ปืนจนท. - ครอบครัวโปเลงกีบินจากอิตาลีมาเข้าฟังผลการไต่สวนสาเหตุการตายของนายฟาบิโอ โปเลงกี ช่างภาพชาวอิตาลี จากเหตุสลายม็อบแดงเมื่อปี"53 ซึ่งศาลระบุถูกยิงด้วยกระสุนปืนจากฝั่งเจ้าหน้าที่ ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อ 29 พ.ค.
สื่อนอกแห่มาร่วมฟัง เสนอข่าวกระหึ่มโลก น้องลั่นสู้ต่อถึงคนสั่ง จ่อแจ้งคดีฆาตกรรม
"ฟาบิโอ" ตายด้วยปืนฝั่งเจ้าหน้าที่ ศาลชี้แล้วผลไต่สวนชันสูตรศพช่างภาพอิตาลี เหยื่อปืนพ.ค.53 พยานเบิกความสอดคล้องกัน ยันถูกกระสุนความเร็วสูง จากด้านเจ้าพนักงานที่เคลื่อนกำลังเข้ามา แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ น้องสาวลั่นเดินหน้าสู้คดีต่อ จนกว่า "คนสั่งการ" จะถูกลงโทษ บรรดาเพื่อนช่างภาพต่างชาติก็พอใจ หวังเป็นก้าวแรกสู่กระบวนการยุติธรรม ทนายชี้หลังคำสั่งศาลอย่างเป็นทางการออกมา จะเตรียมรวบรวมนำไปสู่การแจ้งข้อหากับ "มาร์ค-เทือก" ต่อไป ด้านสื่อต่างประเทศชื่อดังหลายสำนัก ตีข่าวกระหึ่มโลก มีตัวแทนผู้สื่อข่าวสากลมาร่วมฟังคำสั่งของศาลไทยด้วย
แม่-พี่สาวฟังคำสั่งคดีฟาบิโอ
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 29 พ.ค. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอ่านคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพกรณีการถึงแก่ความตายของนายฟาบิโอ โปเลงกี จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 โดยในวันนี้ นอกจาก น.ส.อลิซาเบตต้า โปเลงกี น้องสาวนายฟาบิโอ ที่เดินทางมาประเทศไทย เพื่อติดตามคดีพี่ชายอย่างใกล้ชิด เดินทางมาฟังคำสั่งในวันนี้แล้ว ยังมีนางลาอูรา คีโอรี แม่นายฟาบิโอ น.ส.อาเรียน่า โปเลงกี พี่สาวนายฟาบิโอ เดินทางจากประเทศอิตาลีมาฟังศาลด้วย
นอกจากนี้ยังมี นายแบรดลีย์ คอกซ์ ช่างภาพชาวอเมริกันที่อยู่ในเหตุการณ์ขณะนาย ฟาบิโอถูกยิง และเป็นพยานในคดีนายไมก์ บาค ช่างภาพชาวเยอรมัน อดีตเพื่อนร่วมงานของนายฟาบิโอ นายชอว์น คริสปิน ตัวแทนจากคณะกรรมการเพื่อการพิทักษ์ผู้สื่อข่าวสากล น.ส.สุดา รังกุพันธ์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางสุดสงวน สุธีสร อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายพันธ์ศักดิ์ ศรี เทพ พ่อนายสมาพันธ์ หรือ เฌอ อายุ 17 ปี วัยรุ่นนักกิจกรรมทางสังคมที่ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์วันที่ 15 พ.ค.2553 มาร่วมรับฟังด้วย
ศาลพิเคราะห์เหตุก่อนถูกยิง
จากนั้นศาลอ่านคำสั่งว่า คดีสืบเนื่องจากพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพการตายของนายฟาบิโอ โปเลงกี เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 เวลากลางวัน ซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นการตายที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ขอให้ศาลทำการไต่สวนและมีคำสั่งแสดงว่า ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน ตายเมื่อใด เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของผู้ร้องและมารดาผู้ตายแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าระหว่างวันที่ 12 มี.ค.2553 ถึงวันที่ 19 พ.ค.2553 มีการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งใช้ชื่อว่า กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่ แต่นายกฯ ปฏิเสธคำเรียกร้อง นปช.จึงชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยขยายพื้นที่การชุมนุมไปยังแยกราชประสงค์ ถนนราชดำริ ถนนเพลินจิต ถนนพระราม 1 ถนนพระราม 4
คำสั่ง"มาร์ค"ตั้ง"เทือก-ศอฉ."
