2 กรกฎาคม 2556
"พิเคราะห์แล้ว ตามพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง หากปล่อยชั่วคราวจำเลยอาจหลบหนี ที่ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง" ศาลฎีการะบุ
ทั้งนี้ ในการยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อศาลฎีกานั้นได้ยื่นพร้อมกับวิดีทัศน์สัมภาษณ์บิดาวัย 80 ปี มารดาวัย 78 ปี ของเอกชัยถึงความยากลำบากในการดำรงชีวิต ประกอบกับใบรับรองแพทย์เกี่ยวกับโรคพาร์คินสันของบิดา และการผ่าตัดสะโพกที่ทำให้มารดาของเขาเดินไม่ได้
ส่วนสาระสำคัญของคำร้องขอประกันตัวของจำเลยนั้นระบุว่าจำเลยได้วางหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 500,000 บาทรวมทั้งโฉนดที่ดินย่านคลองจั่นมูลค่า 582,400 บาท พร้อมแถลงถึงเหตุแห่งความจำเป็นทางศีลธรรมจรรยาในฐานะบุตรที่มีภาระที่ต้องดูแลบิดามารดาที่แก่ชรา ที่ผ่านมาจำเลยยังเคยได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม การที่ก่อนหน้านี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า “หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไม่เชื่อว่าจำเลยจะไม่หลบหนี” นั้นจึงเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่มีข้อเท็จจริงอันเป็นข้ออ้างประกอบคำวินิจฉัย ทั้งศาลชั้นต้นก็ได้มีคำพิพากษาจำคุกจำเลยในอัตราโทษ 3 ปี4เดือน อันมิใช่อัตราโทษที่สูง จำเลยต่อสู้คดีโดยได้นำสืบถึงเจตนาอันบริสุทธิ์ต่อสถาบันกษัตริย์มาโดยตลอด เมื่อพิจารณาพฤติการณ์แห่งคดีจำเลยก็เป็นเพียงประชาชนผู้นำเสนอข่าวสาร มิได้เป็นผู้จัดทำหรือเป็นแกนนำปราศรัยทางการเมือง ขณะนี้จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ทั้งประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว แต่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์อาจต้องใช้ระยะเวลานาน จึงขอให้ศาลพิจารณาปล่อยชั่วคราวระหว่างการต่อสู้คดี
ผู้สื่อข่าวยังรายงานเพิ่มเติมถึงการอุทธรณ์คดีของนายเอกชัยว่า ทนายได้ยื่นอุทธรณ์โต้แย้งในคำพิพากษาศาลชั้นต้น สรุปได้ 5 ประเด็น ได้แก่ 1.ความผิดฐานจำหน่ายวิดีทัศน์ 2.ความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ 3.โต้แย้งการตีความเนื้อหาบางฉากตอนที่ปรากฏในสารคดีและเอกสารวิกิลีกส์ 4.เจตนาของจำเลย 5.การลงโทษเรียงตามกระทง
1.ความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ คำร้องอุทธรณ์ระบุว่า ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดฐานประกอบธุรกิจจำหน่วยวิดีทัศน์หรือซีดีโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 54 พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ 2551 ศาลชั้นต้นปรับบทกฎหมายผิดพลาดคลาดเคลื่อน เพราะหากดูตามนิยามใน พ.ร.บ.ดังกล่าว ซีดีที่จำเลยจำหน่ายไม่เข้านิยาม "วิดีทัศน์" แต่เข้าข่ายซีดี “ภาพยนตร์” การที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยตาม มาตรา 54ประกอบมาตรา 82 ฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวีดีทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน โดยไม่ได้รับอนุญาต จึงเป็นการปรับใช้กฎหมายที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน และเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ได้ขอมาในคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยในฐานความผิดนี้ ประกอบกับจำเลยขายซีดีแผ่นละ 20 บาท ขายมาเพียงแค่สองครั้ง เดินขายโดยไม่ได้ผลกำไร ซึ่งจำเลยได้ให้การไว้ทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาลแล้วว่าต้องการเผยแพร่ข้อมูลของสำนักข่าวเอบีซีเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เข้าข่ายความผิด
