มติชนวิเคราะห์... จาก"วิกฤต"สู่"วิกฤต" อนาคต"ปู5" ยื้อ"ปลดล็อก"การเมือง


1 กรกฎาคม 2556

(ที่มา:มติชนรายวัน 30 มิ.ย. 2556)

การปรับ ครม.ปู 5 ลงตัวอย่างรวดเร็ว

ไฮไลต์คือ การควบเก้าอี้ รมว.กลาโหม ของนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อันเป็นการตัดสินใจของนายกฯที่ไม่มีใครรู้มากนัก

สื่อหลายฉบับพาดหัวว่า พล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์ ส.ส.กาญจนบุรี จปร.16 จะมานั่งเก้าอี้ตัวนี้

บางส่วนให้ความสำคัญกับชื่อของ พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต ที่จะโยกมาจาก รมช.คมนาคม

จุดสำคัญในการปรับ อยู่ที่ตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ ที่

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตัดสินใจดึงเอา นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล มารับหน้าที่แทน นายบุญทรง เตริยาภิรมย์

เป็นการก้าวเข้าสู่ความรับผิดชอบที่หนักหนายิ่งขึ้นของนายนิวัฒน์ธำรง ที่ก่อนหน้านี้ไปบวช มุ่งมั่นกิจกรรมศาสนา

สุดท้ายรับคำขอให้กลับมาช่วยงาน และขยับตำแหน่งเข้าสู่เก้าอี้ที่ ร้อนŽ ขึ้นเรื่อยๆ

โดยมีทีมงานเพิ่มขึ้นมา ได้แก่ นายยรรยง พวงราช อดีตปลัดฯตัวจี๊ดของกระทรวงพาณิชย์ ผู้ตั้งฉายาปลาบู่ชนเขื่อนให้นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรค ปชป.

และ นายวราเทพ รัตนากร รมต.สำนักนายกฯ ที่จะควบตำแหน่ง รมช.เกษตรฯ ดูแลปัญหาข้าวจากต้นทาง

ทำให้ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ที่เพิ่งเข้าพิธีวิวาห์ในสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ได้มีเวลากับการสร้างครอบครัวใหม่กับเจ้าสาวคนสวยมากขึ้น

ส่วน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รมว.คลังและรองนายกฯ ที่เดิมมีชื่อจะคืนถ้ำกระทรวงพาณิชย์ ยังนั่งที่เดิมต่อไป

เท่ากับว่า ทีมผลักดันนโยบายจำนำข้าว มีผู้เล่นมืออาชีพเข้ามาเสริมความแข็งแกร่ง

แต่จะทำอะไรได้แค่ไหน ทันเวลาหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ต้นเหตุของการปรับรอบนี้ มาจากความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายจำนำข้าว

กลายเป็นไฟลนทำเนียบจนร้อนผ่าว ทำให้รัฐบาลต้องตัดสินใจเร่งการปรับ ครม.เข้ามา จากเดิมที่กำหนดไว้ในช่วงเดือนสิงหาคม

ด้วยบุคลิกของ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ที่อ้ำๆอึ้งๆ หลบหลีกสื่อ ไม่ตอบโต้ ทำให้รัฐบาลตกเป็นเป้านิ่งให้ฝ่ายค้านและเครือข่ายรุมถล่มอย่างมันมือ

แม้จะมี นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ มาช่วยใช้ฝีปากแหลมคมตอบโต้ แต่ถ้าสังเกตจะพบว่า ไม่ได้มีการแบ่งงานเรื่องข้าวให้นายณัฐวุฒิดูแล

ทำให้เสี่ยเต้นกลายเป็นเพียง แขกรับเชิญŽ มาปรากฏตัวเป็นครั้งคราวในอีเวนต์จำนำข้าว

หลังจากโดนถล่มอย่างต่อเนื่อง นโยบายจำนำข้าว ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลมั่นใจและผลักดันเต็มแรงมาตลอด พลิกกลับกลายเป็นโครงการที่ โกงŽ ครบวงจร และ เจ๊งŽ ครบวงจร

ขั้นตอนต่อไปของการจำนำข้าว เป็นหน้าที่ของ นายนิวัฒน์ธำรง และคณะ จะต้องกอบกู้ความเชื่อมั่นกลับมา สร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้น

ต้องชี้ให้เห็นถึง ประโยชน์Ž ของโครงการนี้ ผู้รับประโยชน์ตัวจริง และผู้ที่เข้ามาหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

ที่สำคัญ ต้องมีการวางแผนการในการผลิตข้าวคุณภาพที่ใช้เวลาพอสมควร ไม่ใช่ปลูกกันแบบหายใจหายคอไม่ทัน เน้นเร่งผลผลิตออกขาย จนรัฐบาลเองก็หมุนเงินไม่ทัน

