รายงานพิเศษ
สืบเนื่องจากการให้สัมภาษณ์ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ ในรายการ "ที่นี่ตอบโจทย์" ทางช่องไทยพีบีเอส ชี้แจงกรณีถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แจ้งข้อกล่าวหา"พยายามฆ่า"จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ซึ่งโทษหนักสุดถึงประหารชีวิต
ต่อมาทางรายการเชิญ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ มาเปิดใจมุมมองอีกด้านในฐานะแกนนำคนเสื้อแดงซึ่งอยู่ในวันเกิดเหตุ
เกิดอะไรขึ้นในวันที่ 10 เม.ย.2553
มีการใช้กำลังทหารพร้อมอาวุธสงคราม มือบรรจุกระสุนจริง และยุทโธปกรณ์ทั้งรถหุ้มเกราะต่างๆ ออกมาเพื่อสลายการชุมนุมในพื้นที่เวทีผ่านฟ้า
เหตุการณ์เริ่มช่วงบ่าย มีการใช้กำลังทหารทุกทิศทางและเพิ่มจำนวน สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้น มีการใช้เฮลิคอป เตอร์โยนแก๊สน้ำตามาที่หน้าเวทีชุมนุม และโยนลงไปบนเวที
ผมลงจากเวทีราชประสงค์รีบเดินทางไปที่เวทีผ่านฟ้า ไปถึงในช่วงมืดก็ได้ยินเสียงปืนดังมาจากหลายทิศทาง เลยวิ่งไปหลังเวทีก่อนเรียกแกนนำมาสรุปสถานการณ์ ทราบว่ามีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บแล้วหลายราย
และยังทราบว่ามีการยิงมาจากระยะไกล ที่เข้าใจได้ว่าเป็นการใช้ปืนติดลำกล้องหรือสไนเปอร์ จนมีประชาชนถูกยิงที่ศีรษะและอวัยวะสำคัญหลายราย
ผมรีบขึ้นเวทีประกาศเรียกร้องให้รัฐบาลยุติปฏิบัติการ สักพักได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกฯขณะนั้น จึงขอร้องให้หยุด
ส่วนผมก็จะประกาศชวนพี่น้องที่ออกไปดูเหตุการณ์ หรือออกไปเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่รัฐกลับเข้ามารวมกัน และจะควบคุมสถานการณ์ให้สงบให้ได้
ไม่นานนักก็มีการแถลงของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ผ่านทางโทรทัศน์ว่าจะยุติปฏิบัติการทั้งหมด ผมจึงส่งแกนนำไปเชิญชวนพี่น้องประชาชนกลับมา
ในห้วงที่เจรจากันอยู่นั้นยังมีความสูญเสีย พ.ต.ท. ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ เพื่อนผม ถูกยิงด้วยกระสุนยางได้รับบาดเจ็บ เขายังยืนยันว่ามีประชาชนที่ถูกยิงล้มลงต่อหน้าอีกหลายคน
ด้านหลังเวทีวันนั้นเป็นอย่างไร
เป็นคืนที่หนักที่สุดในชีวิตผม สถานการณ์สับสนมาก สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความสูญเสียตลอดเวลา ผมเลยเอาการตัดสินใจทั้งหมดมาไว้ที่ตัวเอง ไม่ให้ทุกอย่างช้าเกินไปกว่าจะยุติสถานการณ์
วินาทีแรกที่ถึงเวทีได้พบญาติพี่น้อง ครอบครัวเพื่อนฝูงของผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และผู้สูญหาย เต็มไปหมด ทุกคนร้องไห้ เจ็บปวดเสียใจ บางคนควบคุมสติไม่ได้ นั่งร้องไห้เกลือกกลิ้งกับพื้น
ผมปลอบใจพวกเขาจนเกือบเช้าของวันที่ 11 เม.ย. สถานการณ์หลังเวทีจึงคลี่คลายไปในระดับหนึ่ง
นายอภิสิทธิ์ระบุว่าคืนนั้นร้องไห้อยู่นาน ตัวเองเคยนั่งร้องไห้หรือไม่
ผมเสียใจกับสิ่งนี้ตลอดมา นี่เป็นแผลในใจ ผมไปถูกจองจำที่ค่ายนเรศวรก็นั่งนึกถึงผู้เสียชีวิตและบรรยากาศในคืนวันที่ 10 เม.ย.
