ข่าวสด 23 พฤศจิกายน 2555 >>>
ที่ศาลฎีกา สนามหลวง วันที่ 23 พ.ย. นายคารม พลพรกลาง ทนายความกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในฐานะ ประธานสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อประชา ธิปไตยและสังคม พร้อมด้วยกรรมการสมาพันธ์และคณะทนายความ ประมาณ 10 คน เดินทางยื่นหนังสือถึง นายไพโรจน์ วายุภาพ ประธานศาลฎีกา ผ่านเจ้าหน้าที่ศาลฎีกา โดยหนังสือดังกล่าวมีเนื้อหาขอให้ ประธานศาลฎีกาในฐานะผู้ใช้อำนาจสูงสุดของฝ่ายตุลาการ ควรแสดงท่าทีในการที่จะไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงอำนาจ และการได้อำนาจมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ เพื่อทำให้ผู้ที่กำลังตระเตรียมวางแผนเพื่อยึดอำนาจหรือพยามยึดอำนาจให้ล้มเลิกแผนยุติการกระทำดังกล่าวไปในที่สุด ซึ่งการยื่นหนังสือดังกล่าวสืบเนื่องจากกรณีที่กลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม ที่นำโดย พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ เสธ.อ้าย ประธานองค์การพิทักษ์สยาม ประกาศจัดชุมนุมใหญ่ในวันที่24-25 พ.ย.นี้ เพื่อกดดันรัฐบาล ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
โดยนายคารม กล่าวว่า หลังจากการยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกาแล้ว ต่อไปเตรียมแนวทางจะส่งเอกสารนี้ไปยังต่างประเทศด้วย ซึ่งจะถือเป็นหลักฐานสำคัญขอให้ติดตามการดำเนินการกันต่อไป
ด้านนายสิทธิ์ศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า การยื่นหนังสือของกลุ่มทนายความวันนี้ ก็จะได้เสนอประธานศาลฎีการับทราบตามขั้นตอน แต่โดยหลักการและตามกฎหมายแล้ว ต้องชี้แจงว่า ประธานศาลฎีกาไม่ได้มีอำนาจวินิจฉัยสั่งการอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งผู้ร้องนั้น หากพบว่าน่าจะมีการทำผิดกฎหมายก็ต้องยื่นฟ้องหรือคำร้องผ่านศาลยุติธรรม เช่น ศาลแพ่ง หรือ ศาลปกครอง ให้มีคำวินิจฉัยอย่างหนึ่งอย่างใด โดยขึ้นอยู่กับว่าเนื้อหาของเรื่องนี้หรือพฤติการณ์นั้นว่าอยู่ในอำนาจศาลใด
นายสิทธิศักดิ์ กล่าวอีกว่า การดูแลจัดการความเรียบร้อยในการชุมนุมที่ขณะนี้รัฐบาลมีการประกาศใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารที่ต้องดำเนินไปอยู่แล้ว ไม่ใช่กรณีที่ฝ่ายตุลาการจะเข้าไปก้าวล่วง เพราะตามอำนาจอธิปไตย มีการแบ่งแยกถ่วงดุลไว้ชัดเจน คือ อำนาจบริหารที่มีรัฐบาลใช้อยู่ อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ ซึ่งหากเกิดกรณีที่จะเป็นความผิด แล้วจะมีการใช้อำนาจตุลาการก็คือต้องยื่นผ่านกระบวนการศาลยุติธรรมเพื่อพิจารณาเป็นคดี
“ประธานศาลฎีกา เป็นประมุขอำนาจตุลาการ 1ในอำนาจอธิปไตยที่มีแบ่งแยกอำนาจชัดเจน หากจะให้ตุลาการกระทำการแล้วเป็นการก้าวล่วงอำนาจอธิปไตยอื่นจะกลายเป็นตุลาการภิวัฒน์เสียอีก แต่ถ้ายื่นเรื่องที่ไม่มีกฎหมายรองรับอำนาจให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วจะใช้เป็นเงื่อนไขอ้างว่าศาลเพิกเฉย หรือจะกล่าวหาว่าละเว้นปฏิบัติหน้าที่ หรือ ปฏิบัติหน้าที่มิชอบก็คงไม่ได้ เพราะต้องถือว่าการเริ่มต้นที่ยื่นเรื่องนั้นไม่ถูกต้องโดยหลักการใช้อำนาจเสียก่อนแล้ว” โฆษกศาลยุติธรรม ระบุ