23 กรกฎาคม 2556
สัมภาษณ์พิเศษ
"ถ้าคนเสื้อแดงใจสลาย เมื่อคนใจสลายรัฐบาลต้องล้มอยู่แล้ว ถามว่าใครจะออกมาตาย ออกมาเจ็บ ออกมาถูกขังให้กับคนที่ไร้หัวใจ"
หมายเหตุ - นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในฐานะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ "มติชน" ถึงสถานการณ์การเมืองในการผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พท. ภายหลังเปิดประชุมรัฐสภา สมัยสามัญทั่วไป ในเดือนสิงหาคมนี้
- จะหาข้อยุติอย่างไรกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่คนเสื้อแดงสนับสนุน เพราะมีเสียงจากวิปรัฐบาลอาจจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณหรือกฎหมายอื่นก่อน
ผมได้รับการแจ้งจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ว่า จะพิจารณาแล้วเสร็จและจะนำเข้าสู่สภาอย่างเร็วที่สุดคือวันที่ 14 สิงหาคม หมายความว่าเปิดสภา 1 สิงหาคมก็ยังไม่เสร็จ จะแล้วเสร็จในสัปดาห์ที่ 3 ฉะนั้นเรื่องงบประมาณจะนำมาถูกกล่าวอ้างเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว กรณีการนิรโทษกรรม ร่างของนายวรชัยก็ล้อร่าง พ.ร.ก. ของ นปช.ที่เสนอไปว่าให้ประกาศใช้เป็น พ.ร.ก. คือปลดปล่อยประชาชนทุกฝ่ายยกเว้นแกนนำ ที่ผ่านมาเราก็ยืนในเรื่องนี้ เพราะเชื่อว่าไม่ว่าจะเอาเรื่องใดเข้าก่อนก็มีผลเท่ากันในกระบวนการขับไล่รัฐบาล แต่จะแตกต่างกัน ถ้าคนเสื้อแดงใจสลาย เมื่อคนใจสลายรัฐบาลต้องล้มอยู่แล้ว ถามว่าใครจะออกมาตาย ออกมาเจ็บ ออกมาถูกขังให้กับคนที่ไร้หัวใจ
- หากผลักดันร่างกฎหมายอื่นเข้ามาแทนจะทำให้คนเสื้อแดงหัวใจสลายใช่หรือไม่
ขณะนี้ในทางเทคนิคถือว่าจบไปแล้ว แม้จะอยากจะพิจารณาก่อนก็ทำไม่ได้อยู่ดี เรื่องนี้ถือว่าไม่เปลี่ยนแปลงจากนี้ ส่วนจะเอาเรื่องอื่นมาหรือไม่ การต่อสู้ที่ผ่านมา ผมเคยบอกกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ในสภาว่าในโลกความเป็นจริงไม่มีใครถูกจ้างให้มาตายได้ แต่มีคนจ้างให้คุณไปฆ่าคนได้ แต่จ้างให้ไปตายนั้นไม่มี จ้างให้ไปเจ็บไม่มี ฉะนั้นเขามาด้วยหัวใจ คนเสื้อแดงสละทรัพย์ สละชีวิต ดังนั้นถ้าไม่มีเหตุการณ์ไปล้อมปราบและยัดเยียดความผิดใส่เขา วันนี้สิ่งเหล่านี้ก็คงไม่เกิดขึ้น ถ้าเสื้อแดงเค้าเป็นนักต่อรองจะทนมาถึง 2 ปีหรือ เขาให้ความรักต่อรัฐบาลชุดนี้ไม่เพียงพอหรือ
ผมเอาตัวเองเป็นจุดยืนชัดเจนคือผมเรียกร้องรัฐบาลให้ทำ 1.ไม่ทุจริตคอร์รัปชั่น คนเสื้อแดงพร้อมจะไปตายกับพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลชุดนี้ในทุกเรื่องแต่ต้องไม่ใช่เรื่องคอร์รัปชั่น 2.รัฐบาลต้องไม่ลุแก่อำนาจ เพราะเราผ่านการเจ็บปวดต่อการลุแก่อำนาจมา ต่อสู้มาและก็ตายมา และ 3.ต้องไม่ทรยศประชาชน และหลังจากที่เรามีข้อเรียกร้องที่ไม่ประสบความสำเร็จ เช่นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญท้ายที่สุดก็ไปไม่ถึง ไม่กล้าที่จะเดินหน้าโหวตวาระ 3 ถ้าวันนั้นผมไม่มาทักท้วงแล้วทำประชามติวันนี้ก็จะผิดรัฐธรรมนูญเหมือนกับเรื่องโครงการบริหารจัดการน้ำ
