ที่มา: “โลกวันนี้วันสุข”
ฉบับวันศุกร์ที่ 4 มกราคม 2556
เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า แกนนำพรรคเพื่อไทยได้เลือกที่จะไม่เดินหน้าประชุมรัฐสภาลงมติผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.291 วาระสามโดยทันที หากแต่จะใช้เส้นทางการทำประชามติ ตามที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ “แนะนำ” ไว้
ทั้งหมดนี้สะท้อนถึง “สภาวะล้มละลายทางหลักกฎหมาย” ของระบบตุลาการในประเทศไทยอย่างชัดเจน อันเป็นผลที่ฝ่ายเผด็จการใช้ตุลาการเป็นเครื่องมือสนับสนุนกลุ่มคนที่เป็นพวกของตน ไปทำลายล้างกลุ่มการเมืองที่ตนคิดว่า เป็นศัตรูให้ตุลาการลากตีความตัวบทกฎหมายเอาตามใจชอบ ไม่ใยดีต่อหลักนิติรัฐ เพื่อไปบรรลุเป้าทางการเมือง
ผลก็คือ ทุกคนที่ถูกกระทำ รวมทั้งพรรคเพื่อไทย จึงต้องเดินตามแนวทางและวิธีการเดียวกันเพื่อเอาตัวรอด ซึ่งก็คือใช้หลักการ “ตุลาการวิบัติ” หาช่องทางกฎหมาย เลี่ยงบาลี เพื่อหลบหลีกการถูกกระทำจากตุลาการฝ่ายเผด็จการ
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.291 ซึ่งพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลได้ดำเนินไปตามกรอบของรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดระมัดระวัง แต่ก็ยังถูกแทรกแซงโดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ “ลากตีความ ม.68” เพิ่มอำนาจให้กับตนเอง กระทำ “ตุลาการรัฐประหาร” ยกระดับอำนาจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้กลายเป็นอำนาจอธิปไตยสัมบูรณ์เหนืออำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติ เลยเถิดไปถึงกับ “แนะนำ” ให้ทำประชามติถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ทั้งที่ไม่มีระบุในที่ใดของรัฐธรรมนูญ กลายเป็นการ “เขียนรัฐธรรมนูญใหม่โดยตุลาการเพียงไม่กี่คน”
สถานการณ์ยิ่งแย่ลงเมื่อทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคร่วมรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภาที่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่างเลือกที่จะทิ้งหลักการประชาธิปไตย เกียรติและศักดิ์ศรีของฝ่ายนิติบัญญัติ ปฏิเสธที่จะลงมติไม่รับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ จนทำให้การลงมติผ่านวาระสามแก้ไข ม.291 ต้อง “แท้ง” ไปในที่สุด
สาเหตุคือ สส.และสว.พวกนี้ส่วนใหญ่ล้วนขี้ขลาดตาขาว ไร้ซึ่งหลักการและความกล้าหาญที่จะยืนหยัดเพื่อประชาธิปไตยไปให้ถึงที่สุด พอได้ยินว่า เป็น “คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ” ก็พากันตกใจสุดขีด หันหลังวิ่งหนีกันจ้าละหวั่น
แม้แต่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ก็มีพฤติกรรมไม่แตกต่าง ปฏิเสธที่จะเรียกประชุมรัฐสภาพิจารณาวาระสาม มีการปล่อย “คลิป” ให้คนเสียงเหมือนนายสมศักดิ์พูดชัดเจน ปฏิเสธที่จะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อ ราวกับจะแสดงให้คนทั้งโลก (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ) ได้เห็นว่า ถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่าในกรณีใด นายสมศักดิ์ไม่เกี่ยว ไปจนถึงการที่นายสมศักดิ์ ไปนั่งในศาลรัฐธรรมนูญ ตัวสั่นงันงก น้ำเสียงสั่นเทา ให้ตุลาการซักถามราวกับเป็นอาชญากรคดีร้ายแรง หมดสิ้นซึ่งศักดิ์ครีของความเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติโดยสิ้นเชิง
พรรคร่วมรัฐบาลก็ได้มีมติชัดแจ้งแล้วว่า จะไม่ร่วมการลงมติวาระสามแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน
ณ เวลานี้ หากแกนนำพรรคเพื่อไทยเดินหน้าประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติผ่านวาระสามแก้ไข ม.291 โดยไม่ทำตาม “คำแนะนำ” ของศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะไม่ผ่านอย่างแน่นอน เป็นผลให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตกไปทันที และรัฐบาลจะต้องยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ แน่นอนว่า สส.พวกนี้กลัว “เลือกตั้งใหม่” และกลัวคนในตระกูลชินวัตร แต่คนพวกนี้ “กลัวตุลาการและกลัวพวกเผด็จการ” มากกว่า