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 7 เม.ย.2553 รัฐบาลพิจารณาเห็นว่าการชุมนุมทางการเมืองดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ จึงได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพ มหานคร และอีกหลายพื้นที่ นายกฯ ได้ออกคำสั่งที่พิเศษ 1/2553 จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ เป็น ผู้อำนวยการ และมีข้าราชการทหาร ตำรวจ และพลเรือน เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ
และคำสั่งที่พิเศษ 2/2553 แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และมีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และออกข้อกำหนดโดยประกาศของศอฉ. ห้ามการชุมนุม การยุยงให้เกิดความไม่สงบ ประกาศการห้ามใช้เส้นทางคมนาคม ห้ามใช้ยานพาหนะ รวมทั้งงดการให้บริการสาธารณูปโภค เช่น การตัดน้ำตัดไฟ ลดการใช้เรือโดยสารสาธารณะ และรถไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อให้เจ้าพนักงานสามารถปฏิบัติหน้าที่แก้ไขสถาน การณ์ฉุกเฉินได้
ใช้กระสุนจริงกระชับพื้นที่
ศาลอ่านคำสั่งต่อว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 เวลา 05.45 น. ศอฉ.มีคำสั่งให้ทหารกองพันทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณสวน ลุมพินี ตั้งแต่แยกศาลาแดงจนถึงแยกราชดำริ และใช้รถสายพานลำเลียงเข้าทำลายแนวกั้นของผู้ชุมนุม เจ้าพนักงานดังกล่าวมีอาวุธปืนประจำกาย ได้แก่ อาวุธปืนเล็กยาวเอ็ม 16 อาวุธปืนเล็กยาวแบบ 11 หรือเอชเค 33 อาวุธปืนลูกซอง และอาวุธปืนพก โดยได้รับคำสั่งให้ใช้กระสุนปืนจริง และกระสุนปืนซ้อมรบกับอาวุธปืนลูกซอง ส่วนอาวุธปืนเล็กยาวให้ใช้แต่เพียงกระสุนปืนซ้อมรบเพียงอย่างเดียว
ระหว่างที่เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่และเคลื่อนเข้ากระชับพื้นที่นั้น ได้มีนักข่าวซึ่งรวมผู้ตาย เข้าไปทำข่าวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เมื่อเหตุการณ์มีความรุนแรงมากขึ้น กลุ่ม ผู้ชุมนุม นักข่าว และผู้ตายได้วิ่งหลบหนีจากแยกราชดำริไปยังแยกราชประสงค์ เมื่อผู้ตายวิ่งมาถึงบริเวณเกาะกลางถนนหน้าบริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด ปรากฏว่าผู้ตายถูกยิงล้มลง จากนั้นมีคนนำผู้ตายไปส่งที่โรงพยาบาลตำรวจ และผู้ตายถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาล
ยันถูกยิงด้วยกระสุนความเร็วสูง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า เหตุและพฤติการณ์แห่งการตายของผู้ตายเป็นอย่างไร เห็นว่า ผู้ร้องมีพยานปากนักข่าวในประเทศและต่างประเทศเป็นประจักษ์พยาน ยืนยันว่าเห็น ผู้ตายถูกยิงล้มลงขณะที่วิ่งหลบหนีไปทางแยกราชประสงค์ ระหว่างที่เจ้าพนักงานกำลังเคลื่อนมาจากแยกศาลาแดง พยานทั้ง 2 ปากเป็นคนกลางไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับฝ่ายใด เชื่อว่าพยานเบิกความตามความจริงที่รู้เห็นมา
