ศาลชี้ทหารยิง "ชาญณรงค์" แท็กซี่แดงเสียชีวิต-ดีเอสไอเตรียมแจ้งข้อหา "มาร์ค-เทือก"

ข่าวสด 27 พฤศจิกายน 2555




 วันที่ 26 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าว "ข่าวสด" รายงานว่า ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำสั่งการไต่สวนคำร้องชันสูตรศพคดีดำ อช. 1/2555 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 6 เป็นโจทก์ ยื่นคำร้องขอให้ชันสูตรการเสียชีวิตของนายชาญณรงค์ พลศรีลา แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เพื่อทำคำสั่ง แสดงว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อใด ถึงเหตุ และพฤติการณ์ที่ตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ซึ่งนายชาญณรงค์ถูกยิงเสียชีวิต บริเวณหน้าปั๊มน้ำมันเชลล์ ซ.รางน้ำ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553  ในช่วงที่รัฐบาลสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงพื้นที่ กทม. และสลายการชุมนุมของกลุ่มนปช.


 คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติจากพยานทุกปาก ว่า เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553 กลุ่ม นปช. จัดให้มีการชุมนุมเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นประกาศยุบสภา โดยมีการตั้งเวทีปราศรัยและชุมนุมที่บริเวณสะพานผ่านฟ้า ถ.ราชดำเนิน และต่อมาได้ไปตั้งเวทีปราศรัยที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ต่อมารัฐบาลได้ประกาศใช้พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 และต่อมาวันที่ 7 เมษายน 2553 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ตามพ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 1/2553 ตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และตั้งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้อำนายการ ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 2/2552 ต่อมามีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่พิเศษ 93/2553 ให้ พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ขณะนั้น เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบ

 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ศอฉ.ส่งกำลังเข้าไปขอคืนพื้นที่บริเวณถนนราชดำเนิน เกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารและกลุ่มผู้ชุมนุม มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ต่อมาศาลแพ่งมีคำสั่งให้ ศอฉ.ดำเนินการตามมาตรการสากลและเท่าที่จำเป็นต่อผู้ชุมนุม ต่อมาวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 ศอฉ.ใช้มาตรการปิดล้อมและสกัดกั้นผู้ชุมนุมบริเวณถนนราชปรารภ ถนนศรีอยุธยา ถนนเพชรบุรี และถนนราชวิถี เวลา 14.00 น.ส่งทหารเข้าวางกำลังบนถนนราชปรารภระหว่างซอย 12-14 กระทั่งวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 เวลา 15.00 น. นายชาญณรงค์ ผู้ตายซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. ได้นำเอายางรถยนต์ไปวางเป็นแนวบังเกอร์บริเวณหน้าสถานีบริการน้ำมันเซลล์ มีเสียงปืนดังขึ้นเป็นชุดๆ และนายชาญณรงค์ ถูกกระสุนปืนถึงแก่ความตาย

 มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด ได้ความจากนางสุริยัน พลศรีลา ภรรยาผู้ตาย พนักงานสอบสวน นายนิโคลัส นอร์ทิส ช่างภาพอิสระชาวเยอรมัน และนักข่าวชาวไทยและต่างประเทศที่ไปถ่ายภาพทำข่าวในที่เกิดเหตุ เป็นพยานเบิกความประกอบภาพถ่ายที่เกิดเหตุ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้ตายชื่อนายชาญณรงค์ พลศรีลา ตายที่โรงพยาบาลพญาไท 1 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 เวลาประมาณ 14.00 น. ตามรายงานการตรวจศพ

 ปัญหาต้องวินิจฉัยว่า เหตุและพฤติการณ์ที่ตายและใครเป็นผู้ทำให้ตาย สำหรับเหตุที่ตาย มีแพทย์ผู้ตรวจชันสูตรศพผู้ตายเบิกความว่า นายชาญณรงค์ ถูกกระสุนความเร็วสูงเข้าที่ท้องทำให้ลำไส้ขาดหลายแห่ง และเก็บหัวกระสุนที่ได้จากศพผู้ตายส่งไปตรวจ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจอาวุธปืนตรวจพิสูจน์แล้วยืนยันว่า เป็นหัวกระสุนขนาด .223 หรือ 5.56 มิลลิเมตรและหัวกระสุนดังกล่าวใช้กับปืนความเร็วสูงชนิดเอ็ม 16, เอชเค 33 และทาวอร์-ทา 21

