"สุรนันทน์ เวชชาชีวะ" วิเคราะห์ปัจจัยโค่น รบ."ปู" ฟันธงไม่ยุบสภา-ไม่มีปฏิวัติ

มติชน 10 มิถุนายน 2556




สัมภาษณ์พิเศษ โดย ศักดา เสมอภพ 

หมายเหตุ - นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ทางการเมืองของรัฐบาล ภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ขณะนี้เริ่มมีหลายกลุ่มออกมาคัดค้านการบริหารงานของรัฐบาล

- ประเมินสถานการณ์ทางการเมืองของรัฐบาล

ผมเห็นว่ารัฐบาลทำงานมา 2 ปี แต่เมื่อเข้าปีที่ 3 ทุกคนคิดไปถึงการเลือกตั้งแล้ว นายกฯต้องผลักดันนโยบายใหม่ๆ และถ้าจะปรับโครงสร้างใหม่ก็ต้องทำในปีนี้ เพราะปีที่จะเลือกตั้งบางทีมันทำอะไรยากเหมือนกัน ดังนั้น เรื่องเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เรื่องน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ต้องทำในปีนี้ ฉะนั้นในปีนี้จะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น

แต่ฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาลก็มองว่า หากปล่อยให้งานเราสำเร็จอีก 1 ปี เมื่อเข้าไปสู่ปีที่ 4 ก็ยากที่จะมาต่อสู้กับรัฐบาล และสิ่งที่รัฐบาลทำมา 2 ปี พวกคนที่เสียผลประโยชน์ ก็ต้องเอาสักหน่อย ปีนี้จึงเป็นปีที่ท้าทายของรัฐบาล เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ คนก็ต้องมารุมกันตรงนี้ แต่นายกฯมั่นใจว่าเดินมาถูกทาง การบริหารงานถูกทาง ประชาชนยอมรับ ก็ต้องเดินต่อ

- แสดงว่าประเมินว่าหากฝั่งตรงข้ามจะล้มรัฐบาล ในช่วงปีนี้เป็นไทมิ่งที่เหมาะสมที่สุด

ถ้าเขาล้มตรงนี้ไม่ได้ และเข้าสู่การเลือกตั้งก็หยุดนายกฯที่ชื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยาก เขาจึงต้องดิสเครดิตให้มากที่สุด ถ้าไม่ใช่ล้ม ก็ดิสเครดิตให้เสียศูนย์มากที่สุด ให้ตกราง แล้วพอเข้าสู่การเลือกตั้งมันจะสูสีกัน เพราะวันนี้ต้องยอมรับว่า ฝ่ายค้านเทียบไม่ติดชั้นเลย เพราะตัวเองยังมีปัญหาค้างคาอยู่ และผลงานที่ไม่เด่นชัดในช่วงที่เป็นรัฐบาล แถมยังมีปัญหาภายในอีก เขาจึงต้องระดมสรรพกำลังมาดึงรัฐบาลอย่าไปไกลนัก เขาจะดึงให้มากที่สุดแล้วดูซิว่า มันจะสะดุดหรือเปล่า แล้วถ้าสะดุดขาตัวเองไปเลือกตั้งกันเขาก็มีสิทธิ ถ้าเขาปล่อยให้เราลอย ผมว่ายาว

- ประเด็นใดที่จะทำให้รัฐบาลสะดุดขาตัวเอง

ถ้ามีปัญหาคอร์รัปชั่นก็จะทำให้คนเสียความมั่นใจ และปัญหาคอร์รัปชั่นไม่ได้รับการตัดสินใจจากนายกฯ ก็จะมีปัญหา ถ้าเกิดปัญหาคอร์รัปชั่นครั้งใหญ่ตูมเข้ามา ผมเชื่อว่านายกฯจะตัดสินใจในทางที่ถูกต้อง

- นายกฯตัดสินใจอย่างไรถึงจะถูกต้อง

คิดว่านายกฯคงไม่ยอมให้คนที่มีปัญหาทุจริตอยู่ในรัฐบาล แต่ก็ต้องให้กระบวนการยุติธรรมมันเดินหน้า ต้องมีการสอบสวน ต้องมีความชัดเจนในข้อกฎหมาย ผมเชื่อว่านายกฯมีความเด็ดขาด

- แสดงว่าหากเกิดปัญหาทุจริตครั้งใหญ่ มองว่านายกฯจะไม่ชิงยุบสภา แต่จะเลือกเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี

ผมว่าไม่ แต่เชื่อว่านายกฯยืนยาว ถ้ามีใครคนหนึ่งทุจริตมันคงไม่เป็นธรรมที่จะยุบสภา แต่ถ้ามันเป็นปัญหาทางความคิด ต่อสู้กันทางความคิด แล้วตัดสินใจไม่ได้ อย่างเรื่องการเมืองบางเรื่อง เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พ.ร.บ.ปรองดอง ถ้ามันชนกันทางความคิดหนักๆ แล้วนายกฯบอกว่า อย่างนี้ต้องให้ประชาชนตัดสินใจ อย่างนั้นผมเชื่อว่า นายกฯจะยุบสภา ถ้าเป็นเรื่องบริหาร นายกฯไม่มีทางยุบสภาหนี

- จะขัดแย้งแค่ไหนถึงจะต้องยุบสภา

อาจจะมีขึ้นได้นะ การเมืองมันอาจจะดูง่ายกว่า สมมุติเรื่องของการปรองดอง ผลักดันกฎหมายบางฉบับ ในที่สุดแล้วสภาตกลงกันไม่ได้ มีปัญหาในสภา เพราะการยุบสภาคือมีปัญหาในสภา ไม่ใช่ปัญหาของฝ่ายบริหาร หากตัวแทนของประชาชนตกลงกันไม่ได้ แล้วทำให้ประเทศหยุดชะงัก โดยหลักฝ่ายบริหารก็ต้องเลือกยุบสภา เพื่อให้ประชาชนตัดสิน แล้วทำให้ชัดกันไปเลยว่า ฝั่งนี้สนับสนุนเรื่องนี้ ฝั่งนี้สนับสนุนเรื่องนั้น แล้วกลับมาสู้กันในสภา

แต่ไม่อยากยกกรณีใดกรณีหนึ่ง เพราะเดี๋ยวจะหาว่านี่คือตัววัดของท่านนายกฯ แต่ท่านนายกฯคงจะมองว่า หากสภาถึงทางตันตกลงกันไม่ได้ แล้วถ้าผลักดันเรื่องนี้ผ่านสภาไปได้ ประเทศชาติเดินต่อไม่ได้ ผมเชื่อว่าท่านนายกฯยุบสภา

- มีเรื่องใดใหญ่พอที่จะให้นายกฯยุบสภา

เรายังไม่รู้ว่าเรื่องไหนใหญ่พอหรือไม่ใหญ่พอ มันอยู่ที่สภา ถ้าสภาอยากให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อ มันก็จะมีมาหาจุดร่วมกันได้ แต่ถ้าอยู่ในทัศนคติที่เผชิญหน้าตลอดเรื่องเล็กๆ ก็อาจจะเป็นเรื่องใหญ่ได้ กฎหมายการเงินบางฉบับอาจจะเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาก็เป็นได้

- มองว่าประเด็นใดเปราะบางที่สุดสำหรับรัฐบาล

วันนี้มันไม่มี ไม่ได้โม้นะ ไม่มีเปราะบางถึงขั้นจะล้มระเนระนาดอย่างในอดีต ถ้ามันจะมีคืออาจจะถูกบั่นทอนเครดิต ท่านนายกฯก็บอกแล้วว่ารัฐมนตรีแต่ละคนก็ต้องอธิบายผลงานของตัวเอง ถ้าทำงานแล้วคนไม่รู้ คนไม่เข้าใจว่า มันดีอย่างไรมันก็ไม่มีประโยชน์ ตรงนี้ก็อาจจะเป็นจุดอ่อน ถ้าตัดปัจจัยล้มรัฐบาลโดยการปฏิวัติ ผมว่ามันก็ต้องเดินไป นักการเมืองที่เข้ามาทำงานกับรัฐบาลก็ต้องทำงานให้ป๊อปปูลาร์ด้านผลงาน ถ้าป๊อปปูลาร์ด้วยผลงานพอถึงการเลือกตั้งมันก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเพียงสร้างภาพไม่มีผลงานชัดเจนถึงวันเลือกตั้งก็ไปตัดสินกันวันนั้น

