ข้ามศพ :


22 พฤษภาคม 2556

คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
คาดเชือก คาถาพัน

สําหรับคนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อย การปะทะขัดแย้งทั้งความคิดและคารมกับพรรคประชา ธิปัตย์ที่ถือเป็น "คู่กรณี" โดยตรง อาจถือได้ว่าเป็นเรื่องปกติ

แต่การเห็นแย้งและเป้าหมายทางการเมืองที่ไปคนละทิศละทางกับ "พวกเดียวกัน" หรืออย่างน้อยก็คือคนที่เคยคิดว่าเป็นพวกเดียวกันนั้น

สร้างความขัดแย้งในใจได้มากกว่า

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของเรื่องนี้ ก็คือการที่พรรคเพื่อไทยจะเสนอร่างพระราชบัญญัติปรองดอง ฉบับร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เข้าสภา

เป็นร่างกฎหมายที่อ้างว่ามีส.ส.มาร่วมลงชื่อสนับสนุนด้วยกว่า 149 คน

หรือเกินครึ่งหนึ่งของส.ส.เพื่อไทยปัจจุบัน

ถ้ากฎหมายนี้เสนอเข้ามาโดยพรรคประชาธิปัตย์ เสียงวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านจาก "คนฝั่งเดียวกัน" อาจจะเบากว่านี้

แต่เมื่อกลายเป็นฝั่งเพื่อไทยเสนอกฎหมาย "เหมาเข่ง" ปรองดอง แบบลบล้างอดีตทุกอย่างให้เป็นความว่างเปล่า

ฆ่าคนก็ไม่ต้องรับผิด สั่งฆ่าก็ลอยหน้าลอยนวลไปได้ ข้อสงสัยเรื่องทุจริตก็ไม่ได้ถูกสะสางอย่างตรงไปตรงมาให้หายสงสัย

ถามว่าแล้วสังคมไทยจะได้อะไรจากกฎหมาย ที่ว่านี้

และมีคำถามอีกว่าคนเสนอกฎหมาย คนสนับสนุนกฎหมาย ที่ได้อานิสงส์มหาศาลจากการสละชีวิตของผู้อื่นจนมีอำนาจ มีผลประโยชน์อยู่ในปัจจุบัน

กล้ามองหน้า กล้าสบตาญาติคนตาย หรือตัวคนเจ็บจากเหตุ การณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 หรือไม่

ถ้าเหตุผลจริงๆ ของการเสนอกฎหมายนี้คือการ "เอาใจนายใหญ่" โดยไม่สนใจว่าจะต้องเอาศพชาวบ้านไปแลกมา

ก็ป่วยการที่จะประกาศตัวว่าเป็นพวกเดียวกัน

เขาเพิ่งชุมนุมกันรำลึกถึงเหตุการณ์ล้อมฆ่าล้อมปราบไปหยกๆ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

วันนี้เดินย่ำข้ามศพเขาไปโดยไม่รู้สึกละอายแก่ใจ

จะเป็นพวกเดียวกันไปทำไม

หรือจริงๆ ก็ไม่ได้คิดว่าเป็นพวกเดียวกันมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว?