27 กรกฎาคม 2556
เวทีวิชาการจี้ นิรโทษกรรม
เวทีนักวิชาการอภิปราย จี้นิรโทษฯ นักโทษการเมือง "ดร.ชาญวิทย์" ชี้ที่ผ่านมา มีแต่นิรโทษฯให้ชนชั้นนำกับเจ้าหน้าที่รัฐ จนกลายเป็นการอนุญาตให้ฆ่าประชาชน ย้ำนักโทษการเมืองต้องหมดไปจากประเทศไทย "ดร.ชัยวัฒน์" ระบุถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยต้องคิดว่าประเทศนี้มีความเห็นต่างทางการเมืองจริงๆ และความผิดทางการเมือง ก็คือความเห็นต่างของคนในสังคม ขณะที่ "ดร.ธงชัย" ร่วมชี้ไทยต้องมีกม.นิรโทษฯ เพราะกระบวนการยุติธรรมเชื่อถือไม่ได้ อีกทั้งคนเหล่านี้ก็ไม่มีความผิดตั้งแต่ต้น จึงไม่ควรเข้าไปอยู่ในคุก ด้าน "อจ.สุดา" แถลงจุดยืนนักโทษคุกหลักสี่ ขอสนับสนุนฉบับ "วรชัย"
เมื่อวันที่ 26 ก.ค. ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 2553 (ศปช.) จัดอภิปรายเรื่อง 108 เหตุผล ทำไมต้องนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง โดยนางกฤตยา อาชวนิจกุล อาจารย์สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล กล่าวว่า ศปช.รวบรวมคดีต่างๆ อันเนื่องมาจากการสลายการชุมนุมปี 2553 มีผู้ถูกจับกุม 1,833 คน นับเป็น 1,151 คดี ในจำนวนนี้เป็นคดีที่สิ้นสุดแล้ว 1,644 คน อยู่ระหว่างจำคุก 5 คน และเป็นคดีที่ยังไม่สิ้นสุด 150 คน ในจำนวนนี้ได้ประกันตัวไปแล้ว 137 คน ยังอยู่ในเรือนจำต่างๆ อีก 13 คน
นางกฤตยากล่าวว่า ที่สำคัญ ศปช.พบว่ายังมีหมายจับกุมที่ยังค้างอยู่ในจังหวัดต่างๆ เป็นหลักร้อย หมายจับกุมนี้ได้แก่ จ.อุดรธานี จ.มุกดาหาร จ.ขอนแก่น และ จ.เชียงใหม่ หมายจับกลุ่มนี้อาจจะแสดงผลออกมาเมื่อไหร่ก็ได้ และศปช.ยังพบว่าประชาชนที่ถูกคุกคามสิทธิและเสรีภาพมีสาเหตุมาจากการบังคับให้กฎหมายความมั่นคง และพ.ร.ก. ฉุกเฉิน ที่เปิดช่องว่างให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจตามอำเภอใจในการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และหน่วยงานในองค์กรยุติธรรมไม่ได้ทำหน้าที่ที่ก่อให้เกิดความยุติธรรม หากแต่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
"การผลักดันร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมจึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อลบ ล้างความผิดให้ผู้ที่กระทำผิดทางการเมืองเพื่อให้เกิดความปรองดอง แต่เพื่อแก้ไขความผิดพลาดของฝ่ายรับ และคืนความยุติธรรมให้ ผู้ที่ถูกจับกุมคดี ในระยะยาว ศปช.เห็นว่าควรผลักดันให้ยกเลิกกฎหมายความมั่นคง แต่เราต้องผลักดันให้เกิดการปฏิรูปความยุติธรรม ตั้งแต่พนักงาน ผู้ถูกดำเนินคดี อัยการ และที่เรือนจำด้วย เพื่อให้เกิดความยุติธรรมขึ้นในสังคมอย่างแท้จริง" นางกฤตยากล่าว
ส่วน ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการ บดี ม.ธรรมศาสตร์กล่าวว่า ตั้งแต่ พ.ศ.2475 ถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีกฎหมายนิรโทษกรรมมาแล้ว 22 ฉบับ เฉลี่ยแล้ว 3 ปีครึ่ง มีกฎหมายนิรโทษกรรมหนึ่งฉบับ และกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของกฎหมายนี้เป็นการนิรโทษกรรมให้กับความผิดของชนชั้นนำ นิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่รัฐ จนกลายเป็นการอนุญาตให้ฆ่าประชาชน หลังการรัฐประหาร พ.ศ.2549 มีนักโทษการเมืองถูกจองจำหลายร้อยคน วันนี้นักโทษการเมืองต้องหมดไปจากประเทศไทยด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ขณะเดียวกัน การนิรโทษกรรมนี้ต้องไม่นิรโทษกรรมให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงด้วย เพราะจากประวัติศาสตร์บอกว่าต่อไปความรุนแรงจะยังเกิดขึ้นอีก
