ข่าวสด 21 พฤศจิกายน 2555 >>>
16มค.ฟังศาล คำสั่งในคดีที่4 เหยื่อปืนพค.53
ศาลไต่สวนเสร็จแล้วคดีที่ 4 "ลุงบุญมี" เหยื่อปืน 14 พ.ค.53 โดนยิงหน้าร้านระเบียงทอง บ่อนไก่ ก่อนเสียชีวิตในอีก 2 เดือนต่อมาพยานยืนยันโดนกระสุนปืนเอ็ม 16 มีใช้ในราชการเท่านั้น วิถีกระสุนมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ อีกทั้งจุดเกิดเหตุก็ไม่มีชายชุดดำ ขณะที่ "ณัฐวุฒิ" ก็ร่วมเบิกความในนัดสุดท้าย ย้ำนปช.ชุมนุมสงบสันติ ไม่มีอาวุธ อย่างมากก็ยิงหนังสติ๊กและจุดพลุ แต่รัศมีก็ไม่ถึงจุดเจ้าหน้าที่ประจำการ ศาลนัดฟังคำสั่ง 16 ม.ค.2556 ส่วนดีเอสไอเรียกสอบ "วีระชัย" อดีตรมต.ยุคมาร์ค ร่วมถกครม.นัดพิเศษใน "ราบ 11" ก่อนประกาศภาวะฉุกเฉิน
เมื่อวันที่ 20 พ.ย. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลนัดไต่สวนคำร้องชันสูตรพลิกศพ ในคดีที่พนักงาน อัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนการเสียชีวิตของนายบุญมี เริ่มสุข อายุ 68 ปี ถูกยิงที่หน้าร้านอาหารระเบียงทอง ย่านบ่อนไก่ เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2553 และเสียชีวิตในอีก 2 เดือนต่อมา โดยพนักงานอัยการนำพยานเข้าเบิกความ 3 ปาก ประกอบด้วย พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ วิเศษเขตการณ์ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบ สวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ท.สาธิต ภักดี พนักงานสอบสวน ผู้ชำนาญการพิเศษ สน.บางรัก และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ แห่งชาติ (นปช.) ส่วนทนายญาติผู้ตายนำนายดิศักดิ์ ดีสม เข้าเบิกความ และนัดนี้เป็นนัดสุดท้าย
พ.ต.ท.จักรกฤษณ์เบิกความว่า เป็นผู้รับผิดชอบ สอบสวนกรณีนายบุญมีถูกยิงเสียชีวิต โดยมีหลักฐานที่ได้รับเป็นแผ่นวีซีดีจากชมรมกฎหมายวิวัฒน์แห่งประเทศไทย มีภาพและเสียงในขณะที่นายบุญมีให้สัมภาษณ์ ในสำนวนการสอบสวนมีพยานหลักฐาน 3 ส่วน ที่ทำให้เชื่อได้ว่าการตายของนายบุญมีเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ประกอบด้วย การสอบสวนทหารผู้ปฏิบัติหน้าที่ในวันดังกล่าว 3 นาย, วัตถุพยานที่ผ่าออกมาจากศพผู้ตาย ที่รับมาจากร.พ.ตำรวจที่นำส่งให้กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า เป็นกระสุนขนาด .223 หรือ 5.56 ม.ม. ที่ใช้กับปืนเอ็ม 16 โดยสอบสวนทราบว่าเป็นอาวุธปืนที่เบิกมาใช้ในการปฏิบัติการ และผลการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ที่พยานไปร่วมตรวจสอบด้วย
พยานเบิกความต่อว่า จากการตรวจสอบแนววิถีกระสุนและทิศทางการยิง พบว่ามาจากจุดที่ เจ้าหน้าที่ประจำการอยู่ทั้ง 2 ฝั่ง คือ สนามมวยลุมพินี และหน้าภัตตาคารจันทร์เพ็ญ โดยเจ้าหน้าที่ เคลื่อนกำลังพลจากจุดที่ประจำการไปถึงหน้าปั๊มน้ำมันปตท. ถนนพระราม 4 ในวันที่ 14 พ.ค.2553 และถอยกำลังกลับมาจุดเดิม ก่อนตั้งด่านถาวรจนถึงวันที่ 19 พ.ค.2553 โดยมีคลิปวิดีโอบันทึกเหตุการณ์ที่พยานดูจากเว็บไซต์ยูทูบ ปรากฏภาพเจ้าหน้าที่ยิงปืนไปทางซอยงามดูพลี ถนนพระราม 4 ขาออก ฝั่งเดียวกับปั๊มน้ำมันปตท.
