ไต่สวน5ศพ-ม็อบปี53 พยานยันเจ้าหน้าที่ยิง

ข่าวสด 9 กรกฎาคม 2556

ศาลไต่สวนนัดแรก หาสาเหตุการตาย 3 ผู้ชุมนุมเสื้อแดง โดนยิงในสวนลุมฯ เมื่อ 14 พ.ค.53 พนักงานสอบสวนเบิกความเป็นพยาน ระบุจุดเกิดเหตุมีแต่เจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธปืนเอชเค กลุ่มผู้ตายขี่จยย.เข้าไปสังเกตการณ์ แล้วโดนจนท.ชุดลายพรางยิงใส่ ทั้ง 3 คนไม่มีอาวุธ ไม่พบคราบเขม่าดินปืนที่ศพ น่าเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของจนท. ส่วนคดี 2 ศพ ปากซอยงามดูพลี "มานะ" หนุ่มกู้ภัยโดนยิงตายขณะเข้าช่วยคนเจ็บ พยานยืนยันจุดเกิดเหตุไม่มีชายชุดดำ มีแต่จนท.ใช้อาวุธปืน ส่วนผู้ชุมนุมมีหนังสติ๊ก

เมื่อวันที่ 8 ก.ค. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลไต่สวนคดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายปิยะพงษ์ กิติวงศ์ นายประจวบ ศิลาพันธ์ และนายสมศักดิ์ ศิลารัตน์ ถูกยิงเสียชีวิตภายในสวนลุมพินี ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2553 โดยพนักงานอัยการนำ พ.ต.อ.สืบศักดิ์ พันธุ์สุระ รรท.ผบก.น.5 เข้าเบิกความ และเป็นการไต่สวนนัดแรกของสำนวนนี้

พ.ต.อ.สืบศักดิ์เบิกความสรุปว่า ขณะ เกิดเหตุเป็นรองผบก.น.6 ได้รับแจ้งจาก พงส.สน.ปทุมวัน ว่ามีผู้ถูกยิงเสียชีวิตอยู่ที่ ร.พ. ตำรวจ ในวันที่ 15 พ.ค.2553 จึงเข้าไปชันสูตรพลิกศพร่วมกับแพทย์นิติเวช พนักงานอัยการ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง พบเศษโลหะกระสุนปืนอยู่ในตัวผู้ตายทั้ง 3 ศพ แต่ไม่พบคราบเขม่าดินปืนที่แสดงว่าผู้ตายใช้อาวุธมาก่อน และขณะถูกยิงผู้ตายทั้ง 3 ก็ไม่มีอาวุธ สอบสวนทราบว่าตั้งแต่เวลา 18.00 น. วันที่ 13 พ.ค.2553 ถึงวันที่ 19 พ.ค.2553 ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) มีคำสั่งห้ามใช้เส้นทางการคมนาคมในบางพื้นที่ ห้ามใช้ยานพาหนะ รถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดินบางสถานี รวมถึงการคมนาคมทางเรือบางท่าเรือ ตัดกระแสไฟฟ้าและน้ำประปาโดยรอบบริเวณพื้นที่ชุมนุม

พยานเบิกความต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานตั้งด่านตรวจแข็งแรงสกัดกั้นผู้ชุมนุม และอนุญาตให้ใช้อาวุธในการปฏิบัติหน้าที่หากมีภัยคุกคาม โดยในวันที่ 14 พ.ค.2553 เจ้าหน้าที่จากกองพันทหารม้าที่ 23 จำนวน 390 นาย นำโดย พ.ท.โกญจนาท ธูปเทียนรัตน์ มีอาวุธปืนเอชเค 33 และใช้กระสุนขนาด .223 (5.56 ม.ม.) เป็นอาวุธประจำกาย ปฏิบัติหน้าที่อยู่โดยรอบสวนลุมพินี ถนนพระราม 4 และถนนวิทยุ เพื่อสกัดกั้นและขอคืนพื้นที่บริเวณสวนลุมพินี

