รำลึก 3 ปี ฆาตกรรมกลางเมือง พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ"พ่อน้องเฌอ" ความตายของ"ปัจเจก"ที่เป็นเรื่อง"สาธารณะ"


20 พฤษภาคม 2556

โดย เชตวัน เตือประโคน

(ที่มา:มติชนรายวัน 19 พ.ค.2556)


ครบรอบ 3 ปีเต็ม กับเหตุการณ์สลายชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ในนามของการ "ขอพื้นที่คืน"

การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เพื่อกดดันให้รัฐบาลในขณะนั้นลาออก สืบเนื่องมาตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม ถึงกลางเดือนเมษายน จนเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 10 เมษายน 2555 ความกดดันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีคนตายรายวัน งวดเข้ามาจนถึงเหตุการณ์วันที่ 19 พฤษภาคม จึงปะทุ เมื่อทหารเข้าสลายการชุมนุม คนเสื้อแดงแพ้ทัพแตกกระสานซ่านเซ็น

นี่เป็นเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกลางเมือง ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 ราย บาดเจ็บอีกนับพัน

ถึงวันนี้ 3 ปีแล้ว แต่คดีความที่เกี่ยวกับการตายและการได้รับบาดเจ็บของประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุม บรรดาทหารที่เข้าทำหน้าที่ รวมถึงประชาชนที่พลัดโดนลูกหลง ก็ยังไม่มีความคืบหน้า ความหวังที่บรรดาญาติผู้เสียชีวิตทั้งหลายอยากเห็น คือนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษเรียกว่ายังมืดมนมองไม่เห็นฝั่ง

"พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ" หรือ "พ่อน้องเฌอ" ก็เป็นอีกคนที่ไม่เข้าใจกระบวนการค้นหาความจริงของความรุนแรงนี้

และที่สำคัญ ที่ควรตั้งคำถามตัวโตต่อผู้มีอำนาจในประเทศ รวมถึงสังคมไทยโดยรวมคือ ลูกชายของเขา คือ "เฌอ" "สมาพันธ์ ศรีเทพ" นักกิจกรรมเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ เข้าไปสังเกตการณ์การชุมนุมของ นปช.บริเวณริมถนนราชปรารภ มีความผิดถึงขั้นสไนเปอร์ต้องส่องยิ่งจนเสียชีวิตเชียวหรือ?

"เช่นกันกับอีกหลายๆ คน บางคนแค่มาร่วมชุมนุมสองมือเปล่า? บางคนแค่เดินข้ามถนนจะไปขึ้นรถ? บางคนแค่กำลังจะกลับเข้าบ้าน? ฯลฯ"

ในวันจัดงานรำลึก 3 ปีการจากไปของลูกชาย ที่ใช้ชื่องานว่า "เฌอ...อย่าลืมฉัน"

พันธ์ศักดิ์ ขึ้นไปอ่านบทกวี "เรื่องลึกลับ" ที่เขาเป็นผู้ประพันธ์ขึ้น เนื้อหาในบทกวี เสียงกีตาร์แผดประสาน ผนวกกับเมาส์ออแกนที่คอยหนุน ยิ่งขับให้เวทีเล็กๆ ของประชาชนผู้สูญเสียมีพลังยิ่ง

โดยเฉพาะคำถามมากมายที่ชวนคิดวิเคราะห์ว่า ตกลงแล้ว กับแค่ประวัติศาสตร์การเมืองหน้าใหม่ที่เพิ่งผ่านมา 3 ปี "ความจริง" ที่คนรับรู้เป็นอย่างไร

เวลาพูดถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อกลางปี 2553 เราคิดถึงเรื่อง "มีคนตาย" หรือ "เผาบ้านเผาเมือง"?

ตอนหนึ่งของบทกวีว่า...

"มีเด็กหนุ่มตายที่นี่ มันเป็นเรื่องลึกลับ

หน้าจอคอมพิวเตอร์กล่าวกันว่าจัดฉาก

นักเขียนหนุ่มผู้เป็นกลางบอกผ่านงานเขียนแสนงดงาม

บรรยายภาพเด็กหนุ่มลอยละล่องลงมาจากชั้นสอง

คนในซอยบอกหญิงท้องอ่อนโดนยิงตาย

แม่ค้าส้มตำรถเข็นบอกว่ามีทหารเขมรสวมรอย

ทหารหนุ่มหนังหน้าไฟแถลงว่าเป็นการยิงกันเอง

ประชาชนขี้สงสารหลั่งน้ำตาให้กับความโหดร้ายอันลึกลับ

ก่อนกระซิบถามถึงตำแหน่งที่เขาตาย

เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องลึกลับ"


พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ เกิดเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2510 จบมัธยมจากโรงเรียนกุนนทีรุทธารามวิทยาคม ปริญญาตรีวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสันทนาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พลศึกษา

เริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการเป็นเจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาเด็ก ก่อนจะอิ่มกับงานขององค์กรพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอ และกระโดดข้ามฟากไปเป็นหน่วยงานฝ่ายสารนิเทศของบริษัทเอกชนใหญ่ยักษ์ด้านการเกษตร อาหาร ฯลฯ องค์กรหนึ่งในประเทศไทย เป็นเวลายาวนานเกือบ 1 ทศวรรษ ก่อนจะออกมาทำงานเอ็นจีโออีกครั้ง

ด้านชีวิตครอบครัว แต่งงานกับ "สุมาพร ศรีเทพ" มีลูกชายด้วยกันเพียงคนเดียวคือ "น้องเฌอ"

"แต่ทว่าก็ต้องมาจากไปเพราะฆาตกรรมกลางเมือง"

- ครอบครัว "ศรีเทพ" เลี้ยงลูกอย่างไร?

ตั้งแต่เด็ก คุณแม่เขาจะเป็นคนเลี้ยง ส่วนผมจะคุยในบ้านและเป็นคนเล่นกับลูกมากกว่า อย่างกลางคืนเลิกงานกลับมาก็จะเล่านิทานให้ฟังก่อนนอน คือตอนทำงานอยู่มูลนิธิพัฒนาเด็กเคยเขียนนิทาน เล่าเรื่องได้ ก็จะให้ลูกเล่าให้ฟังก่อนว่าวันนี้ไปทำอะไรมาบ้าง จากนั้นผมก็จะเอาเรื่องที่เขาเล่ามาผูกเป็นนิทานเรื่องใหม่

เราอ่านหนังสืออะไร เขาก็อยากอ่านบ้าง รื้อมาเปิดดูภาพ แต่ส่วนใหญ่หนังสือที่ผมอ่านก็ไม่ค่อยมีภาพเท่าไหร่ แม้แต่วรรณกรรมเยาวชน (ยิ้ม) แต่สุดท้ายเขาก็ไม่ใช่เด็กที่รักการอ่าน แต่ชอบการเทกแอ๊กชั่น ไปช่วยงาน ผมจะมีเงื่อนไขเดียวเวลาที่เขาจะไปเล่นที่ทำงานของผมหรือไปไหนด้วยคือต้องทำงาน ตอนนั้นเขาอยู่ ม. 1 วิธีเดียวคือ ใช้แรง เช่น ในงานรณรงค์ก็จะให้ช่วยแจกแผ่นพับ เราปล่อยให้เขาสนุก สุดท้ายเขาเลยถามว่า แจกแผ่นพับนี้ทำไม เราก็เริ่มอธิบายให้เข้าใจ ว่างานที่เขาทำมีคุณค่าอย่างไร

เขามากับผมที่ทำงาน มาทำงาน ผมเอาเงินตัวเองจ่ายให้เป็นค่าแรงวันละ 100 ซึ่งบางครั้งเขาก็สงสัยว่า ทำไมแจกเบี้ยเลี้ยงพี่ๆ ที่มาทำกิจกรรมได้ 300

- ความคืบหน้าคดีในขณะนี้?

สำหรับคดีของเฌอตอนนี้ไม่คืบหน้า เพราะไม่มีคนไปให้การในฐานะประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ ทางกรมสอบสวนดคีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไปสัมภาษณ์พยานที่อยู่ตรงนั้น แต่กรณีที่จะนำขึ้นไต่สวนการตายว่าอาจจะตายจากเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องการประจักษ์พยานตรงนั้นด้วย แต่ไม่มี

 ทั้งที่ถ้าเห็นจากภาพที่แชร์กันทางอินเตอร์เน็ต พบว่าก็มีคนที่นอนอยู่ตรงนั้น คือกรณีการตายของคุณ ชาญรงค์ พลศรีลา, มีนิสซ์ น็อตติส์ เป็นพยาน, บุญทิ้ง ปานศิลา, กิติพันธ์ ขันทอง ซึ่งเป็นคนทำงานที่เลิกงาน เเล้วเห็นคุณบุญทิ้งโดนยิงจึงเข้าไปช่วยเเต่กลับถูกยิงด้วย เเต่ก็มีประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุคืออาสาสมัคร

