ส่ง 31 ชื่อให้ดีเอสไอ-หมายจับเผาห้าง

ข่าวสด 2 มิถุนายน 2556


ตร.มอบหลักฐาน คดีเซ็นทรัลเวิลด์

นครบาลส่ง 31 รายชื่อผู้ต้องสงสัยเผาเซ็นทรัลเวิลด์ให้ดีเอสไอวันนี้ เพื่อพิจารณาออกหมายจับเบื้องต้นจากหลักฐานภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวมี 4-5 รายพฤติกรรมชัดเจน รมว.ยุติธรรม บุกอุดรฯ มอบเยียวยาเหยื่อ 13 ราย รวมกว่า 10 ล้าน

เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. พ.ต.ต.ยุทธนา แพดํา พนักงานสอบสวนดีเอสไอกล่าวถึงความคืบหน้าคดีไฟไหม้ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ช่วงเกิดเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 ว่า ขณะนี้บช.น. โดยพล.ต.ท. คํารณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. เตรียมนําข้อมูลกลุ่มผู้ต้องสงสัยที่ก่อเหตุเผาศูนย์การค้าดังกล่าวมอบให้ดีเอสไอ จํานวน 31 ราย เพื่อให้ดีเอสไอพิจารณาขอศาลอนุมัติหมายจับ ทั้งนี้ ผู้ต้องสงสัยเหล่านี้คาดว่าบช.น.จะนํามาส่งให้ในวันจันทร์ที่ 3 มิ.ย.นี้ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว สามารถเห็นพฤติกรรมของบุคคลทั้ง 31 รายนี้ได้ชัดเจน เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วดีเอสไอจะรีบ ดําเนินการตรวจสอบคลิปทั้งหมดอีกครั้งเพื่อสกรีนแต่ละคนออกมาว่ามีพฤติกรรมอย่างไรบ้าง เมื่อได้ภาพชัดเจนแล้วก็จะรวบรวมข้อมูลเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ดีเอสไอ ตํารวจ และพนักงานอัยการคดีพิเศษ เพื่อร่วมกันพิจารณาขออนุมัติหมายจับต่อไป

พ.ต.ต.ยุทธนากล่าวต่อว่า เบื้องต้นจากการตรวจสอบคลิปเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้ห้างดังกล่าวสามารถมองเห็นพฤติกรรมของกลุ่มชายฉกรรจ์ 4-5 รายชัดเจนจาก จํานวน 31 รายที่บช.น.เตรียมจะนํามาส่งให้ ซึ่งกลุ่มคนดังกล่าวกำลังช่วยกันนํายางรถยนต์โยนเข้าไปในห้างเพื่อให้เกิดเพลิงลุกไหม้ แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นกลุ่มใด

ด้านนางธิดา โตจิราการ ประธาน นปช. กล่าวถึงกรณีบช.น.เตรียมที่จะจัดส่งรายชื่อ ผู้ต้องสงสัยเป็นมือเผาศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 จํานวน 31 คน ให้ดีเอสไอพิจารณาออกหมายจับว่า การติดตามจับกุมตัวผู้ก่อเหตุวางเพลิงห้างเซ็นทรัลเวิลด์ดังกล่าวตนเห็นด้วยและสนับสนุน แต่อยากฝากเตือนไปยังตํารวจและดีเอสไอขอให้ใช้ความรอบคอบพิจารณาหลักฐานก่อนเสนอศาลอนุมัติหมายจับบุคคลต้องสงสัยกลุ่มนี้ ขอให้มีพยานหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าเป็นมือเผาตัวจริง ไม่ใช่แพะรับบาปเหมือนในอดีตเมื่อ 3 ปีที่แล้วกรณีเกิดเหตุการณ์เผาศาลากลางจังหวัดอุดรธานีและอุบลราชธานี เพราะคนที่ถูกจับส่วนใหญ่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เผาเลย บางรายไปยืนดูไฟที่กำลังลุกไหม้ศาลากลางจังหวัดอยู่แล้ว แต่สุดท้ายถูกตํารวจตามจับกุมตัวถึงบ้านเพราะไปปรากฏอยู่ในภาพถ่ายบริเวณจุดเกิดเหตุพอดี ทําให้ครอบครัวเดือดร้อนต้องหาเงินมาต่อสู้คดีและสุดท้ายศาลก็ยกฟ้อง ต้องติดคุกฟรี