พ.ต.อ.สืบศักดิ์เบิกความว่า จากการสอบปากคำนายณัฐพล ทองคุณ ผู้ชุมนุมนปช. ให้ การว่าขณะเจ้าหน้าที่ควบคุมพื้นที่อยู่นั้น นายณัฐพลกับกลุ่มผู้ชุมนุมขับรถจักรยานยนต์ รวม 3 คัน ไปสังเกตการณ์ที่สวนลุมพินี โดยมีนายปิยะพงษ์ซ้อนท้าย คันที่ 2 มีนายกฤตพจน์ บัวดี เป็นคนขับ และนายพนม แก้วสุวรรณ ซ้อนท้าย ส่วนคันที่ 3 นายวิรัตน์ ศรีสุวรรณ ขับไปคนเดียว ทั้งหมดเข้าไปทางประตู 1 ด้านถนนวิทยุ โดยนายณัฐพลกับนายปิยะพงษ์มุ่งหน้าไปยังประตู 2 ติดกับถนนวิทยุ ส่วนนายกฤตพจน์ นายพนม และนาย วิรัตน์ ไปประตู 4 ตรงลานพระบรมรูป ร.6

พยานเบิกความต่อว่า ขณะนายณัฐพลขับไปอยู่ระหว่างทางก่อนถึงประตู 2 เห็นเจ้าหน้าที่ชุดลายพรางถืออาวุธปืนเล็กยาวอยู่ริมรั้วด้านนอกสวนลุมฯ และเล็งปืนเข้ามาภายในสวนลุมฯ จากนั้นนายณัฐพลได้ยินเสียงปืนดังขึ้นหลายนัดมาจากเจ้าหน้าที่ รถจักรยานยนต์เสียหลักล้ม นายณัฐพลและนายปิยะพงษ์วิ่งหนี นายณัฐพลถูกยิงบาดเจ็บและกระโดดลงสระน้ำภายในสวนลุมฯ แต่ไม่ทราบว่านายปิยะพงษ์วิ่งหนีไปทางใด สักพักนายณัฐพลจึงขึ้นจากสระน้ำ และวิ่งหลบหนีไปทางถนนพระราม 4 แต่ยังถูกยิงอีก 1 นัด เมื่อมาถึงสนามเด็กเล่นก็เห็นกองกำลังชุดลายพรางอยู่ตรงริมรั้วฝั่งถนนพระราม 4 และยิงปืนเข้ามาโดนนายณัฐพล 1 นัด รวมที่ถูกยิงทั้งหมด 3 นัด จากนั้นมีคนเข้ามาช่วยนำส่งร.พ. และระหว่างรักษาตัวก็ทราบว่านายปิยะพงษ์ถูกยิงเสียชีวิต

พ.ต.อ.สืบศักดิ์เบิกความว่า ส่วนนาย กฤตพจน์ที่เข้ารถไปทางประตู 4 กลับรถมาทางประตู 3 เพื่อไปยังประตู 2 เมื่อถึงหน้าสนามเด็กเล่นก็ถูกเจ้าหน้าที่ยิงใส่รถมาโดนที่ขา จึงหันรถกลับไปยังประตู 4 ก่อนหมดสติไปและมีคนมาช่วย แต่นายพนมที่นั่งซ้อนท้ายไม่ถูกยิง ส่วนนายวิรัตน์ขับรถตามไปทางเดียวกันแต่ไม่ถูกยิง จากการสอบปากคำนายปรีชา นุวงษ์ศรี หน่วยแพทย์กู้ชีพร.พ.วชิรพยาบาล ให้การว่าขณะจอดรถปฏิบัติหน้าที่อยู่บริเวณประตู 1 ตรงข้ามสวนลุมพินี ถนนวิทยุ ได้รับแจ้งว่ามีผู้บาดเจ็บอยู่ในสวนลุมฯ จึงขับรถพยาบาลเข้าไปช่วย ระหว่างทางเห็นเจ้าหน้าที่ยิงเข้ามาภายในสวนฯ เมื่อไปถึงริมสระน้ำก็พบศพนายปิยะพงษ์

