จดหมายเปิดผนึก ของ นปช. ถึงคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ



ทีมข่าว นปช.

8 มกราคม 2556

ในวันนี้ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ได้มีมติว่าจะทำการส่งจดหมายเปิดผนึกถึงคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับ คำวินิจฉัยที่18-22/2555 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2555 เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่คำวินิจฉัยกลางระบุว่าหากต้องการแก้ทั้งฉบับ "ควรทำประชามติ" ว่าเป็นเป็นคำวินิจฉัยหรือคำแนะนำที่ใช้บังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่? และใช้บทบัญญัติใด มาตราใดของรัฐธรรมนูญมารองรับยืนยัน?

.........................

จดหมายเปิดผนึก ถึง ศาลรัฐธรรมนูญ


ที่ นปช.08/01/2556

วันที่ 8 มกราคม 2556


เรื่อง คำถามจากประชาชนถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

เรียน คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

อ้างถึง คำวินิจฉัยที่18-22/2555 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2555

โดยขณะนี้ สถานการณ์การเมืองในประเทศไทย ถือว่า เป็นช่วงเวลาวิกฤตการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 อันมีที่มาจากการ ทำรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ได้มาจากสภาร่างรัฐธรรมนูญที่เลือกตั้งมาจากประชาชน

เวลาที่ผ่านมาแล้ว 5 ปี ผ่านความแตกแยก ต่อสู้ทางการเมือง ทั้งในวิถีทางรัฐสภา และการเรียกร้องของประชาชน เมื่อมีการเลือกตั้งผ่านมาอย่างราบรื่นในปีพ.ศ.2554 การพิจารณาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันมีที่มาจากคณะรัฐประหาร และไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน ซึ่งเห็นได้จากการเลือกพรรคการเมืองที่ชูนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใน1ปีได้เข้ามาเป็นรัฐบาล ด้วยเสียงท่วมท้น

จึงเป็นความชอบธรรมที่จะหาทางออกประเทศตามเจตนารมณ์ของประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร เข้ามาทำงานตามอำนาจหน้าที่ของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

บัดนี้ได้เกิดปัญหา ในเรื่องการยับยั้งกลไกตามรัฐธรรมนูญไม่ให้เดินหน้า

เพื่อเป็นการหาทางออกให้กับประเทศ ทางแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.แดงทั้งแผ่นดิน) จึงต้องการให้กลไกรัฐต่างๆได้ทำงานในทิศทางที่แก้ปัญหา ไม่ใช่สร้างปัญหาใหม่ โดยเคารพเจตนารมณ์ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยและได้ใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนของตนมาทำงานตามอำนาจหน้าที่

แต่เมื่ออำนาจนิติบัญญัติไม่กล้าทำงานต่อ เพราะเกรงว่าจะทำผิดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและอาจจะต้องรับโทษจากการทำผิดคำวินิจฉัยดังกล่าว จึงต้องการตีความคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555ลงวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 โดยขอย้อนทบทวนความภาพรวมดังต่อไปนี้

ดังที่ปรากฏในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญหน้า 18

ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ตรวจคำร้อง และคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแล้ว คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่
ประเด็นที่สอง การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา291สามารถแก้ไขเพิ่มเติมโดยยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่
ประเด็นที่สาม การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา68วรรคหนึ่งหรือไม่
ประเด็นที่สี่ หากกรณีเป็นการกระทำที่เข้าข่ายตามมาตรา68วรรคหนึ่ง จะถือเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องสั่งยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือไม่

ในคำวินิจฉัยหน้า25 ได้เขียนไว้ว่า
“ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณา และวินิจฉัยได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา68 วรรค 2............(ประเด็นที่หนึ่ง)

ประเด็นที่สอง ...........ดังนั้นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญมาตรา291 แม้จะเป็นอำนาจของรัฐสภาก็ตาม แต่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา291 เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้มาโดยการลงประชามติของประชาชนก็ควรจะได้ให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ได้ลงประชามติเสียก่อนว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หรือรัฐสภา จะใช้อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราก็เป็นความเหมาะสม และเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะดำเนินการดังกล่าวนี้ได้ ซึ่งจะเป็นการสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา291”

ในประเด็นที่สาม ได้มีคำวินิจฉัยว่า

“การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งหก จึงฟังไม่ได้ว่า มีเจตนาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 68 วรรคหนึ่ง จึงให้ยกคำร้อง ในประเด็นนี้ และเมื่อได้วินิจฉัยเป็นดังนี้แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นที่4อีกต่อไป”

พิจารณาประเด็นที่หนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาและวินิจฉัยได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคสอง

ในประเด็นแรกนี้ แม้นนักวิชาการจำนวนมาก นักการเมือง นักกฎหมายและแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.แดงทั้งแผ่นดิน) จะไม่เห็นด้วย กับคำวินิจฉัยก็ตาม แต่ฝ่ายนิติบัญญัติ ได้ยับยั้งการลงมติวาระสาม ตามมาตรา291ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้เพื่อรอคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญก็อ้างว่า สามารถรับคำฟ้องตามการตีความของตนได้โดยอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคสอง และในประเด็นที่สาม ก็ได้อ้างมาตรา 68 วรรคหนึ่งให้ยกคำร้องประเด็นการล้มล้างการปกครอง
จึงเกิดปัญหาตีความในประเด็นที่สองขึ้น
ประการแรก สังคมสงสัยว่าคำว่า “ควรทำประชามติเสียก่อน” ว่าเป็นคำวินิจฉัยหรือคำแนะนำ?

ทั้งพบว่า คำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้ มีเพียงท่านเดียว คือ ท่านเฉลิมพล เอกอุรุ แม้กระนั้น ท่านเฉลิมพลก็ยังเปิดช่องทางว่า การแก้ไขเป็นรายมาตราอาจแก้ไขเพิ่มเติมทุกมาตราก็ได้ มีที่ห้ามก็ คือ ที่ปรากฏใน มาตรา291(1)วรรคสองที่ห้ามญัตติอันมีผลเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนรูปของรัฐจะกระทำมิได้เท่านั้น

ท่านไม่ได้อ้างมาตราใดเลยที่ห้ามการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยยกร่างใหม่ทั้งฉบับ
ในขณะที่คำวินิจฉัยส่วนตนของอีกสองท่าน คือ ท่านนุรักษ์ มาประณีต อ้างว่าทำไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่มีบทบัญญัติให้ทำ และท่านสุพจน์ ไข่มุกด์ ให้แก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา นอกนั้นอีก 5 ท่าน มีหนึ่งท่านให้ทำประชามติภายหลังจากที่ มีการยกร่างใหม่ทั้งฉบับแล้ว และอีก 4 ท่าน ล้วน กล่าวว่า “เป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ศาลมิอาจก้าวล่วงเข้าไปตรวจสอบในประเด็นที่ผู้ร้องโต้แย้ง”บางท่านก็ระบุเลยว่า สามารถแก้ไขเพิ่มเติมทั้งฉบับได้

ประการแรก จึงใคร่ขอตั้งคำถาม เพื่อแก้ความคลางแคลงใจของฝ่ายนิติบัญญัติและของสังคมว่า คำว่า “ควรทำประชามติ” ตามคำวินิจฉัยกลาง นั้นเป็นคำวินิจฉัยหรือคำแนะนำที่ใช้บังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่? และใช้บทบัญญัติใด มาตราใดของรัฐธรรมนูญมารองรับยืนยัน? ดังที่ปรากฏตามที่กล่าวอ้างในประเด็นที่ 1 และประเด็นที่ 3

ประการที่สอง เป็นคำถามต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า ห้ามรัฐสภาลงมติวาระสามตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ และอาศัยบทบัญญัติใด มาตราใดของรัฐธรรมนูญมารองรับยืนยัน

แม้ว่า นปช.จะไม่เห็นชอบด้วยตั้งแต่การใช้อำนาจรับคำร้องโดยตรงโดยไม่ผ่านอัยการสูงสุดตามมาตรา68 และได้ยื่นถอดถอนตามสิทธิและอำนาจที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญตามกระบวนการรัฐธรรมนูญ

แต่เพื่อเป็นการหาทางออก และคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้น เราจึงใคร่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตรวจสอบคำวินิจฉัยของท่าน บนพื้นฐานของคำวินิจฉัยส่วนตน โดยมิได้มีการแทรกแซงจากภายนอกแต่ประการใด

การโยนภาระให้กับประชาชนผู้ต้องประกอบอาชีพ เสียภาษีอากร เลี้ยงดู ข้าราชการ และการพัฒนาประเทศให้เจริญ โดยแต่ละฝ่ายก็ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา หรือ บางส่วนก็แต่งตั้งเข้ามาไม่พยายามทำหน้าที่ของตนเองให้ถูกต้องเช่นนี้ จะเป็นความเสียหายอย่างใหญ่หลวงทั้งปัจจุบันและอนาคตของประเทศไทย

จึงเรียนมาเพื่อตรวจสอบคำวินิจฉัยและทำความกระจ่างเพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารได้ตัดสินใจเดินหน้าปฏิบัติภาระหน้าที่ได้

ขอแสดงความนับถือ


(ธิดา ถาวรเศรษฐ)
ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.แดงทั้งแผ่นดิน)