เมื่อรับฟังประกอบความเห็นของพยาน ผู้เชี่ยวชาญ เชื่อได้ว่าวิถีกระสุนปืนยิงมาจากทางเเยกศาลาแดง ซึ่งเป็นทิศทางที่เจ้าพนัก งานกำลังเคลื่อนเข้ามาควบคุมพื้นที่จนถึงแยกราชดำริ อีกทั้งแพทย์ผู้ตรวจศพผู้ตาย และ ผู้แปลผลการชันสูตรพลิกศพยังเบิกความสอดคล้องต้องกัน โดยสรุปว่าบาดแผลของ ผู้ตายน่าจะเป็นบาดเเผลที่เกิดจากกระสุนปืนที่ยิงออกมาจากอาวุธปืนที่มีความเร็วสูง
เมื่อไม่ปรากฏจากการไต่สวนว่ามีบุคคลอื่นเข้ามาก่อเหตุใดๆ ทั้งกระสุนปืนที่เจ้าพนักงานใช้ประจำกายในการเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณที่เกิดเหตุเป็นกระสุนปืนขนาด .223 ที่ใช้กับอาวุธปืนเล็กยาวเอ็ม 16 และอาวุธปืนเล็กยาวแบบ 11 ที่มีประสิทธิภาพในการยิงวิถีไกลและมีความเร็วสูง และได้ความจากนักข่าวต่างประเทศ พยานมารดาผู้ตาย ว่าในขณะเกิดเหตุพยานได้วิ่งไปทิศทางเดียวกับผู้ตาย และถูกยิงด้วยกระสุนปืนในบริเวณใกล้เคียงกับผู้ตายที่บริเวณด้านหลังข้างขวาและกระสุนปืนฝังใน
ศาลชี้ตายด้วยปืนฝั่งเจ้าหน้าที่
ศาลอ่านคำสั่งว่า ต่อมาแพทย์ได้ผ่าตัดเอาหัวกระสุนปืนออก พบว่าเป็นหัวกระสุนปืนจากอาวุธปืนเล็กยาวเอ็ม 16 ซึ่งสอดคล้องกับอาวุธปืนที่เจ้าพนักงานใช้ประจำกายในวันเกิดเหตุ พฤติการณ์จึงเชื่อได้ว่ากระสุนปืนที่ยิงผู้ตาย ถูกยิงมาจากด้านเจ้าพนักงานที่กำลังเคลื่อนเข้ามาควบคุมพื้นที่จากทางแยกศาลาแดงมุ่งหน้าไปแยกราชดำริ โดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้กระทำ
จึงมีคำสั่งว่า ผู้ตายคือนายฟาบิโอ โปเลงกี ถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลตำรวจ แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 เวลา 11.30 น. เหตุและพฤติการณ์แห่งการตายสืบเนื่องมาจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืน เป็นเหตุให้เกิดบาดแผลกระสุนปืนทะลุหัวใจ ปอด ตับ เสียโลหิตปริมาณมาก โดยมีวิถีกระสุนปืนยิงมาจากด้านเจ้าพนักงานที่กำลังเคลื่อนเข้ามาควบคุมพื้นที่จากทางแยกศาลาแดงมุ่งหน้าไปแยกราชดำริ โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ
น้องสาวลุยต่อ-เอาผิด"คนสั่ง"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พลันที่ศาลอ่านคำสั่งจบ น.ส.อลิซาเบตต้า น้องสาวนายฟาบิโอ กล่าวว่าเป็นสิ่งที่ดี เป็นก้าวที่จะนำไปสู่การผลักดันอื่นๆ ได้ แต่หากถามว่าพอใจหรือไม่ ก็คงตอบไม่ได้ เพราะคลุมเครือ เนื่องจากคำสั่งไม่ได้ระบุตรงๆ ว่าเจ้าหน้าที่ยิง แต่ต้องขอเวลาปรึกษาทนายความและแม่ก่อน ยืนยันว่าจะเคลื่อนไหวต่อในทุกทางที่ทำได้ จนกว่าผู้ที่รับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของพี่ชายจะถูกลงโทษ แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องถูกประหารชีวิต หรือถูกจำคุก
"ดิฉันไม่อยากให้มีใครตายเพิ่ม และไม่อยากให้ใครโดนติดคุกในคุกแย่ๆ ของเมืองไทย แต่การลงโทษในที่นี้หมายความว่าให้พ้นจากตำแหน่งไป เพื่อไม่ให้เกิดการฆ่าประชาชนอีก" น.ส.อลิซาเบตต้ากล่าว และเมื่อถามว่าต้องการให้ผู้ใดแสดงความรับผิดชอบ หรือถูกลงโทษ น้องสาวนายฟาบิโอกล่าวว่า อย่างน้อยๆ ต้องเป็นผู้ที่ออกคำสั่งของปฏิบัติการในวันที่พี่ชายถูกยิงเสียชีวิต
เพื่อนช่างภาพพอใจคำสั่ง