พยานเบิกความอีกว่า ขณะนั้นเจ้าหน้าที่ยังยิงเข้ามาอย่างต่อเนื่อง นายปรีชาจึงคลานเข้าไปใช้เชือกมัดเท้านายปิยะพงษ์ลากออกมาและนำขึ้นรถพยาบาล ก่อนขับเข้าไปภายในสวนลุมฯ ก็พบศพนายประจวบนอนคว่ำหน้าอยู่ห่างจากสระน้ำ 10 เมตร จึงนำขึ้นรถและพาผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ส่ง ร.พ.ตำรวจ จากการตรวจสอบตำแหน่งที่พบศพนายปิยะพงษ์ พบว่าเป็นตำแหน่งเดียวกับที่นายณัฐพลถูกยิงนัดที่ 3 และเป็นแนวเดียวกับที่นายกฤตพจน์ถูกยิง มีแนววิถีกระสุนยิงมาจากถนนพระราม 4

พ.ต.อ.สืบศักดิ์เบิกความว่า ส่วนนายสมศักดิ์มาร่วมชุมนุมกับเพื่อนอยู่ที่ลานพระบรมรูป ร.6 โดยพยานที่เป็นเพื่อนคนหนึ่งให้การว่าเห็นเจ้าหน้าที่ยิงเข้ามาในลานพระบรมรูป ร.6 หน้าประตู 4 โดยยิงมาจากแยกศาลาแดง กลุ่มผู้ชุมนุมจึงหมอบคลานหลบกระสุน ซึ่งพยานคนนี้อยู่ห่างจากนายสมศักดิ์ 7 เมตร เห็นนายสมศักดิ์ถูกยิงล้มลง และที่ศีรษะมีเลือดไหล ส่วนพยานอีกปากที่อยู่ด้วยกันให้การว่าเห็นเจ้าหน้าที่ยิงใส่ผู้ชุมนุม ขณะนั้นเห็นคนอยู่บนตึก สก. ร.พ.จุฬาลงกรณ์ จึงชี้นิ้วให้เพื่อนในกลุ่มผู้ชุมนุมดู แต่ก็ถูกยิงเข้าที่มือได้รับบาดเจ็บ หลังจากการสอบสวนเสร็จสิ้น จึงส่งสำนวนไปให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)

พยานเบิกความว่า ต่อมาวันที่ 10 ต.ค.2555 ดีเอสไอส่งสำนวนกลับมาที่ บช.น. โดยมีความเห็นว่า การตายของทั้ง 3 คน น่าเชื่อว่าเป็นการตายที่เกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติการตามหน้าที่ เพื่อส่งให้พนักงานสอบสวนในท้องที่ที่พบศพรวบรวมเอกสาร และพยานหลักฐานนำส่งอัยการยื่นคำร้องให้มีการไต่สวนชันสูตรพลิกศพต่อไป โดยพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนว่า น่าเชื่อว่าการเสียชีวิตของทั้ง 3 ศพ เกิดจากการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้มีญาติของ ผู้เสียชีวิตทั้ง 3 ศพ เดินทางมาร่วมฟังการไต่สวนด้วย คือนางพยุง กิติวงศ์ แม่ของนายปิยะพงษ์ นางน้อย ศิลาพันธ์ ภรรยาของนายประจวบ และนางจีน พวบขุนทด แม่ของนายสมศักดิ์ ภายหลังการไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลนัดครั้งต่อไปวันที่ 3 ก.ย. เวลา 09.00 น.