เมื่อผมไปอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ บางทีผมก็นึกถึงครอบครัวและชีวิตของผมที่เคยเป็น แต่เมื่อนึกถึงความสูญเสียของคนที่ไม่สิทธิจะกลับบ้านได้ มันก็เจ็บปวด ผมภาวนาอย่าให้ใครเจอเหตุการณ์แบบนั้นอีก
จะพูดอะไรกับฝ่ายผู้สูญเสียซึ่งไม่ได้มีแต่คนเสื้อแดง
ผมเสียใจกับทุกอย่างที่เกิดขึ้น ไม่อยากให้พี่น้องที่มาชุมนุมมีความสูญเสีย ไม่มีใครควรมาตาย ผมเสียใจกับครอบครัวทหารที่เสียชีวิตด้วย
และยืนยันว่าเราไม่ได้เตรียมการเพื่อให้เกิดสิ่งนี้ ไม่ได้ค้าประโยชน์ทางการเมืองด้วยจำนวนผู้เสียชีวิต แต่เมื่อเกิดความสูญเสียเเล้ว ทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบ
ลึกๆแล้วรู้สึกผิดกับสิ่งที่เกิดขึ้นหรือไม่
ในฐานะแกนนำที่ไม่สามารถดูแลชีวิตของพี่น้องได้ ผมยอมรับผิด และหากบอกว่ามีความผิดทางกฎหมาย ผมยินดีที่จะพิสูจน์ด้วยกระบวนการยุติธรรม เพราะการต่อสู้ของพี่น้องคนเสื้อแดงเป็นการต่อสู้ที่สงบ สันติ และปราศจากอาวุธ
เราไม่ใช้ความรุนแรง ไม่รู้จักชายชุดดำที่ถูกกล่าวอ้าง ไม่รู้เห็นเป็นใจและรู้สึกว่ามีชายชุดดำอยู่ในกำกับดูแล หรือในการติดต่อประสานงานแต่อย่างใด
คอป.เสนอทุกฝ่ายที่เป็นตัวละครสำคัญร่วม ขอโทษประชาชน
ผมพร้อมร่วมมือ แต่เหตุผลและรูปแบบต้องอธิบายได้ว่า เป็นการแสดงเจตจำนงร่วมกันที่จะประกาศความรับผิดชอบต่อสถานการณ์ที่ผ่านมาของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และจะเป็นช่องทางนำไปสู่การปรองดอง
ทำไมหลัง 10 เม.ย. นปช.ไม่ยุติการชุมนุมเพื่อรักษาชีวิตประชาชน
การรักษาชีวิตผู้คนหมายถึงหน้าที่ที่รัฐบาลขณะนั้นต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง จึงจำเป็นที่รัฐบาลต้องทบทวนว่าทำอะไรลงไป ผมสามารถชุมนุมได้ 3 เดือน 6 เดือนโดยไม่เกิดการสูญเสียหากรัฐบาลไม่สั่งกำลังออกมา
แต่สิ่งที่ปรากฏคือ ผู้มีอำนาจขณะนั้นพักการใช้กำลังทหารชั่วครู่แล้วปรับสภาพกำลังใหม่ วางแผนยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีทางการทหาร 100% จนนำมาสู่การปิดล้อมอีกครั้ง
นั่นหมายความว่านายกฯขณะนั้น เลือกใช้ปฏิบัติการทางทหารเต็มรูปแบบ จึงเท่ากับว่ากำลังมองประชาชนเป็นเพียงศัตรูที่ต้องจัดการด้วยกำลังให้ได้
หากหลังวันที่ 10 เม.ย. นายอภิสิทธิ์แสดงความรับผิดชอบต่อสถานการณ์ แล้วยุติบทบาทการบริหารของตัวเอง ไม่ว่าจะลาออกหรือยุบสภา สถานการณ์จะค่อยๆคลี่คลายลง
เกิดอะไรในคืนวันที่ 18 พ.ค. ถึงเช้าวันที่ 19 พ.ค.53
ผมพูดคุยกับแกนนำข้างเวที บอกว่ารัฐบาลไม่ยุติแน่ จึงพยายามเจรจากับรัฐบาลอีกผ่านตัวแทนที่ส่งมา และยังเล็ดลอดออกไปจากที่ชุมนุมที่ปิดล้อมแน่นหนา ไปเจรจาและแอบกลับเข้ามาหลายคืนในช่วงนั้น
