หลากมุมมอง "วสันต์" ทิ้งเก้าอี้ประธาน-ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ข่าวสด 20 กรกฎาคม 2556



รายงานพิเศษ


การลาออกจากประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ยังคงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์วงกว้าง แม้จะได้รับคำยืนยันว่าเป็นไปตามวาระที่ตั้งใจไว้แต่แรกที่เข้ารับตำแหน่ง 

กระนั้นสังคมก็ยังไม่หายข้องใจว่าการตัดสินใจดังกล่าวปลอดจากการเมืองจริงหรือ เพราะเป็นการทิ้งเก้าอี้ในช่วงที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังถูกกลุ่มคนเสื้อแดงโจมตีอย่างหนักและต่อเนื่อง 

นอกจากนี้ การเปลี่ยนตัวประธานศาลรัฐธรรมนูญจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือไม่ อย่างไร



ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์


การลาออกของนายวสันต์ คนภายนอกไม่สามารถทราบถึงสาเหตุข้อเท็จจริงว่าเพราะประเด็นการเมืองหรือเป็นเรื่องส่วนตัว ทำได้เพียงสัน นิษฐานกันไปต่างๆ นานา 

รวมทั้งที่มีการตั้งข้อสังเกต ว่านายวสันต์กลัวแบกรับคดีร้อนไม่ไหว ซึ่งก็ไม่น่าจะใช่ เพราะที่ผ่านมาเคยเจอคดีหนักกว่านี้มาแล้ว 

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่มีอำนาจตรวจสอบคดีต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและการเมือง แต่ที่ผ่านมาองค์กรนี้ไม่มีอะไรที่ยึดโยงกับประชาชน หรือเชื่อมโยงกับฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ 

โดยเฉพาะตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านการคัดสรรในที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าใครเป็นผู้เหมาะสมในการดำรงตำแหน่ง โดยคนภายนอกจะไม่ทราบถึงหลักเกณฑ์การคัดสรรนี้แต่อย่างใด 

แต่การสับเปลี่ยนตำแหน่งประธาน ไม่ว่าจะเป็นการลาออกหรือให้คนอื่นมาทำหน้าที่แทน โดยเฉพาะที่ออกมา ระบุว่ามีความประสงค์จะดำรงตำแหน่งประธานไม่เกิน 2 ปีนั้น 

ถ้าในทางการเมืองเรียกว่าสมบัติผลัดกันชมหรือเป็นการเล่นเก้าอี้ดนตรี เหตุการณ์แบบนี้จะต้องตั้งคำถามว่ามีความเหมาะสมหรือไม่กับตำแหน่งที่มีความสำคัญในด้านกฎหมายเช่นนี้ 

เพราะที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ ไม่มีกลไกใดสามารถตรวจสอบการทำหน้าที่ของตุลาการได้เลย หน่วยงานที่คอยตรวจสอบด้านจริยธรรมหรือการทำหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ 

โดยข้อเท็จจริงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญควรมาจากการเสนอของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ซึ่งจะสามารถคัดกรองว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และมีความเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งนี้ 

อีกทั้งยังเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยด้วย



สมบัติ บุญงามอนงค์
บ.ก.ลายจุด 


เท่าที่ฟังนายวสันต์ เหตุผลที่น่าสนใจคงเป็นในส่วนที่บอกว่าเสร็จสิ้นภารกิจแล้วจึงถึงเวลาขอลาออกจากศาลรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าเป็นถ้อยคำที่มีอะไรซ่อนเร้นอยู่ 

เพราะเมื่อพูดว่าเสร็จสิ้นภารกิจ คนก็อาจคิดได้ว่าไปรับงานใครมาหรือไม่ เราก็ไม่รู้ 

อีกจุดที่น่าสนใจคือนายวสันต์ไม่ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว แต่ลาออกจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งดูแล้วแปลก 

เป็นไปได้อีกเหมือนกันว่าช่วงที่นายวสันต์ดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ อาจมีความยากลำบากในการทำงานมาก ทั้งเป็นเป้าถูกโจมตีมีปัญหามาตลอด ซึ่งถือเป็นแรงกดดันที่สูงมาก 

และการที่นายวสันต์อายุมากแล้ว คงไม่อยากเอาตัวเองไปข้องเกี่ยวกับทางการเมืองอีก รวมถึงการอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญมักได้รับแรงกดดันอยู่ตลอด 

ที่บอกว่าเกี่ยวกับการเมืองนั้นต้องยอมรับว่าปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองแล้วเรียบร้อย อย่างไรก็ตาม ผมเห็นด้วยกับการลาออกในครั้งนี้ เป็นเรื่องดีด้วยซ้ำที่เมื่อรู้สึกว่าตัวเองไม่เหมาะกับการทำงานและรู้สึกถอดใจแล้วก็ควรยุติ ผมเคารพการตัดสินใจของนายวสันต์ 