ขณะที่ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่าการนิรโทษกรรมทางการเมืองเป็นเรื่องยากในสังคมไทย เพราะความคิดแบบพุทธ การยกโทษแบบกรรมทำได้ยากกว่าศาสนาอื่น ดังนั้น แม้จะมีกฎหมายนิรโทษกรรม จึงยกโทษให้แต่ชนชั้นนำเท่านั้น เมื่อพูดถึงนิรโทษกรรมทางการเมือง เรากำลังพูดถึงการจัดการกับความแตกต่างในสังคมทางการเมือง ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยต้องคิดว่าในประเทศนี้มีความเห็นต่างทางการเมืองจริงๆ และคิดต่อว่าสิ่งที่เราคิดว่าเป็นความผิดทางการเมือง แท้ จริงแล้วคือความเห็นต่างของคนในสังคม
นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการกล่าวในฐานะประธานสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตยว่า การนิรโทษกรรมหลายครั้งในไทยเกิดขึ้นโดยง่าย เพราะเป็น การนิรโทษกรรมตัวเองของผู้กระทำรัฐประหาร หรือเป็นการนิรโทษกรรมให้ผู้มีอำนาจด้วยกันเอง แต่ประโยชน์ร่างกฎหมายนิรโทษ กรรมของส.ส.ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาในครั้งนี้มีประโยชน์คือเป็นการนิรโทษกรรมให้ประชาชนเป็นเหยื่อการปราบปรามของรัฐ เป็นการแก้ปัญหาระหว่างประชาชนกับรัฐ ไม่ใช่ประชาชนกับรัฐบาล การนิรโทษกรรมเป็นการอำนวยความยุติธรรมให้ผู้ที่ไม่ได้รับความยุติธรรมอย่างรวดเร็ว
ส่วนนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกียวโตกล่าวว่า นิรโทษกรรมมีความจำเป็นอย่างมาก เราบอกว่าเป็นประเทศอารยะ แต่ยังมีนักโทษการเมืองอยู่มาก ขณะนี้ ประเทศพม่าซึ่งเป็นเผด็จการมายาวนาน ขณะนี้เริ่มปล่อยนักโทษการเมืองแล้ว ขณะที่กัมพูชา นายสม รังสี ผู้นำฝ่ายค้านก็ได้รับอภัยโทษ และมีอีกหลายประเทศที่นักโทษการเมืองได้รับการปล่อยตัว แต่ประเทศไทยยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้ การปล่อยตัวนักโทษการเมืองเป็นเรื่องเกี่ยวกับความยุติ ธรรม คนกลุ่มนี้ต้องได้รับความยุติธรรม ไม่ใช่ช่วยด้วยความสมเพชเวทนา นอกจากนี้ ยังมีนักโทษการเมืองที่ถูกจับภายใต้มาตรา 112 ซึ่งกำลังประสบปัญหาอย่างมาก
ด้าน ดร.ธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์มหา วิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน กล่าวว่า เหตุผลร้อยแปดพันเก้าที่จะต้องนิรโทษกรรม สุดท้ายประมวลได้เหตุผลเดียวคือความอยุติธรรม ประเทศไทยต้องมีกฎหมายนิรโทษกรรม เพราะกระบวนการยุติธรรมไม่ยุติธรรม กระบวน การยุติธรรมเชื่อถือไม่ได้และไม่เป็นที่พึ่ง แต่กลับเอื้ออำนวยให้ผู้มีอำนาจ ธรรมเนียมการปฏิบัติของไทยคือเอาความผิดที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐมายึดกับฝ่ายอำนาจ แทนที่จะยึดหลักความเที่ยงธรรมเพียงหลักเดียวเท่านั้น ตัวอย่างง่ายๆ คือการไม่ยอมให้ประกันตัว การนิรโทษกรรมให้นักโทษการเมืองนั้น ไม่ใช่การลบล้างความผิดให้คนที่อยู่ในคุก แต่คนเหล่านี้ไม่มีความผิดตั้งแต่ต้น และไม่ควรเข้าไปอยู่ในคุกอยู่แล้ว
"ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่มีผู้เสนออยู่ตอนนี้มีข้อดีข้อเสียทั้งนั้น ต้องคิดว่ามีข้อเสียทางการเมือง แต่มีข้อดีในแง่อื่นหรือเปล่า อยากให้ทุกฝ่ายที่ถกเถียงกันว่าร่างของตัวเองดีอย่างไร คิดในทางกลับกันด้วยว่า ร่างของตัวเองเสียอย่างไร ไม่มีร่างไหนสมบูรณ์แบบไม่มีข้อเสีย และขอให้ทำความเข้าใจด้วยว่าอีกฝ่ายทำไมจึงคิดและเสนอแบบนั้น" นาย ธงชัยกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการอภิปราย นางสุดา รังกุพันธ์ นักวิชาการกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล อ่านแถลงการณ์จุดยืนของกลุ่มนักโทษจากเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ โดยมีสาระสำคัญว่าขอสนับสนุนกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับของส.ส.วรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรค เพื่อไทย เพราะเป็นทางออกอีกทางหนึ่งของคนในสังคมไทย ในการอยู่ร่วมกันได้โดยไม่หวาดระแวงซึ่งกันและกัน และขอชวนพ่อ แม่ พี่ น้อง ผู้รักประชาธิปไตยและรักความยุติ ธรรมร่วมสนับสนุนร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ฉบับของวรชัยด้วย