น.ส.อลิซาเบตต้ากล่าวต่อว่า ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องยากมากๆ สำหรับครอบครัว แม่และพี่สาวไม่ค่อยเข้าใจรายละเอียดต่างๆ เพราะไม่ได้ติดตามคดีอย่างละเอียดตั้งแต่แรกเหมือนตน จึงมีความสับสนอยู่มาก แต่จะเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไป เพราะไม่สามารถเปลี่ยน แปลงอะไรในอดีตได้ พี่ชายเคยพูดว่า ทุกๆ วันเป็นของขวัญสำหรับเรา จงมีความสุขและใช้ชีวิตให้ดีที่สุด ตนก็พยายามทำให้ดีที่สุดเช่นกัน และเมื่อถามว่าจะนำคดีไปสู่ศาลระหว่างประเทศหรือไม่ น้องสาวนายฟาบิโอกล่าวว่าก็เป็นไปได้ แต่ต้องปรึกษาทนาย ความก่อน
ด้านนายแบรดลีย์ คอกซ์ ช่างภาพชาวอเมริกันที่อยู่ในเหตุการณ์ขณะนายฟาบิโอถูกยิง กล่าวว่าแม้คำสั่งศาลจะไม่ระบุตรงๆ แต่ข้อเท็จจริงก็ชัดเจนแล้วว่าเจ้าหน้าที่เป็นผู้ยิงนายฟาบิโอ ก็พอใจที่อย่างน้อยศาลไม่ได้บอกว่าเป็นฝีมือของชายชุดดำ ที่ผ่านมาเคยได้ยินการกล่าวหาว่าชายชุดดำยิงนายฟาบิโอ เป็นทฤษฎีที่ไร้สาระสิ้นดี อย่างไรก็ตามคำสั่งศาลเป็นความคืบหน้าที่ดี แต่ยังมีคำถามอีกมาก ใครเป็นคนสั่งการในวันนั้น ใครเป็นคนยิงใส่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศเช่นนี้ สังคมกำลังรอคำตอบอยู่
ก้าวแรกแห่งความยุติธรรม
ส่วนนายไมก์ บาค ช่างภาพชาวเยอรมัน อดีตเพื่อนร่วมงานของนายฟาบิโอกล่าวว่า วันนี้ศาลได้ยืนยันสิ่งที่มีหลักฐาน และพยานระบุชัดเจนแล้ว ดีใจอย่างมาก หวังว่าคดีนี้จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อไป เพื่อหาผู้รับผิดชอบ
ขณะที่นายชอว์น คริสปิน ตัวแทนจากคณะกรรมการเพื่อการพิทักษ์ผู้สื่อข่าวสากล กล่าวว่ามีกำลังใจขึ้นมากจากคำสั่งศาล ชื่นชมศาลที่ยืนยันข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น รู้สึกว่าเป็นก้าวแรกสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อยุติวงจรการสั่งฆ่าประชาชน และกลบเกลื่อนความผิดที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประเทศไทย
"แม้วันนี้จะเป็นข่าวดี แต่ความท้าทายที่แท้จริง คือการดำเนินคดีกับนายอภิสิทธิ์ ในฐานะนายกฯ ขณะนั้น เรามีก้าวแรกแล้ว แต่ก็เป็นก้าวแรกที่ใช้เวลานานมาก คือกว่าจะถึงวันนี้ก็ผ่านมา 3 ปีกับ 10 วัน หลังฟาบิโอถูกยิงเสียชีวิต และผมก็ไม่อยากจะคิดเลยว่ากว่าจะถึงวันที่ความยุติธรรมปรากฏ จะต้องใช้เวลาอีกเท่าใด นี่จึงเป็นถนนเส้นยาวสู่ความยุติธรรม แต่ผมก็ยินดีที่อย่างน้อยๆ เราอยู่บนถนนเส้นนี้ ยังไม่ถูกอุปสรรคต่างๆ ผลักให้กระเด็นออกจากเส้นทางนี้" นายคริสปินกล่าว
สื่อนอกตีข่าว"ฟาบิโอ"ลั่นโลก
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะเดียวกัน สำนักข่าวต่างประเทศชื่อดังต่างมาเกาะติดรายงานข่าวศาลไทยมีคำสั่งผลไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายฟาบิโอ และเผยแพร่ไปทั่วโลก อาทิ สำนักข่าวรอยเตอร์พาดหัวว่า "Thai court rules troops responsible for Italiareporter"s death" หรือ "ศาลไทยชี้ว่าเจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้ทำให้ช่างภาพข่าวอิตาเลียนถึงแก่ความตาย" มีเนื้อหาระบุว่าศาลชี้ว่านายฟาบิโอถูกกระสุนจากฝั่งทหารยิงตาย ขณะทำงานถ่ายภาพเหตุสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ช่วงเช้าวันที่ 19 พ.ค.2553