นอกจากนี้ ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพคดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการคดีพิเศษ ฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนการเสียชีวิตของนายมานะ แสนประเสริฐศรี และนายพรสวรรค์ นาคะไชย ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณชุมชนบ่อนไก่ ในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2553

นายอัฐชัย ทัพจีน เจ้าหน้าที่อาสากู้ภัยมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เบิกความโดยสรุปว่า รู้จักกับนายมานะตั้งแต่เด็ก และเป็นอาสาสมัครด้วยกันมา 5-6 ปี พยานและนายมานะเข้ามาในที่เกิดเหตุ บริเวณซอยงามดูพลีตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.2553 และพบว่าในช่วงบ่าย เจ้าหน้าที่ผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมออกจากบริเวณถนนพระราม 4 โดยมีเจ้าหน้าที่กว่า 100 คน เดินเรียงหน้ากระดานมาบนถนน และยิงปืนขึ้นฟ้า ใช้แก๊สน้ำตาให้ผู้ชุมนุมถอยร่นไป โดย ผู้ชุมนุมบางส่วนถอยร่นไปอยู่ใต้ทางด่วนพระราม 4 ขณะที่ผู้ชุมนุมบางส่วนกระจายไปอยู่ตามซอยต่างๆ ทั้ง 2 ฟากถนน

พยานเบิกความว่า ต่อมาวันที่ 15 พ.ค. พยานและนายมานะเข้าไปที่ปากซอยงามดูพลี และไปอยู่ที่โรงแรมพินนาเคิล โดยไม่ได้สวมใส่ชุดอาสา แต่แขวนป้ายอาสา สวมหมวกดับเพลิง และถือธงกาชาด ในช่วงบ่ายเกิดเหตุเพลิงไหม้ตู้โทรศัพท์สาธารณะที่หน้าธนาคารกสิกรไทย พยานและผู้ตายจึงนำถังดับเพลิงไปดับไฟ โดยมีผู้ชุมนุมมาช่วยกันดับ เมื่อดับไฟเสร็จแล้ว จึงกลับไปที่โรงแรมพินนาเคิล

นายอัฐชัยเบิกความต่อว่า จากนั้นช่วงเย็น พยานได้ยินเสียงคนตะโกนว่ามีผู้ถูกยิง และบอกให้อาสาไปช่วยคนเจ็บ พยานกับนายมานะจึงออกไปช่วยผู้บาดเจ็บที่ปากซอยงามดูพลี และพบคนเจ็บที่ 1 ถูกยิงที่ขาอยู่ที่ปากซอย ส่วนผู้บาดเจ็บที่ 2 ล้มอยู่ริมฟุตปาธ พยานและนายมานะจึงไปช่วยผู้บาดเจ็บที่ 1 กลับมาหลบอยู่บริเวณด้านช่วงเว้าของธนาคารกสิกรไทยเพื่อหลบกระสุน และเห็นผู้บาดเจ็บที่ 3 ยืนพิงกำแพงอยู่ ขณะที่นายมานะเข้าไปช่วยคนเจ็บที่ 3 พยานก็คลานเข้าไปช่วยผู้บาดเจ็บที่ 2 เมื่อหันกลับไปอีกทีก็พบนายมานะถูกยิงที่ศีรษะ

ด้านนายนิติพันธ์ สุขอรุณ เบิกความสรุปว่าเป็นผู้สื่อข่าวสายการเมือง หนังสือพิมพ์แนวหน้า โดยช่วงเกิดเหตุไปทำข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่แยกศาลาแดง ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.2553 ต่อวันที่ 15 พ.ค. เดินทางจากแยกศาลาแดงไปยังสนามมวยลุมพินี และศูนย์วอลโว่ ใช้กล้องวิดีโอบันทึกภาพเป็นระยะๆ เริ่มจากเจ้าหน้าที่ที่อยู่ตรงศูนย์วอลโว่ ก่อนจะข้ามไปบันทึกภาพที่ด้านหน้าสนามมวยลุมพินี และบันทึกภาพไฟไหม้หม้อแปลงไฟฟ้าหน้าธนาคารกสิกรไทย พยานได้ยินเสียงปืนดังเป็นระยะ แต่จำไม่ได้ว่าดังมาจากฝั่งไหน