แต่กรณีของเฌอไม่มีคนให้ปากคำ ก็ไม่แน่ใจว่าทำไม มีคนอยู่ในที่เกิดเหตุเยอะ มีคนบาดเจ็บเยอะ สงสัยว่าดีเอสไอปล่อยเรื่องนี้ผ่านได้อย่างไร คนบาดเจ็บด้วยเขาต้องให้ปากคำ

ผมเคยเจอคนที่หมอบอยู่กับเฌอในภาพ เขามาเล่าเรื่องให้ฟังว่าเป็นอย่างไร แต่ก็ไม่ยินดีที่จะให้ปากคำกับตำรวจ เลยไม่ถามว่าทำไม เพราะเหมือนจะไปบีบคั้นเขา เพราะเขาไม่ยินดี แค่เข้ามาคุยด้วยเฉยๆ เรื่องอย่างนี้ก็ต้องทำใจ ถ้าเขาไม่อยากให้ปากคำ ก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี คือถามว่าดีเอสไอจะไม่รู้หรือว่าคนเหล่านั้นเป็นใคร ซึ่งดีเอสไอก็มีสิทธิที่จะเรียกคนเหล่านี้มาให้ปากคำในฐานะเจ้าพนักงาน

- รู้สึกอย่างไรกับกระบวนการตรงนี้?

คดีที่หยิบมาทำก่อนนั้นง่าย มีหลักฐาน มีประจักษ์พยานชัดเจน แต่ประเด็นของผมคือ เจ้าหน้าที่มีศักยภาพในการที่จะสืบทราบอยู่ เพียงแต่คดีไม่ได้ถูกเร่งรัด ก็เลยปล่อยไปเรื่อยๆ อย่าง กรณี 6 ศพ วัดปทุมวนาราม ก็ปล่อยไปเรื่อยๆ ถามผมตรงนี้ก็เข้าใจข้าราชการ

คือเรื่องนี้ กระทรวงยุติธรรม หรือรัฐบาลหากมีนโยบายเอาจริงเอาจัง ก็ให้กระทรวงตั้งทีมงานได้เลยเพื่อจะเร่งรัดเฉพาะ ไม่ใช่ว่าผมโทร.ไปหาเจ้าหน้าที่ที่ตามคดีของลูก แล้วเขาบอกว่ากำลังทำเรื่องทุจริตลำไยอยู่ลำพูน เห็นว่าควรตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องนี้มาเป็นหน่วยงานเฉพาะ ทั้งดีเอสไอ ตำรวจ ทำงานร่วมกัน เอาหลักฐานทั้งหมดมารวมกัน ไม่ใช่ตำรวจสอบแล้วส่งเรื่องดีเอสไอ

ดีเอสไอดูแล้วขาดโน่นนี่ส่งกลับตำรวจ คือมันต้องเป็นทีมเดียว เร่งรัดทุกคดี จบแล้วส่งฟ้องศาลได้เลย คดีไหนหาตัวไม่ได้ก็ไปหามา ขนาดปล้นร้านเซเว่นอีเลฟเว่นดึกๆ ยังตามเจอ คดีนี้ก็ไม่ยาก

- คิดว่าที่ล่าช้าเป็นเพราะอะไร?

มันไม่มีการเร่งรัด รู้อยู่แล้วว่าระบบราชการ ถ้าเจ้ากระทรวง หรือรัฐบาล ไม่มีการเร่งรัดก็เปล่อยเลยไปตามระบบ ไปเรื่อยๆ เปื่อยๆ เห็นชัดว่าถ้าเทียบระหว่างรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รัฐบาลอภิสิทธิ์ยังมีการขยับตั้ง คอป.

ถึงแม้ทุกคนจะไม่พอใจรายงานก็ตาม เมื่อเทียบกับรายงานของ ศปช. แต่ก็เป็นการขยับ และก็จะต้องเป็นเอกสารที่ถูกอ้างอิงในต่อๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้คดีในระดับล่าง หรือเอกสารที่จะต่อสู้ทางประวัติศาสตร์

รายงานของ คอป.กับ ศปช. แม้รายงานของ ศปช.จะสมบูรณ์กว่ามาก แต่ก็เป็นเอกสารที่ทำขึ้นโดยองค์กรเอกชน การที่จะได้รับบรรจุในจดหมายเหตุ ก็คงยาก

เปรียบคำให้การคนกรุงเก่าที่ไม่น่าเชื่อถือ แต่ถ้าเป็นผลงานของเจ้าฟ้าคนนั้นคนนี้น้ำหนักของเอกสารจะมีปัญหาในเวลาที่มากกว่า

 คือสำหรับรัฐบาลชุดนี้ผมยังไม่เห็นทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องคดี เรื่องเงินเยียวยาก็มาจากบทสรุปของ คอป. แล้วเมื่อปรับมาเป็น ปคอป.ก็รับลูกต่อ เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้นเอง

- การเสียชีวิตของเฌอทำให้ต้องออกมายืนข้างหน้า?