 สำหรับพฤติการณ์ที่ตายและใครทำให้ตายนั้น ได้ความจากพยานกลุ่มที่เป็นนักข่าวทั้งชาวไทยและต่างประเทศที่ไปถ่ายภาพและ รายงานข่าวในที่เกิดเหตุซึ่งเป็นประจักษ์พยานที่สำคัญเบิกความว่า กระสุนปืนถูกยิงมาจากทางที่ทหารประจำการอยู่หลังรั้วหีบเพลงลวดหนาม และกระสอบทรายที่ตั้งอยู่บริเวณถนนราชปรารภด้านฝั่งประตูน้ำ กระสุนถูกผู้ตาย ผู้ชุมนุมคนอื่นๆ มีสื่อมวลชนถ่ายภาพเหตุการณ์ไว้ นอกจากนี้มีเจ้าหน้าที่จากกองพิสูจน์หลักฐานที่ไปตรวจสอบที่เกิดเหตุเบิก ความยืนยันว่า พบรอยกระสุนปืนฝั่งที่ผู้ตายและผู้ชุมนุมอยู่ โดยกระสุนปืนถูกยิงมาจากทางที่ทหารประจำการอยู่ มีแผนที่สังเขปและภาพถ่ายเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุเป็นพยาน

 ขณะที่พยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฎิบัติหน้าที่ในบริเวณดังกล่าวสังกัดกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ เบิกความยอมรับว่า ทำหน้าที่ที่ถนนราชปรารภตามที่ ศอฉ.ส่งไป แต่ไม่มีทหารในสังกัดยิงใส่ผู้ชุมนุม ขัดกับพยานหลักฐานรอยกระสุนปืนที่พบ คำเบิกความของพยานกลุ่มนี้จึงมีพิรุธขัดแย้งกับหลักฐานภาพถ่าย

 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า กระสุนปืนที่ยิงถูกนายชาญณรงค์ผู้ตายมาจากทางทหาร แต่เมื่อคำสั่ง ศอฉ. ให้ พล.1 รอ. ไปทำหน้าที่บริเวณดังกล่าว ไม่ปรากฏว่า กองพันทหารราบที่ 3 สังกัด พล.1 รอ. หรือไม่ เนื่องจากผู้ร้องไม่นำสืบให้ชัดว่า เป็นหน่วยใดและบริเวณที่เกิดเหตุมีทหารหน่วยกองพันทหารราบที่ 3 เพียงหน่วยเดียวเท่านั้น แต่ไม่มีพยานเห็นขณะยิง จึงฟังไม่ได้ว่า ทหารจากกองพันทหารราบที่ 3 เป็นผู้ยิง อาจเป็นหน่วยอื่นก็เป็นได้ จึงฟังได้เพียงว่าทหารที่ ศอฉ.ส่งไปปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ทำให้ตาย ส่วนผลการตรวจปืนไม่สามารถยืนยันได้แน่นอนว่าทหารไม่ได้ยิง เพราะเปลี่ยนลำกล้องได้

 ดังนั้นข้อเท็จจริงในปัญหาข้อที่ว่าเหตุและพฤติการณ์ที่ตายเป็นอย่างไรและจากใครเป็นผู้กระทำร้ายผู้ตายเท่าที่จะทราบได้ จึงรับฟังได้ว่าผู้ตาย ตายเพราะถูกกระสุนปืนจากอาวุธปืนความเร็วสูง ขนาด .223 หรือ 5.56 มิลลิเมตรของทหารที่ ศอฉ.ส่งไปดำเนินการตามมาตรการปิดล้อมและสกัดกั้นกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อขอคืนพื้นที่และผิวจราจรบริเวณถนนราชปรารภ

 อาศัยเหตุผลดังที่ได้วินิจฉัยมาดังกล่าวขั้นต้น จึงมีคำสั่งว่าผู้ตายคือนายชาญณรงค์ พลศรีลา ตายที่โรงพยาบาลพญาไท 1 แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 เวลาประมาณ 14.00 น. เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือ ถูกทหารที่มาปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของศอฉ. ในการดำเนินการตามมาตรการปิดล้อมและสกัดกั้นกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อขอคืนพื้นที่และผิวการจราจรบริเวณถนนราชปรารภ ยิงด้วยอาวุธปืนความเร็วสูงขนาด .223 หรือ 5.56 มิลลิเมตร หัวกระสุนปืนลูกโดดถูกที่บริเวณหน้าท้องและแขนขวา เป็นเหตุให้ลำไส้เล็กฉีกขาดหลายตำแหน่ง

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการฟังคำสั่งวันนี้มีนางสุริยัน พลศรีลา ภรรยาผู้ตาย น.ส.มนชยาและน.ส.นิพาดา พลศรีลา บุตรสาวผู้ตาย นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธานนปช. นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำนปช.มาร่วมฟังคำสั่งด้วย

 ภายหลังฟังพิพากษา นางธิดากล่าวว่า ที่ศาลมีคำสั่งในวันนี้รู้สึกดีใจเป็นอย่างมาก และพยานที่มาเบิกความต่อศาลคดีนี้ก็มากจากสื่อมวลชนที่ไม่ได้เป็นสื่อของเสื้อแดง เรื่องการเยียวยาญาติและครอบครัวผู้ตายด้วยการจ่ายเงินนั้นเป็นส่วนหนึ่ง แต่การที่ผู้ตายถูกกล่าวหาเป็นผู้ก่อการร้าย ทำให้ชื่อเสียงเกียรติยศของครอบครัวผู้ตายเสียหาย จึงควรเยียวยาความรู้สึกด้วยการเสนอความจริงแก้ไขชื่อเสียงให้

