อธิบดี ดีเอสไอ เผย เตรียมประชุมลงมติแจ้งข้อหาเพิ่ม "อภิสิทธิ์-สุเทพ" พยายามฆ่ารถตู้ ปี 53 ในวันที่ 27 ธ.ค. นี้ ยังไม่รวม "ด.ช.อีซา" รอสำนวนคดี ด้านทนาย นปช.เตรียมนำผู้บาดเจ็บร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนวันเดียวกัน
26 ธ.ค.55 สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. รายงาน นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ กล่าวถึงความคืบหน้า การเรียกประชุมพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาลงมติแจ้งข้อกล่าวหากับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กรณีการสลายการชุมนุม จนมีได้รับผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ว่า หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการเลื่อนลงมติแจ้งข้อหาพยายามฆ่าและทำร้ายร่างกายเพิ่ม กรณีเจ้าหน้าที่ยิงรถ เป็นเหตุให้ นายสมร ไหมทอง คนขับรถ ได้รับบาดเจ็บสาหัส ซึ่งเป็นเหตุต่อเนื่องกับคดี นายพัน คำกอง เนื่องจากอัยการติดธุระ ก็ได้มีการนัดประชุมเพื่อพิจารณาในเรื่องนี้อีกครั้ง ในวันที่ 27 ธ.ค. นี้ ที่ดีเอสไอ เวลา 14.00 น. ส่วนจะมีการลงมติหรือไม่อย่างไร ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะต้องรอให้ครบทั้ง 3 ฝ่าย และมีการลงมติก่อน ซึ่งจะมีการพิจารณาเพียงคดีเดียว ยังไม่รวมกับคดี "อีซา" หรือ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ อายุ 12 ปี ที่เสียชีวิตในการชุมนุม และศาลเพิ่งมีคำตัดสินว่า เสียชีวิตเนื่องจากกระสุนของเจ้าหน้าที่เช่นเดียวกัน เนื่องจากสำนวนคดีดังกล่าว ยังไม่ส่งมายังดีเอสไอ
ที่มาภาพ : ศูนย์สารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ
ซึ่งก่อนหน้านี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ดำเนินการแจ้งข้อหากับนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ในข้อหา “ร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล”ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59, 83, 84 และ 288 โดยอาศัยพยานหลักฐานจากกรณีที่ศาลยุติธรรมได้มีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ในคดีการไต่สวนเหตุการตายของนายพัน คำกอง ว่า “การตายของ นายพัน เกิดจากถูกกระสุนปืนของทหารที่เข้าปฏิบัติการตามคำสั่งของ ศอฉ.”
ทนาย นปช. เตรียมนำผู้บาดเจ็บเหตุสลายการชุมนุม ปี 53 ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน
ข่าวสดรายงานด้วยว่า เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ผบ.สำนักคดีการเงินการธนาคาร ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการกลางดีเอสไอ กล่าวว่า ในวันที่ 27 ธ.ค. ทราบว่านายคารม พลพรกลาง ทนายความของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จะนำผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 ชุดแรกเข้ามาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพื่อกล่าวโทษเพิ่มเติมกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีตผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในข้อหาพยายามฆ่าและทำร้ายร่างกาย
พ.ต.ท.วรรณพงษ์กล่าวต่อว่า ทางดีเอสไอได้เตรียมสถานที่สอบปากคำผู้บาดเจ็บกลุ่มดังกล่าวแล้ว และเตรียมพนักงานสอบสวนเพื่อสอบปากคำผู้เสียหายไว้พร้อมเช่นกัน จากนั้นช่วงบ่ายวันเดียวกัน จะประชุมคณะพนักงานสอบสวน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย อัยการ ตำรวจ และดีเอสไอ โดยมีนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน เป็นประธานการประชุม และพล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รองผบช.น. ในฐานะรองหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน เข้าร่วมด้วย เพื่อหารือเกี่ยวกับการพิจารณาสำนวนคดีพยายามฆ่านายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ที่ได้รับบาดเจ็บในเหตุ การณ์เจ้าหน้าที่ถล่มรถตู้บริเวณถนนราชปรารภ เมื่อกลางดึกวันที่ 14 พ.ค.2553
นายคารม พลพรกลาง(ที่มาแฟ้มภาพประชาไท)
ด้านนายคารมกล่าวว่า ในวันที่ 27 ธ.ค. เวลา 10.30 น. จะนำประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บชุดแรก จำนวน 15 ราย จากจำนวนผู้บาดเจ็บทั้งสิ้นกว่า 2,000 ราย ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมม็อบเสื้อแดงเมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 เข้าร้องทุกข์ต่อนายธาริต พร้อมทั้งนำหลักฐานเป็นใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันชัดเจนว่าถูกกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่ เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มกับนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ฐานพยายามฆ่าและความผิดฐานทำร้ายร่างกายต่อไป ซึ่งความผิดฐานพยายามฆ่าต้องระวางโทษ 2 ใน 3 ส่วนของโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 15-20 ปี ส่วนความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
"ยังมีประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายม็อบเมื่อปี 2553 ติดต่อขอความช่วยเหลือเรื่องกฎหมาย รวมทั้งกรณีดำเนินคดีกับนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพอย่างต่อเนื่อง และมีหลายรายแจ้งความประสงค์ว่าต้องการจะเดินทางแจ้งความต่อดีเอสไอ ก็แนะนำให้ผู้ที่แจ้งความประสงค์รวบรวมหลักฐานใบรับรองแพทย์ไว้ และจะพาเข้าพบดีเอสไอเป็นชุดที่ 2 หลังผ่านปีใหม่แล้ว คาดว่าชุดที่ 2 นี้จะมีผู้บาดเจ็บนับร้อยรายเข้าร้องทุกข์กับ ดีเอสไอ" ทนายความนปช.กล่าว
สำหรับผู้บาดเจ็บทั้ง 15 คน ประกอบด้วย นายบดินทร์ วัชโรบล, นายอิทธิกร ตันหยง, นายสันติพงษ์ อินจันทร์, นายปรีชา สุกใส, นายสมร ไหมทอง, นายณรงค์ศักดิ์ สิงห์แม, นายเสกสิทธิ์ ช้างทอง, นางสมภาร พุทธจักร, นายภัศพล ไชยพงษ์, นายกฤติพจน์ บัวดี, นายณัฐพล ทองคุณ, นายธงชัย เหวียน, นายไพโรจน์ ไชยพรหม, นายวิโรจน์ โกสถา, และนายศุภ วัชช์ ปันจันตา
นายบดินทร์ หนึ่งในผู้บาดเจ็บ กล่าวว่า ถูกยิงเข้าที่ท้อง 1 นัด เมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 10 เม.ย.2553 ที่หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ ทุกวันนี้กระสุนยังค้างอยู่ในร่างกาย ส่วนนายไพโรจน์ ผู้บาดเจ็บอีกรายกล่าวว่า ถูกยิงเข้าที่ท้องกับขา 2 นัด บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ถนนวิภาวดีรังสิต
ขณะที่นายเสกสิทธิ์กล่าวว่า ถูกยิง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 ถูกยิงเข้าที่ขา 2 นัด บริเวณหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ส่วนครั้งที่ 2 ถูกยิงที่กลางหน้าผาก ทำให้ตาบอดทั้ง 2 ข้าง ที่หน้าพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 โดยในวันที่ 27 ธ.ค.นี้ จะนำใบรับรองผลการตรวจของแพทย์ และผลเอกซเรย์ไปมอบให้ดีเอสไอด้วย