วิเคราะห์
พระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญ กำหนดให้เปิดสภาตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมเป็นต้นไป มีกฎหมายร้อนๆ เข้าคิวรอพิจารณาเป็นแถวยาว
สปอตไลต์ฉายจับ ขณะที่ปรอทวัดอุณหภูมิการเมืองเริ่มขยับ
เริ่มต้นจากวันที่ 7 สิงหาคม ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับของนายวรชัย เหมะ จะเข้าสู่การพิจารณาของสภา
สัปดาห์ถัดไป ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 จะเข้าสู่การพิจารณาในวันที่ 14-15 สิงหาคม เป็นไปตามปฏิทินการพิจารณาของกรรมาธิการ ที่รอจังหวะเข้าสภา ยังได้แก่ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของ ส.ว. และร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทเพื่อพัฒนาระบบรางทั่วประเทศ
ก่อนจะถึงคิวของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในวันที่ 7 สิงหาคม ปลายสัปดาห์นี้ วันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม จะมีรายการ "ล้างตา" หลังจากที่ล้มเหลวไปเมื่อปลายปี 2555
นั่นคือการ "คัมแบ๊ก" ของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม หรือม็อบแช่แข็งภาค 2 ที่เปลี่ยนหัว มี พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ เพื่อนร่วมรุ่น พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มาเป็นผู้นำ
มีคณะแกนนำเรียกว่า "คณะเสนาธิการร่วม" ประกอบด้วยทหารและนักเคลื่อนไหว อาทิ นายพิเชฐ พัฒนโชติ อดีตรองประธานวุฒิสภา ที่เป็นคนใกล้ชิด พล.อ.มนูญ รูปขจร มาก่อน
ภาคแรกของม็อบแช่แข็ง มีเสธ.อ้าย หรือ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ เป็นโต้โผ
เป็นม็อบฟอร์มใหญ่ ตั้งเป้าดึงคนนับแสนนับล้านมาไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เมื่อเดือน พ.ย.2555
แต่จำนวนคนไม่เข้าเป้า ก่อนจะพบกับมาตรการสลายม็อบตามมาตรฐานอินเตอร์ของตำรวจ ต้องประกาศสลายตัวอย่างรวดเร็ว อย่างชนิดที่ผู้มาชุมนุมยังงง
ม็อบแช่แข็งภาคล่าสุด ยื่นข้อเสนอ 7 ข้อถึงรัฐบาลพร้อมกับขีดเส้นว่า หากไม่ปฏิบัติตาม จะชุมนุมประชาชนครั้งใหญ่ในวันที่ 4 สิงหาคม
ส่วนวาระการประชุมของสภา ฝ่ายค้านประกาศค้านสุดลิ่มไปแล้ว เป้าแรกคือ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่จะเข้าสภาวันที่ 7 สิงหาคม
ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย เน้นนิรโทษกรรม ล้างความผิดให้ผู้ถูกจับกุมคุมขังในคดีการเมือง ตั้งแต่ปี 2549
ดูเสียงข้างมากในสภา น้ำหนักไปอยู่ที่รัฐบาลอย่างขาดลอย ขณะที่ฝ่ายค้านเป็นเสียงข้างน้อย เพื่อจะคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นี้ พรรค ปชป.จึงต้องไประดมเอาเสียงนอกสภามาร่วมค้าน
ก่อนหน้านี้ พรรคประชาธิปัตย์เดินสายตั้งเวทีผ่าความจริง ประกาศไม่เอากฎหมายนี้อย่างเปิดเผย และเคลื่อนไหวระดมประชาชนมาชุมนุมในวันที่ 7 สิงหาคม ด้วยเหตุผลว่า หากปล่อยให้พิจารณากฎหมายนี้ รัฐบาลอาจนำเอากฎหมายลักษณะเดียวกัน อาทิ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่ยื่นคาสภาไว้ มาพิจารณารวมกัน
ขณะที่พรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าจะพิจารณาเฉพาะร่าง พ.ร.บ.ของนายวรชัยเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การออกโรงของ ปชป.เที่ยวนี้ เสียฤกษ์ไปไม่น้อย เมื่อนายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคภาคกลาง ประกาศว่าจะเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับ ปชป.เข้าสภา
