สัมภาษณ์พิเศษ
ไม่คิดว่าทั้ง 3 เรื่อง จะส่งผลกระทบอะไรในทางลบ...แต่อาจทำให้การทำงานช้าลงไปบ้าง จากเดิมที่นั่งควบรองนายกรัฐมนตรีและรมว.ศึกษาธิการ วันนี้เหลือเพียงตำแหน่งรองนายกฯ ทำให้ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา มือกฎหมายของรัฐบาล มีเวลาเข้ามาดูแลด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับนโยบายหลักๆ ของรัฐบาลได้เต็มที่ขึ้น แต่ครึ่งปีหลัง ร่างพ.ร.บ.หลายฉบับที่ต่อคิวเข้าสภาล้วนเป็นกฎหมายร้อน บางฉบับอาจเป็นชนวนเดือด หรือถึงขั้นทำให้ปรอทแตกได้ งานจึงไม่ง่าย นายพงศ์เทพ เตรียมรับมือและหาทางหนีทีไล่ไว้อย่างไร
นั่งรองนายกฯ ตำแหน่งเดียว เพราะต้องดูงานกฎหมายจำนวนมาก
การทำงานสองที่ตามปกติก็หนักกว่าที่เดียวอยู่แล้ว กระทรวงศึกษาธิการงานก็มาก งานรองนายกฯ ก็มาก แต่ผมไม่เคยถามนายกฯ เรื่องปรับครม. เพราะนายกฯ เป็นหัวหน้ารัฐบาล การจัดคนลงตำแหน่งไหนต้องคิดไว้อยู่แล้ว ไม่ต้องถาม เมื่อมาอยู่ตรงนี้ก็มีเวลาให้กับเรื่องกฎหมายต่างๆ มากขึ้น กฎหมายบางอย่างอาจไม่เกี่ยวข้องกับงานที่ผมรับผิดชอบโดยตรง แต่สามารถช่วยดูเพิ่มเติมได้
โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่ศาลปกครองชี้ขัดกฎหมาย 5 ฉบับ มีแนวทางต่อสู้อย่างไร
ดูว่าจะทำอย่างไรให้การดำเนินโครงการโดยสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ซึ่งคำพิพากษาก็ยังไม่ถึงที่สุด อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีความเห็นต่างจากคำพิพากษาทั้งในส่วนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายหลายจุด จึงให้หน่วยงานต่างๆ นำข้อมูลเหล่านั้นส่งไปให้อัยการที่ทำคดี เพื่อประมวลผลและส่งกลับมาที่สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เพื่อพิจารณาว่าควรอุทธรณ์หรือไม่
ถ้าคำพิพากษาของศาลยังไม่ถึงที่สุดก็ยังไม่มีผลบังคับ แต่ที่ศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับคำพิพากษาที่ระบุว่าให้รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแผนแม่บท แต่เมื่อศาลเป็นห่วงอีกว่าการให้เอกชนที่รับงานของรัฐไปทำ เป็นผู้ติดต่อผู้ที่จะศึกษาผล กระทบสิ่งแวดล้อมเองอาจเลือกคนที่เห็นด้วยกับบริษัทของเขามาดำเนินการหรือไม่นั้น ก็จะดึงงานเหล่านี้ออกมาให้หน่วยงานภาครัฐไปติดต่อ สปน.จะเป็นผู้ดำเนินการจัดรับฟังความคิดเห็นภายในเวลา 2 เดือน ระหว่างเดือนส.ค.นี้ และก.ย.นี้ ส่วนการจัดทำและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือสุขอนามัย ได้ให้แนวทางการทำสัญญาไปแล้ว ทำให้เรื่องที่ศาลเป็นห่วงหมดไป
นี่คือช่องทางที่เราจะทำเพื่อให้งานขับเคลื่อนต่อไปได้ กระบวนการนี้จะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ในการดำเนินการ โดยมีข้อจำกัดคือต้องให้หน่วยงานที่ทำจะต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีอยู่ประมาณ 60 ราย