ส่วนเว็บไซต์สำนักข่าวบีบีซี สื่อใหญ่ในยุโรป พาดหัวข่าว "Thailand court says Italiajournalist killed by army bullet" หรือ "ศาลไทยระบุช่างภาพข่าวอิตาเลียนตายเพราะกระสุนปืนทหาร" พร้อมรายงานว่าศาลไทยชี้ว่านายฟาบิโอถูกกระสุนปืนที่ใช้โดยเจ้าหน้าที่ทหาร ยิงตายระหว่างทำข่าวการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาล เมื่อปี 2553 ด้านสำนักข่าวบลูมเบิร์กก็รายงานไปในทิศทางเดียวกัน
น้องเผยพ่อแม่ยังทำใจไม่ได้
ขณะที่ น.ส.อลิซาเบตต้า น้องนายฟาบิโอ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า แม่ตกใจที่เห็นผู้สื่อข่าวมาทำข่าวเยอะ ไม่นึกว่าคดีนี้จะได้รับความสนใจขนาดนี้ในประเทศไทย โดยเมื่อก่อนแม่ไม่ชอบเวลามีคนมาถ่ายรูป แต่ว่ามาเมืองไทยครั้งนี้โดนถ่ายรูปจนเริ่มชินแล้ว ส่วนพ่อไม่ยอมรับรู้เรื่องของฟาบิโอเลย เพราะเสียใจมาก อยากจะให้เรื่องมันผ่าน พ้นไป
"จนกระทั่งไม่นานมานี้ที่ดิฉันทำหนังสือรวมภาพผลงานของฟาบิโอ และบอกพ่อว่าหนังสือเล่มนี้จะได้แสดงผลงานของฟาบิโอให้โลกได้เห็น ไม่เกี่ยวกับคดี ตอนแรกพ่อยังไม่เห็นด้วย แต่วันสุดท้ายก่อนจะเดินทางมาเมืองไทยครั้งนี้ พ่อโทร.หาบอกให้เก็บไว้ให้เล่มหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าพ่อเริ่มเปิดรับได้มากขึ้น ส่วนแม่ช็อกมากตอนที่รู้ว่าฟาบิโอเสียชีวิต จนทุกวันนี้ ยังไม่บอกแม่หลายๆ เรื่อง เช่น ลักษณะการตาย หรือตอนที่พยานเล่าให้ฟังว่าตายอย่างไร จริงๆ แล้ววันนี้แม่เพิ่งเห็นรูปทั้งหมดที่ฟาบิโอถ่ายครั้งแรก และแม่ยังห่วงความปลอดภัยของดิฉันด้วย สำหรับ พี่สาวก็ร้องไห้อยู่เป็นปี" น้องฟาบิโอกล่าว
จ่อกล่าวหา"มาร์ค-เทพ"เพิ่ม
ส่วนนายคารม พลพรกลาง ทนายความญาติของนายฟาบิโอ กล่าวว่า พอใจคำสั่งของศาล ซึ่งเป็นไปตามพยานหลักฐานอย่างชัดเจน แสดงให้เห็นว่าการเสียชีวิตของนายฟาบิโอ เกิดจากคำสั่งที่พิเศษ 1/2553 และคำสั่งที่พิเศษ 2/2553 ของศอฉ. หลังจากนี้จะรอคำสั่งศาลตัวจริงออกมา ก่อนนำไปกล่าวโทษกับนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ในฐานะ ผู้ออกคำสั่งศอฉ. เพื่อให้พิสูจน์ว่าการเสียชีวิตของนายฟาบิโอมาจากกระสุนปืนเจ้าหน้าที่
ขณะเดียวกัน ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบ สวนคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ จำนวน 99 ศพ จากเหตุชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 กล่าวว่าจากคำสั่งของศาลในคดีนายฟาบิโอ มีแนวโน้มต้องแจ้งข้อกล่าวหากับนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ
ส่วนคดีนายพัน คำกอง ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ หรือน้องอีซา และนายสมร ไหม ทอง นั้น เหลือเวลาประมาณ 10 วัน จะครบกำหนดที่พนักงานสอบสวนกำหนดให้ทั้ง 2 คน ส่งคำให้การเป็นเอกสาร เพื่อนำมาพิจารณาความเห็นสั่งฟ้องคดีฐานร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล และร่วมกันก่อให้ผู้อื่นพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล