มติชน 6 กรกฎาคม 2556
คอลัมน์ การเมือง มติชน 6 ก.ค. 2556
ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ USFDA ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ เค-วอต้ม
ล้วน "คือกัน"
เพียงแต่เป้าหมายของปรากฏการณ์ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กับ ปรากฏการณ์ USFDA คือโครงการรับจำนำข้าว
ขณะที่ปรากฏการณ์ เค-วอต้ม เป็นเรื่อง "น้ำ"
ปรากฏการณ์ในกระสวนเดียวกันนี้อาจเคยประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำบุญวัดพระแก้ว ไม่ว่าจะด้วยการบิดเบือนการวางระเบิดลอบสังหารบนถนนจรัญสนิทวงศ์ให้กลายเป็น "คาร์บ๊อง"
แต่นั่นเป็นสถานการณ์เมื่อแรกของรายการ "เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร" แต่นั่นเป็นสถานการณ์หลักการนัดพบกัน ณ บ้านริมถนนสุขุมวิทเมื่อปี 2548 ต่อ 2549
ระหว่าง "องคมนตรี" กับ "ประธานศาลฎีกา"
แต่เมื่อผ่านสถานการณ์จัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารเมื่อเดือนธันวาคม 2551 และสถานการณ์สังหารประชาชนเมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553
ทุกอย่างล้วนไม่เหมือนเดิม
สภาวะแห่งความไม่เหมือนเดิมไม่เพียงแต่แสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมจากผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554
อันสะท้อนถึงชัยชนะของพรรคเพื่อไทย
ขณะเดียวกัน ก็ยืนยันถึงความพ่ายแพ้อย่างหมดรูปของพรรคประชาธิปัตย์ และโดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ยิ่งกว่านั้น ยังทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรี
ยิ่งกว่านั้น ยังทำให้เกิดการแปรเปลี่ยนอย่างนัยสำคัญของสถานการณ์เมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 ที่บุคคลอันเคยคิดว่าตนเป็นโจทก์ต้องกลับกลาย
กลับกลายต้องถูกพิมพ์มือและขึ้นศาลในสถานะ "จำเลย"
การอาศัยองค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช.อย่าง กกต.อย่างศาลปกครอง อย่างศาลรัฐธรรมนูญ ยังดำรงคงอยู่
เพราะว่ายังมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เป็นอาวุธ
พร้อมกับประสานกับยุทธวิธีเก่าเหมือนที่เคยใช้อย่างได้ผลมาแล้วในห้วงก่อนรัฐประหาร เมื่อเดือนกันยายน 2549 นั่นก็คือ การจัดชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมือง นั่นก็คือการปล่อยและสร้างข่าวให้ร้ายป้ายสี
แต่ก็ดำเนินไปในลักษณะ "จนตรอก"
ถามว่าเป้าหมายของการเชิญเอ็นจีโอจากเกาหลีใต้มาเปิดโปงบริษัทเค วอเตอร์ อย่างสุดลิ่มทิ่มประตูคืออะไร
1 เพื่อประสานกับการอ่านคำพิพากษาของศาลปกครอง
เป็นการใช้กลไกของตุลาการเหมือนกับที่เคยใช้ได้ผลในกรณีของ กกต.ชุด พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ
อันศาลฎีกาชี้ในกาลต่อมาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเพราะมิใช่ "ผู้เสียหาย"
ขณะเดียวกัน 1 ก็เพื่อที่จะให้คนของพรรคประชาธิปัตย์นำข้อมูลขาดทุนร้อยละ 700 กว่าไปขยายผลสร้างความเสียหาย
ทั้งๆ ที่เป็นข้อมูลเท็จ
เป็นข้อมูลเท็จเหมือนกับที่สื่อบางสำนัก "นิมิต" เรื่องของ USFDA ขึ้นมาเป็นตุเป็นตะเป็นข้อมูลเท็จเหมือนกับที่คณะกรรมาธิการบางคณะกรรมาธิการแห่งวุฒิสภา "แปลงสาร" ของ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ
ให้กลายเป็น "ทุจริต" ทุกขั้นตอน
พลันที่รัฐบาลสหรัฐออกมาปฏิเสธ พลันที่ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ออกมาเปิดเผยความเป็นจริงว่ามิได้พูดเช่นนั้น
ทุกอย่างก็พังครืน
จากเค-วอต้ม ถึงกรณี USFDA และกรณีของ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ สะท้อนอะไรทางการเมือง
1 สะท้อนถึงขบวนการบ่อนเซาะ ดิสเครดิตรัฐบาล ขณะเดียวกัน 1 สะท้อนถึงความพยายามที่จะอาศัยกลไกของการบิดเบือนแม้กระทั่งนิมิต "ข่าว" ขึ้นมาอย่างไร้จรรยาบรรณ
ในที่สุดก็สะท้อนภาวะ "อับจน" หมดหนทาง