11 กรกฎาคม 2556
วันนี้ (11 ก.ค.56) ที่ศาลอาญา รัชดา ศาลอ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.จิตรา คชเดช น.ส.บุญรอด สายวงศ์ และนายสุนทร บุญยอด อดีตผู้นำแรงงาน ในความผิดฐานมั่วสุมกันก่อการวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และ 216 ว่าด้วยการชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป จากกรณีที่คนงานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ชุมนุมประท้วงหน้ารัฐสภา สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2552
โดยประเด็นที่ศาลพิจารณา คือโจทก์ฟ้องจำเลยว่า ชุมนุมปิดถนน ปิดประตูทำเนียบ ทางออกที่ 4 ปิดทางเข้ารัฐสภา ปิดช่องทางเดินรถหลายช่องทางไม่ให้รถผ่าน ทำให้การจราจรติดขัด ส่งผลให้ประชาชนเดือดร้อน ก่อให้เกิดความวุ่นวาย ซึ่งเป็นการก่อความไม่สงบ
จากการนำสืบ ศาลพิจารณาจากพยานโจทก์ที่เป็นตำรวจซึ่งเบิกความว่า เมื่อผู้ชุมนุมยื่นหนังสือเสร็จก็กลับ ตรงกับที่พยานโจทก์ที่เป็นตำรวจอีกราย เบิกความว่า ผู้ชุมนุมแจ้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่แล้วว่าจะมาชุมนุม และเบิกความว่าไม่ได้มีการทำร้ายร่างกาย เมื่อยื่นหนังสือร้องเรียนเสร็จก็กลับ
กรณีที่ฟ้องว่าจำเลยปิดช่องทางจราจร ซึ่งในคดีมีการกล่าวหาว่าผู้ชุมนุมได้นำแผงเหล็กมากั้นนั้น พยานโจทก์ที่เป็นตำรวจเบิกความว่า แผงเหล็กที่ถนน ตำรวจเอามาเอง ศาลพิจารณาแล้วน่าเชื่อว่าแผงเหล็กนี้เป็นของตำรวจมากกว่าของลูกจ้าง ซึ่งตำรวจเอามาเพื่อจำกัดขอบเขตการชุมนุม เพื่อรักษาความปลอดภัย
ส่วนประเด็นที่บอกว่ามีการปิดช่องทางจราจร ศาลพิจารณาจากเอกสารภาพถ่ายพบว่า ผู้ชุมนุมมีจำนวนมากกว่า 300 คน การใช้ช่องทางหลายช่องทางเกิดจากการรวมตัวกันตามสภาพ และจากภาพถ่าย ผู้ชุมนุมไม่ได้ใช้ช่องทางทั้งหมด และยังมีช่องทางจราจรที่ใช้ได้
ส่วนการที่มายื่นหนังสือ แม้ว่าจะส่งผลต่อการจราจรก็ถือเป็นการใช้วิธีที่ไม่เหมาะสมเท่านั้น ยังไม่ถือเป็นการก่อความวุ่นวาย และดูที่เจตนาว่ามายื่นหนังสือถึงผู้มีอำนาจให้เข้ามาจัดการแก้ไขปัญหา โดยก่อนหน้านี้เคยมายื่นหนังสือแล้วไม่คืบหน้า ผู้ชุมนุมเลยเดินทางมาเพื่อขอทราบความคืบหน้า และเมื่อยื่นเสร็จแล้วก็กลับ ไม่ได้มีการทำร้ายร่างกาย ไม่เป็นความผิดอาญาตามมาตรา 215 ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสาม
อนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และ 216 มีรายละเอียดว่า มาตรา 215 ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ บรรดาผู้ที่กระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า หรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 216 เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกไป ผู้ใดไม่เลิก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