มติชนออนไลน์
17 พฤษภาคม 2556
เป็นภาพที่เศร้าสลดที่เห็นความโศกเศร้าเสียใจของบรรดาบิดามารดาญาติพี่น้องของทั้ง 2 ฝ่าย คือฝ่ายผู้ชุมนุมเสื้อแดงและฝ่ายทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารชั้นผู้น้อยที่ไม่ได้เป็นคู่กรณี แต่ถูกผู้บังคับบัญชาสั่งให้เข้าขอพื้นที่คืน เป็นเหตุให้ฝ่ายผู้ชุมนุมเสียชีวิต 98 ราย ฝ่ายทหารเสียชีวิต 5 นาย
เรื่องก็เป็นอย่างนี้ทุกครั้งเมื่อมีความขัดแย้งทางการเมือง ระหว่างฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐกับฝ่ายประชาชน ไม่ว่าจะครั้งใดผู้ที่ได้รับเคราะห์กรรมก็คือทหารชั้นผู้น้อยกับประชาชนผู้มาร่วมชุมนุม ส่วนตัวการใหญ่สาเหตุของความขัดแย้งก็จะไม่ได้รับความเดือดร้อน บาดเจ็บล้มตาย
ประเด็นที่ฝ่ายชุมนุมเสื้อแดงเรียกร้องก็คือ ให้รัฐบาลประชาธิปัตย์ยุบสภาให้มีการเลือกตั้งกันใหม่ เพราะรัฐบาลประชาธิปัตย์ไม่มีความชอบธรรมในการเป็นรัฐบาลที่เข้าไปจัดตั้งในกรมทหาร ทหารไปดำเนินการดึงพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลให้ออกมาสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งๆ ที่พรรคประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้ง ได้จำนวน ส.ส.น้อยกว่าพรรคพลังประชาชน
ความจริงข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมก็เป็นข้อเรียกร้องภายในกรอบของรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เรียกร้องขอนายกฯพระราชทานตามมาตรา 7 ซึ่งเป็นการขอนอกเหนือรัฐธรรมนูญ ดังความที่ได้มีพระราชกระแส ก่อนที่พรรคประชาธิปัตย์จะได้จัดตั้งรัฐบาล
ถ้ารัฐบาลประชาธิปัตย์ชั่งน้ำหนักให้ดีว่าสมควรจะโอนอ่อนผ่อนตามข้อเรียกร้อง เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามประชาชน ก็คงจะไม่มีการบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมากทั้งสองฝ่าย แต่รัฐบาลก็เลือกไม่ยุบสภา ใช้กำลังทหารเข้าขอพื้นที่คืน เรื่องจึงบานปลายกลายเป็นความขุ่นเคืองของทั้งสองฝ่ายมาจนบัดนี้
ภาพที่เห็นในโทรทัศน์ ก็มีภาพการ์ดเสื้อแดงมีไม้พลอง เสาธงหรืออย่างอื่นใช้เป็นอาวุธ มี ชายชุดดำ 2-3 คนแวบๆ ทางฝ่ายปราบปรามเรียกว่า กองกำลังไม่ทราบฝ่าย
ตามข่าว พล.อ.ร่มเกล้า และทหาร 5-6 นายถูกสะเก็ดระเบิดถึงแก่ความตายจากการยิงปืนเอ็ม 79 มาจากที่ใดคงตรวจวิถีลูกระเบิดได้ แต่ใครเป็นผู้ยิงจนป่านนี้ก็ไม่มีใครทราบ ดูๆ แล้วก็ไม่มีรัฐบาลไหน โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ เช่น ดีเอสไอหรือกรมสืบสวนคดีพิเศษจะให้ความสนใจสืบสวนให้ได้ข้อเท็จจริง ว่าระเบิดจากปืนเอ็ม 79 นั้น ใครเป็นผู้ยิง มีแต่ข่าวว่า ชายชุดดำ กองกำลังไม่ทราบฝ่าย ถ้ามีกองกำลังไม่ทราบฝ่ายจริง ป่านนี้ก็น่าจะได้เบาะแสแล้วว่าเป็นใคร กองกำลังไม่ทราบฝ่ายกระทำการกลางกรุง 3 ปีผ่านไปแล้วยังไม่ทราบว่าเป็นใคร พูดให้ใครฟังก็คงไม่มีใครเชื่อ วันหนึ่งชายชุดดำคงจะออกมาสารภาพเองว่าตนคือชายชุดดำ
การทำให้คดีกระจ่างเป็นของจำเป็นเพื่อญาติพี่น้องคนไทยที่ล้มตาย ทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและฝ่ายทหารที่ทำหน้าที่ตามคำสั่งให้ทำการขอ พื้นที่คืนและ กระชับพื้นที่ เพื่อจะได้ใช้เป็นบทเรียน หาก คนไทย ไม่ทำการสอบสวนและไม่ดำเนินการก็คงจะมีคนนำคดีขึ้นไปฟ้องร้องที่ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ International Court of Justice หลายคนที่เคยคุยด้วยเห็นว่า กระบวนการยุติธรรมไทยไม่ทำอะไรก็ดีเหมือนกัน จะได้นำคดีขึ้นไปฟ้องร้องที่ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ แม้ตอนนี้จะมีการออมชอมไม่ดำเนินการ แต่วันข้างหน้ารัฐบาลไทยอาจจะถูกกดดันให้ยอมรับอำนาจ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ก็ได้ ถึงตอนนั้นจะได้กระจ่างเสียทีว่าชายชุดดำและกองกำลังไม่ทราบฝ่ายคือใคร