2.ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คำร้องอุทธรณ์ระบุว่า ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยโดยหยิบยกข้อกฎหมายประกอบการวินิจฉัยและตีความกฎหมายผิดพลาดคลาดเคลื่อนในสาระสำคัญ เนื่องจากคำพิพากษาอ้างถึงรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 2 ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มาตรา 8 บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ มาตรา 70 บุคคลมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาตรา 77 บัญญัติว่า ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา แล้วสรุปว่า "ย่อมเห็นได้โดยชัดแจ้งว่า องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นทรงดำรงอยู่ในฐานะพระประมุขของประเทศ เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดหรือใช้สิทธิเสรีภาพให้เป็นปฏิปักษ์ในทางหนึ่งทางใดมิได้ ทั้งรัฐและประชาชนต่างมีหน้าที่ต้องรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ดำรงอยู่คู่ประเทศตลอดไป ไม่เพียงแต่ในกฎหมายแม้ในความรู้สึกนึกคิดของประชาชนชาวไทยอันมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ให้ความเคารพสักการะเทิดทูนไว้เหนือเกล้าตลอดมาตั้งแต่โบราณกาล การที่จะกล่าววาจาจาบจ้วงล่วงเกินเปรียบเทียบเปรียบเปรยหรือเสียดสีให้เป็นที่ระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาทนั้น อาจทำได้ไม่” คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยดูหมิ่น หมิ่นประมาทสมเด็จพระราชินีและรัชทายาท อันมิได้เกี่ยวข้องพาดพิงกับพระมหากษัตริย์ หรือสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด ทั้งนี้ เนื่องจากเนื้อหาในแผ่นซีดีและในเอกสารวิกิลีกส์พาดพิงถึงพระราชกรณียกิจสมเด็จของพระราชินีและองค์รัชทายาทเพียงสองพระองค์ อันเป็นบทบัญญัติแห่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาที่มุ่งหมายคุ้มครองตัวบุคคลโดยตรง หาได้มุ่งหมายที่จะคุ้มครอง “สถาบันกษัตริย์” แต่อย่างใด การที่ศาลชั้นต้นยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญข้างต้นขึ้นประกอบการวินิจฉัยจึงเป็นการยกข้อกฎหมายที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี ทั้งศาลยังได้หยิบยกข้อเท็จจริงนอกสำนวนขึ้นวินิจฉัยกล่าวคือ “ความรู้สึกนึกคิดของประชาชนชาวไทยอันมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ให้ความเคารพสักการะเทิดทูนไว้เหนือเกล้าตลอดมาตั้งแต่โบราณกาล” ในประเด็นนี้โจทก์ไม่ได้นำสืบไว้ในชั้นพิจารณาแต่อย่างใด ทั้งต้องห้ามมิได้รับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอีกด้วย ซึ่งย่อมทำให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
3.คำร้องอุทธรณ์ในส่วนนี้โดยสรุปเป็นการโต้แย้งการตีความเนื้อหาของสารคดี/เอกสารวิกิลีกส์ในหลายช่วงตอน เนื่องจากในคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยเอาผิดจำเลย โดยอาศัยข้อเท็จจริงจากคำเบิกความบางส่วนของพยานโจทก์ที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ โดยคำร้องได้อธิบายยืนยันการตีความเช่นเดียวกับที่นำสืบในศาลชั้นต้นอีกครั้ง พร้อมระบุด้วยว่า เมื่อพิจารณาถึงสารคดีข่าวทั้งสารคดีโดยไม่เลือกตัดตอนเพียงข้อความตอนใดตอนหนึ่ง ย่อมจะเห็นได้ว่าเนื้อหาสาระในสารคดีข่าวนั้นไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายแต่ประการใด ทั้งพยานโจทก์ทุกปากเบิกความตอบทนายความจำเลยถามค้านเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในเนื้อหาแห่งข้อความ มักตอบคำถามว่า “ไม่ทราบ” ในข้อเท็จจริงนั้นๆ แต่กลับเบิกความให้ความเห็นไปในทางที่มีผลร้ายต่อจำเลย ย่อมแสดงให้เห็นว่า พยานโจทก์ทุกปาก แม้จะเป็นเจ้าพนักงานตำรวจแต่ก็ไม่มีความรู้ในข้อเท็จจริง ทั้งยังมีเจตคติที่หวาดกลัวต่อการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ คำเบิกความของพยานโจทก์ทุกปากจึงไม่อาจรับฟังได้ การที่ศาลจะรับฟังพยานในชั้นพิจารณา พยานนั้นต้องให้การหนักแน่น เป็นเหตุเป็นผล และเข้าเบิกความด้วยความเป็นกลาง แต่สำหรับคดีนี้ พยานโจทก์ตกอยู่ในความหวาดกลัวหวาดระแวงต่อพระราชอำนาจและแบกรับความกดดันทางสังคม ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กลับทรงมีพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2548 เกี่ยวกับการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าพระองค์ไม่ทรงเห็นด้วย เพราะจะเป็นการส่งผลเสียต่อสถาบันกษัตริย์เสียเอง ถ้อยคำสำนวนของพยานโจทก์ทุกปากในคดีนี้จึงไม่อาจรับฟังได้
