เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ผู้สื่อข่าว "ข่าวสด" รายงานว่า นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดรายงานผลการตรวจสอบเพื่อมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กรณีเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มนปช. ระหว่างวันที่ 12 มี.ค. – 19 พ.ค. 53 ว่า ถ้าไม่รู้มาก่อนว่าองค์กรใดจัดทำรายงานผลการตรวจสอบเพื่อมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กรณีเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มนปช.ระหว่างวันที่ 12 มี.ค. – 19 พ.ค. 53 แล้วอ่านเนื้อหา สาระไปเรื่อยๆ ถึงจะอ่านไม่ทันจบก็ต้องคิดว่าเป็นรายงานที่ออกมาจากศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) แน่นอน เพราะข้อเหตุผลในประเด็นต่างๆเหมือนไปหยิบยกเหตุผลของศอฉ.มาใส่ เช่น การที่บอกว่าคนเสื้อแดงละเมิดสิทธิ เพราะเอาเด็กและผู้หญิงมาร่วมอยู่ในการชุมนุม ตนว่าเหตุผลข้อนี้ตลกมาก โดยมีข้อสังเกต 2 ประการ
บก.ลายจุด ระบุว่า 1.ในการชุมนุมทางการเมืองทุกครั้งอยากถามว่าม็อบไหนที่ไม่มีผู้หญิงและเด็กมาร่วมบ้าง คำตอบคือไม่มี ถ้ากรรมการสิทธิฯจะบอกว่าการมีผู้หญิงกับเด็กอยู่ในม็อบเป็นการละเมิดสิทธิ ถามกลับหน่อยว่าแล้วม็อบอื่นๆละเมิดสิทธิด้วยหรือไม่ 2.ถ้าบอกว่ามีผู้หญิงกับเด็กอยู่ในม็อบเป็นการละเมิดสิทธิ ถามกลับว่าการที่เจ้าหน้าที่รัฐยิงใส่ประชาชนที่มาร่วมชุมนุมทางการเมืองถือเป็นการคุ้มครองสิทธิให้ประชาชนใช่หรือไม่ หรือแม้แต่ประเด็นของการใช้สไนเปอร์กับผู้ชุมนุมจนทำให้เกิดการบาดเจ็บ และเสียชีวิตจำนวนมาก ในรายงานดังกล่าวก็ไม่มีการพูดถึงเลยทั้งที่เป็นประเด็นสำคัญ เพราะต้องมีผู้สูญเสียจำนวนมาก
บก.ลายจุด กล่าวว่า ถามว่าทำไมกรรมการสิทธิฯจึงมีวิสัยทัศน์เดียวกันกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ที่ในขณะเกิดเหตุการณ์ชุมนุมปี 53 เป็น ผอ.ศอฉ. ซึ่งนายสุเทพ ได้อ้างมาตลอดว่าไม่มีสไนเปอร์ กรรมการสิทธิฯก็รายงานผลออกมาเช่นเดียวกัน ตนอยากรู้ว่ากรรมการสิทธิฯไปหาข้อมูล ข้อเท็จจริงมาจากตรงไหน ส่วนประเด็นอื่นๆตนไม่ขอลงในรายละเอียด แค่บางประเด็นที่กล่าวมาก็แสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่ากรรมการสิทธิฯสองมาตรฐาน รายงานไม่มีความน่าเชื่อถือตนก็ไม่รู้จะอ่านไปทำไม เพราะเหมือนรายงานจากศอฉ.มากกว่า
นายสมบัติ ระบุด้วยว่า อย่างไรก็ตาม การที่กรรมการสิทธิฯวิจารณ์ในรายงานว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงอยู่เหนือขอบเขตที่กฎหมายกำหนดตนรับฟังได้ แต่ที่รับไม่ได้คือกรรมการสิทธิฯดูแต่ประเด็นที่ประชาชนละเมิด โดยที่ไม่ได้ดูประเด็นที่รัฐละเมิดเลย เหตุผลที่ให้มาเหมือนรัฐทำอะไรก็ถูกหมด มีความจำเป็นหมดทุกอย่าง และเป็นการทำตามขั้นตอนภายใต้รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งชัดเจนมากว่าไม่มีความเป็นกลาง เป็นการแสดงความเห็นที่อคติกับผู้ชุมนุม ถามกลับอีกว่าเพื่อให้แน่ใจหากกรรมการสิทธิฯอ่านรายงานของตัวเองจะพบการพูดถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีการละเมิดสิทธิผู้ชุมนุมหรือไม่ กรรมการสิทธิฯไม่เห็นการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐเลย แถมยังไม่กล้าฟันลงไปด้วยว่าเจ้าหน้าที่รัฐละเมิด เป็นสองมาตรฐานชัดเจน
