ไล่เรียงคำสั่งศาล ตายด้วยฝีมือเจ้าหน้าที่ อีกมากมายคดีข้างหน้า

มติชน 20 ธันวาคม 2555




17 ธ.ค. 2555

ศาลอาญากรุงเทพใต้อ่านคำสั่งในคดีไต่สวนสาเหตุการเสียชีวิตของผู้อยู่ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองปี 2553 เป็นคดีที่ 3 ว่า

"ศาลจึงมีคำสั่งว่าผู้ตายคือนายชาติชาย ชาเหลา ถึงแก่ความตายที่ รพ.จุฬาฯ ถ.พระราม 4 เขตปทุมวัน กทม. เมื่อวันที่ 13 พ.ค.2553 เวลา 23.37 น.

"โดยเหตุและพฤติการณ์การตายสืบเนื่องมาจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) เป็นเหตุให้สมองฉีกขาดร่วมกับกะโหลกศีรษะแตกอย่างมาก

"วิถีกระสุนปืนมาจากแนวด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงาน ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย ถ.พระราม 4 โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ"

ย้อนกลับไปถึงคดีแรกในกรณีคล้ายคลึงกัน

17 ก.ย.2555 ศาลอาญาอ่านคำสั่งในคดีไต่สวนสาเหตุการเสียชีวิตของผู้อยู่ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองปี 2553 ว่า

"จึงมีคำสั่งว่าผู้ตายชื่อนายพัน คำกอง ตายที่หน้าสำนักงานขายคอนโดมีเนียมชื่อไอดีโอคอนโด ถนนราชปรารภ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง

"เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย เกิดจากการถูกลูกกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) จากอาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงคราม ที่เจ้าพนักงานทหารร่วมกันยิงไปที่รถยนต์ตู้หมายเลขทะเบียน ฮค 8561 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีนายสมร ไหมทอง เป็นผู้ขับ แล้วลูกกระสุนปืนไปถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย

"ในขณะเจ้าพนักงานทหารกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบปิดล้อมพื้นที่ควบคุมตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)"

ก่อนจะมาถึงคดีที่ 2

26 พ.ย.2555 ศาลอาญาอ่านคำสั่งว่า

"อาศัยเหตุผลดังที่ได้วินิจฉัยมาดังกล่าวขั้นต้น จึงมีคำสั่งว่าผู้ตายคือนายชาญณรงค์ พลศรีลา ตายที่ รพ.พญาไท 1 แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2553 เวลาประมาณ 14.00 น.

"เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือถูกทหารที่มาปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของ ศอฉ. ในการดำเนินการตามมาตรการปิดล้อม และสกัดกั้นกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อขอคืนพื้นที่และผิวการจราจรบริเวณถนนราชปรารภ ยิงด้วยอาวุธปืนความเร็วสูง ขนาด .223 หรือ 5.56 มม.

"หัวกระสุนปืนลูกโดดถูกที่บริเวณหน้าท้องและแขนขวา เป็นเหตุให้ลำไส้เล็กฉีกขาดหลายตำแหน่ง"

19 ธ.ค.2555

คณะพนักงานสอบสวนในส่วนของตำรวจกับดีเอสไอนัดประชุมตรวจสอบสำนวนคดีที่มีประชาชนถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัสในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง 2553 ประมาณ 1,500 ราย ซึ่งมีการสอบปากคำไว้หมดแล้ว

แต่จะไม่มีการลงมติแจ้งข้อกล่าวหาคดีพยายามฆ่าแก่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีตผู้อำนวยการ ศอฉ.

เนื่องจากยังต้องรอการหารือร่วมกับพนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ ที่ร่วมเป็นพนักงานสอบสวนในคดี

โดยคดีพยายามฆ่าที่จะนำขึ้นมาพิจารณาเป็นสำนวนแรก คือคดีนายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่ยิงบาดเจ็บสาหัสในเหตุการณ์เดียวกันที่นายพัน คำกอง เสียชีวิต

20 ธ.ค.2555

เวลา 09.00 น.

ศาลอาญานัดฟังคำสั่งผลไต่สวนชันสูตรศพ ด.ช.คุณากร หรืออีซา ศรีสุวรรณ อายุ 14 ปี ซึ่งถูกยิงที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ หน้าโรงภาพยนตร์โอเอ ถนนราชปรารภ เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2553 ในเหตุการณ์เดียวกับนายพัน คำกอง

เป็นคดีที่ 4 ซึ่งศาลจะมีคำสั่งต่อจากคดีนายพัน นายชาญณรงค์ และนายชาติชาย

ที่ศาลมีคำสั่งแล้วว่าเสียชีวิตจากกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง ศอฉ.

ในจำนวนคดีผู้เสียชีวิตที่พนักงานสอบสวนระบุในเบื้องต้นว่าอาจจะเสียชีวิตจากกระสุนของเจ้าหน้าที่

รวมกันแล้วทั้งสิ้น 36 คดี

และคดีผู้ได้รับบาดเจ็บที่เข้าข่ายพยายามฆ่าอีก 1,500 คดี

ต้องมีผู้รับผิดชอบ

ต้องมีคำตอบกับสังคม