ก่อนจะถูกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคออกโรงมาขวางไว้ ตามมาด้วยมติของกรรมการบริหารพรรค ไม่ให้นายอลงกรณ์เสนอร่าง พ.ร.บ.เข้าสภา
นายอลงกรณ์ประกาศยอมรับมติ แม้ว่ารัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้ ส.ส.เสนอร่าง พ.ร.บ.ได้เอง หากมีเสียงสนับสนุนครบ 20 เสียง
แต่วาทะของนายอลงกรณ์ อธิบายการเสนอร่าง พ.ร.บ.ที่กล่าวว่า พรรคจะต้องเลิกคิดเล็ก คิดน้อย กลัวตกหลุม และจะต้องก้าวข้ามการเมืองไปคิดหาทางออกให้ประเทศชาติ ในฐานะที่เป็น "พรรคการเมืองใหญ่"
สร้างแรงสะเทือนต่อกลุ่มแกนนำพรรคประชาธิปัตย์โดยตรง
มองจากมุมรัฐบาล ประเมินการเคลื่อนไหวในเดือนสิงหาคมอย่างไม่หนักใจมากนัก
ส่วนหนึ่ง เป็นเพราะการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้าน ระยะหลังไม่มีเอกภาพและยังเกิดความแตกแยกออกเป็นหลายกลุ่มหลายสาย ช่วงชิงการนำกันไปมา
บางกลุ่มไม่มีพลังในตัวเอง ก็ต้องนำไปโยงกับบุคคลสำคัญ แต่สุดท้ายมักจะมีการเคลียร์ประเด็นออกมาว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกัน
ม็อบแช่แข็งภาค 2 รอบนี้ มีกระแสข่าวไปโยงกับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี
จึงเป็นที่น่าสังเกต เมื่อบิ๊กแอ้ด หรือ พล.อ.สุรยุทธ์ ได้ออกมาเคลียร์ตัวเองว่า การชุมนุมเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ส่วน พล.ร.อ.ชัยก็เป็นเพื่อนกันจริง แต่ไม่ได้พบกันนานแล้ว
และที่ พล.ร.อ.ชัยมาจัดการชุมนุม ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย
คำยืนยันของ พล.อ.สุรยุทธ์ น่าจะส่งผลต่อการชุมนุมอยู่ไม่น้อย
อีกปัจจัยสำคัญในการเคลื่อนไหว ยังได้แก่ ท่าทีของกองทัพ
ที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวนอกสภา มักจะออกมาในรูปของการ "ชง" เพื่อปูกระแสให้มีการออกมารับลูก โดยเฉพาะหากมีการก่อความวุ่นวาย
เมื่อกองทัพยืนยันท่าทีทหารอาชีพ ไม่วอกแวกไปกับเสียงปี่กลอง
ผลลัพธ์ที่ตามมาก็พอจะประเมินได้
และพอจะมองเห็นทิศทางของการชุมนุม
ส่วนการระดมคนออกมาต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในวันที่ 7 สิงหาคม หากแสดงออกในรูปของม็อบหน้ารัฐสภา ก็น่าพิจารณาว่าจะส่งผลอย่างไร
โดยเฉพาะในสายตาของสังคมภายนอก
เนื่องจากเรื่องนิรโทษกรรม เป็นการพิจารณากฎหมายอันเป็นบทบาทโดยตรงของสภา
สมควรจะดำเนินการไปตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับของสภา และด้วยหลักการ เหตุผลอันเป็นประโยชน์กับสังคมโดยรวม
ไม่ใช่เพื่อความพอใจของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
จึงนับว่า มีข้อจำกัดเกี่ยวกับความพอเหมาะในการแสดงออกอยู่พอสมควรอยู่แล้ว
ที่สำคัญ พื้นที่ทำเนียบรัฐบาล ลานพระบรมรูปทรงม้า ไปจนถึงหน้ารัฐสภา ถือว่าเป็นพื้นที่สำคัญ เป็นเส้นทางสำคัญ
เที่ยวนี้ กองบัญชาการตำรวจนครบาล โดย พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น.ก็ประกาศว่าจะไม่ยอมให้มีการยึดสภา ยึดทำเนียบอีก
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์วิกฤตยังมีโอกาสเกิดขึ้น หากประเด็นทางการเมืองเหล่านี้ สามารถเรียกผู้ชุมนุมได้ในระดับมติมหาชน ก็จะเป็น "สถานการณ์" ที่รัฐบาลต้องพิจารณาหาทางออก
หน้า 3,มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม 2556