พ.ต.ท.จักรกฤษณ์เบิกความอีกว่า จากการตรวจสถานที่เกิดเหตุพบรอยกระสุนปืนบริเวณตู้โทรศัพท์ หน้าปั๊มน้ำมันปตท. ที่นายบุญมีถูกยิง ราวสะพานที่เป็นโลหะ และเสาป้ายบอกทางที่เป็นโลหะ ประมาณ 50 รอย มีรอยตั้งแต่ระดับเข่าไปจนถึงเหนือศีรษะ นอกจากนี้ ยังพบรอยกระสุนปืนบนขอบสะพายลอยคนข้ามหน้าปั๊ม น้ำมันปตท. ไปจนถึงสะพานลอยใกล้กับธนาคารกรุงเทพ สาขาพระราม 4 และจากเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตประมาณ 15 คน และผู้บาดเจ็บประมาณ 100 กว่าคน ตั้งแต่บริเวณสนามมวยลุมพินีถึงใต้ทางด่วนพระราม 4
ส่วนพ.ต.ท.สาธิตเบิกความว่า บช.น.ได้รับสำนวนสอบสวนจากดีเอสไอ โดยมีสำเนาคำให้ การและแผ่นวีซีดีบันทึกภาพการให้สัมภาษณ์ของนายบุญมี ในขณะรักษาตัวอยู่ในร.พ.ตำรวจ พร้อมเอกสารการถอดคำสัมภาษณ์ พยานจำได้ว่า ผู้สัมภาษณ์ถามนายบุญมีว่าโดนยิงมาจากที่ไหน นายบุญมีตอบว่าโดนยิงมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ จากการสอบสวนทราบว่านายบุญมีถูกยิงที่หน้าท้องด้านขวา บริเวณหน้าปั๊มน้ำมันปตท. เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2553 และเสียชีวิตในวันที่ 28 ก.ค.2553 ด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือดจากบาดแผลที่ถูกยิง เหตุที่เชื่อว่าการตายเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากการรวบรวมพยานหลักฐาน ประกอบด้วย หัวกระสุนปืนขนาด .223 หรือ 5.56 ม.ม., การ์ดนปช. ซึ่งเป็นพยานที่เห็นผู้ตายขณะถูกยิง และแผ่นวีซีดีบันทึกภาพจากผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ ที่ปรากฏภาพเจ้าหน้าที่ยิงใส่กลุ่มผู้ชุมนุม
พยานเบิกความว่า จากการสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ในวันเกิดเหตุ ยอมรับว่านำกำลังเข้าไปผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมไปตามถนนพระราม 4 มุ่งหน้าทางด่วนคลองเตย หน้าปั๊มน้ำมันปตท. โดยยิงด้วยอาวุธปืนเอ็ม 16 แต่บอกว่าใช้กระสุนซ้อมหรือกระสุนยาง พยานจึงให้พนักงานผู้ชำนาญการด้านอาวุธปืนดูวีซีดีดังกล่าว และถามว่าใช้กระสุนยางหรือไม่ พนักงานผู้ชำนาญการตอบว่าถ้าเป็นกระสุนยางจะไม่สามารถยิงอย่างต่อเนื่องได้ เพราะต้องใช้แรงดันคัดปลอกกระสุน โดยการดึงคันรั้งลูกเลื่อนด้วยมือ แต่สามารถติดอะแดปเตอร์ไว้ที่ปากลำกล้องปืน ซึ่งทำให้ปาก ลำกล้องเล็กลง และมีแรงดันมากขึ้น เพื่อให้ยิงอย่างต่อเนื่องได้ แต่ในแผ่นวีซีดีกลับไม่มีอุปกรณ์ดังกล่าวติดตั้งอยู่ และไม่ดึงคันรั้งลูกเลื่อน จึงเชื่อว่าลักษณะการยิงดังกล่าว เป็นการใช้กระสุนจริง ส่วนเรื่องชายชุดดำ พยานได้สอบถามทั้งเจ้าหน้าที่ ที่ปฏิบัติหน้าที่ในวันเกิดเหตุ ชาวบ้านที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ และผู้ชุมนุมนปช.ต่างบอกว่าไม่เคยเห็นชายชุดดำ