พยานเบิกความว่า ในวิดีโอที่บันทึกมายังถ่ายเจ้าหน้าที่ 2 นาย บนชั้น 2 ของอาคารที่กำลังก่อสร้างตรงปากทางเข้าสนามมวยลุม พินี เจ้าหน้าที่ทั้ง 2 นายใช้อาวุธปืนยาว โดยคนหนึ่งมีลำกล้องติดอยู่ที่ปืน และเล็งปากกระบอกปืนไปด้านทางด่วนพระราม 4 พยานได้ยินเสียงเจ้าหน้าที่พูดว่า ล้มแล้ว รู้แล้ว อย่าซ้ำ และก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นหลายนัด หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว พยานก็ตัดต่อเฉพาะเหตุการณ์สำคัญ และอัพโหลดคลิปวิดีโอลงยูทูบ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในวันที่ 15 พ.ค.2553 พยานยังไม่เห็นชายชุดดำ หรือผู้อื่นที่ใช้อาวุธนอกจากเจ้าหน้าที่

ส่วนนายอังคาร โคตรโสภา ผู้ชุมนุม นปช. เบิกความสรุปว่าในวันเกิดเหตุ พยานเห็น ผู้ชุมนุมบางส่วนนำยางมาเผา และไฟไหม้ตู้โทรศัพท์หน้าธนาคารกสิกรไทย ขณะนั้นพยานหลบอยู่ที่หน้าธนาคาร ไม่ได้ยั่วยุให้เจ้าหน้าที่ยิงมาแต่อย่างใด แต่พยานได้ยิงหนังสติ๊กในช่วงก่อนหน้านั้น แต่ไปไม่ถึงฝั่งเจ้าหน้าที่ ที่เดิมข้ามไปข้ามมาระหว่างศูนย์วอลโว่ และสนามมวยลุมพินี ต่อมาเวลา 15.00 น. เห็นนายพรสวรรค์เดินไปตามฟุตปาธและถูกยิงล้มลง และจะออกไปช่วย แต่ถูกยิงที่ไหล่ขวา จึงร้องให้คนเข้ามาช่วยนำส่งร.พ.เลิดสิน และมาทราบภายหลังว่านายพรสวรรค์เสียชีวิต ส่วนอาวุธของผู้ชุมนุมมีแต่หนังสติ๊ก ไม่พบว่ามีชายชุดดำ หรือกลุ่มที่ต่อสู้กับเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลนัดครั้งต่อไปวันที่ 12 ก.ย. เวลา 09.00 น.

วันเดียวกัน ที่รัฐสภา นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำนปช. แถลงถึงกรณีนายวินัย ดำรงค์มงคลกุล อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ระบุว่าอาจจะพิจารณาและมีความเห็นส่งสำนวนคดีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีตผอ.ศอฉ. ผู้ต้องหาคดีร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ไม่ทันภายในวันที่ 26 ส.ค.ว่า จะยื่นหนังสือเรียกร้องไปยังนายวินัย เพื่อขอให้ปฏิบัติตามหลักนิติธรรม รักษามาตรฐานอย่างเข้มงวด อย่ามีสองมาตรฐาน ซึ่งแตกต่างจากที่พวกตนโดน ที่ใช้เวลาเพียง 2 เดือน ก็ส่งฟ้องคดีก่อการร้ายได้ ทั้งที่ดีเอสไอยังไม่สามารถจับกุมคนร้าย และมีหลักฐานระบุว่ามีความผิดจริงได้ ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้ปฏิบัติตามหลักนิติธรรม