- เมื่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณยังไม่แล้วเสร็จ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมน่าจะเข้าในวันที่ 7 สิงหาคมนี้
มันอยู่ในวาระการประชุมสภาอยู่แล้ว มีอย่างเดียวคือถูกเตะทิ้งเท่านั้นเอง คือเปิดสภาต้องบรรจุเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก เมื่องบประมาณไม่เสร็จ วันที่ 7 สิงหาคม ก็เหมาะเพราะเป็นวันรพี บิดาแห่งกฎหมายไทย ก็สามารถพิจารณาได้เพราะว่างบประมาณเข้าอีกสัปดาห์หนึ่งคือ 14-15 สิงหาคมนี้ ก็ว่ากันไป ในขณะนั้นก็มีคนชนนอกสภาเต็มไปหมดแล้ว เพราะว่าเรื่องชุมนุมติดต่อกัน ปราศรัยติดต่อกันและการขับเคลื่อนองคาพยพทั้งองค์กร ทุกองค์กรก็จะไหลมารวมกัน คือทั้งหมดไหลมาโดยนัดหมาย พูดง่ายๆ ว่าทุกทัพ ทุกทิศทางก็จะรุกประชิดแม้ว่าจะมีเรื่องนิรโทษกรรมหรือไม่ก็ตาม
- ตอนนี้ญาติวีรชน เม.ย.-พ.ค.2553 ผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมอีกฉบับ ทำให้ถูกมองว่าเป็นการสกัดและเตะถ่วงร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย
ถ้าเจอญาติวีรชนฯ จะอธิบายให้ฟัง และเชื่อว่าไม่มีปัญหาอะไรจะชี้ให้ดูว่าท้ายที่สุดเราไม่โชคร้าย ผมไม่เชื่อว่ากลุ่มญาติวีรชนถูกหลอก เพราะผมก็ยังถูกหลอกเลย และหลายคนก็ยังถูกหลอกด้วย ผมถูกหลอกก็แค่ชีวิตเดียว แต่ว่าคนบางคนถูกหลอกจะนำพาสู่ความตายของประชาชนครั้งใหญ่อีกครั้ง
- แต่ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของญาติวีรชน ทำให้ ปชป.ออกมาขานรับ จะทำให้เกิดความแตกแยกระหว่างคนเสื้อแดงกันเองและกระทบกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่อยู่ในสภาหรือไม่
คนโง่ที่สุดในประเทศก็คิดได้ ผมก็ถามกลับเพื่อจะบอกบรรดาญาติวีรชนซึ่งไม่ได้ประชุมกันเป็นเรื่องเป็นราว แต่จะถามกลับว่าใครทำให้ น.ส.กมนเกด อัคฮาด เสียชีวิต รัฐบาลไหนทำให้น้องเฌอถึงแก่ชีวิต ฉะนั้นมีความสุขนักเหรอ เพราะผมรู้ว่าเขาเจ็บปวด สุดท้ายญาติวีรชนจะได้เห็นว่า นี่ไงที่ผมเคยพูดเมื่อปีกลายว่า การเมืองคือละคร ผมคือคนพลัดหลงเข้าไปในโรงละคร คนเสื้อแดงคือคนที่มีอุดมการณ์พลัดหลงเข้าไปในโรงละครที่เขาแสดงกันอยู่ เข้าใจว่าเป็นเรื่องจริง ผมว่าเรื่องญาติวีรชนซึ่งเข้าใจว่า 2 คนนี้เป็นหลัก ผมจะได้อธิบายเขา ที่ผ่านมาก็มาบ้านกันบ่อยอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาผมสุขภาพไม่ค่อยดีเลยไม่ค่อยได้คุยกับเขา ถ้ารู้ก่อนผมก็จะขอดูก่อนว่าเนื้อหาเป็นอย่างไร
- จะเกิดอะไรขึ้นหากรัฐบาลตัดสินไม่เดินหน้าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมก่อน
พอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าก็ไม่ได้จบ เพราะต้องเข้ากรรมาธิการวิสามัญ ถ้า พ.ร.บ.งบประมาณ หากบอกว่าถ้าไม่พิจารณาภายในวันนี้ มันใช้ไม่ได้ทำไมคนเสื้อแดงจะให้ไม่ได้ เพราะชีวิตเขาก็ให้มาแล้ว อิสรภาพ 2 ปี เขายังไม่ปริปากพร่ำบ่น บางคนยังเดินไม่ได้ มองไม่เห็น แค่ระเบียบวาระ แค่นี้กระจอกมาก แต่เรารู้ว่ามันไม่ได้แค่เรื่องระเบียบวาระนี้ เราไม่ใช่ไม่รู้ว่าอะไรควร งบประมาณมันใช้ 1 ตุลาคม ที่สุดมันก็จนมุมแล้วว่าทำไม่เสร็จ มันไปไหนไม่ได้อยู่แล้ว ฉะนั้นเราจึงอธิบายกระดานอื่นต่อว่า เรื่องมันรออยู่ที่องค์กรอิสระ กระบวนในและนอกสภา ฉะนั้นสิ่งที่จะเป็นผนังทองแดงเหมือนกับดงไม้ทึบให้กับกวาง หรือรัฐบาลก็คือประชาชน
ผมมาชี้ทางให้เอาหัวใจของประชาชนไว้ก่อน ไม่ใช่ไร้เหตุผลไม่รู้เรื่องรู้ราวว่าเสนอโหวตกฎหมายแล้วจะต้องได้วันนั้นเลย ถ้าในโลกของความเป็นจริงบอกว่า ถ้าพิจารณางบประมาณแล้วไม่ทัน แล้วไม่มีสถานการณ์ทางการเมืองใดๆ บอกคนเสื้อแดงถอยสิ ทำไมจะให้ไม่ได้ ให้เท่านี้ยังไม่พออีกเหรอ ทุกเรื่องมันจึงเป็นเรื่องเล็ก ถ้าผมเห็นแก่ตัวผมก็นอนอยู่บ้านเฉยๆ สบายจะตาย ทุกฝ่าย รัฐบาลก็เห็นว่าดี ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลก็เห็นว่าดี และรัฐบาลก็พัง ที่ผมพูดก็เพราะไม่ต้องการให้พัง เพราะถ้าผมอยู่เฉยๆ ยังไงก็พังอยู่แล้ว
- ขณะนี้ต้องการส่งสัญญาณเตือนรัฐบาลไม่ให้เดินเข้าสู่สถานการณ์ที่คนเสื้อแดงจะถูกหลอกใช่หรือไม่
เวลาจะถูกหลอกมันจะทำน่าเชื่อถือ พูดง่ายๆ ว่าไปเชื่อลมปากของศัตรูกับนักเลือกตั้งที่เห็นผลประโยชน์กับคนที่หนีเมื่อภัยมา แต่คนที่เขาสู้แลกชีวิตให้กลับไม่เชื่อใจ ฉะนั้นผมเองก็เตือนสติ ผมไม่ปรารถนาอะไรอีกแล้ว แต่นอกเหนือจากนี้ต้องการปลดปล่อยพี่น้อง ต้องการเยียวยาและต้องการให้รัฐบาลอยู่ได้ ผมดูว่ายาก ผมรู้ ผมผ่านเวทีพฤษภาทมิฬ 2535 หลังจาก พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ถูกจับผมถือไม้สุดท้ายของเหตุการณ์นั้น ผมรู้ว่าเหลือกี่คน ท้ายที่สุดทัพแตกผมก็เป็นคนนำทัพต่อ ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2535 ในขณะเดียวกันวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ผมต้องยืนขึ้นยุติการชุมนุมด้วยน้ำตานองหน้า ผมไม่ต้องการสภาพนั้นอีกแล้ว พูดเพื่อเตือน 81 ปี ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง การเมืองกับขบวนการรัฐประหารสลับขึ้นไปมีอำนาจ แต่ทุกครั้งที่มีการสลับจะมีกระบวนการคั่นกลางคือการต่อสู้ของประชาชน และทุกครั้งประชาชนก็บาดเจ็บล้มตาย คือ ได้เลือกตั้ง ก็ยึดอำนาจ ประชาชนก็ไปต่อสู้บาดเจ็บล้มตาย ได้เลือกตั้ง และก็ยึดอำนาจ ฝ่ายเดียวที่เสียมาตลอด 81 ปีนี้ คือ ประชาชน
(ที่มา มติชนรายวัน วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2556)