ด้วยความที่เราทำงานรณรงค์อยู่แล้ว หน้าที่คนทำงานรณรงค์คืออยู่ข้างหลัง ดูภาพรวมเพื่อให้งานมันดำเนินไป แต่มาครั้งนี้ต้องหาคิว หาคน ดำเนินรายการเอง ก็เลยต้องออกมาอยู่ข้างหน้า คือเป็นแอคติวิสต์ที่ถูกถีบให้ออกมายืนข้างหน้า

ทุกคนอยากมาร่วมงาน แต่มาหาคนที่มาช่วยงานไม่ได้ สุดท้าย คนที่ไม่เคยรู้จักเรามาก่อน คนอื่นๆ ก็ชวนไปร่วมงานขึ้นเวทีที่โน่นที่นี่ ทำให้เรามีพื้นที่มากขึ้น

คือผมไม่ใช่ญาติผู้เสียชีวิตแบบที่ถึงเวลาก็ออกไปงานรำลึก แต่ผมทำงานรณรงค์

งานของผมจริงๆ คือ นอกจากรำลึก แล้วคือเพอร์ฟอแมนซ์ในประเด็นสาธารณะด้วย

แต่ถ้าเทียบกับคุณ พะเยาว์ อัคฮาด หรือแม่น้องเกด (กมนเกด อัคฮาด อาสาสมัครพยาบาลที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม) ถือว่าผมยังทำน้อยมาก เดือนหนึ่งเขาจัดกิจกรรม 2 ครั้ง ผมแค่โผล่หน้าไปอ่านบทกวีบ้าง

- ตั้งแต่เฌอเสียชีวิต คุณพยายามหลีกเลี่ยงความเป็นดราม่า?

คือมันมีคนที่ญาติพี่น้องตายทุกวันแหละ มีคนเมาขับรถชนคนตาย ถ้าคุณร้องไห้ คุยเรื่องลูกก็จบแค่นั้น มันเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องปัจเจก แต่ด้วยความที่เราทำงานรณรงค์ มีสื่อมวลชนมาถาม ก็เหมือนกับว่ากำลังคุยกับทุกคน เรื่องอารมณ์ความรู้สึก ความสูญเสีย บางเรื่องแชร์ในที่สาธารณะไม่ได้ แชร์ไปทำไม

ผมจึงพูดในเรื่องที่เป็นสาธารณะ การตายเป็นเรื่องปัจเจก แต่ความสูญเสียนี้มีเรื่องที่สาธารณะควรรับรู้ พูดเรื่องนี้มากกว่า

พ่อ แม่ เพื่อน พี่ น้อง จะเศร้าก็ไปนั่งเศร้ากันที่บ้าน จัดคุยกันเงียบๆ ซึ่งผมก็ทำบ่อยๆ

แต่ถ้าจะพูดกับสาธารณะก็ต้องพูดเรื่องสาธารณะ ว่าทำไมเด็กคนหนึ่งที่เข้าไปในที่ชุมนุม แล้วถูกยิง แล้วยังหาคนผิดไม่ได้ นี่เป็นเรื่องสาธารณะ ไม่อย่างนั้นผมก็ต้องพูดว่าเฌอเป็นคนดีอย่างไร? ครอบครัวเราอยู่อย่างไร? ซึ่งไม่ใช่ เราต้องพูดเรื่องสาธารณะ ไม่อย่างนั้นอนาคตประเทศนี้จะอยู่กันอย่างไร

- เป็นที่มาของงานรำลึกชื่อ "เฌอ...อย่าลืมฉัน?"