4.เรื่องเจตนาของจำเลย คำร้องอุทธรณ์ระบุว่า ศาลชั้นต้นได้รับฟังและยกข้อเท็จจริงแวดล้อมในหลายประการเพื่อจะชี้เจตนาที่แท้จริงของจำเลยอันเป็นข้อเท็จจริงที่เลื่อนลอยและยังได้วินิจฉัยในข้อกฎหมายที่ขัดกับหลักกฎหมายอาญาในสาระสำคัญเกี่ยวกับองค์ประกอบเรื่องเจตนาแห่งการกระทำของจำเลยอีกด้วย โดยคำพิพากษาตอนหนึ่งระบุว่า “เห็นว่าจำเลยมีเจตนาหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นหรือไม่ ต้องดูความเข้าใจของวิญญูชนโดยทั่วไปที่ได้อ่านข้อความนั้น มิใช่ตามความเข้าใจหรือความรู้สึกของจำเลย...” อย่างไรก็ตาม ในคดีอาญา การจะพิจารณาว่าการกระทำใดเป็นความผิดทางอาญาหรือไม่นั้นต้องพิจารณาจากเจตนาที่อยู่ภายในจิตใจของจำเลยเป็นหลัก หากจำเลยไม่มีเจตนาก็ย่อมไม่มีความผิด ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59 ส่วนการจะพิจารณาถึงเจตนาซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ภายในจิตใจต้องดูจากพฤติการณ์ของการกระทำและองค์ประกอบแวดล้อมอื่นๆ ประกอบ แต่ในคดีนี้ศาลชั้นต้นกลับวินิจฉัยว่า การพิจารณาเจตนาของจำเลยไม่อาจพิจารณาตามความเข้าใจของจำเลยได้ แต่ต้องดูความเข้าใจของ “วิญญูชน” อีกทั้งคดีนี้โจทก์ไม่ได้นำสืบถึงความเข้าใจของ “วิญญูชน” เนื่องจากไม่ได้นำพยานบุคคลอื่นนอกจากเจ้าพนักงานตำรวจ ซึ่งย่อมไม่ใช่ตัวแทนของวิญญูชน การกล่าวอ้างความเข้าใจของ “วิญญูชน” ในคำพิพากษา จึงเป็นความเข้าใจตามมาตรฐาน “ส่วนตัว” ของผู้พิพากษาในคดีนี้เท่านั้น ในขณะเดียวกันศาลชั้นต้นกลับมิได้กล่าวไว้ในคำพิพากษาให้ชัดเจนว่า เนื้อหาส่วนใดในซีดีและเอกสารที่ทำให้พระราชินีและรัชทายาทเสื่อมเสีย และเสื่อมเสียอย่างไร อันเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ได้แสดงข้อเท็จจริงและเหตุผลประกอบการวินิจฉัย นอกจากนี้การพิจารณามาตรฐานของ “วิญญูชน” นั้น เป็นหลักการที่ปรากฏในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่หลักในคดีอาญานั้นแตกต่างกัน เพราะเป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพของจำเลย ความรับผิดของจำเลยในคดีอาญาต้องพิจารณาที่ “เจตนา” ของจำเลย ด้วยเหตุนี้ คำว่ามาตรฐานของ “วิญญูชน” จึงไม่อาจนำมาปรับใช้กับคดีอาญา นอกจากนี้คดีนี้โจทก์นำสืบเพียงว่า จำเลยได้จำหน่ายซีดีและเอกสารในการพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มแดงสยาม ลำพังเพียงข้อเท็จจริงนี้ไม่อาจรับฟังประกอบเป็นพฤติการณ์แวดล้อมที่ชี้เจตนาของจำเลยว่าประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นต่อผลเพื่อจะดูหมิ่น หมิ่นประมาท สมเด็จพระราชินีหรือองค์รัชทายาท ประกอบกับการตรวจสอบบ้านพักของจำเลยรวมทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อบ่งชี้ใดที่แสดงให้เห็นเป็นที่แวดล้อมได้ว่าจำเลยมีเจตนาที่เป็นปฏิปักษ์ต่อทั้งสองพระองค์ หรือเพียงพอให้เห็นว่าจำเลยน่าจะจำหน่ายซีดีของกลางและเอกสารวิกิลีกส์โดยมีเจตนาประสงค์หรือย่อมเล็งเห็นผล ในทางตรงกันข้ามจำเลยกลับเลือกที่จะนำเสนอข้อมูลจากสาระคดีข่าวของสำนักข่าวเอบีซีของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นสำนักข่าวที่มีความน่าเชื่อถือ ทั้งเมื่อพิจารณาเนื้อหาทั้งสารคดีข่าวแล้วก็เป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านเป็นในเชิงวิชาการ ไม่ได้มีถ้อยคำสำนวนหยาบคาย ใส่ร้ายป้ายสีหรือนำเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จแต่อย่างใด เอกสารวิกิลีกส์ก็เป็นเอกสารที่มีความน่าชื่อถือเนื่องจากเป็นเอกสารที่ได้จากการสัมภาษณ์บุคคลสำคัญของประเทศไทย ทั้งพยานโจทก์ทุกปากก็ได้เบิกความถึงพฤติการณ์แวดล้อมในสถานการณ์ทางการเมืองในห้วงเวลาที่ถูกกล่าวถึงทั้งในซีดีและเอกสารวิกิลีกส์ ทั้งหมดย่อมเป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่ต้องการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น นำเสนอข้อมูลที่เป็นกลางและเป็นธรรมให้กับประชาชนโดยทั่วไป