ขณะที่โรงสี พ่อค้า อาศัยจังหวะชุลมุน ใช้สารพัดเล่ห์ รวมถึงการเบี้ยวดื้อๆ อย่างการรับซื้อข้าวแต่ไม่ออกใบประทวนของโรงสีที่มีนักการเมืองชื่อดังหนุนอยู่

ทำให้กระแสความเชื่อว่า รัฐบาลโกงจำนำข้าว สะพัดไปทั่ว

แวดวงโซเชียลมีเดีย หากเอ่ยถึงจำนำข้าว ก็คือการวิพากษ์รัฐบาลจนเละไม่มีชิ้นดี

ผสมกับอีกมรสุม จากคำตัดสินของศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่

27 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ระบุว่า รัฐบาลละเลยการทำ ประชาพิจารณ์Ž ในการประมูลจัดทำมาตรการป้องกันน้ำท่วมมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 ในหมวดที่ว่าด้วยสิทธิชุมชน

และตามสูตรก็ต้องมีการโหมกระหน่ำผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย อย่างกรณี เค วอเตอร์ ที่ประมูลงานได้ กลายเป็นบริษัทที่มีหนี้สิน700 เปอร์เซ็นต์ และสารพัดความไม่ชอบมาพากล

ขณะที่มูดี้ส์องค์กรระดับโลก ให้เกรดบริษัทนี้ไว้ในระดับเอบวก

แต่ปัญหาก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เคยบินไปเยี่ยมชมบริษัทนี้ จนถูกนำไปเชื่อมโยงว่า เค วอเตอร์ ได้งานเพราะ ทักษิณŽ

ร้อนถึงเค วอเตอร์ ต้องส่งเจ้าหน้าที่บินตรงมาแถลงชี้แจงในประเทศไทย

ผลที่จะตามมาจากปัญหาจำนำข้าว และแผนจัดการน้ำ ก็คือปัญหาข้อกฎหมาย ที่อาจลงเอยด้วยการพ้นจากตำแหน่งของรัฐบาล

เพราะจะต้องมีการยื่นถอดถอนผ่านทางองค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช. ก่อนจะนำเสนอคำฟ้องต่อศาลที่เกี่ยวข้อง

อันเป็น โมเดลŽ เดียวกับที่ทำให้พรรคเพื่อไทยในเวอร์ชั่นก่อนหน้านี้ โดนยุบมาแล้ว

การเมืองได้ย้อนกลับไปสู่ห้วงเวลาชี้เป็นชี้ตายรัฐบาลพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง

การปรากฏขึ้นของหน้ากากขาว, ชุดเขียวที่สนามหลวง, ไทยสปริง, การยื่นฟ้องในคดีต่างๆ ทั้งมาตรการจัดการน้ำ, จำนำข้าว, แก้ไขรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้านบาท

ทั้งหมดมาในคอนเซ็ปต์ต้านรัฐบาลโกง, ขายชาติ ที่ได้ผลมาตลอด

เหตุที่ต้องลุยเผด็จศึกรัฐบาลในช่วงเวลาเดือนกรกฎาคม ก็เพราะว่าหากเปิดสภา กฎหมายสำคัญอย่าง ร่าง พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท, การแก้ไขรัฐธรรมนูญ, ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แถมมีร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับยกเข่ง เข้าสู่การพิจารณา

หากสภาไฟเขียวกฎหมายเหล่านี้ ก็เท่ากับปลดล็อกการเมือง พ้นจากกรอบของรัฐประหารปี 2549 ผ่านทางรัฐธรรมนูญปี 2550

รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะกลายเป็นพยัคฆ์ติดปีก ขณะที่่เครือข่ายอำนาจเดิมจะหมดเวทีเล่นทันที

สถานการณ์จะเดินไปสิ้นสุดตรงไหน รัฐบาลจะล่มสลาย หรือจะเดินหน้าต่อไปได้ ขึ้นกับตัวแปร 4-5 ประการ

ทั้งเรื่องความชอบธรรมของใครมากกว่า ซึ่งแยกไม่ออกจากความเชื่อว่ารัฐบาลโกงหรือไม่ / กองทัพ / มวลชนของแต่ละฝ่าย และประชาชนทั่วไปเชื่อใครและจะปกป้องใคร / ศาลและองค์กรอิสระ และ กระแสต่างประเทศ

ทั้งหมดนี้ หากใครเดินนอกเส้นทางประชาธิปไตยและความเป็นธรรม โอกาสที่สังคมไทยจะเดินหลุดจากเส้นทางไปสู่วงจรความรุนแรงอีกครั้ง ก็ยังมีอยู่