ใช่ เป็นการบอกกับคนที่ตายไปแล้วว่าอย่าลืมคนที่อยู่ เนื่องจากเวลาที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น หรือมีคนตาย เรามักเรียกร้องว่าอย่าลืมความรุนแรง หรืออย่าลืมคนตาย แต่จริงๆ คนตายก็ตายไปแล้ว เขาตายเพื่อคนที่ยังอยู่ ตายเพื่อสาธารณะ

ดังนั้น เมื่อการตายของปัจเจกคนหนึ่งเป็นเรื่องสาธารณะ ก็ต้องพูดเรื่องสาธารณะ คนที่ยังอยู่ ถ้าไม่อยากให้คนที่ตายไปแล้วลืมเรา ก็ต้องต่อสู้เพื่อสาธารณะ

อย่างเรื่องกระบวนการยุติธรรม การเอาคนผิดมาลงโทษ ไม่ให้มีการใช้อำนาจเกินขอบเขต เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นอีก ไม่อย่างนั้นคนที่ยังอยู่ก็จะเป็นคนตายคนต่อไป

นี่เป็นการทำให้คนตายยังไม่ลืมคนที่ยังอยู่ เพราะไหนๆ คุณก็ตายเพื่อคนที่ยังอยู่ๆ แล้ว คนที่ยังอยู่ถ้าจะทำให้คนตายไม่ลืมตนเองก็คือการต่อสู้ในเรื่องสาธารณะ อย่างเรื่องการเอาคนผิดจากเหตุการณ์ที่ทำให้มีคนตายกลางเมืองเป็นจำนวนมากเมื่อปี 2553 มาลงโทษ ให้เป็นบรรทัดฐาน

- มองความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยรอบ 3 ปีนี้อย่างไร?

ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา มักมีคำพูดของคนที่ออกตัวก่อนเลยว่า ผมเป็นกลางนะ ไม่ใช่สีไหน ขณะต้องทำอะไรที่เคยเจอครั้งแรก แต่เขาออกตัวอย่างนั้น เราก็เลยขำ เพราะไม่ใช่คำพูดของคนปกติ จะออกตัวทำไม คุณเพิ่งเจอผม แล้วก็ไม่รู้ว่าจะเจอกันอีกเมื่อไหร่ ทำไมถึงเริ่มต้นอย่างนี้ การออกตัวก็บอกว่ากำลังคิดเรื่องการเมืองอย่างไร แต่ว่าอย่าถามเลยนะ

อีกสิ่งที่เห็นคือคนตื่นตัวมากขึ้น แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ และสิ่งที่เห็นคืออาการหาคนรับผิดชอบ อาจเกิดจากการเลือกข้างรัฐบาล อย่างเห็นในเฟซบุ๊ก แค่ถังขยะล้มก็ไปด่าผู้ว่าฯกทม. คือจะไปว่าเขาได้ไง อาจมีคนถีบล้มก็ได้ ผมว่าสังคมตอนนี้นำไปสู่เรื่องที่เริ่มมองแล้วใครรับผิดชอบ

ปรากฏการณ์อย่างนี้ผมว่าดี แต่ยังอยู่ช่วงที่ด่าไปหมด อย่างวันนี้สั่งปูผัดผงกะหรี่แล้วไม่มี คุณก็ไปด่ากระทรวงพาณิชย์ ว่าสั่งห้ามขาย เป็นต้น แต่อนาคตผมมองว่าจะเข้าที่เข้าทาง และจะแม่นขึ้น ไม่ใช่ลอยๆ และโบ้ยไปที่รัฐบาล แต่รู้แล้วว่าใครต้องรับผิดชอบ สังคมจะเรียนรู้กันไปเรื่อยๆ

- 3 ปีที่ผ่านมา เรียนรู้อะไรบ้าง?

ครอบครัวเรียนรู้เรื่องนี้มาเรื่อยๆ อยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามันเป็นจังหวะ ด้วยต้นทุนที่สูงมากคือเฌอ ครอบครัวผมเป็นครอบครัวที่ไม่ได้ปล่อยผ่านสถานการณ์บ้านเมืองหรือสังคม เราคุยกันตลอด และด้วยความที่เราแอ๊กทีฟ เฌอก็เลยออกไป นี่ก็ส่วนหนึ่ง พอเราเสียต้นทุนตรงนี้ไป เราก็ได้เรื่องอื่นมา เรามีเพื่อน มีอะไรมาก็ช่วยได้เยอะ

แต่กับสังคม ผมว่าอยู่ในขั้นที่เรียนรู้ไปเรื่อยๆ

วันนี้ เราได้เรียนรู้ว่าจริงๆ แล้ว ความรุนแรงอยู่รอบตัวเรา ไม่ได้อยู่ไกลเลย

ที่ผ่านมาเราจะมาตกใจ หรือช็อกต่อเมื่อเป็นคนข้างตัวตกเป็นเหยื่อความรุนแรงนั้น ทั้งที่จริงๆ สังคมเต็มไปด้วยความรุนแรง

"สิ่งที่เราต้องเรียนรู้กันคือเรื่องความไม่เพิกเฉยต่อมัน ต้องทำอะไรบางอย่าง ไม่ใช่พูดลอยๆ"