วันเดียวกัน เวลา 09.00 น. ที่วัดแก้วฟ้า ต.บางขนุน อ.บางกรวย จ.นนทบุรี นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธาน ทำบุญวันคล้ายวันเกิดพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ครบรอบ 64 ปี ภายใต้ชื่องาน "64 ปี คนดีเชิญปรองดอง" จัดโดยชมรมแทนคุณแผ่นดินและกลุ่มคนเสื้อแดง จ.นนทบุรี มีผู้มาร่วมงานกว่า 500 คน และจัดงานพร้อมกันทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ โดยเริ่มด้วยพิธีพุทธ นิมนต์พระสงฆ์ 108 รูป จากวัดใกล้เคียงมาสวดเจริญพระพุทธมนต์ ต่อด้วยพิธีพราหมณ์ นำโดย พล.ท.พัฒนสิน สุดสงวน โหรกองทัพ บวง สรวงและสวดนพเคราะห์ ผูกดวงชะตาให้พ.ต.ท.ทักษิณ ปิดท้ายด้วยพิธีจีน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ ยังเตรียมเค้กหนัก 64 ปอนด์ และผ้าขาวความยาวไม่จำกัด ให้ผู้มาร่วมงานเขียนคำอวยพรเพื่อนำไปเย็บต่อกับผืนผ้าที่เขียนคำอวยพรของภาคต่างๆ เมื่อเสร็จแล้วจะมอบให้นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนำไปให้พ.ต.ท.ทักษิณ ขณะที่ฝ่ายจัดงานมอบการ์ดวันเกิดพ.ต.ท.ทักษิณ จำนวน 50,000 ใบ และขนมปรองดองสีเหลือง-แดง พันเป็นเกลียว 30,000 ชิ้น แจกผู้ร่วมงาน
ต่อมาเวลา 12.00 น. นายเสริมศักดิ์นำกล่าวอวยพรแล้วเป่าเค้ก และร่วมกันร้องเพลง ฉันจะกลับมา และคิดถึงเสมอ จากนั้นพ.ต.ท. ทักษิณโฟนอินจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ว่าขอบคุณที่ช่วยจัดงานวันเกิดให้ ขอให้บุญกุศลตกกับทุกคนและเมืองไทยจะได้พ้นทุกข์เสียที ขอบคุณที่ 7 ปีแล้วยังไม่ลืม เวลาไปไหนก็คิดจะแก้ปัญหาให้เมืองไทยตลอด ตอนนี้อยู่ที่ปักกิ่งก็มีเรื่องดีๆ เยอะ จะบอกกับคนไทยให้ทราบภายหลัง กำลังชวนคนเก่งของโลกในเรื่องการสร้างภาพลักษณ์และผลิตภัณฑ์ของประเทศให้ขายได้ทั่วโลก อีกไม่นานจะมีผลงานที่ดีให้คนไทย
"ผมอยากเห็นคนไทยพ้นทุกข์ มีความสุข วันนี้หนีไม่พ้นการหันหน้าเข้าหากัน จะบอกว่าคนนี้ไม่ใช่พวกนั้น คนนั้นไม่ใช่พวกนี้คงไม่ได้ ขอให้อดทน ถึงมีการพูดจากล่าวหาเลอะเทอะ ก็ขอให้อดทน ขอให้บุญกุศลที่มาทำวันนี้ทำให้ทุกคนมีความสุข" พ.ต.ท.ทักษิณโฟนอิน
ต่อมา พล.ท.พัฒนสินตรวจดวงชะตา พ.ต.ท.ทักษิณ และระบุว่ายังต้องเจอวิบากกรรมต่อ ใช้เวลา 2-3 ปีถึงจะได้กลับประเทศ และถ้าได้กลับก็ต้องทำงานหนัก ช่องทางที่จะทำให้กลับมาได้คือต้องทำบุญครั้งใหญ่ ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาครั้งใหญ่ จะได้ผลบุญ ช่วยส่งเสริมให้กลับประเทศไทยได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากที่วัดแก้วฟ้าแล้ว ยังมีกลุ่มเสื้อแดงอีกหลายจังหวัดจัดงานวันเกิดให้พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นที่ จ.พะเยา จ.นครราชสีมา จ.ยโสธร จ.กาฬสินธุ์ จ.บุรีรัมย์ จ.มหาสารคาม จ.ร้อยเอ็ด จ.สุรินทร์ จ.อุดรธานี จ.ขอนแก่น จ.ปราจีนบุรี จ.ราชบุรี จ.เชียงใหม่ และ จ.ตรัง ด้วย โดยส่วนใหญ่มีพิธีทำบุญตักบาตร ถวายสังฆทาน สืบชะตาสะเดาะเคราะห์ ร่วมร้องเพลงแฮปปี้เบิร์ธเดย์ และเป่าเค้กวันเกิด มีคนเสื้อแดงแต่ละกลุ่มมาร่วมงานกันอย่างคึกคัก