23 พฤษภาคม 2556
ตั้งแต่ช่วงสาย เที่ยงบ่าย ไปจนถึงเที่ยงคืนของวันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา มหามวลชนคน เสื้อแดงรวมพลกันอีกครั้งที่ "ราชประสงค์" เพื่อร่วมจัดกิจกรรมรำลึกครบรอบ 3 ปี เหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองเมื่อเดือนเม.ย.- พ.ค. 2553
พื้นที่ที่พวกเขาเคยปักหลักชุมนุมเมื่อช่วงเดือนพ.ค. 2553 เรียกร้องให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นยุบสภา และเลือกตั้งใหม่ตามระบอบประชาธิปไตย
ก่อนที่รัฐบาลส่งกำลังสลายการชุมนุม ตายเจ็บสะสมเรื่อยมาตั้งแต่เหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 จนมาสิ้นสุดในวันที่ 19 พ.ค.2553 มีผู้เสียชีวิต 99 ศพ บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน และถูกจับกุมคุมขังดำเนินคดีอีกเกือบ 2,000 คนเช่นกัน
ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณีเม.ย.-พ.ค. 2553 (ศปช.) รวบรวมสถิติปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่โดยคำสั่งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ไว้ว่า งบประมาณในสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว คือ 3,700 ล้านบาท ระดมทหาร 67,000 นาย และตำรวจ 25,500 นาย เบิกกระสุนปืนไปทั้งสิ้น 597,500 นัด ใช้ไป 117,923 นัด ขณะที่กระสุนซุ่มยิงถูกเบิกไป 3,000 นัด ใช้ไป 2,120 นัด
นักวิชาการในคณะทำงานของศปช. เคยคำนวณไว้ว่า หากเอาจำนวนกระสุน 117,923 นัด หารด้วยจำนวนคนตาย 94 ศพ (ตามข้อมูลศปช.) บวกจำนวนผู้บาดเจ็บ 1,283 คน จะพบว่าประชาชนที่มาชุมนุมถูกยิงเฉลี่ยคนละ 85.63 นัด
ห้วงเวลานั้น ข้ออ้างเรื่องชายชุดดำ และผังล้มเจ้าจากศอฉ. ถือเป็นชนวนให้ผู้ที่รังเกียจคนเสื้อแดงอยู่แล้ว ยิ่งสนับสนุนให้ต้องปราบปราม เมื่อสลายการชุมนุมสำเร็จ วาทกรรมเรื่องเผาบ้านเผาเมืองก็ถูกโหมประโคม เพื่อให้การปราบปรามมีความชอบธรรมยิ่งขึ้น
แต่ปัจจุบันข้ออ้างเรื่องชายชุดดำกลับเลื่อนลอย ไร้ข้อเท็จจริง รวมถึงกรณีผังล้มเจ้า เจ้าหน้าที่ของศอฉ.ก็สารภาพเองว่าเป็นการแต่งเรื่องขึ้นมา
ส่วนวาทกรรมเผาบ้านเผาเมือง ก็ถูกไขความกระจ่างโดยคำพิพาก ษาศาลแพ่ง เมื่อช่วงต้นเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาว่า เหตุเพลิงไหม้ทั้งศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โรงหนังสยาม และห้างเซน ไม่ได้เกิดจากการก่อการร้าย พร้อมสั่งให้บริษัทประกันภัยต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทน
ถัดมาปลายเดือนมี.ค. ศาลอาญามีคำพิพากษาคดีวางเพลิงห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ยกฟ้องนายสายชล แพบัว และนายพินิจ จันทร์ณรงค์ ต้องติดคุกฟรีเกือบ 3 ปี
ต่อความคืบหน้าทางสำนวนคดี 99 ศพ ในจำนวนนี้มี 37 ศพ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว ในจำนวนนี้มี 8 สำนวนที่ศาลมีคำสั่งผลไต่สวนชันสูตรพลิกศพออกมาแล้ว ว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร ที่ปฏิบัติตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน จำนวน 5 สำนวน
คือ 1.นายพัน คำกอง ถูกยิงเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2553 ใกล้สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ย่านราชปรารภ 2.นายชาญณรงค์ พลศรีลา ถูกยิงเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2553 หน้าปั๊มน้ำมันเชลล์ ถนนราชปรารภ
3.นายชาติชาย ชาเหลา ถูกยิงเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2553 หน้าอาคารอื้อจือเหลียง ถนนพระราม 4
4.ด.ช.คุณากร หรือ น้องอีซา ศรีสุวรรณ อายุ 14 ปี ถูกยิงเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2553 ในเหตุการณ์เดียวกับนายพัน คำกอง และ 5.พลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ อดีตทหารสังกัด ร.พัน 2 พล.ร.9 จ.กาญจนบุรี ถูกยิงเมื่อวันที่ 28 เม.ย.