แต่เมื่อการเจรจาไม่เป็นผล ผมโทร.หาพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ตัวแทนส.ว.ที่ประกาศเป็นคนกลาง และเชิญมาพบที่เวที ทุกคนตกลงว่าจะมีการเจรจาในวันที่ 19 พ.ค. นายกฯก็ทราบ เมื่อได้ข้อสรุปเราพร้อมจะยุติการชุมนุม
คืนวันที่ 18 พ.ค. เราเตรียมการเจรจาทั้งคืน แต่เช้ามืดวันนั้นเหตุการณ์กลับแตกต่าง แทนที่จะเป็นการเจรจากลับเป็นวันล้อมปราบอีกครั้ง มีการเคลื่อนกำลังเข้ามาตั้งเเต่เช้ามืด
เมื่อเห็นว่ารัฐบาลไม่ยุติปฏิบัติการแน่ๆ แกนนำจึงประกาศยุติการชุมนุม และบอกให้พี่น้องเดินไปสนามศุภชลาศัย เพราะมีการบอกกันว่าฝ่ายรัฐบาลจะนำรถมารับกลับภูมิลำเนา
แต่เหตุการณ์ไม่ได้เป็นอย่างนั้น มีการไล่ยิงกดดันต่างๆ จนพี่น้องจำนวนมากต้องวิ่งไปหลบในวัดปทุมวนารามจนเกิด 6 ศพในที่สุด
ประเมินการตัดสินใจนายอภิสิทธิ์ขณะนั้น
เราอยู่ในสถานการณ์ที่ต่างกัน ผมอยู่กับประชาชนที่ออกมาเรียกร้องกลางถนนด้วยมือเปล่า ยืนอยู่ด้วยอุดมการณ์และความเชื่อทางการเมืองที่มั่นคง ขณะที่นายอภิสิทธิ์อยู่ท่ามกลางอำนาจที่พร้อมจะใช้จัดการกับการชุมนุม
นายอภิสิทธิ์ไม่เคยสัมผัสความรู้สึกประชาชนที่จริงแท้ ยังรู้สึกว่าที่เขาเข้ามาชุมนุมเพราะถูกจ้าง มาเพราะหลงเชื่อแกนนำปลุกปั่นยุยง และมาเพราะเป็นเหยื่อหลงเชื่อพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
เราไม่มีทางเข้าใจสถานการณ์ของกันและกันได้ และยืนยันว่านายอภิสิทธิ์จะปฏิเสธความรับผิดชอบทั้งทางกฎหมายและทางการเมืองต่อชะตากรรมประชาชนไม่ได้
การเมืองไทยคลี่คลาย หรือจะเข้าสู่วังวนและวาทกรรมสงครามครั้งสุดท้าย
ผมสุ่มเสี่ยงว่าจะเป็นอย่างหลัง เพราะยังไม่เห็นสัญญาณว่าอีกฝ่ายจะยอมรับในความมีอยู่จริงของประชาชน พวกเขาคิดแต่เพียงว่าบ้านเมืองนี้ต้องอยู่ในความดูแลของพวกเขา จะเป็นบ้านเมืองที่ดีได้ก็ต่อเมื่อเป็นไปอย่างที่พวกเขาต้องการ
ซึ่งมันไม่ใช่ ที่มันเป็นแบบนั้นเพราะเขาอยู่ในฐานะผู้ได้เปรียบ อยู่ในฐานะผู้เลือก ผู้เข้าถึงทุกทรัพยากรก่อนประชาชนชั้นล่างที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศตลอดมา
การพยายามสร้างสมดุลใหม่โดยประชาชนชั้นล่าง จึงไปกระทบสถานะและพื้นที่ของคนกลุ่มนี้ สุดท้ายเขาก็มองคนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นฝ่ายตรงข้าม เป็นพวกล้าหลังต้อยต่ำ ขาดความรู้ความเข้าใจทางการเมือง
และเมื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศลุกขึ้นมาต่อสู้ก็เผชิญความเจ็บปวด ซึ่งความสูญเสียครั้งใหญ่อาจเกิดขึ้น แม้ว่าสุดท้ายแล้วประชาธิปไตยจะเป็นฝ่ายชนะ
แต่คิดว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศไม่อยากให้เกิดสิ่งนี้