สภาพอึมครึมอย่างนี้จะคงอยู่อย่างถาวรไม่ได้ วันใดวันหนึ่งก็คงจะปะทุขึ้นมาอีก เป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงที่ไม่ยอมให้การเมืองพัฒนาตัวเองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
ระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะสามารถรักษาทุกสิ่งทุกอย่างที่ดีงามเอาไว้ได้ การต่อต้านหยุดยั้งการพัฒนาการเมืองย่อมจะทำให้เกิดความรุนแรง และความรุนแรงจะเป็นพายุที่ทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่เป็นผลดีกับใครในระยะยาวเลย
การที่คิดง่ายๆ โดยใช้กำลังปราบปราม ยุบพรรคการเมือง ห้ามนักการเมืองเล่นการเมือง ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่ได้ผล การปรับตัวปรับความคิดให้เข้าใจความต้องการการมีส่วนร่วมทางการเมืองในยุคที่ประชาชนมีรายได้มากขึ้น มีการศึกษามากขึ้น มีความรู้และเข้าใจเรื่องต่างๆ มากขึ้น เพราะระบบสื่อสารมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์ และการสื่อสารผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ดาวเทียมต่างๆ ข้อมูลต่างๆ ไม่ถูกปิดกั้นเหมือนหลังเหตุการณ์ตุลาคมปี 2519 และพฤษภาทมิฬอีกแล้ว
การเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้นแต่ทำอย่างไรให้เกิดขึ้นอย่างสันติ ไม่ใช่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง ประวัติศาสตร์ของประเทศอื่นๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติอยู่ในกรอบของขบวนการประชาธิปไตย ซึ่งจะมีทั้งผู้สูญเสียสถานภาพและผู้ที่ได้สถานภาพต้องถือว่าเป็นของธรรมดา แต่อยู่ในกรอบที่พอรับกันได้ทุกฝ่าย
ขณะนี้มองไปข้างหน้ายังมืดมนเพราะทั้งสองฝ่ายยังไม่ยอมลดราวาศอก ยังไม่พูดภาษาเดียวกัน ยังจูนคลื่นเข้าหากันไม่ได้ แต่ในความมืดมนนั้น ความหวังก็ยังคงมีตราบใดที่ฝ่ายประชาธิปไตย เชื่อว่ามนุษย์ย่อมมีเหตุผลและจริยธรรม
ถ้ามองอย่างจิตว่างในระหว่าง 2 ฝ่าย ฝ่ายปราบปรามที่อ้างว่ากระทำตามกฎหมายกับฝ่ายประท้วงคัดค้าน การจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคเสียงข้างน้อย ที่มีกองทัพเข้าช่วยจัดตั้งให้ และเรียกร้องให้ยุบสภา แล้วก็ล้มตายเกือบ 100 ราย บาดเจ็บกว่า 2,000 ราย พิการจำนวนหนึ่ง ควรจะให้ฝ่ายไหนโอนอ่อนประนีประนอม
งานที่สำคัญที่สุดขององค์กรสิทธิมนุษยชน ก็ไม่น่าจะมีอะไรสำคัญไปกว่า ความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐบาลที่บานปลาย มีการใช้ความรุนแรงเป็นเหตุให้มีผู้คนล้มตาย บาดเจ็บ ทั้งฝ่ายประท้วงและฝ่ายทหารที่ต้องกระทำตามคำสั่ง ดังที่ได้เห็นกันอยู่ ถ้าเห็นว่างานนี้ไม่มีความสำคัญก็ไม่ทราบว่าจะมีงานไหนสำคัญกว่านี้
การเรียกร้องให้ปรองดองโดยยุติเรื่องเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น โดยปล่อยให้เกิดความคลุมเครือในโลกยุคศตวรรษที่ 21 คงจะทำได้ยากและคงเป็นไปไม่ได้
การที่จะรับรองอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศให้สามารถพิจารณาเรื่องนี้ได้ก็น่าจะทำแม้จะเป็นการทำควบคู่กับการดำเนินการโดยกระบวนการยุติธรรมในประเทศ
จะว่าเป็นเรื่องภายในของเรา จะให้ศาลระหว่างประเทศเข้ามายุ่งเกี่ยวทำไม ไม่น่าจะเป็นทัศนคติที่ถูกต้องเพราะความรุนแรงคราวนี้มีชาวต่างประเทศได้รับบาดเจ็บและล้มตายแล้ว ความไม่แน่ใจว่ากระบวนการยุติธรรมภายในประเทศจะมีความอิสระพอที่จะรับภาระสืบสวนสอบสวนและพิจารณาอย่างเที่ยงธรรมจนเป็นที่ยอมรับกับทุกฝ่ายได้
ได้เห็นภาพและได้ยินคำพูดจากพ่อแม่ของผู้ตายทั้ง 2 ฝ่ายแล้วรู้สึกสะเทือนใจ บอกไม่ถูก
(ที่มาหน้า 6,มติชนรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 16 พฤศจิกายน 2556)