ส่วนการลาออกจะส่งผลดีหรือผลเสียต่อฝ่ายใดหรือไม่นั้น คงไม่สามารถตอบได้ตอนนี้ ต้องรอดูว่าใครจะเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ และต้องรอดูท่าทีด้วยว่าเป็นอย่างไร ผมไม่อยากคาดการณ์อะไร ล่วงหน้า 

ทั้งนี้ ไม่ว่าคนที่เข้ามาเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญจะมีเกียรติประวัติสวยหรูแค่ไหน คงไม่สามารถเป็นคำตอบได้ว่าจะทำหน้าที่ได้ดี หากขาดซึ่งหลักการที่ถูกต้อง



พนัส ทัศนียานนท์ 
อดีตคณบดีนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์


ไม่น่าจะเป็นเพราะตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญเป็นสมบัติผลัดกันชม เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นนายวสันต์แค่ลาออกจากประธานเพียงตำแหน่งเดียวก็ได้ ไม่จำเป็นต้องลาออกจากองค์คณะตุลาการ เหมือนที่นายชัช ชลวร ทำก็ได้

ซึ่งก็น่าตั้งข้อสังเกตว่า การลาออกนั้นเกิดจากการขัดแย้งภายในด้วยหรือไม่ 

แม้ตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ถือว่าเป็นหัวหน้า หรือผู้นำขององค์คณะตุลาการอีก 8 คนที่เหลือก็ตาม แต่ฝ่ายอำมาตย์มักจะมองว่าเป็นตำแหน่งที่ทรงเกียรติ ใครดำรงตำแหน่งจะถือเป็นเกียรติยศ 

คล้ายกับกรณีที่นายชัชลาออก ทั้งที่ไม่ใช่ความต้องการของตนเอง 

แต่หากจะมองว่ามีนัยทางการเมืองก็อาจมองได้ว่า นายวสันต์ไม่อยากอยู่ตัดสินคำร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ที่มีผู้ร้องว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการล้มล้างการปกครอง ให้ถอดถอน ส.ส.-ส.ว. 312 คนที่สนับสนุน 

เพราะหากนายวสันต์ยังอยู่แล้วตัดสินยกคำร้องในที่สุด จะกลายเป็นการสร้างความไม่พอให้กับฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาล ทั้งพวกเสื้อหลากสี พันธมิตร หน้ากากขาว จะต้องเกิดความไม่พอใจก็ได้

หากให้เดาใจ นายวสันต์คงไม่อยากมีอารมณ์ความรู้สึกมากระแทกเขา เหมือนอย่างตอนที่ม็อบเสื้อแดงไปชุมนุมหน้าศาลก็โจมตีนายวสันต์คนเดียวเป็นส่วนใหญ่ 

หรือหากตัดสินตามคำร้องก็จะแสดงชัดเจนเลยว่า อำนาจนิติบัญญัติถูกควบคุม เหมือนที่ศาลรัฐธรรมนูญอียิปต์สั่งให้ยุบสภา ซึ่งนายวสันต์อาจรับผิดชอบไม่ไหวแน่ 

ไม่ว่าจะตัดสินออกมาในทิศทางใดย่อมต้องมีผลกระทบตามมาค่อนข้างมาก 

ที่เป็นเช่นนี้เพราะนายวสันต์ไปผูกตัวเองไว้ด้วยการรับคำร้องตามมาตรา 68 เมื่อครั้งที่สภาเดินหน้าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 โดยสั่งให้รับคำร้องก่อนยกคำร้องในเวลาต่อมา และการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราก็เป็นไปตามคำวินิจฉัยเมื่อครั้งก่อน 

หากนายวสันต์ยังอยู่ ทำไปทำมาตัวเขาอาจเป็นคนเสียเองก็ได้ ซึ่งการลาออกครั้งนี้สถานการณ์ต่างๆ ไม่น่าจะเปลี่ยน แปลง ดูแล้วจะยังคงเหมือนเดิม 

แต่ถ้านายจรูญ อินทจาร ตุลาการที่อาวุโสสูงสุดขึ้นดำรงตำแหน่งแทน รัฐบาลนี้อาจต้องจับตาเป็นพิเศษ 

เพราะนายจรูญเป็นหนึ่งในเสียงข้างมากที่รับคำร้องถอดถอน 312 ส.ส.-ส.ว. และเหลืออายุราชการอีกไม่มาก จึงไม่ต้องกังวลเหมือนนายวสันต์ 

อีกทั้งกรณีตุลาการที่เหลือ 8 คนก็ยังเป็นหน้าเดิมๆ ภาพรวมน่าจะส่งผลดีกับพรรคประชาธิปัตย์เพียงฝ่ายเดียว