แม้นว่า จะประชุมรัฐสภาผ่านวาระสามแก้ไขม. 291 ได้สำเร็จ ก็ยังมีขั้นตอน ม. 150 ที่นายกรัฐมนตรีนำร่างแก้ไขขึ้นทูลเกล้าเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ซึ่งในทางปฏิบัติ จะมีคณะองคมนตรีเป็นทางผ่าน ความกลัวของแกนนำพรรคเพื่อไทยคือ อาจเกิดเหตุการณ์ตาม ม. 151 คือ “พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา” นายกรัฐมนตรีจะตกอยู่ในสถานะวิกฤต กลายเป็น “ทูลเกล้าสิ่งที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท”
แม้ว่า ม.151 วรรคต่อมาระบุให้รัฐสภาต้องประชุมพิจารณาเพื่อยืนยันตามเดิมด้วยเสียงไม่น้อยกว่าสองในสาม (ราว 433 คนจาก 650 คน) นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าอีกครั้ง “เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายในสามสิบวัน ให้นายกรัฐมนตรีนำพระราชบัญญัตินั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษา ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่า พระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว”
เป็นที่ชัดเจนว่า ฝ่ายแก้ไขรัฐธรรมนูญในปัจจุบันไม่มีจำนวนเสียงสูงถึง 433 เสียงอย่างแน่นอน แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ม.151 เป็นเพียงข้อความนิตินัยที่ไม่มีผลทางปฏิบัติ เพราะรัฐธรรมนูญทุกฉบับในอดีตก็ระบุข้อความทำนองนี้ แต่ไม่มีการปฏิบัติกันมาหลายสิบปีแล้ว เพราะเหตุใด? ก็เพราะไม่มีรัฐสภาชุดใดกล้าที่จะดำเนินการตามนี้
แกนนำพรรคเพื่อไทยจึงหาทางออกที่มักง่ายที่สุด ดูเหมือนปลอดภัยที่สุด แต่ไร้หลักการและขี้ขลาดที่สุดคือ ยอมตาม “คำแนะนำ” ของศาลรัฐธรรมนูญ ให้มีประชามติ ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่เต็มอกว่า ผิดหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างโจ่งแจ้ง ไม่มีระบุไว้ในรัฐธรรมนูญตรงไหนเลย และยังเป็นการเอาฝ่ายนิติบัญญัติไปอยู่ใต้รองเท้าฝ่ายตุลาการ
แกนนำพรรคเพื่อไทยฝันหวานว่า ถ้าประชามติผ่าน ก็จะหมดเงื่อนไขศาลรัฐธรรมนูญ แล้วทั้งประธานรัฐสภา สส.พรรคร่วมรัฐบาล และสว. “จะยอมซักกางเกงที่เลอะอุจจาระ” พร้อมใจหันกลับมาประชุมยกมือผ่านวาระสามในที่สุด
ปัญหาคือ แกนนำพรรคเพื่อไทยไม่มีทางรู้เลยว่า แม้นประชามติจะมีผลให้ผ่าน ก็ไม่มีหลักประกันว่า ตุลาการจะไม่เข้ามาแทรกแซงตีความอีกโดยอ้างกรณีอื่น หรือแม้นจะผ่านประชามติแล้ว ทั้งประธานรัฐสภา สส.และสว.จะหาข้ออ้างอื่นเพื่อไม่ต้องลงมติวาระสาม ทำให้การลงมติในวาระสามหลังประชามติก็อาจมีผลอย่างเดิมคือ ไม่ผ่าน ร่างแก้ไขตกไป
ยิ่งไปกว่านั้น การเดินหน้าทำประชามติจะก่อให้เกิดความแตกแยกครั้งใหญ่ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับขบวนคนเสี้อแดง และภายในหมู่คนเสื้อแดงด้วยกันเองระหว่างกลุ่มที่ปฏิเสธประชามติกับกลุ่มที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย คะแนนเสียงประชามติที่พรรคเพื่อไทยฝันหวานเอาไว้สวยหรูกี่สิบล้านเสียงก็ตาม จะไม่เป็นไปตามเป้า
ที่แย่ไปกว่านั้นคือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ยังออกมาเบี่ยงเบนประเด็น โดยเสนอให้ “แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา” จงใจให้ผู้คนเข้าใจผิดว่า กระทำได้ง่ายกว่า เช่น แก้ไขเฉพาะมาตราว่าด้วยที่มาของสว.สรรหา ที่มาขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และม.190 เป็นต้น ทั้งที่ในความเป็นจริง ทำได้ยากที่สุดถึงขั้นเป็นไปไม่ได้ โดยให้ดูตัวอย่างการแก้ไข ม.291 ที่ผ่านมาถึงวาระสาม ก็ได้ถูกสะกัดขัดขวาง ทั้ง “แปรญัตติ” ก่อกวนตีรวนในสภา ก่อการชุมนุมนอกสภา ไปจนกระทั่งดึงเอาศาลรัฐธรรมนูญเข้ามา ร.ต.อ.เฉลิมจะซื่อตรงกว่านี้ถ้ายอมรับว่า ตนไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว เพราะตนขออยู่เป็นรัฐมนตรีจนหมดอายุรัฐบาลดีกว่า
ปัญหาพื้นฐานคือ การพยายามยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 โดยที่ดุลกำลังและอำนาจรัฐที่แท้จริงยังไม่เปลี่ยนมือนั่นเอง รัฐธรรมนูญเป็นเพียงกรอบการเมืองเปลือกนอกที่ห่อหุ้มโครงสร้างอำนาจรัฐที่แท้จริงซึ่งปัจจุบันยังคงอยู่ในมือพวกจารีตนิยม ตราบใดที่ข้อเท็จจริงนี้ไม่เปลี่ยนแปลง การยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่มีทางกระทำได้
สิ่งที่พรรคเพื่อไทยควรทำคือ ยอมรับตรง ๆ ว่า ไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว และขอบริหารเศรษฐกิจไปจนครบสี่ปี ให้ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยอดทนรอคอย รอให้สถานการณ์พื้นฐานเกิดการเปลี่ยนแปลง แล้วเลือกตั้งใหม่ ค่อยมาพูดถึงรัฐธรรมนูญอีกครั้ง