ล่าสุดสำนวนคดีนายพัน ด.ช.อีซา ทางพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ รวมเป็นคดีเดียวกับ นายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ ที่ถูกยิงบาดเจ็บสาหัสในเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย
ก่อนนำมาสู่การแจ้งข้อกล่าวหาแก่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีตผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในข้อหาร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล และร่วมกันก่อให้ผู้อื่นพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล
ภายหลังรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ระบุว่าประมาณต้นเดือนมิ.ย.นี้ จะส่งสำนวนต่ออัยการ เพื่อพิจารณาสั่งฟ้องศาลต่อไป
ส่วนอีก 3 สำนวน ศาลมีคำสั่งว่าไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำให้เสียชีวิต คือ นายบุญมี เริ่มสุข อายุ 68 ปี ถูกยิงหน้าร้านอาหารระเบียงทอง ย่านบ่อนไก่ เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2553 บาดเจ็บสาหัส ก่อนเสียชีวิตที่ร.พ.ตำรวจ เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2553
นายมานะ อาจราญ ลูกจ้างชั่วคราวสวนสัตว์ดุสิต ถูกยิงเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 และ นายฐานุทัศน์ อัศวสิริมั่นคง หรือ ลุงคิม ถูกยิงเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2553 หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ ย่านบ่อนไก่ เป็นอัมพาต และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2555 ที่ร.พ.มเหสักข์
ขณะที่สำนวนคดีที่อยู่ระหว่างศาลไต่สวนหาการตาย มี 5 สำนวน จำนวน 15 ศพ คือ 1.นายรพ สุขสถิตย์ นายมงคล เข็มทอง นาย สุวัน ศรีรักษา นายอัฐชัย ชุมจันทร์ นายอัครเดช ขันแก้ว และ น.ส. กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสา ทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 ที่วัดปทุมวนาราม ศาลนัดไต่สวนครั้งต่อไปวันที่ 6 มิ.ย.
2.นายเกียรติคุณ ฉัตร์วีระสกุล และ นายประจวบ ประจวบสุข ถูกยิงเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2553 บริเวณใต้ทางด่วนถนนพระราม 4 ศาลไต่สวนครั้งต่อไปวันที่ 27 พ.ค.
3.นายจรูญ ฉายแม้น คนขับรถแท็กซี่ และ นายสยาม วัฒนนุกูล ช่างซ่อมรถทัวร์ ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ
4.นายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ชาว ญี่ปุ่น นายวสันต์ ภู่ทอง และนายทศชัย เมฆงามฟ้า ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ศาลไต่สวนครั้ง ต่อไปวันที่ 18 มิ.ย.
5.นายมานะ แสนประเสริฐศรี อาสาสมัครกู้ชีพ และ นายพรสวรรค์ นาคะไชย ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2553 บริเวณปากซอยงามดูพลี ถนนพระราม 4 ศาลไต่สวนครั้งต่อไปวันที่ 8 ก.ค.
สําหรับคดีที่จะเข้าไต่สวนนัดแรก มี 2 สำนวน 4 ศพ นายปิยพงษ์ กิตติวงศ์ นายประจวบ ศิลาพันธ์ และนายสมศักดิ์ ศิลารัตน์ ทั้ง 3 ศพรวมเป็นคดีเดียวกัน ถูกยิงเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2553 บริเวณสวนลุมพินี ศาลนัดวันที่ 8 ก.ค. และ นายนรินทร์ ศรีชมภู ถูกยิงเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 บริเวณแยกราชประสงค์ ศาลนัดวันที่ 29 ก.ค.