แผนบริหารจัดการน้ำมีโครงการใดบ้างที่เดินหน้าได้ทันที
ตอนนี้อยู่ระหว่างยกร่างสัญญา คาดใช้เวลาประมาณ 3 เดือน เพราะจะต้องจัดให้มีการรับฟังความเห็นแผนแม่บทจบก่อนจึงจะร่างสัญญา ดังนั้นการลงนามในสัญญาหรือโมดูล ไม่มีงานอะไรในแผนงานที่ต้องศึกษาผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อมเลย เพราะการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเฉพาะบางเรื่องบางโครงการเท่านั้น เช่น อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ แต่ถ้าหน่วยงานภาครัฐอยากซื้อรถมาใช้ 10 คัน ก็ไม่ต้องทำศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ใน 9 โมดูล ที่ต้องศึกษาผลกระทบนั้นมีเขียนไว้ในทีโออาร์แล้ว งานเหล่านี้ต้องปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาที่ไม่สามารถรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 57 วรรค 2 ได้ เพราะแผนแม่บทยังไม่ชัดเจนว่าจะทำอะไร ตรงไหน เช่น จะสร้างอ่างเก็บน้ำ 2 อ่างแต่ยังไม่รู้ว่าจะสร้างที่ไหน จะรับฟังความเห็นประชาชนก็ทำไม่ได้ การทำงานไม่ได้ล่าช้ากว่าเดิม จะใช้เวลายกร่างสัญญาประมาณ 3 เดือน ขณะนี้การรับฟังความเห็นก็ทำควบคู่กันไปด้วย
พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ที่พรรคประชาธิปัตย์ยื่นถอดถอนครม. มีช่องทางต่อสู้อย่างไร
เมื่อทราบว่าเขายื่นกล่าวหาเรื่องอะไรก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนและเสนอข้อโต้แย้งกลับไป แต่ตอนนี้เขายังไม่ได้แจ้งให้ทราบเลยว่าถูกกล่าวหาว่าอะไร เรื่องนี้ผมไม่กังวลเพราะเราทำตรงไปตรงมา ที่มีคนไปกล่าวหาอย่างนั้นอย่างนี้ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำอยู่แล้ว เห็นได้จากการทำงานที่ผ่านๆ มา แต่เมื่อเราตั้งใจเพราะเห็นว่าเป็นผลดี และเป็นประโยชน์ของประเทศและประชาชน ก็จะทำ ยืนยันว่าได้รับฟังความเห็นทุกอย่างมาโดยตลอด
กรณีคลิปเสียงคล้ายที่มีการพูดถึงเรื่องนิรโทษกรรม สุดท้ายเรื่องนิรโทษจะออกมาในรูปแบบใด
การออกร่างพ.ร.บ.นิรโทษ มีหลายฉบับ ที่เสนอโดยส.ส. และอยู่ในสภา หากสภาจะพิจารณาก็เป็นกลไกของรัฐสภา เรื่องนิรโทษกรรม เชื่อว่าคงมีจุดที่คนเห็นสอดคล้องกันอยู่ว่าคนส่วนใหญ่เห็นว่าหากจะมีการนิรโทษกรรมจะเป็นเรื่องใดและให้ใครบ้าง สุดท้ายเมื่อพิจารณาในสภา คงได้รับฟังมุมที่หลากหลายของทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน อยู่ดีๆ จะไปต่อรองกันได้อย่างไร กฎหมายเหล่านี้ใช้เวลาเป็นเดือน ต้องผ่านทั้งสภา ผู้แทนฯ และวุฒิสภา ผ่านการกลั่นกรองโดย ผู้แทนประชาชนและอยู่ในสายตาของประชาชน กว่าจะผ่านในแต่ละตอนต้องใช้เวลาพิจารณาเนื้อหาสาระ ไม่มีทางที่จะปกปิดกันได้
แผนบริหารจัดการน้ำ พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน และพ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะเป็นประเด็นสั่นคลอนรัฐบาลได้หรือไม่
