ประกาศ
ประกาศ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน
รับชมการถ่ายทอดสดจาก ถ.อักษะ
Broadcast live streaming video on Ustream
ประมวลภาพ นปช. "รวมพลปราบกบฏ" ถนนอักษะ 10 พ.ค. 2557
รับชมการถ่ายทอดสดจาก ถ.อักษะ
Broadcast live streaming video on Ustream
ประมวลภาพ นปช. "รวมพลปราบกบฏ" ถนนอักษะ 10 พ.ค. 2557
เคลียร์ทุกข้อกล่าวหา "อธิบดีกรมวิชาการเกษตร" มั่นใจข้าวไทยไร้สารตกค้าง
ทีมข่าวเศรษฐกิจ
(สัมภาษณ์/มติชนรายวัน 1 ก.ค.2556)
หลังเกิดกระแสโจมตีอย่างหนักว่า ข้าวในโครงการรับจำนำของรัฐบาลที่ค้างอยู่ในโกดังเสื่อมสภาพจนต้องรมสารเคมีอย่างหนัก เพื่อป้องกันกำจัดมอดและแมลง สร้างความหวั่นวิตกต่อผู้บริโภคว่าอาจเสี่ยงต่อสุขภาพ กระทั่งล่าสุดเกิดข่าวลือว่า สหรัฐอเมริกาสั่งกักข้าวนำเข้าจากไทยทั้งหมด "มติชน" จึงขอความกระจ่างจากนายดำรงค์ จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในฐานะกำกับส่วนงานที่รู้เรื่องสารกำจัดศัตรูพืชดีที่สุด เพราะต้องตรวจสอบการนำเข้า การใช้สาร และอบรมคนใช้สารอย่างกรมวิชาการเกษตร
- สารที่ใช้รมข้าวมีอะไรบ้าง
การรมสารในการป้องกันกำจัดแมลงและศัตรูพืชในโรงเก็บที่ไทยใช้อยู่มี 2 ชนิดคือ เมทิลโบรไมด์ (MB) และฟอสฟิน (PHOSFINE) ซึ่งเป็นสารที่ทุกประเทศทั่วโลกกำหนดให้ใช้ตามข้อกำหนดขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) มีการใช้สารทั้งสองชนิดกันทั่วโลกอย่างกว้างขวาง เนื่องจากสามารถทำลายแมลงศัตรูพืชได้ทุกชนิด และทุกระยะการเจริญเติบโต ไม่มีพิษตกค้างเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้สารฆ่าแมลง
การรมสารกำจัดศัตรูพืชเป็นวิธีการเพื่อลดการสูญเสียของผลผลิตทางการเกษตรหลังการเก็บเกี่ยว และเพิ่มมูลค่าของสินค้า โดยทุกประเทศทั่วโลกใช้สารทั้ง 2 ชนิดนี้ตามมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (เอสพีเอส) ซึ่งคณะอนุกรรมการด้านสุขอนามัยของดับเบิลยูทีโอกำหนดให้ใช้กำจัดแมลงศัตรูพืชภายในโรงเก็บ
- รายละเอียดของสารแต่ละตัวเป็นอย่างไร มีวิธีการใช้อย่างไร
ปี พ.ศ.2532 ไทยได้ลงนามในพิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน โดยหนึ่งในสารที่ทำลายชั้นโอโซนมีเมทิลโบรไมด์ด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดสภาวะเรือนกระจก กฎในการลงนามในพิธีสารนั้นอนุญาตให้ใช้สารเมทิลโบรไมด์เฉพาะด้านกักกันพืช เพื่อการส่งออกเท่านั้น ห้ามใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ไทยได้ดำเนินการตามพิธีการมอนทรีออลมาโดยตลอด โดยลดการใช้สารลงมาจากเป้าที่วางไว้ว่าจะต้องเลิกใช้ในปี 2558