"หากในอนาคตมีการหยิบยกรายงานดังกล่าวของกรรมการสิทธิฯไปอ้างอิง ผมก็เห็นว่าเป็นสิทธิเราคงห้ามไม่ให้ใครเอาไปใช้ไม่ได้ แต่เราก็พร้อมโต้ตอบ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น คดี 6 ศพ วัดปทุมวนารามฯ ที่ศาลชี้ว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐก็ชัดเจนอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีอีกหลายคดีที่ศาลยกฟ้องว่าคนเสื้อแดงไม่ผิด สะท้อนให้เห็นคุณภาพของกรรมการสิทธิฯว่ามีอคติอย่างไร ถูกสร้างมาเพื่อปกป้องรัฐบาลในอดีตใช่หรือไม่ เพื่อบดขยี้คนเสื้อแดง การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐหายไปจากรายงาน ไม่มีการละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐในรายงานก็ชัดเจนที่สุดแล้ว เราจึงไม่สามารถรับรายงานฉบับนี้ได้ด้วยประการทั้งปวง ขอเรียกว่าเป็นรายงานของ “อภิสิทธิ์” จะตรงไปตรงมากว่าจะเรียกว่ารายงานของกรรมการสิทธิฯ อยากฝากไปถึงกรรมการสิทธิฯด้วยว่า ให้ลาออกจะดีกว่าจะได้ไม่ต้องเป็นภาระของลูกหลานในอนาคต" บก.ลายจุด กล่าว
ด้านนางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้สัมภาษณ์ "ข่าวสด" ชี้แจงกรณีกสม.เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบ เพื่อมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กรณีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระหว่างวันที่ 12 มี.ค. 53 ถึง 19 พ.ค. 53 ว่า เนื้อหาส่วนหนึ่งในรายงานที่ระบุว่าการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาล ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯในขณะนั้น ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนจริง แต่เป็นการประกาศใช้ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เนื่องจากกลุ่มนปช.ชุมนุมตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค.53 และรัฐบาลได้ประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในวันที่ 7 เม.ษ.53 ซึ่งรัฐบาลได้ศึกษาแนวโน้มเพื่อดูท่าทีการเคลื่อนไหวของกลุ่มนปช. จึงเห็นสมควรให้ประกาศพ.ร.ก.ดังกล่าว อีกทั้งในข้อเท็จจริงนั้น ระหว่างวันที่ 12 มี.ค. จนถึงวันประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินคือวันที่ 7 เม.ย. กลุ่มนปช.มีกิจกรรมการเคลื่อนไหวจริงๆ
เมื่อถามถึงกสม.ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ออกพ.ร.บ.รักษาความมั่นคงฯในวันที่ 2 ส.ค.56 ที่ผ่านมานั้น นางอมรากล่าวว่า ตามความเห็นของคณะกรรมการสิทธิฯนั้น รัฐบาลได้ประกาศใช้พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงฯก่อนที่กลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณจะเริ่มจะมีการชุมนุมหรือยังไม่ได้มีการเริ่มกิจกรรมใดๆซึ่งตามหลักแล้วรัฐบาลควรรอดูสถานการณ์ก่อน อย่างไรก็ตามรัฐบาลก็สามารถใช้ข้ออ้างได้ว่าได้รับรายงานจากหน่วยข่าวกรองว่าอาจมีเหตุรุนแรง
ส่วนที่ศอฉ. สั่งระงับการออกอากาศสถานีโทรทัศน์พีเพิลชาแนลและสั่งระงับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออินเทอร์เน็ตบางสื่อนั้น นางอมรากล่าวว่า การปิดกั้นไม่ให้สื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิ ซึ่งในรายงานก็ได้มีการวิจารณ์ไปว่าการไปสั่งปิดสื่อเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ และหลังจากที่มีคำสั่งปิดหรือระงับแล้ว ศอฉ.ควรยกเลิกคำสั่งนั้นในช่วงที่เหตุการณ์ลดระดับความรุนแรงลง เช่นเดียวกับการใช้มาตรการสลายการชุมนุมจากเบาไปหาหนัก ในรายงานก็ได้ระบุว่าแล้วว่าเป็นการละเมิดสิทธิอย่างแน่นอน ซึ่งการใช้มาตรการสลายการชุมนุมนั้นได้ส่งผลให้เกิดความรุนแรงและสร้างความเสียหาย แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของรัฐบาลในขณะนั้นว่าสมควรที่จะดำเนินการอย่างไร ซึ่งกสม.ไม่ได้ทำหน้าที่ชี้ว่าใครถูกใครผิด หรือใครเป็นคนกระทำ เพียงแต่ระบุว่าการกระทำใดเป็นการละเมิดสิทธิบ้าง
“หน้าที่ของกสม.คือทำรายงานและเสนอไปยังนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย แต่หลังจากนั้นนายกฯหรือคณะรัฐมนตรี จะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการอย่างไรก็เป็นเรื่องภายใน กสม.ไม่ได้เกี่ยวข้องในส่วนนี้ อย่างไรก็ตามทางกสม.ก็จะคอยติดตามว่าหลังจากที่ส่งข้อเสนอแนะไป รัฐบาลได้นำข้อมูลนั้นไปปรับใช้อย่างไรบ้าง” นางอมรากล่าว