"และหากว่าตํารวจหรือดีเอสไอออกหมายจับคนที่เป็นมือเผาห้างดังกล่าวแล้ว เมื่อได้ตัวมาก็ควรเปิดโอกาสให้คนเหล่านั้นได้ชี้แจงข้อกล่าวหาอย่างเต็มที่ เพื่อความเป็นธรรม และสังคมก็อย่าเพิ่งรีบตัดสินว่าคนที่ถูกจับเป็นคนเผาตัวจริง" นางธิดากล่าว

ประธาน นปช.กล่าวต่อว่า คดีเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ตนกล้ายืนยันได้ว่าคนเสื้อแดงไม่ใช้คนเผาแน่นอน มีการวางแผนอย่างเป็นระบบ หากย้อนไปดูวันเกิดเหตุ 19 พ.ค. 2553 แกนนํา นปช. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายจตุพร พรหมพันธุ์ ขณะนั้นประกาศยุติการชุมนุมเวลา 14.00 น. และประกาศให้คนเสื้อแดงทั้งหมดไปรวมตัวที่สนามกีฬาแห่งชาติ โดยจะมีรถส่งกลับบ้านหรือเข้าไปพักอาศัยอยู่ในวัดปทุมวนารามที่ประกาศเป็นพื้นที่เขตอภัยทาน พอแกนนําประกาศยุติเสร็จก็เกิดมีเสียงปืน เสียงระเบิดตามมาหลายลูกในพื้นที่ราชประสงค์ และเริ่มมีกลุ่มควันบริเวณห้างดังกล่าว ขณะนั้นคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ออกจากพื้นที่หมดแล้วเพราะคนเสื้อแดงที่มาชุมนุมจะเชื่อฟังแกนนำ เมื่อแกนนําสั่งยุติการชุมนุมก็เลิกและเดินทางกลับบ้าน โดยคนเสื้อแดงรายสุดท้ายก็คือ นางผุสดี งามขำ ซึ่งนั่งอยู่หน้าเวที ก่อนที่ทหารจะเข้ามาเชิญตัวออกจากพื้นที่ จากนั้นไฟก็โหมลุกไหม้ห้างเสียหายทั้งหลัง

ประธาน นปช.กล่าวอีกว่า คนเสื้อแดงแท้ในวันนั้นทุกคนจะเชื่อฟังแกนนํา ส่วนที่เหลือเป็นแดงเทียมที่แฝงตัวเข้ามาปะปนเพื่อรอจังหวะก่อเหตุ จากนั้นโยนความผิดให้กับพวกเราดังที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ สําหรับคนเสื้อแดงที่ยังถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจําชั่วคราวหลักสี่ขณะนี้ศาลก็เริ่มทยอยปล่อยตัว ยังเหลือที่ถูกคุมขังอยู่เพียง 19 ราย ส่วนใหญ่เป็นจําเลยคดีเผาที่จ.อุดรฯและอุบลฯ ปัจจุบันมีเสื้อแดงไปเยี่ยมทํากิจกรรมให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการช่วยเหลือประกันตัวนั้น นปช.ประสานกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ให้ช่วยเหลือเงินประกัน คาดว่าไม่นานจะได้รับความเป็นธรรมปล่อยตัวออกมาทั้งหมด

วันเดียวกันที่โรงแรมเซ็นทารา จ.อุดรธานี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วยนายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าฯ อุดรธานี เป็นประธานพิธีมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินตามมติ ครม. วันที่ 11 ธ.ค. 2555 ที่เห็นชอบตามหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรม สำหรับผู้ถูกดำเนินคดีจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ปี 2548-2553 ในพื้นที่จ.อุดรฯ และจังหวัดใกล้เคียงกว่า 13 ราย รวมเป็นเงินกว่า 10 ล้านบาท การช่วยเหลือครั้งนี้เพื่อให้ประชาชนผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรมสำหรับผู้ถูกดำเนินคดีจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ทั้งนี้ การช่วยเหลืออย่างเป็นธรรมและทั่วถึง อีกทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์การช่วยเหลือตามพ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยคดีอาญา พ.ศ.2544 รวมทั้งเผยแพร่บทบาทภารกิจของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