ข่าวสด 9 มกราคม
ชุด2ลุยมาร์ค แจ้งเพิ่ม10มค.
"เทพเทือก"ด้วย คดีพยายามฆ่า
2
เหยื่อปืนศอฉ.เข้าดีเอสไอ แจ้งจับ "อภิสิทธิ์-สุเทพ" เพิ่มเติมข้อหาพยายามฆ่า 10
ม.ค. "ธาริต" จัดห้องพร้อมพนักงานสอบสวนไว้รอ ถือเป็นเหยื่อชุดที่ 2 ต่อจากชุดแรก
16 คน ขณะที่ผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์เม.ย.-พ.ค.53 ทยอยเปิดตัวเปิดใจเตรียมเอาผิด
นายกฯกับผอ.ศอฉ.ขณะเกิดเหตุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อวันที่
8 ม.ค. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ
ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนกรณีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ จำนวน
99 ศพ ในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.2553
กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินคดีข้อหาพยายามฆ่าและทำร้ายร่างกายกับนายอภิสิทธิ์
เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และผอ.ศอฉ. ว่า
ขณะนี้พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างสอบปากคำกลุ่มผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว
ซึ่งที่ผ่านมาสอบปากคำผู้บาดเจ็บไปแล้ว 16 ราย และวันที่ 10 ม.ค.
นี้ผู้บาดเจ็บชุดที่ 2 จำนวน 2 รายจะมาให้การต่อพนักงานสอบสวนดีเอสไอ
เพื่อแจ้งความเอาผิดกับนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพข้อหาพยายามฆ่า
"ขั้นตอนการสอบปากคำผู้บาดเจ็บจะคล้ายกับคราวที่แล้วเกี่ยวกับรายละเอียดของเหตุการณ์ทั้งหมด
และช่วงนี้ยังไม่มีการนัดประชุมคณะพนักงานสอบสวน 3 ฝ่าย
เนื่องจากสำนวนคำสั่งคดีจากศาลและตำรวจยังส่งมาไม่ถึงดีเอสไอ
ประกอบด้วยคดีนายชาญณรงค์ พลศรีลา นายชาติชาย ซาเหลา และด.ช.คุณากร หรือน้องอีซา
เมื่อสำนวนดังกล่าวมาถึงจะนัดประชุมทันที"
นายธาริตกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้บาดเจ็บชุดที่ 2 จำนวน 2
รายนั้น นายคารม พลพรกลาง ทนายความ นปช. จะพามาพบดีเอสไอ ประกอบด้วย นายพร้อมพงศ์
ปลั่งกลาง อายุ 42 ปี ชาวอ.โนนสูง จ.นครราชสีมา ถูกยิงขาซ้ายสาหัส
บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา เมื่อ 10 เม.ย.2553 และนายอภิเดช ไชยน้ำอ้อม อายุ 23
ปี ชาวอ.โนนสว่าง จ.ร้อยเอ็ด ถูกยิงทะลุศีรษะกระสุนทำลายเนื้อสมองจนพิการ
บริเวณสี่แยกคอกวัว เมื่อ 10 เม.ย. ซึ่งดีเอสไอจะใช้ห้องสอบเดิม บริเวณชั้น 2
ของสำนักงานดีเอสไอ ถนนแจ้งวัฒนะ สอบปากคำ
ด้านนายปรีชา สุกใส อายุ
66 ปี เหยื่อกระสุนที่ถูกยิงบริเวณแยกศาลาแดง
หนึ่งในผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ข้อหาพยายามฆ่า
ไว้กับดีเอสไอก่อนหน้านี้ ให้สัมภาษณ์ว่า ตนเป็นชาวบุรีรัมย์ มีอาชีพขับรถแท็กซี่
ร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงตั้งแต่เม.ย.2553 ที่ถนนราชดำเนิน
และย้ายมาชุมนุมต่อที่แยกราชประสงค์ เวลาประมาณ 14.00 น. วันที่ 14 พ.ค.2553
ตนนั่งขัดสมาธิอยู่หลังรถหกล้อของคนเสื้อแดงกลุ่มแหลมฉบัง ซึ่งจอดอยู่ตรงข้ามร.พ.
จุฬาลงกรณ์ ฝั่งสวนลุมพินี เมื่อมองขึ้นไปบนตึกสก. ของร.พ.
