‘ผบ.พัน’ เบิกคดีฮิโรยูกิ ระบุถูกกองกำลังไม่ทราบฝ่ายโจมตี พบชุดดำในรถตู้ขาว


ไต่สวนการตาย ฮิโรยูกิ-วสันต์-ทศชัย เหยือกระสุน 10 เม.ย.53 นายทหาร  ‘ผบ.พัน’ ระบุถูกกองกำลังไม่ทราบฝ่ายโจมตี ทั้งระเบิดและยิงทหารบาดเจ็บ พบชุดดำ ปิดบังใบหน้ามากับรถตู้สีขาว เจรจากับ ‘ณัฐวุฒิ’ ก่อนผู้ชุมนุมเปิดทางรถพยาบาลเข้ารับคนเจ็บ


ฮิโรยูกิ-วสันต์-ทศชัย

เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพ คดีที่พนักงานอัยการ สำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ชาวญี่ปุ่น ผู้ตายที่ 1 นายวสันต์ ภู่ทอง ผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ผู้ตายที่ 2 และนายทศชัย เมฆงามฟ้า ผู้ชุมนุมนปช. ผู้ตายที่ 3 ทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553

โดยพนักงานอัยการนำนายทหารระดับผบ.พัน ผู้คุมกำลัง ขึ้นเบิกความโดยสรุปว่า ได้รับคำสั่งจากพ.อ.ประวิทย์ ฉายะบุตร ผบ.กรมทหารปืนใหญ่ที่ 2 ให้คุมทหาร 1 กองร้อย 150 นาย ไปรักษาความปลอดภัยที่สนามบินสุวรรณภูมิ เนื่องจากได้รับแจ้งว่ากลุ่มนปช.จะมาปิดล้อม จึงนำกำลังพลพร้อมอุปกรณ์ควบคุมฝูงชน ประกอบด้วย โล่ กระบอง เสื้อเกราะ หมวกนิรภัย อาวุธปืนเล็กยาว 10 กระบอก และกระสุน 200 นัด สำหรับอาวุธปืนจะมีเฉพาะหัวหน้าชุด เมื่อไปถึงสนามบินสุวรรณภูมิก็ได้รับแจกอาวุธเพิ่มเติมเป็นปืนลูกซองยาว 10 กระบอก บรรจุกระสุนยาง กระบอกละ 20 นัด แต่อาวุธทั้งหมดถูกนำไปเก็บในห้องเก็บพัสดุ และไม่ได้นำออกมาใช้ เนื่องจากไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้น

พยานเบิกความว่า ต่อมาวันที่ 10 เม.ย.2553 ได้รับคำสั่งให้เตรียมเคลื่อนย้ายกำลัง ไปขอคืนเส้นทางจราจร บริเวณถนนราชดำเนินกลาง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และสี่แยกคอกวัว โดยเบิกอุปกรณ์ควบคุมฝูงชน เสริมด้วยปืนลูกซองบรรจุกระสุนยาง 10 กระบอก ซึ่งมอบให้หัวหน้าชุด แต่ปืนเล็กยาวไม่ได้เบิกมาปฏิบัติภารกิจ และได้รับคำสั่งให้ตั้งแนว อยู่ที่แยกสะพานวันชาติ ต่อมาเวลาประมาณ 17.00 น. เห็นผู้ชุมนุมอยู่บริเวณถนนพระสุเมรุ ห่างจากแยกสะพานวันชาติ 100 เมตร มีคนสวมเสื้อสีแดงคลุมด้วยแจ๊กเกตสีดำคล้ายการ์ด นปช. ปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย ขณะนั้นได้รับแจ้งว่าพบรถตู้สีขาว 2 คัน มีชายชุดดำลงจากรถตู้เข้าไปในโรงแรมรัตนโกสินทร์

ผบ.พันเบิกความต่อว่า ระหว่างที่ตั้งแนวอยู่นั้น พยานเดินตรวจพื้นที่โดยรอบ พบตำรวจปราบจลาจล 1 กองร้อย จาก จ.มหาสารคาม อยู่หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร พยานจึงประสาน ให้มาร่วมวางกำลังหน้าแนวทหารบริเวณวัดบวรฯ ขณะนั้นเริ่มมีผู้ชุมนุมขับขี่รถจักรยาน ยนต์มาปั่นป่วน ต่อมาเวลา 17.30 น. ได้รับแจ้งจากผู้ใต้บังคับบัญชาที่อยู่ตรงแนวป้องกันด้านหน้าว่า มีแกนนำ นปช. 2-3 คน จะขอเจรจากับพยาน เพราะเกรงว่าทหารจะเคลื่อนกำลังเข้าไปหาผู้ชุมนุม จึงเจรจาได้ข้อตกลงกันว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะไม่เคลื่อนเข้ามาหาทหาร ส่วนทหารก็จะไม่เคลื่อนเข้าไปหาผู้ชุมนุม ก่อนแลกเบอร์โทรศัพท์และแยกย้ายกัน

