นิรโทษกับโอกาสปรองดอง

ข่าวสด วันพุธที่ 16 มกราคม 2556

รายงานพิเศษ

ไม่เพียงคณะนิติราษฎร์ที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง ประกอบร่างรัฐธรรมนูญฯ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ที่มีเนื้อหานิรโทษกรรมให้กับผู้ชุมนุมทางการเมือง

เสื้อแดงเองก็มีแนวคิดไม่ต่างกันว่าต้องนิรโทษกรรมให้กับผู้ชุมนุม โดยไม่รวมระดับแกนนำ

ข้อเสนอดังกล่าวจะนำไปสู่การปรองดองได้หรือไม่ มีมุมมองจากฝ่ายสันติวิธีและนักกฎหมาย ดังนี้



พล.อ.เอกชัย  ศรีวิลาศ
 
พล.อ.เอกชัย  ศรีวิลาศ
ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาลแห่งสถาบันพระปกเกล้า
 
ข้อเสนอของนิติราษฎร์แง่หนึ่งเป็นข้อเสนอที่ดี เสริมสร้างสติปัญญาและให้ข้อคิดทางกฎหมายกับสังคม แต่ถ้าพิจารณาจริงๆ แล้วข้อเสนอดังกล่าวคงไม่ช่วยลดความขัดแย้งและนำไปสู่ความปรองดองได้ในที่สุด

เนื่องจากปัจจุบันยังมีคดีความที่คู่ขัดแย้งในสังคมถูกดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก ทั้งฝ่ายรัฐบาล เสื้อเหลือง เสื้อแดง ทหาร

ที่ผ่านมารัฐบาลก็พยายามเสนอพ.ร.บ.ปรองดองแล้ว แต่ก็ถูกต่อต้านจากกลุ่มคนจำนวนมาก ฉะนั้นหากมีการผลักดันกฎ หมายของกลุ่มนิติราษฎร์ ก็จะถูกต่อต้านจากคนอีกกลุ่มหนึ่งที่คิดว่าข้อเสนอเอื้อประ โยชน์ให้กับกลุ่มคนเสื้อแดง

เหมือนการผลักดันร่างพ.ร.บ. ปรองดอง ที่ถูกมองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ขณะที่ข้อเสนอให้ตั้งคณะกรรมการขจัดความขัดแย้งขึ้นมานั้น คงไม่สามารถแก้ปัญหาในปัจจุบันได้

ที่ผ่านมา มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหลายชุด คณะกรรมการสมานฉันท์ที่ตั้งสมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่นำโดยนายคณิต ณ นคร ที่ตั้งโดยรัฐบาลสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ไม่สามารถแก้ความขัดแย้งได้

กรรมการชุดต่างๆ ยังไม่เป็นที่ยอมรับ เช่น คอป. ไม่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มคนเสื้อแดง และแม้ว่าจะตั้งอีกสักกี่ชุด ก็คงไม่เป็นที่ยอมรับของกลุ่มคู่ขัดแย้งในสังคม

ที่สำคัญการตั้งคณะกรรมการ 5 คนขึ้นมา เพื่อชี้ผิดชี้ถูกในสังคม คงไม่สามารถตัดสินปัญหาได้ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีถึง 9 คน เมื่อตัดสินคดีความออกมายังมีคนไม่เห็นด้วยเลย โอกาสปรองดองจากข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ก็คงไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

และกระบวนการที่จะนำไปสู่การปรองดองในสังคม คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการร่างกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งขึ้นมาเท่านั้น ผมว่าอีก 10 ปีความขัดแย้งก็ยังดำรงอยู่ในสังคม ตราบเท่าที่ความไม่เป็นธรรมยังไม่เกิดขึ้นในสังคม

ทางออกนั้น คิดว่าในส่วนของคดีความที่เกิดขึ้นก็ต้องดำเนินไปตามกฎหมายให้ถึงที่สุด ส่วนคู่ขัดแย้งต้องเปิดเวทีให้พูดคุยกันทุกฝ่าย ทั้งระดับบน กลาง ล่าง



 

โคทม  อารียา
 
โคทม  อารียา
ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี  ม.มหิดล
 
จุดเริ่มของการปรองดองผมยังมองว่าต้องเริ่มจากการพูดคุยกันก่อน หากคิดว่าจะมีการคัดค้านก็ต้องไปคุยกับคนที่จะคัดค้านก่อน และการยกร่างกฎหมายเพื่อนิร โทษกรรมก็ต้องตรงไปตรงมา ไม่ซ่อนเร้น