เรื่องน้ำและเรื่องปรับโครงสร้างพื้นฐาน อยากให้มาช่วยกันดูแบบตรงไปตรงมา ถ้ามีความกังวลเรื่องใดที่รัฐบาลทำก็ให้มาช่วยกันทำให้โปร่งใส มาช่วยกันดู มาแนะนำ รัฐบาลเปิดกว้างอยู่แล้ว ช่วงหลังเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมมาตรวจสอบด้วย จากที่ประเทศไม่เคยพัฒนาโครงสร้างระบบรางต่างๆ ทิ้งมานาน ถ้าเป็นระบบรางจะมีผลดีอย่างไร กระจายความเจริญอย่างไร การใช้พลังงานจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นจุดเชื่อมต่อในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ผลดีมันเห็นอยู่และคุ้มค่ากับการลงทุน เรื่องน้ำก็ชัดเจนว่าลงทุน 3.5 แสนล้าน ได้ทั้งการป้องกันน้ำท่วมและการจัดระบบชลประทานที่ดีในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ ผลที่ได้คุ้มกับการลงทุน
ผมไม่คิดว่าเรื่องน้ำและโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นชนวนทำให้เกิดความเคลื่อนไหว ตรงข้ามคิดว่าคนส่วนใหญ่เห็นด้วยและอยากให้ทำ อาจจะมีกลุ่มคนไม่มากที่ตั้งข้อสังเกตต่างๆ ซึ่งเรายินดีรับฟัง ขอให้บอกมาจะได้นำมาปรับแก้กันให้ดีที่สุด ส่วนเรื่องการนิรโทษกรรมมีบางคนที่เห็นตรงกันในบางเรื่อง เช่น ไม่ดำเนินคดีกับคนที่ผิดเล็กน้อยและไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ไม่คิดว่าทั้ง 3 เรื่อง จะส่งผลกระทบอะไรในทางลบ
การหยิบทั้งสามเรื่องมาทำให้เป็นปัญหาเราทราบดีอยู่ว่าเขาจะหยิบอะไร แต่รัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้ให้ชี้แจงได้ เพียงแต่อาจทำให้การทำงานช้าลงไปบ้าง
มั่นใจไม่มีชนวนที่สั่นคลอนเสถียร ภาพรัฐบาล
ถ้าสังคมไทยทำตามกติกา ประชาธิปไตยก็จะมั่นคง ไม่ว่ารัฐบาลไหนจะมาทำหน้าที่ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเราไปสร้างวัฒนธรรมแบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยที่สอดคล้องกับประเทศที่เป็นกลางส่วนใหญ่เขายึดถือ ก็จะเกิดปัญหาไปเรื่อยๆ พูดง่ายๆ คือมีความพยายามจะทำลายผู้ที่ได้รับอาณัติจากประชาชนด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ถ้าวิธีการถูกต้องมีข้อมูลชัดเจน ไม่มีปัญหา
ถ้าคิดว่ารัฐบาลคิดไม่ถูก ก็มีกลไกต่างๆมากมายที่รัฐบาลนี้ไม่ได้ตั้งขึ้น ทั้งป.ป.ช. องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ให้องค์กรเหล่านี้ทำหน้าที่โดยที่ไม่จำเป็นต้องมาชุมนุมประท้วง ผมไม่หวั่นไหวกับการตรวจสอบขององค์กรอิสระ ถ้าทั้ง ป.ป.ช. ฝ่ายตุลาการ ซึ่งเป็นองค์กรที่จะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ทุกคนในเมืองไทยจะมั่นใจและสบายใจ ต่างชาติก็จะเชื่อในระบบของไทย
หลายฝ่ายประเมินว่าครึ่งปีหลังการเมืองจะร้อนแรง โดยเฉพาะประเด็นนิรโทษกรรม
ช่วงเวลา 4 ปี ไม่นาน ระหว่างนี้หากรัฐบาลทำอะไรไม่ถูกต้องเข้าข่ายที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ว่ากันไป แต่ขอให้เป็นไปตามกลไกของระบอบประชาธิปไตย