พยานเบิกความว่า ช่วงที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ เห็นเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกโปรยใบปลิวลงมาบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภายหลังทราบว่าเฮลิคอปเตอร์ลำดังกล่าวถูกยิงด้วยอาวุธสงคราม ทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บหลายนาย คาดว่าเป็นบุคคลอื่นที่ปะปนอยู่ ในกลุ่มผู้ชุมนุม เพราะทหารคงไม่ยิงอาวุธสงครามใส่เฮลิคอปเตอร์ของตนเอง ต่อมาเวลา 18.00 น. เห็นแสงเลเซอร์พาดไปมาอยู่ตามตึกบริเวณที่ทหารวางกำลังพลอยู่ แต่ไม่ทราบว่าเป็นฝ่ายใด กระทั่งเวลา 18.15 น. ได้รับคำสั่งให้ทุกหน่วยหยุดปฏิบัติภารกิจ ขอคืนพื้นที่ เนื่องจากใกล้มืดเกรงว่าจะมีผู้ไม่หวังดีมาก่อความไม่สงบ จึงให้ถอนกำลังกลับไปที่กองบัญชาการกองทัพบก ขณะเตรียมรูปขบวนได้รับแจ้งจากหน่วยด้านหลังว่าไม่สามารถเคลื่อนออกไปได้ เนื่องจากมีกลุ่มผู้ชุมนุมหลายร้อยคนปิดล้อมอยู่บริเวณแยกวิสุทธิกษัตริย์

ผบ.พันเบิกความอีกว่า ต่อมาเวลา 19.30 น. ได้รับแจ้งว่ากำลังพลที่อยู่บริเวณสี่แยกคอกวัว ถูกโจมตีด้วยอาวุธสงคราม มี ผบ.กองพัน ได้รับบาดเจ็บ เวลา 20.00 น.เศษ เห็นหน่วยทหารที่อยู่ด้านหน้ามีการเคลื่อนไหวตัวถอยหลังและเดินหน้า เนื่องจากมีการใช้แก๊สน้ำตา จากนั้นเวลา 20.40 น. ได้ยินเสียงคล้ายระเบิดบริเวณโรงเรียนสตรีวิทยา 2 ครั้ง ปะปนด้วยเสียงปืนเล็กยาวประปราย 5 ครั้ง แต่กลุ่มทหารไม่ได้เป็นผู้ยิง สักพักเห็นกำลังพลหน่วยข้างหน้า บาดเจ็บหลายสิบนาย รวมถึง พ.ท.เกรียงศักดิ์ นันทโพธิ์เดช ผบ.ร.12 พัน.2 รอ. บาดเจ็บสาหัส จากการถูกวัตถุระเบิดที่ศีรษะ และขา ส่วนพ.อ.ประวิทย์ และพล.ต.วลิต โรจนภักดี ผบ.พล.ร.2 รอ. ถูกสะเก็ดระเบิดที่ขา จึงนำ ผู้บาดเจ็บขึ้นรถและออกไปทางวัดบวรนิเวศฯ แต่ถูกผู้ชุมนุมปิดล้อม จนถึงเวลา 22.00 น. ก็ยังไม่สามารถออกไปได้

พยานเบิกความว่า ระหว่างนั้น พ.อ. ธรรมนูญ วิถี ที่บาดเจ็บเข้ามาพูดคุยกับพยานว่าจะเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บอย่างไร พยานจึงติดต่อแกนนำนปช. ทราบชื่อว่านายอุเทน อดีตส.ส.ของพรรคการเมืองหนึ่ง โดยแจ้งว่ามีประชาชนและทหารบาดเจ็บเป็นจำนวนมากไม่สามารถออกจากพื้นที่ได้ นายอุเทนแจ้งว่ารอสักครู่ ก่อนส่งโทรศัพท์ให้แกนนำอีกคน เมื่อได้ยินเสียงพยานก็ทราบทันทีว่าเป็นนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ถามพยานว่าเป็นใคร รับผิดชอบอยู่ตรงไหน จึงบอกว่าอยู่ตรงสะพานวันชาติ มีทหารบาดเจ็บจากกองกำลังไม่ทราบฝ่าย ขอให้ช่วยเปิดเส้นทางเพื่อลำเลียงผู้บาดเจ็บออกไป สักครู่ได้ยินเสียงผู้ชุมนุมโห่ร้องแสดงความดีใจ จากนั้นนายอุเทนบอกพยานว่าจะดำเนินการให้ ต่อมากลุ่มผู้ชุมนุมก็เปิดเส้นทางให้รถพยาบาลเข้ามารับผู้บาดเจ็บ และเปิดให้ทหารเคลื่อนขบวนกลับทางแยกวิสุทธิกษัตริย์

ผบ.กองพันเบิกความอีกว่า กระทั่งเวลา 22.45 น. เห็นรถตู้สีขาวมาจากแยกวิสุทธิกษัตริย์ตรงมาทางสะพานวันชาติ และจอดอยู่ด้านซ้ายมือห่างจากพยาน 1 เมตร คนขับรถตู้ลดกระจกลงและดึงผ้าสีดำที่ปิดบังใบหน้าลงมาถึงคาง พร้อมกับชะโงกหน้าออกมาด่าทอพยาน ภายในรถยังพบคนนั่งอยู่ 3-4 คน สวมเสื้อสีดำ มีผ้าปิดบังใบหน้า ไม่ได้สวมหมวก แต่พยานไม่ได้สังเกตว่าในรถมีอาวุธหรือไม่ จากนั้นรถตู้ก็ขับออกไป แต่ไม่ทราบว่าไปทางใด ส่วนพยานก็นำกำลังพลกลับ และภายหลังพยานทราบว่าหน่วยข้างหน้าที่อยู่บริเวณถนนดินสอ หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุมตลอดเวลา แต่พยาน ไม่เห็นเหตุการณ์ และไม่ทราบว่าผู้ตายทั้ง 3 เสียชีวิตด้วยเหตุใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลนัดไต่สวนครั้งต่อไปวันที่ 24 ก.ค. เวลา 09.00 น.



ที่มา : ข่าวสดรายวัน ฉบับประจำวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 ปีที่ 23 ฉบับที่ 8267