มติชน 1 กุมภาพันธ์ 2556
เมื่อเวลา 12.30 น.วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และแกนนำเสื้อแดง กล่าวภายหลังเข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ว่า เข้าพบนายกฯเพื่อนำเรียนแนวคิด จุดยืน และความคืบหน้าในการดำเนินการเสนอ ร่าง พ.ร.ก.นิรโทษกรรม ฉบับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) แต่ไม่ได้ยื่นเป็นเอกสาร เพียงเข้ามาเรียนต่อนายกฯ ถึงรายละเอียด ร่าง พ.ร.ก.นิรโทษกรรมดังกล่าว อย่างไรก็ตาม จะมีการยื่นอย่างเป็นทางการเพื่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาต่อไป นอกจากนี้ ตนยังได้กล่าวกับนายกฯว่า เป้าหมายในร่างฉบับนี้ ต้องการให้ผู้ที่ถูกคุมขังและต้องคดีความจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง นับตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ให้ได้รับการนิรโทษกรรม โดยยกเว้นแกนนำทุกฝ่าย ทุกสีเสื้อ ซึ่งจะไม่อยู่ในร่างกฎหมายฉบับนี้
นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า ได้เรียนกับนายกฯอีกว่า นี่น่าจะเป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างความปรองดองสามัคคีให้เกิดขึ้นกับคนในชาติ โดยลดความรู้สึกกดดัน ความรู้สึกเจ็บปวดจากการเป็นผู้ถูกกระทำของประชาชนจากทุกฝ่าย และเรียนนายกฯต่อไปว่า หากมีการดำเนินการนิรโทษกรรมไปแล้ว คิดว่าน่าจะเป็นทางออกของการเจรจาหารือถึงทางออกของปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ที่จะสามารถทำได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ นายกฯได้รับฟังและสอบถามถึงปฏิกิริยา ของกลุ่มต่างๆ ทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งตนบอกไปว่า มีผู้ที่เห็นด้วยอยู่เป็นจำนวนมาก และมีการเสนอแนวทางอื่นๆ มาประกอบไม่ว่าจะเป็น ร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยการนิรโทษกรรมฉบับนิติราษฎร พ.ร.บ.นิรโทษ ที่นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) เสนอ หรืออาจจะมีแนวทางอื่นๆ อีก
นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า ส่วนฝ่ายที่ต่อต้านคัดค้านอยู่ในขณะนี้ ยังไม่มีความชัดเจนนัก มีเพียงการตั้งข้อสังเกต เช่น พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) หาว่าจะเกี่ยวข้องกับแกนนำและ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ หรือไม่ อย่างไรก็ตาม คิดว่าเรื่องดังกล่าวยังไม่มีท่าทีต่อต้านอย่างชัดเจนจากฝ่ายใด และคิดว่าจะสามารถดำเนินการได้ โดยนายกฯได้บอกกับตนว่า ขณะนี้ประเด็นดังกล่าว แม้ว่าหลายฝ่ายจะมีจุดยืนเดียวกัน แต่แนวทางปฏิบัติยังมีอยู่หลายแนวทาง จึงมีความเห็นให้รวมทุกข้อเสนอส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อศึกษารายระเอียดความเป็นไปได้ และขั้นตอนการดำเนินการตามกฎหมาย และจากนั้นคงจะมีการเชิญผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้ามาหารือกัน ว่าจะดำเนินการอย่างไร
"กรณีแกนนำ รวมไปถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.ปชป. และ พ.ต.ท.ทักษัณ ชินวัตร อดีตนายกฯ หากไปคิดอ่านอะไรแบบนั้นก็จะเกิดความขัดแย้ง ประชาชนก็จะไม่ได้รับอานิสงส์จากการนิรโทษกรรมฉบับนี้ เพราะมัวขัดแย้งกันอยู่ จึงตัดเงื่อนไขแกนนำและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นเรื่องของประชาชนล้วนๆ" นายณัฐวุฒิ กล่าว