จุดเปราะบางมันยังไม่เห็นวันนี้ แต่ถ้าเครดิตของรัฐบาลถูกบั่นทอนไปเรื่อยๆ อธิบายตัวเองไม่ได้ โครงการนี้อธิบายไม่ได้ โครงการนั้นอธิบายไม่ได้ ถูกกล่าวหาในสภาแล้วอธิบายไม่ได้ไปเรื่อยๆ เมื่อถึงวันเลือกตั้งก็อาจจะมีความเสี่ยงสูงขึ้น เราอย่าเรียกว่าเปราะบางเลย เพราะเปราะบางมันต้องหักกันวันรุ่งขึ้น แต่ตอนนี้มันยังไม่มี

- เปิดสมัยประชุมสภาในเดือนสิงหาคม มีกฎหมายสำคัญจ่อคิวเข้าสู่การพิจารณา ประเมินสถานการณ์การเมืองอย่างไร

คงหนักพอสมควร ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 เข้าวาระ 2-3 ช่วงเดือนตุลาคม ก็จะมีการโยกย้ายข้าราชการ เดือนสิงหาคม-กันยายน ก็จะเริ่มกระบวนการแล้ว รัฐบาลเองก็ต้องผลักดันวาระ 2-3 ของ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท แล้วยังมีกฎหมายทางการเมืองที่คาอยู่ สถานการณ์ก็คงจะร้อนพอสมควร แต่ทัศนคติของท่านนายกฯหากร้อนอยู่ในสภาไม่ห่วงเลย

- ร้อนจนถึงขั้นสะเทือนต่อรัฐบาลหรือไม่

ไม่มี ผมไม่เชื่อนะ แต่ผมว่าร้อน ถ้าร้อนแล้วรัฐบาลอธิบายดีก็ไม่มีปัญหา ผลงานออก การเมืองเดินหน้าได้ การปรองดองเดินหน้าได้ถึงจะช้าหน่อย ผมว่าก็ไม่มีปัญหา ตราบใดคนไม่คิดถึงเล่นนอกกติกาจนถึงขั้นเกิดการป่วนเมือง ทำจนเกิดเงื่อนไขใหม่ รัฐบาลก็จะอยู่รอดปลอดภัย แล้วมันไม่ใช่ปลอดภัยของรัฐบาล มันเป็นความปลอดภัยของประเทศ เพราะถ้ามันป่วนเมืองจนเกิดเงื่อนไขใหม่ เกิดความรุนแรง ผมคิดว่าประเทศมันเดินหน้าไม่ได้ มันไม่มีใครยอมรับแล้ว

- ขณะนี้รัฐบาลประเมินฝั่งตรงข้ามอย่างไร โดยเฉพาะมวลชนที่เริ่มออกมาเคลื่อนไหว

ผมมองเป็น 2 ส่วน หนึ่งฝ่ายตรงข้ามที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายซึ่งมีได้ และรัฐบาลพร้อมจะฟัง อันนี้ไม่มีปัญหา แต่ฝั่งตรงข้ามที่มีความแค้นกัน คิดจะล้มรัฐบาล อันนี้รัฐบาลรับไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่ ถ้าให้ผมประเมิน ผมว่าเขาเองยังไม่แข็งแรงพอ อันนี้ไม่ได้ท้าทาย เราประเมินกันจริงๆ ว่ายังไม่แข็งแรงพอซึ่งเราไม่ประมาท ถ้าเขามาประท้วงจะกล่าวหาว่าคนในรัฐบาลทุจริต คนในรัฐบาลพยายามรวบอำนาจ มันก็ต้องมีหลักฐาน จะมากล่าวหาลอยๆ ไม่ได้ นายกฯเรียกว่า ฝ่ายปฏิกิริยา คือไม่ว่ารัฐบาลทำอะไรก็จะค้าน ก็จะหาทางล้มรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นวิธีไหน

- ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. บอกว่าจะไม่ปฏิวัติ นายกฯสบายใจขึ้นและเชื่อใจเพียงใด

นายกฯเชื่อมั่นมาเสมอ นายกฯไม่ได้ฟังจากการพบกันครั้งเดียว ทำงานร่วมกันมาตลอดมันไว้วางใจกัน และผมคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ และหลายคนในกองทัพเข้าใจเงื่อนไขของโลกที่เปลี่ยนไป เพราะโลกเขาไม่ยอมรับ ผมคิดว่า ทหารมองว่าการปฏิวัติมันทำให้ประเทศเดินถอยหลังเขาจะไม่เอา และผมเชื่อว่า ผู้นำเหล่าทัพตอนนี้เชื่อเช่นนั้น