สารเมทิลโบรไมด์เป็นก๊าซไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่ติดไฟ ไม่ระเบิด และไม่มีพิษตกค้าง การรมยาชนิดนี้จะใช้การระเหยตัวในอากาศของก๊าซ จะต่อท่อสู่กองข้าวสาร โดยกองข้าวสารจะต้องห่อหุ้มด้วยพลาสติกบางไม่เป็นตาข่าย ดังนั้น ในระหว่างการห่อหุ้มข้าว แน่นอนว่าแมวและหนูย่อมหนีออกมาจากกองข้าว แต่หากหลบหนีไม่ได้จริงๆ สภาพศพของแมวและหนูที่ตกเป็นข่าวว่าอาจจะตายเพราะถูกรมควันจะต้องแห้ง เชื่อว่าโรงสีอาจจะใช้วิธีการเบื่อหนูในโรงสี แทนการจับโดยกับดักหนู
การรมข้าวสารจะใช้เมทิลโบรไมด์ในอัตรา 32 กรัมต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 50 กรัมต่อข้าวสาร 1 ตัน ระยะเวลาในการรม 24 ชั่วโมง และจะระเหยหมดไปทันทีที่เปิดพลาสติก
สารชนิดนี้เป็นที่นิยมใช้เพราะเบากว่าอากาศ จะใช้การระเหยขึ้นด้านบน สามารถแทรกในช่องว่างระหว่างเม็ดข้าวได้ และราคาถูกกว่าสารชนิดอื่น
ส่วนสารฟอสฟินเป็นสารที่มีความเป็นพิษสูง กรมวิชาการเกษตรจึงเตือนผู้รมยาว่า ต้องหลีกเลี่ยงการได้รับสารนี้ แม้ในปริมาณน้อยก็ตาม เพียงสูดดมระยะเวลาสั้นๆ ที่ความเข้มข้น 2.8 กรัมต่อลูกบาศก์เมตร สามารถทำให้เสียชีวิตได้
สารฟอสฟินสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ 2 ทางคือ ทางระบบหายใจและการกิน แต่ไม่สามารถซึมเข้าสู่ผิวหนังได้
ลักษณะของฟอสฟินจะเป็นเม็ดเล็กๆ ลักษณะการทำงานคล้ายลูกเหม็น จะใช้การระเหิดจากที่สูงสู่ที่ต่ำ การรมข้าวสารใช้ฟอสฟินในอัตรา 2-3 เม็ด ต่อข้าวสาร 1 ตัน (น้ำหนักเม็ดละ 3 กรัม) หรือฟอสฟิน 9-10 กรัมต่อข้าวสาร 1 ตัน ระยะเวลาการรม 5-7 วัน หลังจากการรมแล้วต้องมีระยะเวลาการถ่ายเทก๊าซ 12 ชั่วโมง วิธีการนี้จะใช้เวลานานกว่าเมทิลโบรไมด์ จึงได้รับความนิยมน้อยกว่า
อย่างไรก็ตาม สารทั้งสองชนิดถูกควบคุมตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย ดังนั้น ผู้ที่ครอบครองและใช้สารจะต้องผ่านการอบรมตามหลักสูตรที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด ต้องมีใบอนุญาตการรมจากกรมวิชาการเกษตร และต้องมีใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการรม เวลานำเข้าต้องมีแผนให้กรรมการพิจารณาว่าใช้เพื่ออะไร และไม่อนุญาตให้นำเข้าจำนวนมากมาเพื่อเก็บสต๊อกไว้ นอกจากนี้ ต้องได้รับใบประกาศเป็นผู้ควบคุมการใช้ รับจ้างรมยากำจัดแมลงศัตรูผลิตผลเกษตร ซึ่งใบประกาศมีอายุการใช้งาน 5 ปี และจะมีการตรวจสอบประเมินผู้ผ่านการอบรมอยู่อย่างสม่ำเสมอ เมื่อครบกำหนดต้องเข้ารับการอบรมใหม่
- สารแต่ละชนิดถูกควบคุมไม่ให้มีปริมาณปนเปื้อนในข้าวเท่าใด