5.การวินิจฉัยลงโทษเรียงตามกระทงความผิด คำร้องอุทธรณ์ระบุว่า แม้ศาลชั้นต้นจะรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง แต่การวินิจฉัยโดยลงโทษจำเลยเรียงตามกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะความผิดฐานหมิ่นประมาทพระราชินีหรือรัชทายาทจะเป็นความผิดสำเร็จก็ต่อเมื่อข้อความที่ดูหมิ่น หมิ่นหมิ่นประมาทนั้นถูกเผยแพร่ออกไปยังบุคคลที่สามแล้ว และความผิดฐานจำหน่ายวีดีทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาตจะเป็นความผิดสำเร็จก็ต่อเมื่อมีการ “จำหน่าย” สำเร็จสมบูรณ์แล้วเท่านั้น หากจำเลยเพียงแค่ดาวน์โหลดข้อมูลมาไรท์ลงแผ่นซีดี ย่อมไม่เป็นความผิดทั้งสองฐาน ดังนั้นในคดีนี้หากแม้ศาลวินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องจริง ความผิดทั้งสองฐานย่อมเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน คือความผิดจะสำเร็จก็ต่อเมื่อจำเลยได้ “จำหน่าย” ซีดีไปยังบุคคลที่สามแล้ว แม้ข้อหาตามคำฟ้องในคดีนี้ทั้งสองข้อหาจะมุ่งคุ้มครองคุณธรรมทางกฎหมายคนละประการ ความผิดฐานจำหน่ายซีดีโดยไม่ได้รับอนุญาตมุ่งคุ้มครองจัดระเบียบการประกอบธุรกิจ ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มุ่งคุ้มครองพระเกียรติยศของพระราชินีและรัชทายาท แต่เมื่อการกระทำของจำเลยที่ถูกฟ้องเป็นคดีนี้ คือ การ “จำหน่าย” เป็นการกระทำในทางกายภาพเพียงครั้งเดียว จึงต้องถือว่าจำเลยได้กระทำการอันเป็นความผิด กรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ไม่ใช่ความผิดต่างกรรมต่างวาระตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91
ท้ายที่สุด คำอุทธรณ์ระบุว่า "จำเลยขอเรียนยืนยันว่า จำเลยมิได้มีเจตนาที่จะกระทำผิดต่อกฎหมายใดๆ การกระทำของจำเลยกระทำไปในกรอบกฎหมายและกระทำไปด้วยความสุจริต มิได้มีจิตคิดร้ายหมายอาฆาตต่อสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใด จำเลยขอเรียนต่อศาลอุทธรณ์ว่า การวิพากษ์วิจารณ์เป็นหัวใจที่สำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ปัจจุบันประเทศไทยได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากบรรดาองค์กรสิทธิมนุษยชนและนานาอารยะประเทศอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน การพิจารณาว่าการกระทำของผู้ใดมีเจตนาเป็นการ ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย กับการกระทำใด เป็นการวิพากษ์วิจารณ์จึงต้องพิจารณาเป็นกรณีกรณีไป คดีนี้จำเลยได้นำเสนอข้อเท็จจริงจากสารคดีของสำนักข่าวที่มีชื่อเสียง และมีความน่าเชื่อถือ รวมทั้งเอกสารวิกิลีกส์ก็เป็นเอกสารที่มีความน่าเชื่อถือ แม้จะมีข้อความที่อาจดูละเอียดอ่อน หรือเถรตรงไปบ้าง แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงที่เป็นถ้อยความจริงอันอยู่ในกรอบของการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความเป็นจริง และเป็นธรรม ทั้งจากการตรวจค้นบ้านของจำเลยรวมทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลย ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงให้เห็นถึงพฤติการณ์ใดๆที่จำเลยจะจาบจ้วงล่วงเกินสถาบันพระมหากษัตริย์ จำเลยได้ให้การเป็นประโยชน์และยืนยันถึงเจตนาอันบริสุทธิ์ของจำเลยตั้งแต่ต้น ขอศาลอุทธรณ์ได้ให้ความเป็นธรรมแก่จำเลย ได้โปรดพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยกคำฟ้องโจทก์เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมด้วย"