การนิรโทษกรรมมีหลายขั้น ขั้นที่หนึ่ง ตัวบุคคลที่จะอยู่ในข่าย ระดับผู้ชุมนุมก็ดี ตำรวจ ทหาร ปฏิบัติหน้าที่ทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ไหนๆ ก็ไม่สามารถสืบค้นได้ว่าใครคือคนเหนี่ยวไกปืนก็นิรโทษกรรมไปในขั้นต้นก่อน เชื่อว่าจะไม่มีการคัดค้าน

ขั้นสอง ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีปัญหาด้วยกันทั้งคู่ คือ ระดับผู้นำการชุมนุม ฝ่ายเสื้อเหลืองผู้นำก็ติดข้อหาปิดสนามบิน ก่อการร้าย ฝ่ายนปช.ก็แบบเดียวกัน กลุ่มนี้อาจมีคนเห็นแย้ง แต่คิดว่าถ้าคุยกันดี ไม่น่าจะคัดค้านเพราะไม่ได้เลือกปฏิบัติ

ขั้นสาม การยกเลิกผลพวงของคณะกรรมการตรวจสอบการ กระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งจะส่งผลให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หลุดด้วย ขั้นนี้คงยากหน่อยก็ไว้ทีหลัง

แต่ที่ผ่านมาข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยมาเป็นแพ็กเกจจึงยังไม่ได้เริ่มอะไร จึงคิดว่าควรเริ่มจากขั้นที่หนึ่งก่อน เมื่อบรรยากาศดีขึ้นก็เดินหน้าขั้นที่สอง สาม ต่อไป

สำหรับข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ที่ให้นิรโทษเฉพาะ ผู้ชุมนุม แต่ไม่รวมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติในทุกระดับ ถ้าอย่างนั้นก็จะเดินไปได้ยาก

การจัดตั้งคณะกรรมการขจัดความขัดแย้งก็ว่ากันไป ผมยกตัวอย่างในแอฟริกาใต้ เปิดให้คนที่ประกอบอาชญากรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการเมืองให้เข้ามารายงานตัวและสารภาพผิดด้วยความจริงใจก่อน แล้วจึงมีกรรมการตัดสินนิรโทษกรรม แต่ถ้าไม่มารายงานตัวก็มีความผิด แต่เมื่อมายอมรับ มาขอโทษ ก็ให้อภัยแล้วยกโทษให้

แต่แนวทางนี้ยากเพราะเป็นกรณีที่ความขัดแย้งยุติแล้วและต้องการสร้างชาติ แต่ของเราความขัดแย้งยังไม่ยุติ และหากมีการนิรโทษกรรมแบบไม่ปรองดองก็ไม่บรรลุวัตถุประสงค์

อย่างที่บอกไว้คือต้องคุยกันให้จบก่อน จากนั้นมาออกกฎ หมายแล้วก็ต้องพูดและอธิบายความให้คนทั่วไปเข้าใจได้ ส่วนวิธีการเขียนกฎหมายอาจเข้าใจยากก็เป็นเรื่องของภาษากฎหมาย สำคัญคือต้องตรงไปตรงมา ไม่ซุกซ่อนอะไร

และจริงๆ ควรเริ่มต้นคุยกันมานานแล้ว จึงสำคัญว่าอยากเดินหน้าหรือเปล่า อยากเอาชนะกันอยู่รึเปล่า ที่จริงน่าจะพอหอมปากหอมคอแต่นี่พยายามน็อกคู่ต่อสู้

และอยากบอกว่าไม่ใช่มีกฎหมายนิรโทษกรรมอย่างเดียว แล้วจะนำบ้านเมืองไปสู่ความปรองดอง อาจนำไปสู่การปรองดองที่น้อยลงก็เป็นไปได้ แต่ถ้ามีกฎหมายที่สมมาตร ให้ประโยชน์ทุกฝ่ายเท่ากันน่าจะดี

