเลขดำที่ ช.5/2555 ที่พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนการเสียชีวิตของนายสุวัน ศรีรักษา อายุ 30 ปี อาชีพเกษตรกรผู้เสียชีวิตที่ 1 นายอัฐชัย ชุมจันทร์ อายุ 28 ปี บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้เสียชีวิตที่ 2 นายมงคล เข็มทอง อายุ 36 ปี อาสามูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ผู้เสียชีวิตที่ 3 นายรพ สุขสถิต อายุ 66 ปี พนักงานขับรถรับจ้างในสนามบิน ผู้เสียชีวิตที่ 4 น.ส.กมนเกด อัคฮาด อายุ 25 ปี อาสาพยาบาล ผู้เสียชีวิตที่ 5 และนายอัครเดช ขันแก้ว อาชีพรับจ้างและอาสาพยาบาล ผู้เสียชีวิตที่ 6 ทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม ในเหตุการณ์สลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 



นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความญาติผู้ตาย กล่าวว่า ในวันที่ 6 ส.ค. ศาลจะมีคำสั่งผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 จากการไต่สวนพยานหลักฐานข้อเท็จจริงในคดีนี้ พบว่าทั้งหมดถูกยิงเวลาใกล้เคียงกัน โดยมี 5 ศพถูกยิงเสียชีวิตภายในวัด ส่วนอีกศพคือนายอัฐชัย ถูกยิงเสียชีวิตหน้าวัดโดยในขณะนั้นมีเจ้าหน้าที่ 8 นาย ปฏิบัติหน้าที่อยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส และมี เจ้าหน้าที่ อีกหน่วยอยู่บนพื้นราบบริเวณแยกเฉลิมเผ่า ถนนพระราม 1 และจากการไต่สวนประจักษ์พยานที่อยู่ในวัด เบิกความตรงกันว่ามีการยิงเข้ามาในวัดปทุมฯ 



นายโชคชัยกล่าวต่อว่า ส่วนผู้ที่บาดเจ็บจากการถูกยิง ก็เบิกความว่าถูกเจ้าหน้าที่ยิงมาจากบนรางรถไฟฟ้า ตรงกับผลตรวจสถานที่เกิดเหตุของเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสถาบันนิติ วิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ที่ระบุว่าวิถีกระสุนยิงมาจากบนรางรถไฟฟ้า ประกอบกับคลิปวิดีโอของตำรวจบนชั้นดาดฟ้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่บันทึกเหตุการณ์ขณะ เจ้าหน้าที่เล็งปืนเข้าไปในวัด และมีเสียงปืนดังขึ้น ส่วนเจ้าหน้าที่บนรางรถไฟฟ้า ก็เบิกความว่ายิงปืนเข้าไปในวัดจริง รวมถึงเจ้าหน้าที่บริเวณแยกเฉลิมเผ่า ก็ยอมรับเช่นกันว่ายิงปืนเข้าไปบริเวณตอม่อรถไฟฟ้า ตรงกับผลการตรวจวิถีกระสุนที่ปรากฏว่ามาจากแยกเฉลิมเผ่า และจากคำเบิกความของนายสตีฟ ทิกเนอร์ ช่างภาพชาวออสเตรเลีย ที่เห็นนายอัฐชัยวิ่งหนีมาจากสยามพารากอน และถูกยิงล้มลงหน้าวัด



ทนายความญาติผู้ตายกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ผลการตรวจเขม่าดินปืนจากทั้ง 6 ศพ ไม่พบว่ามีการใช้อาวุธปืนมาก่อน ประกอบกับคำเบิกความของผู้ที่เห็นเหตุการณ์ ก็ระบุว่าขณะผู้ตายทั้งหมดถูกยิง ไม่ได้ถืออาวุธใดๆ จากพยานหลักฐานทั้งประจักษ์พยาน วัตถุพยาน พยานแวดล้อม และผลการตรวจพิสูจน์ต่างๆ สามารถยืนยันได้ชัดเจน และเชื่อได้ว่าการเสียชีวิตทั้งหมดเกิดจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ 



วันเดียวกัน นางพัชรี ลาเสือ อายุ 54 ปี อยู่บ้านหาดสวนยา ต.วารินชำราบ อ.วาริน ชำราบ จ.อุบลราชธานี ภรรยานายสมศักดิ์ ประสนทรัพย์ นักโทษการเมือง คดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี และฝ่าฝืนพ.ร.ก. ฉุกเฉิน ถูกจับกุมเมื่อเดือนม.ย. 2553 และศาลพิพากษาจำคุก 33 ปี กล่าวว่า หลังจากสามีต้องคดี ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ลำบากกว่าเดิมมาก บ้านที่เคยอยู่ถูกยึด เพราะต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาใช้จ่ายเรื่องคดีความของสามี แต่ก็ยังได้รับการประกันตัวออกมาต่อสู้คดี ทุกวันนี้ต้องมาอาศัยปลูกบ้านอยู่ในพื้นที่โฉนดชุมชนบ้านหาดสวนยา หาเศษวัสดุเหลือใช้มาทำเป็นผนังและพื้น เพิ่งได้รับบริจาคเสาบ้านใหม่จาก น.ส.อุบลกาญจน์ อมรศิลป์ แกนนำคนเสื้อ แดงอุบลฯ แต่ยังไม่ได้สร้างบ้านใหม่ 



ภรรยานักโทษการเมืองกล่าวว่า สามี มีจิตใจอาสา ก่อนต้องคดีเป็นอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) เทศบาลเมืองวารินชำราบ มีอาชีพรับเหมาก่อสร้าง มีรายได้วันละ 500 บาท เมื่อถูกจับคุมขังทำให้ครอบครัวมีรายได้ลดลง แม้จะได้เงินช่วย เหลือจากส.ส. และอาจารย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เดือนละ 7,000-8,000 บาท แต่ก็ต้องเลี้ยงดูคนในครอบครัวถึง 8 ชีวิต และต้องใช้เป็นค่าเดินทางไปเยี่ยมสามีที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ กทม. เดือนละ 2 ครั้ง ชีวิต ทุกวันนี้จึงลำบากมาก อยากให้รัฐบาลและส.ส.ช่วยผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม ช่วยเหลือสามีและเพื่อนที่ถูกคุมขัง และเยียวยาครอบครัวด้วย



"เข็ดกับความทุกข์ที่เกิดกับครอบครัว ความจริงในวันเกิดเหตุสามีไปหลังที่เผาศาลากลางจังหวัดแล้ว มีเพียงภาพยืนดูไฟที่กำลังลุกไหม้ แต่ก็ถูกจับกุมในภายหลัง สำหรับคนที่เป็นมือเผาตัวจริง สวมผ้าปิดบังใบหน้า กลับไม่ถูกจับ" ภรรยานักโทษการเมืองกล่าว