เห็นหน้าต่างเปิดไว้จึงชี้นิ้วไปที่ตึกนั้น
ขณะที่นั่งอยู่มีนักข่าวฝรั่งคนหนึ่งมานั่งข้างๆ เลยถามว่าเป็นคนที่ไหน
เขาบอกเป็นคนออสเตรเลีย
เสร็จแล้วเขาก็ลุกวิ่งหนีไป
"จากนั้นไม่ถึงห้านาทีผมก็ถูกยิง
มารู้ทีหลังว่ากระสุนแฉลบนิ้วที่ผมกำลังชี้ และคาง
เข้าที่หน้าอกด้านซ้ายจนทะลุใต้รักแร้มาโดนท้องแขนซ้ายด้านในด้วย รวมทั้งหมด 5 แผล
ตอนนั้นผมยังรู้สึกตัวอยู่แต่ว่าเริ่มชาที่ตัวกับหน้าอก และเริ่มหายใจไม่ออก
จนมีคนมาช่วยหามผมออกไปประมาณ 5 เมตร เพื่อจะเอาไปขึ้นรถจักรยานยนต์ส่งโรงพยาบาล"
เหยื่อกระสุนกล่าวและว่า ระหว่างนั้นมีชายคนหนึ่งวิ่งมาพยายามจะช่วยหามผม
แต่ก็ถูกยิงเข้าศีรษะล้มไปต่อหน้าต่อตา
นายปรีชากล่าวต่อว่า
ตนถูกส่งตัวไปที่ร.พ.พญาไท 1 นอนพักรักษาตัวอยู่ 5 วัน
จากนั้นกลับไปพักฟื้นที่บ้านต่างจังหวัดกว่า 3 เดือน
โดยมีภรรยาที่เป็นพยาบาลอยู่แล้วช่วยทำแผลให้ เมื่ออาการทุเลาจึงกลับเข้ามากรุงเทพฯ
เพื่อขับรถแท็กซี่หารายได้ วันนี้ยังมีหัวกระสุนติดอยู่ที่มืออีก 1 นัด
แพทย์บอกว่าไม่สามารถผ่าออกได้ เพราะถ้าผ่าออกจะทำให้มือใช้การไม่ได้อีกต่อไป
ตนจึงต้องทนกับอาการเจ็บมือเวลาขับรถตลอดมา อีกทั้งอาการแน่นหน้าอกก็ยังไม่หาย
และบางครั้งจะมีอาการหูอื้อและเวียนหัวเป็นช่วงๆ
"วันที่ผมถูกยิงนั้น
ทั้งๆ ที่ผมมีอาการสาหัส
ทำไมทางโรงพยาบาลจึงระบุว่าผมเป็นแค่ผู้ได้รับบาดเจ็บธรรมดา ทำให้ผมได้รับเงินเพียง
615,000 บาท
จากมาตรการการเยียวยาของทางรัฐบาลโดยไม่คุ้มกับความลำบากในการใช้ชีวิตหาเลี้ยงชีพ"
เหยื่อกระสุนกล่าว
ขณะที่นายวิโรจน์ โกสถา
เหยื่อถูกยิงบริเวณอนุสรณ์สถาน เขตดอนเมือง กทม. เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2553 กล่าวว่า
วันนั้นขึ้นรถที่ราชประสงค์เพื่อไปรับกลุ่มคนเสื้อแดงที่ตลาดไท
ที่บริเวณหน้าอนุสรณ์สถาน มีเจ้าหน้าที่ทหารตั้งรั้วลวดหนามกั้นไว้
มีแกนนำเสื้อแดงไปเจรจาให้เปิดเส้นทาง แต่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธ พอเวลาประมาณ 14.00 น.