ส่วนสำนวนที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการ เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลให้ไต่สวนมี 4 สำนวน คือ นายถวิล คำมูล ถูกยิงเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 หน้าร.พ.จุฬาลงกรณ์ ชายไทยไม่ทราบชื่อ ถูกยิงเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 หน้าร.พ.จุฬาฯ
จ.อ.พงษ์ชลิต พิทยานนท์กาญจน์ ถูกยิงเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2553 หน้าธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ และ นายสมชาย พระสุพรรณ ช่างซ่อมรองเท้า ถูกยิงเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2553 บริเวณปากซอยงามดูพลี
และอีก 5 สำนวน อยู่ระหว่างการสอบสวน และรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวน บช.น. ประกอบด้วย พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ถูกยิงเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2553 บริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน สวนลุมพินี ก่อนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2553 ที่ร.พ.วชิรพยาบาล
นายสวาท วางาม ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 บริเวณแยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน นายไพรศล ทิพย์ลม ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 บริเวณแยกคอกวัว
นายมนต์ชัย แซ่จอง ถูกแก๊สน้ำตาบริเวณแยกคอกวัว เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ระบบหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน ก่อนเสียชีวิตที่ร.พ.กลาง เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2553
และ นายเกรียงไกร คำน้อย ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณทางเท้าถนนราชดำเนินนอก ข้างกำแพงกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 ซึ่งนายเกรียงไกรเป็นศพแรกในเหตุการณ์เดือนเม.ย.-พ.ค. 2553
ขณะที่สำนวนคดี นายฟาบิโอ โปเลงกี ช่างภาพชาวอิตาลี ที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 ศาลอาญากรุงเทพใต้ไต่สวนชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้นแล้ว และนัดฟังคำสั่งในวันที่ 29 พ.ค.ที่จะถึงนี้
นอกจากองค์กรหลักอย่าง แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แล้ว งานรำลึก 19 พ.ค.ปีนี้ ยังมีเสื้อแดงอิสระอีกหลายกลุ่มต่างออกมาจัดกิจกรรมกันอย่างคึกคัก
ที่บริเวณทางเท้าใต้สถานีรถไฟฟ้าราชดำริ น.ส.อลิซาเบตต้า โปเลงกี น้องสาวนาย ฟาบิโอ ร่วมกับกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล จัดนิทรรศการภาพถ่ายฝีมือนายฟาบิโอ ที่บันทึกภาพการชุมนุมของม็อบเสื้อแดง ก่อนถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553
น.ส.อลิซาเบตต้าเล่าว่าครั้งสุดท้ายที่คุยกับพี่ชายผ่านสไกป์ คือวันที่ 5 พ.ค. 2553 รู้ว่าพี่มีอารมณ์ร่วมกับสถานการณ์ในเมืองไทยมาก การนำรูปมาจัดแสดงทำให้เห็นตัวตนของเขามากขึ้น
น้องสาวฟาบิโอบอกว่า วันที่ 29 พ.ค.นี้ ที่ศาลจะมีคำสั่งผลไต่สวน ถ้าผลออกมาว่าไม่รู้ว่าใครฆ่า จะไปฟ้องร้องต่อที่ศาลยุโรป อันที่จริงครอบครัวอยากให้หยุดมานานแล้ว เพราะแม่ร้องไห้ทุกครั้งที่มาเมืองไทย แต่เราก็ได้รับกำลังใจจากคนไทยที่ร่วมเรียกร้องความเป็นธรรมมาตลอด แม้แต่คนแปลกหน้าก็ตาม
ด้าน นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ที่ปรึกษากฎหมายนปช. เป็นอีกปีที่เดินทางมาร่วมรำลึก 19 พ.ค. ยกตัวอย่างกรณีศาลประเทศกัวเตมาลา พิพากษา นายเอฟราอิน ริออส มอนต์ อดีตประธานาธิบดี จำคุก 80 ปี ฐานสั่งฆ่าประชาชนกว่า 1,700 ราย ขณะดำรงตำแหน่งเมื่อปี 2525
"ผมคุ้นเคยกับคดีนี้ดี เพราะเคยว่าความในกัวเตมาลามาก่อน ช่วงแรกนั้นแทบไม่มีใครคิดว่าจะลงโทษผู้สั่งฆ่าประชาชนได้ แต่ความยุติธรรมก็บังเกิดในที่สุด เพราะเสียงเรียกร้องจากประชาคมโลกผลักดันให้มีการสะสางคดี ถ้ากัวเตมาลาทำได้ ประเทศไทยก็ต้องทำได้สักวันหนึ่ง" ทนายโรเบิร์ตสรุป
ผ่านมา 3 ปี ความจริง 99 ศพ เม.ย.-พ.ค.เลือด ค่อยๆ ชัดขึ้นทุกขณะ