ความปรองดองวันนี้ยังไม่นับหนึ่งเลย เพราะความเกลียดชังยังเยอะ ทิฐิยังมาก



วีรพัฒน์  ปริยวงศ์

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักวิชาการอิสระ

สิ่งที่คณะนิติราษฎร์เสนอก็คือการแก้ไขรัฐ ธรรมนูญรายมาตราแบบหนึ่ง ที่ว่าด้วยการนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่พยายามล้างผลพวงของการรัฐประหาร

คณะนิติราษฎร์พยายามวางยุทธศาสตร์ไม่ให้ผลีผลามเกินไป และการเสนอก็เป็นในลักษณะที่เป็นกลางทางการเมือง ไม่ได้มุ่งไปที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เพื่อช่วยเหลือคนทุกฝ่ายทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง ที่ไปร่วมชุมนุม

อีกทั้งยังกำหนดกรอบระยะเวลา มีการพิจารณาว่ามีมูลเหตุทางการเมืองหรือไม่ และผูกพันต่อพันธกรณีระหว่างประเทศหรือไม่ เพื่อที่จะให้ประชาชนทุกคนสามารถตอบรับได้

คิดว่ามาในแนวทางที่ถูกต้องแล้ว แต่ก็ยังมีข้อห่วงกังวลว่ามันจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหาภาพใหญ่ได้หรือเปล่า เนื่องจากการสร้างความปรองดอง ต้องแก้อย่างเป็นระบบ คงจะไม่ใช่เพียงเรื่องนิรโทษกรรมเพียงอย่างเดียว

ต้องมีการดำเนินการทางกฎหมายกับคณะก่อการรัฐประหาร และเจ้าหน้าที่รัฐที่ร่วมมือด้วยหรือไม่ หรือจะมีการดำเนินคดีความกับคนที่ถูกล่าวหาว่าโกงอย่างไร

การแก้ปัญหาของนิติราษฎร์เป็นการแก้ปัญหาแบบสำเร็จรูปเป็นเรื่องๆ หากมองในแง่ดีก็คือต้องการช่วยเหลือนักโทษการเมือง หากมองอีกแง่มันจะทำให้เสียกระบวนสำหรับความต้องการแก้ปัญหาหรือไม่ หากไม่ได้รับการตอบรับจากฝ่ายนักการเมือง

นิติราษฎร์ให้ความมั่นใจกับคณะกรรมการขจัดความขัดแย้งทั้ง 5 คน มากเกินไป เพราะ 5 อรหันต์ที่ มาจากนักการเมืองเป็นส่วนใหญ่นี้ ต้องตั้งคำถามว่าจะมั่นใจได้อย่างไรว่าผลวินิจฉัยของคณะกรรมการจะไม่มีการโต้แย้งเรื่องสองมาตรฐาน

ส่วนการนิรโทษกรรมที่ระบุหากเป็นโทษที่รุนแรงมีโทษจำคุกเกิน 2 ปี ให้คณะกรรมการพิจารณาว่านักโทษมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองหรือไม่ และผูกพันต่อพันธกรณีระหว่างประเทศหรือไม่

ดูสุ่มเสี่ยงที่จะถูกมองว่ากระบวนการยุติธรรมนั้นถูกแทรกแซงหรือไม่ เพราะมูลเหตุจูงใจทางการเมืองบางครั้งก็มองง่าย บางครั้งก็มองยาก ซึ่งมีตัวเลือกที่ 3 คือ แทนที่จะลงโทษหรือนิรโทษกรรมไปเลย

อาจเป็นการส่งไปให้ศาลวินิจฉัยว่ามีความผิดหรือไม่ หากผิดก็วินิจฉัยให้รอลงอาญา หรือลดโทษครึ่งหนึ่งได้ จะเป็นกระบวนการที่ไม่ใช่ขาวหรือดำอย่างที่นิติราษฎร์มองอย่างเด็ดขาดนี้

การจะบอกว่าอันนี้ถูก-ผิดโดยคน 5 คน มันอ้างยาก ถึงแม้จะบอกว่าเป็นเรื่องทางการเมืองแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มันมีข้อกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

การคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองคงไม่ง่ายขนาดให้คน 5 คนมาตัดสินแล้วจบ

และเป็นอย่างที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ บอกว่า ไม่มีกฎหมายฉบับใดที่ออกมาแล้วจะแก้ไขความขัดแย้งได้ เพราะรากเหง้าความขัดแย้งนั้นมีมาก่อนนานแล้ว