มองต่างมุมยื้อเวลาแก้รธน.

ข่าวสด วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม 2556
รายงานพิเศษ

รัฐบาลส่งสัญญาณค่อนข้าง ชัดว่าจะชะลอเกมแก้รัฐ ธรรมนูญออกไป หลังจากพบว่าการลุยโหวตร่างแก้รัฐธรรมนูญ วาระ 3 ถือเป็นภารกิจที่เสี่ยงเกิน

รวมถึงการเดินหน้าทำประชามติ ก็พบกับดักในรัฐธรรมนูญวางไว้อื้อ

ท่าทีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ก็บอกเป็นนัยว่าการแก้ไขคงไม่เสร็จปีนี้ ขณะที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็สั่งให้เครือข่ายเบรกเกมร้อนเพื่อประคองรัฐบาล

การตัดสินใจยืดเวลาออกไปจะเกิดปัญหาหรือไม่ และส่งผลอย่างไรบ้าง



วีรพัฒน์ ปริยวงศ์
นักวิชาการอิสระ

หากมองว่าท่าทีการชะลอการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยเป็นเกมการเมืองที่ต้องการคงอำนาจรัฐบาลจนครบวาระ 4 ปี ก็สามารถมองได้

แต่จากประสบการณ์ที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมสัมมนาพรรคเพื่อไทยเมื่อเร็วๆ นี้ เห็นว่าเป็นพรรคที่มีความหลากหลาย มีบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตย แสดงความคิดเห็น อภิปราย และถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง

ท่าทีการชะลอแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงไม่น่าจะใช่เหตุผลทางการเมืองทั้งหมด แต่พรรคเพื่อไทยมีกระบวนการหามติ หรือบทสรุปสำหรับแนวทางการแก้รัฐธรรมนูญอย่างรอบคอบและรัดกุมมากกว่า

กรณีดังกล่าวคงไม่นำไปสู่ขั้นแตกหักระหว่างมวลชนคนเสื้อแดงที่เป็นฐานเสียงพรรคเพื่อไทย แต่อาจสร้างความอึดอัดมากกว่า ว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นเมื่อไร

อย่าง นางธิดา โตจิราการ ประธานนปช. ที่มีจุดยืนให้รัฐบาลเดินหน้าโหวตวาระ 3 ที่ค้างอยู่ในสภา แต่เมื่อทีมยุทธศาสตร์พรรคต้องการให้สานเสวนาก่อน แกนนำนปช.ทุกคนก็ยอมรับ เนื่องจากเป็นกระบวนการที่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย

ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถเห็นได้จากกลุ่มเสื้อเหลืองที่มีการเชื่อมโยงกับพรรคประชาธิปัตย์

อีกทั้งยังเป็นสัญญาณที่ดีในการให้ความสำคัญแก่สถาบันศึกษา เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเชิงวิชาการเพิ่มมากขึ้น

และอยากขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการตามสถาบันการศึกษาชั้นนำต่างๆ ไม่ว่าจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ร่วมระดมความคิดเห็นโดยไม่ต้องรอคำเชิญจากรัฐบาล เหมือนที่กลุ่มนิติราษฎร์เสนอร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับพรรคเพื่อไทยว่าสุดท้ายแล้วจะดำเนินการอย่างไร เพราะหากภายใน 45-60 วันยังไม่มีความคืบหน้าตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน พรรคก็คงจะหมดความน่าเชื่อถือไปเอง

อยากย้ำว่าการลงมติในวาระ 3 นั้น ไม่สำคัญเท่ากับความตั้งใจที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะด้วยการทำประชามติ หรือแก้ไขรายมาตรา

ทั้งในส่วนเนื้อหาและที่มาของรัฐธรรมนูญปี 2550 เพื่อตัดวงจรอุบาทว์ของการปฏิวัติ และทำให้ประชาชนเชื่อได้ว่า ในอนาคต 10-15 ปี จะไม่เกิดขึ้นอีก

พร้อมทั้งชำระสะสางกับสิ่งที่ คมช. ทำลายระบอบประชาธิปไตยไว้ อาทิ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นต้น

 

ธิดา โตจิราการ
ประธาน นปช.

การชะลอการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปก่อนน่าจะเป็นเรื่องดี ยังดีกว่าการที่รัฐบาลจะมุทะลุทำประชามติเลยทันที

ซึ่งการที่รัฐบาลชะลอไปก่อน พวกเราคนเสื้อแดงก็ไม่ว่ากัน แต่ความรอบคอบจะต้องไม่ใช่การแกล้งซื้อเวลาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

จากการพูดคุยระหว่างสมาชิกรู้สึกว่า ผู้นำบางส่วนของรัฐบาลยังสงสัยข้อมูลบางประการ เช่น คำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนที่ไม่ได้อ่านคำวินิจฉัยส่วนตัว

ซึ่งดิฉันเคยยืนยันแล้วว่า คำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการฯ ที่ให้ทำประชามติมีเพียงคนเดียว ทำให้จากเดิมที่ต้องการทำประชามติ จึงต้องนำกลับไปคิดใหม่ให้รอบคอบยิ่งขึ้นแต่ก็ไม่ควรช้าเกินไป

อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้อยากแนะนำรัฐบาลว่า ควรศึกษา คำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้รอบคอบมากๆ โดยที่ต้องไม่ปล่อยให้ช่วงเวลาที่ชะลอนี้ เป็นช่วงเวลาแห่งความว่างเปล่าไร้ค่า

แต่ควรให้ส.ส. ประชาชน นักวิชาการ ภาคสังคม ช่วยกันวิเคราะห์วิจารณ์คำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และเนื้อหาของรัฐธรรมนูญปี 2550 เปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญปี 2540

คนเสื้อแดงคงไม่ต่อต้านเรื่องการชะลอแก้ไข แต่ขอให้ผลออกมาคุ้มค่ากับการที่ต้องเสียเวลา


เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช
ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล

การยืดเวลาลักษณะนี้ ถ้าเป็นจริงตามที่รัฐบาลว่า คือขอศึกษาเรื่องกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน ก็จะทำให้กระบวนการ เป็นที่ยอมรับของฝ่ายต่างๆ มากขึ้น

ส่วนคนเสื้อแดงที่เห็นต่างกัน ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องไปทำความเข้าใจ

การหากระบวนการที่ทุกฝ่ายยอมรับ ไม่ได้หมายความว่าหยุดเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมาจะสังเกตได้ว่า การเปลี่ยนแปลงกฎหมายต่างๆ ตราบใดที่กระบวนการเป็นที่ยอมรับ โดยทั่วไปจะไม่สร้างความขัดแย้งขึ้นมากนัก

ดังนั้น ถ้ารัฐบาลชะลอการแก้ไขรัฐธรรมนูญเฉยๆ อาจทำให้หลายส่วนที่อยากผลักดันเรื่องนี้วิตกกังวลได้ แต่ถ้าชะลอโหวตวาระ 3 เพื่อเดินหน้าศึกษากระบวนการเพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับ ก็จะไม่เป็นปัญหา

ในส่วนของการศึกษากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐบาลอาจศึกษาโดยการทำวิจัยแบบดั้งเดิม (Traditional Research) อาทิ ตั้งคำถามเบื้องต้นว่าจะแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ และจะแก้บางมาตราหรือทั้งหมด

เมื่อได้คำตอบแล้วก็ตั้งคำถามถัดไปว่า จะร่างออกมาแบบไหน จะใช้ตามกฎหมายเดิม หรือแก้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เพื่อให้สามารถตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญได้

การศึกษาอีกวิธีหนึ่ง รัฐบาลอาจรวบรวมผลการศึกษาของหลายๆ หน่วยงาน อาทิ คอป. สถาบันพระปกเกล้า หรือแม้กระทั่งการศึกษาของ ม.มหิดล เอง มาเป็นต้นทุนการศึกษา

และถ้าอยากได้ข้อสรุปที่เป็นการตกตะกอนจากชุมชน คนต่างจังหวัดก็อาจเอาประเด็นเหล่านี้ไปเป็นประเด็นในการหารือ สำรวจความคิดเห็นระหว่างคนที่เห็นต่างจนกระทั่งตกผลึก ก็เป็นเรื่องที่ทำได้
 
จิตติพจน์ วิริยะโรจน์
ส.ว.ศรีสะเกษ
ประธานคณะกรรมการติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา

การแก้รัฐธรรมนูญเป็นนโยบายรัฐบาล เท่ากับเป็นสัญญาประชาคม เมื่อรัฐบาลยื้อประเด็นนี้ออกไปทำให้คนที่เลือกพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล รู้สึกว่าทำไมทำอะไรช้าจัง ไม่ทันใจ

แต่เชื่อว่าสถานการณ์ขณะนี้รัฐบาลยังอยากทำอยู่ เพียงแต่ไม่สามารถหาทางออกที่ตรงกันได้ จึงขอเวลาตัดสินใจอีกสักระยะ

ระหว่างนี้ฝ่ายต่างๆ ในสังคมจะออกมาแสดงความเห็นกันมากขึ้น เพื่อสะท้อนไปถึงรัฐบาลว่าต้องการอย่างไร โดยในส่วนของส.ว.ก็มีข้อเสนอเช่นกัน เร็วๆ นี้จะได้นำเสนอกัน

ถามว่ารัฐบาลตัดสินใจถูกหรือไม่ที่เลือกเดินแนวทางนี้ ส่วนตัวเห็นว่าในประเทศประชาธิปไตย หากมีกระบวนการรัฐประหารเกิดขึ้น แล้วมีรัฐธรรมนูญเฉพาะกาลขึ้นมา จะต้องแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยและนิติธรรม

ยิ่งช่วงที่มีการรณรงค์ทำประชามติรัฐธรรมนูญปี 2550 รัฐบาลขณะนั้นก็บอกประชาชนให้รับไปก่อนแล้วค่อยแก้ไขทีหลัง ตรงนี้ก็เหมือนเป็นสัญญาประชาคมไปแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีจุดบกพร่อง

ที่ผ่านมาแทบทุกฝ่าย แม้กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์และพันธมิตรเองก็เคยแสดงความเห็นจะแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ ดังนั้นหากเอาประเด็นที่เห็นตรงกันมาแก้ไขก่อน ก็น่าจะเป็นทางออกหนึ่ง