สำหรับสินค้าที่ผ่านการรมแล้ว กรมวิชาการเกษตรได้ร่วมกับผู้ควบคุมการรมยา เก็บตัวอย่างเพื่อตรวจสอบปริมาณสารตกค้าง เกณฑ์ที่สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (โคเด็กซ์) กำหนด คือ เมทิลโบรไมด์อนุญาตให้ตกค้างได้ 5 มิลลิกรัมต่อหนึ่งกิโลกรัม (พีพีเอ็ม) ฟอสฟินอนุญาตให้ตกค้างได้ 0.1 พีพีเอ็ม
ทั้งนี้ สารทั้งสองชนิดหากยังปนเปื้อนอยู่ในข้าวจริง แค่ 0.5 พีพีเอ็ม จะเป็นระดับที่คนสามารถรับกลิ่นได้ แค่การเปิดปากถุงข้าวก็จะได้กลิ่นสาร
กรมวิชาการเกษตรขอยืนยันว่า มีการใช้สารรมเมทิลโบรไมด์และฟอสฟินทั้งในโกดังและเรือสินค้าถูกหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานที่กำหนด และผลผลิตได้มาตรฐานและเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งข้าวสารที่ส่งออกและบริโภคภายในประเทศ จึงมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคอย่างแน่นอน
สำหรับประเด็นข่าวลือเรื่องสารพิษตกค้างในข้าวสาร ขอยืนยันให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าข้าวทุกเมล็ด มีความปลอดภัยจากสารที่ใช้รมอย่างแน่นอน เพราะกรมวิชาการเกษตรมีการตรวจติดตามตลอดเวลา
ผลที่สามารถยืนยันได้มากที่สุดคือ ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก กรมวิชาการเกษตรในฐานะผู้ควบคุมการใช้ยา โดยส่งเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการลงไปควบคุมการรมทุกโกดัง ดูแลเรื่องการครอบครองยา และต้องลงนามในใบรับรอง เพื่อส่งออกข้าวไปยังต่างประเทศ ปรากฏว่าในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ไทยส่งข้าวไปสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ไม่เคยถูกตีกลับ เพราะพบสารตกค้างแม้แต่ครั้งเดียว
เพื่อความมั่นใจ กรมวิชาการเกษตรได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้าวถุงตามร้านสะดวกซื้อหลายยี่ห้อ ผลการตรวจสอบไม่พบสารตกค้างในข้าวเลย
- ปริมาณการนำเข้าสารทั้งสองชนิดในแต่ละปีเป็นอย่างไร
การนำเข้าสารฟอสฟินปี 2553 มีการนำเข้า 383 ตัน รมข้าวสารได้ 42 ล้านตัน ปี 2554 มีการนำเข้า 416 ตัน รมข้าวสารได้ 45 ล้านตัน ปี 2555 นำเข้า 344 ตัน รมข้าวได้ 37 ล้านตัน และในปี 2556 ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน นำเข้าสาร 293 ตัน รมข้าวสารได้ 32 ล้านตัน
ส่วนการนำเข้าสารเมทิลโบรไมด์ ปี 2553 มีการนำเข้า 567 ตัน รมข้าวสารได้ 11.3 ล้านตัน ปี 2554 นำเข้า 377 ตัน รมข้าวสารได้ 7.5 ล้านตัน ปี 2555 นำเข้า 321 ตัน รมข้าวสารได้ 6.4 ล้านตัน ปี 2556 ช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน นำเข้า 27 ตัน รมข้าวสารได้ 0.5 ล้านตัน
