ทำไมยังมีเสื้อแดง :


24 พฤษภาคม 2556

บทบรรณาธิการ

นายยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคม วิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนบทความเนื่องในวาระการรำลึก 3 ปีเหตุการณ์สลายการชุมนุมของประชาชนปี 2553 ว่า

การบาดเจ็บและความตายที่ราชประสงค์ เมื่อพฤษภาคม 2553 มีความหมายมากกว่าโศกนาฏกรรมทางการเมืองครั้งที่ผ่านมาก่อนหน้านี้

เนื่องจากมีแต่เพียงการตายเชิงกายภาพ ยังไม่มีการเปลี่ยนผ่านทางสังคมเนื่องจากเป็นการตายที่ไม่ได้รับการยอมรับ และเป็นโศกนาฏกรรมทางการเมืองที่คนจำนวนมากในสังคมไทยเชื่อมโยงด้วย

การตายครั้งนี้จึงเป็นการตายของสังคมประชาธิปไตยที่มีฐานมวลชน

มากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองประชาธิปไตยไทย

ผู้เสียชีวิตที่ราชประสงค์ครั้งนั้นเป็นเหยื่อที่ถูกผลักให้เป็นศัตรูกับกลุ่มคนที่พวกเขาเรียกว่า?อำมาตย์?

เป็นการบาดเจ็บล้มตายทางการเมืองที่ประชาชนรู้สึกถึงการถูกปล่อยปละละเลยมากที่สุด ถูกดูดายมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

การร่วมชุมนุมคือการแสดงออกว่าประชาชน ไม่ต้องการให้ถูกดูหมิ่นเหยียดหยามในศักดิ์ศรี มาตรการการเยียวยาใดๆ จึงยังไม่สำคัญเท่ากับว่าพวกเขาจะต้องได้รับความยุติธรรม

การรวมตัวของพวกเขานัยหนึ่งเพื่อรำลึกถึงการตายของมวลชน แต่อีกนัยหนึ่งก็เพื่อแสดงพลังให้เห็นว่า

พวกเขายังพร้อมที่จะต่อกรกับพลังทางการเมืองที่เล่นนอกกติกาของการเลือกตั้ง

ท้ายที่สุดในอนาคต จะต้องมีการสร้างสัญลักษณ์ สร้างอนุสรณ์สถานเพื่อให้สังคมไทยทั้งมวลระลึกและเข้าใจปรากฏการณ์นี้ให้ดีขึ้น

สังคมทั้งมวลจะเปลี่ยนผ่านไปได้ด้วยการกอบกู้ศักดิ์ศรีของผู้ตกเป็นเหยื่อ เรียนรู้ประวัติศาสตร์อย่างตรงไปตรงมาและถูกต้อง ยอมรับถึงความผิดพลาดของรัฐและสถาบันทางการเมือง และ ยุติการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน

ตราบใดที่ยังไม่มีการฌาปนกิจความตายที่ ราชประสงค์อย่างเหมาะสม สังคมไทยก็จะไม่มีวันผ่านพ้นภาวะความตายนี้ไปได้

จนกว่าสังคมจะยินยอมเปลี่ยนผ่านความตายนี้อย่างยุติธรรม

การชุมนุมที่ราชประสงค์ทุกวันที่ 19 พฤษภาคมก็จะค่อยๆ ซาลงไป