 ขณะที่นพ.เหวง กล่าวว่า เมื่อคำสั่งศาลระบุว่านายชาญณรงค์ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฎิบัติตามคำสั่ง ศอฉ.ยิงตาย ดังนั้นนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ในฐานะผอ.ศอฉ.ควรต้องออกมารับผิดชอบ และในคดีนี้ที่ฝ่ายทหารมาเบิกความว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีอาวุธนั้น ศาลก็ไม่ได้นำประเด็นดังกล่าวมาพิจารณา เนื่องจากไม่เกี่ยวกับการตายของนายชาญณรงค์ และจากการตรวจพิสูจน์ในที่เกิดเหตุ ปรากฏร่องรอยกระสุนของทหารมากถึง 33 รอย แสดงให้เห็นว่าผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ มีเพียงหนังสติ๊กเท่านั้น

 นางสุริยัน ภรรยาผู้ตาย กล่าวว่า ดีใจที่ได้รับความยุติธรรมและคาดการณ์ไว้แล้วว่าผลคำสั่งศาลน่าจะออกมาลักษณะนี้ เพราะก่อนหน้านี้มีพยานที่เห็นเหตุการณ์มาบอกว่า สามีเสียชีวิตจากการถูกเจ้าหน้าที่ทหารยิง ส่วนการดำเนินการต่อไปนั้นต้องขอปรึกษาทนายความก่อน

 ด้านนายโชคชัย ทนายญาติผู้ตาย กล่าวว่า หลังศาลมีคำสั่ง พนักงานอัยการก็จะนำคำสั่งศาลไปมอบให้พนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีต่อไป

 วันเดียวกัน นายธาริต  เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) กล่าวภายหลังศาลมีคำสั่งว่านายชาญณรงค์ พลศรีลา คนขับแท็กซี่เสื้อแดง เสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร ว่า ขั้นตอนหลังจากนี้พนักงานอัยการจะรับสำนวนการไต่สวนทั้งหมดจากศาล  เพื่อส่งตัวมายังพนักงานสอบสวนเพื่อทำสำนวนคดีหลักคือคดีฆาตกรรม เช่นเดียวกับกรณีของนายพัน คำกอง ที่ศาลมีคำสั่งก่อนหน้านี้ และสิ่งที่เหมือนกันทีี่คำสั่งศาลระบุว่าชัดเจนคือการเสียชีวิตของทั้ง  2 คน เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติการภายใต้คำสั่งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ดังนั้น เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการจะเข้าข่ายการปฏิบัติการ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 70  ซึ่งมีแนวโน้มจะไม่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ทั้งนี้พนักงานสอบสวนจะพิจารณาข้อกฎหมาย การแจ้งข้อกล่าวหา ของผู้ที่ออกคำสั่งการปฏิบัติการของศอฉ.ซึ่งผู้เกี่ยวข้องขณะนั้นคือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานผอ.ศอฉ. และนายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี

 นายธาริต กล่าวอีกว่า หลังจากศาลมีคำสั่งไต่สวนการเสียชีวิตทั้ง 2 ราย ทำให้การดำเนินของคณะพนักงานสอบสวน สามารถดำเนินคดีได้ชัดเจนและรวดเร็วยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามดีเอสไอทำคดีดังกล่าวในรูปแบบคณะพนักงานสอบสวน ที่มีอัยการ ตำรวจ ดีเอสไอ ทำงานร่วมกัน ดังนั้นการแจ้งข้อกล่าวหาใคร จะต้องเข้าที่ประชุมเพื่อลงมติเห็นชอบร่วมกัน

 ด้านน.ส.มนชยา และ น.ส.นิพาดา พลศรีลา บุตรสาวของนายชาญณรงค์ ร่วมกล่าวความรู้สึกว่า รู้สึกดีใจมากในคำสั่งของศาลและคิดว่าได้รับความยุติธรรมแล้ว ซึ่งตรงกับความคาดหวังของเราตั้งแต่แรก แต่หลังจากนี้คงต้องปล่อยให้เห็นหน้าที่ของทนายและพนักงานสอบสวนเป็นคนจัดการในด้านกระบวนการทางกฎหมาย เนื่องจากยังมีอีกหลายขั้นตอน ที่สำคัญเราต้องสืบหาให้ได้ว่า ทหารคนใดเป็นผู้ยิง ซึ่งตอนนี้เราทราบเพียงว่าการเสียชีวิตของพ่อเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร  และถ้าสืบทราบได้ว่า ทหารคนใดเป็นคนยิง ก็จะดำเนินการทางกฎหมายต่อไป