จากสถิติจะเห็นได้ว่า ประเทศไทยนำเข้าสารเมทิลโบรไมด์น้อยลงทุกปีได้อย่างรวดเร็ว จนเป็นที่ยอมรับจากประเทศเยอรมนี ได้ตั้งสำนักงานลดเลิกการใช้สารดังกล่าว เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางสนับสนุนนโยบายลดใช้สารเมทิลโบรไมด์ ในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างลาว พม่า เป็นต้น
- สารทั้งสองชนิดก่อให้เกิดมะเร็งหรือไม่
ยาทั้งสองชนิดไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เพราะสารจะระเหยได้เร็ว ส่วนปัญหาที่เป็นโรคมะเร็งนั้นอาจจะเกิดจากเชื้ออะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) เป็นสารพิษชนิดหนึ่งที่มักพบปนเปื้อนอยู่ในอาหารจำพวกถั่วลิสง ข้าวโพด พริกแห้ง กระเทียม เต้าเจี้ยว เต้าหู้ยี้ เมล็ดฝ้าย ข้าวฟ่าง และมันสำปะหลัง เชื้อราเหล่านี้มักไปกินแป้งในข้าว เพราะหากข้าวที่เข้าโกดังไม่แห้งพอ หรือมีความชื้นเกินกว่า 14% ตามเกณฑ์กลางที่กำหนด จะเป็นต้นตอทำให้เกิดเชื้ออะฟลาทอกซินได้ เมื่อข้าวเกิดเชื้ออะฟลาทอกซินแล้ว สารชนิดใดก็ไม่สามารถรมให้เชื้อหายไปได้
ข้าวที่มักจะเกิดความชื้นและเชื้อราได้มากที่สุดคือ ข้าวกล้อง ที่ไม่ได้ขัดสีมากนัก เพราะบนเนื้อข้าวจะมีสารอาหารอยู่มาก และแม้ว่าข้าวทั้งข้าวสารและข้าวกล้องจะผ่านการรมยากำจัดแมลงมาดีเพียงใด หากผู้เก็บข้าวเก็บไว้ในที่มีความชื้น ข้าวก็จะเกิดเชื้ออะฟลาทอกซินได้อยู่ดี
- วิธีการสังเกตข้าวที่มีเชื้ออะฟลาทอกซิน หรือข้าวที่มีความชื้นเป็นอย่างไร
สังเกตได้จากการเกาะตัวกันเป็นก้อน หากข้าวเกาะตัวกันเมื่อไร แสดงว่าเริ่มมีความชื้นในข้าว เช่นเดียวกับข้าวที่มีกลิ่น สีเริ่มเปลี่ยน อย่ารับประทาน
ส่วนการตรวจความชื้น ความปลอดภัยของข้าวที่กินในประเทศ เป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข
- แนะนำการซื้อข้าวถุง และข้าวแต่ละชนิด
ควรเลือกซื้อข้าวที่มีแหล่งที่มา มีถุงคลุมอย่างมิดชิด ซื้อข้าวยี่ห้อที่รู้จักดี ส่วนข้าวที่แบ่งขายนั้นควรดูสีข้าว หรือหากข้าวราคาถูกต้องตรวจดูให้ชัดว่าข้าวเกาะเป็นก้อนหรือไม่ หากกังวลว่าจะเก็บข้าวแล้วมีความชื้น แนะนำให้ซื้อข้าวแค่พอทานเท่านั้น
- ต่อจากนี้จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคอย่างไร
มีแนวความคิดจะจัดการรับประทานข้าวโชว์ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ผู้บริโภค พร้อมทั้งให้ข้อมูลแก่ประชาชน ทั้งนี้ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมวิชาการสุ่มตรวจสารตกค้างในข้าว ทั้งในโกดังและตามร้านสะดวกซื้อ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ความสำคัญลงพื้นที่ตรวจความปลอดภัยอยู่ตลอด จึงขอให้ประชาชนวางใจว่าข้าวสารทุกเมล็ดมีความปลอดภัย ไม่มีสารตกค้าง