เจ้าหน้าที่เริ่มยิงใส่ประชาชน มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 คน
ซึ่งเป็นเพื่อนของตนทั้งสองคน โดยคนหนึ่งโดนยิงที่คอ
ทุกวันนี้กระสุนยังคาอยู่ในลำคอ ผ่าไม่ได้ เนื่องจากหมอบอกว่าอาจจะไม่ปลอดภัย
ส่วนเพื่อนอีกคน โดนยิงเข้าด้านหลังทะลุหน้าท้อง 1 นัด
ขณะที่ตนถูกยิงด้วยกระสุนไม่ทราบชนิดที่ต้นขาขวา 1 นัด กระสุนทะลุ
ขณะจะเข้าไปช่วยเพื่อนที่ล้มลงอยู่เกาะกลางถนน จากนั้นตนไปหลบอยู่บริเวณเสาตอม่อ
ก่อนที่จะมีคนนำส่งร.พ. สำหรับเจ้าหน้าที่มีอยู่เต็มตามสองฝั่งถนน
บางส่วนอยู่บนทางด่วน ทั้งหมดประมาณ 30-40 นาย สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ได้เงินเยียวยา
60,000 บาท แต่รัฐบาลนี้กระทรวงพม.บอกว่าให้รอกรรมการชุดดร.ธงทอง จันทรางศุ
ประชุมเสร็จก่อน
ส่วนนายศุภวัชช์ ปันจันตา
อดีตช่างภาพสำนักข่าววอยซ์ ทีวี ถูกยิงบริเวณป้ายรถเมล์ ฝั่งตรงข้ามสน.ลุมพินี
เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2553 กล่าวว่า เป็นช่างภาพ อยู่สำนักข่าววอยซ์ ทีวี
ตอนแรกทำข่าวอยู่ลานพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งมีการปะทะกัน
จากนั้นรับแจ้งว่ามีการเผารถเมล์ ใกล้สน.ลุมพินี
และมีกลุ่มนปช.ยิงบั้งไฟเข้าไปยังฝั่งทหาร และเจ้าหน้าที่ทหารยิงสวนออกมา
จึงเดินทางไปสังเกตการณ์อยู่ด้านหน้าสน.ลุมพินี เหตุการณ์ขณะนั้น
ผู้ชุมนุมยิงบั้งไฟกับตะไลเข้าไปยังฝั่งทหารที่ตั้งแนวอยู่บนถนนวิทยุก่อนถึงสน.ลุมพินี
ประมาณ 300 เมตร ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารตอบโต้ด้วยการยิงแก๊สน้ำตา
ตนเห็นกระสุนปืนที่ยิงมาจากฝั่งทหารแฉลบกำแพงสน.ลุมพินี
ก่อนจะมาโดนแก้มของผู้หญิงตั้งครรภ์คนหนึ่ง
นายศุภวัชช์
กล่าวอีกว่า จากนั้นเสียงปืนสงบลง ตนจึงย้ายจากฝั่งสน.ลุมพินีไปอยู่ป้ายรถเมล์
ฝั่งตรงข้าม เนื่องจากมีสื่อมวลชน ยืนอยู่ 2-3 คน หนึ่งในนั้น ทราบชื่อว่านายสุบิน
สังกัดน.ส.พ. เดลินิวส์ ต่อมาช่วงก่อนเวลา 14.00
น.มีเสียงปืนดังเข้ามาระยะหนึ่งแล้วเงียบไป ไม่นานมีเสียงปืนดังขึ้นอีกชุด
ยิงมาจากด้านในสวนลุมพินี นายสุบินที่ยืนอยู่หน้าป้ายรถเมล์ ใกล้ๆกันถูกยิง
ตนจึงหมอบลง ถัดมาอีกประมาณ 5 นาที
ขณะที่ตนกำลังจะรายงานข่าวเข้าไปสำนักข่าวโดนยิงที่ต้นขาซ้าย 1 นัด
กระสุนทะลุมาจากขาตั้งกล้อง ทำให้กระดูกที่ต้นขาซ้ายแหลกละเอียด ประมาณ 4 นิ้ว
กระสุนมีลักษณะคล้ายเศษไฟเบอร์ ได้ระเบิดไปพร้อมกับเนื้อตนที่โดนกระสุน
คาดว่าเป็นกระสุน .223 โดยขณะถูกยิงตนใส่ปลอกแขนของสื่อมวลชนอยู่ ที่ผ่านมา
ผ่าตัดมาแล้ว 4 ครั้ง และยังต้องผ่าตัดอีกครั้งเพื่อเอาไทเทเนียมที่ขาออก
สภาพร่างกายสามารถเดินได้ วิ่งได้บ้าง แต่ยกของหนักไม่ได้ ตอนนี้ลาออกจากงาน
มาพักผ่อนอยู่ที่บ้าน
วันเดียวกันเวลา 18.30 น.ขณะที่น.ส.ยิ่งลักษณ์
ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเดินทางออกจากที่ทำการพรรคเพื่อไทย
มีผู้สนับสนุนมารอให้กำลังใจและร่วมถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ระหว่างนั้นนางวรรณา
บุตรคาน ซึ่งบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมเม.ย.2553
ร้องขอความเป็นธรรมกรณีไม่ได้รับเงินเยียวยา
โดยยอมรับว่าไม่ได้ไปยื่นคำร้องขอรับเงินเยียวยาเพราะไม่ทราบข้อมูล
รวมทั้งไม่มีหลักฐานใบรับรองแพทย์ ซึ่งนายกฯรับปากช่วยดูแลและให้จดบันทึกไว้
จากนั้นมอบหมาย โฆษกพรรคเพื่อไทยดำเนินการ
ทำให้นางวรรณาถึงกับร่ำไห้และก้มลงกราบนายกฯ