มติชน 7 กรกฎาคม 2556
เกษียร เตชะพีระ อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 6 ก.ค. หัวข้อ"มองไอยคุปต์ หล่นตุ้บมาไทยแลนด์"
โดยเริ่มต้นจากข้อสังเกตของ "จิตรา คชเดช" ( Jittra Cotchadet ) ที่ว่า
"กรณีอียิปต์นี่น่าสนใจ ที่คนไทยสนใจเหตุการณ์ทางการเมืองของประเทศอื่นมากขึ้น และพัฒนาถึงขั้นวิเคราะห์แยกแยะเลือกข้าง!!....."
ก่อนจะวิจารณ์ปัญหาว่า
" ผมคิดว่าข้อสำคัญเพราะกรณีการลุกฮือของมวลชน-รัฐประหาร-ต้านรัฐประหารที่กำลังเกิดขึ้นในอียิปต์ปัจจุบัน มันเหมือนย่อส่วนเอาประสบการณ์การเมืองไทยที่ [พธม.ชุมนุม-รัฐประหารคปค.ปี ๔๙ + ยุบพรรคไทยรักไทย ตั้งพรรคพลังประชาชนใหม่ลงเลือกตั้งชนะปี ๕๐ + พธม.ยึดทำเนียบรัฐบาลและสนามบินปี ๕๑ + นปช.บุกที่ประชุม ASEAN+ พัทยาและปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลปี ๕๒ + นปช.ชุมนุมยืดเยื้อราชดำเนินและราชประสงค์ปี ๕๓] ซึ่งกินเวลา ๕ ปีมา fast forward เสร็จจบในชั่วสัปดาห์เดียว
ภาพอียิปต์ปัจจุบันจึงทับซ้อนเหลื่อมขบทาบบังกับภาพประสบการณ์ ๕ ปีในอดีตของไทยในสายตาของผู้สังเกตการณ์ชาวไทยตลอดเวลา
จากนี้ก็แล้วแต่ว่าแต่ละท่านถูก "หลอน" จาก "ปีศาจแห่งการเปรียบเทียบ" (the Spectre of Comparisons ยืมคำของครูเบ็น แอนเดอร์สันมา ซึ่งแกยืมจาก Jose Rizal มาอีกที) บนพื้นฐานประสบการณ์เทียบเคียงของไทยเพื่อไปมองอียิปต์อย่างไร
-อภิสิทธิ์เคยเลือกข้างพธม.กับคปค.ฉันใด มาคราวนี้ก็เลือกข้างเชียร์ผู้ชุมนุมล้มรัฐบาลมอร์ซีและคณะรัฐประหารนายพลอัลซีซีฉันนั้น
-คุณจิตราเคยต่อต้านรัฐประหารคปค.ฉันใด มาคราวนี้ก็เลือกต่อต้านรัฐประหารของนายพลอัลซีซีฉันนั้น
-บางท่านทับซ้อนหน่อย คือเคยเลือกข้างรัฐบาลทักษิณและต่อต้านรัฐประหารคปคป. มาคราวนี้ใจโน้มไปในทางคัดค้านรัฐบาลมอร์ซีและเลือกข้างฝ่ายผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลมอร์ซี ก็เลยอิหลักอิเหลื่อ (เพราะเหมือนกับไปเลือกข้างพธม.ถ้าเทียบกับปี ๔๙ หรือ ๕๑) ดังนั้นจึงต้องออกตัวเปรียบต่างเปรียบตัดว่ารัฐบาลมอร์ซีไม่เหมือนรัฐบาลทักษิณนะ และผู้ชุมนุมต้านรัฐบาลมอร์ซีก็ไม่เหมือนพธม.ด้วย (ซึ่งก็คงไม่เหมือนกันจริง ๆ ด้วยในแง่ต่าง ๆ แต่ก็มีความคล้องจองกันในเชิงความสัมพันธ์ทางอำนาจในโครงสร้างการเมืองประชาธิปไตย ฯลฯ)
-หรือผมเองก็เหมือนกัน เห็นปัญหาของแนวนโยบายการเมืองและเศรษฐกิจของรัฐบาลมอร์ซี
แต่ก็สรุปได้จากประสบการณ์ของไทยเราเองว่าการชุมนุมที่วิ่งหาอำนาจพิเศษนอกระบบเป็นทางออกมันอันตราย (แบบที่ถูกคนเขาด่า ๆ กันว่า "สองไม่เอา" กระมัง?)
รัฐประหารไม่แก้ปัญหา มีแต่ทำให้ยิ่งขัดแย้งรุนแรง ห่วงว่าประชาธิปไตยล้มง่าย สร้างยาก แนวโน้มข้างหน้าถ้าปะทะกันรุนแรง ไม่ว่าใคร "ชนะ" ก็มีแต่จะเพิ่มอนาธิปไตยบนท้องถนน และอำนาจนิยมของรัฐ มากขึ้น
อนาคตของสิทธิเสรีภาพ หลักนิติรัฐ ลัทธิรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยยิ่งมืดมน