ด้านนายณัฐวุฒิเบิกความว่า นปช.เริ่มการชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 12 มี.ค.2553 ตั้งเวทีที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา และจัดให้มีเลือกตั้งใหม่ โดยชุมนุมกันอย่างสงบสันติวิธี ต่อมาต้นเดือนเม.ย. กลุ่มแกนนำมีมติ ยกระดับการชุมนุม โดยเพิ่มเวทีที่ราชประสงค์ กระทั่งในช่วงสายของวันที่ 10 เม.ย.2553 ทราบข่าวว่ารัฐบาลสั่งการให้เจ้าหน้าที่เคลื่อนกำลังมา สลายการชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าฯ ก่อนที่ผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่จะปะทะกัน มีการขว้างแก๊สน้ำตาจากเฮลิคอปเตอร์ลงมาใส่ผู้ชุมนุม และบนเวทีที่สะพานผ่านฟ้าฯ โดยเจ้าหน้าที่มีอาวุธปืนลูกซองยาว และปืนเอ็ม 16 แต่ผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธใดๆ ปฏิบัติการดังกล่าวกระทำถึงช่วงค่ำ พยานจึงเดินทางจากเวทีที่ราชประสงค์มายังเวทีที่สะพานผ่านฟ้าฯ เมื่อมาถึงก็ได้ยินเสียงปืนจากหลายทิศทาง โดยทราบจากการรายงานสถานการณ์ว่าพบการยิงจากที่สูงด้วย โดยผู้ที่เสียชีวิตและบาดเจ็บส่วนใหญ่ถูกยิงที่ศีรษะและอวัยวะสำคัญ
พยานเบิกความว่า ต่อมาวันที่ 20 เม.ย.2553 ยุบเวทีสะพานผ่านฟ้าฯ ไปรวมตัวกันที่เวทีราชประสงค์ โดยไม่ได้เคลื่อนไปที่ใดอีก กระทั่ง วันที่ 13 พ.ค.2553 เวลาค่ำเกิดเหตุลอบยิง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล บริเวณสถานีรถไฟฟ้า ศาลาแดง จากนั้นทราบว่าเจ้าหน้าที่วางกำลังปิดล้อมรอบบริเวณที่ชุมนุม เช่น ถนนพระราม 4 ย่านบ่อนไก่ ราชปรารภ สามเหลี่ยมดินแดง ซอยรางน้ำ เป็นต้น ทำให้ผู้ที่ต้องการมาชุมนุมไม่สามารถเข้าร่วมได้ และผู้ที่ชุมนุมก็ไม่สามารถออกไปภายนอกได้ เพราะถูกยิงสกัดไว้ นอกจากนี้ ยังประกาศตัดสัญญาณโทรศัพท์ ตัดน้ำ และตัดไฟฟ้าบริเวณพื้นที่การชุมนุม หลังจากวันที่ 13 พ.ค.2553 เป็นต้นมา ทราบข่าวว่ามีประชาชนหลายรายถูกยิงจากจุดต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่ประจำการอยู่ รวมถึงผู้ตายในคดีนี้
จากนั้นทนายญาติผู้ตายถามว่า กลุ่มผู้ชุมนุมมีอาวุธตอบโต้เจ้าหน้าที่หรือไม่ พยานเบิกความว่า ผู้ชุมนุมยิงหนังสติ๊ก และจุดพลุไฟขนาดเล็กใส่เจ้าหน้าที่ แต่รัศมีของพลุไปได้ไม่ถึง 10 เมตร จึงไม่ถึงจุดที่เจ้าหน้าที่ประจำการอยู่แน่นอน
ผู้สื่อข่าวรายงายว่า ภายหลังการไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลนัดฟังคำสั่งในวันที่ 16 ม.ค.2556
ด้านนายณัฐพล ปัญญาสูง ทนายญาติผู้ตาย กล่าวว่า จากพยานที่สืบไปมีทั้งประจักษ์พยาน ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวของสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ที่บันทึกภาพเหตุการณ์ในขณะที่เจ้าหน้าที่เคลื่อนกำลังกดดันกลุ่มผู้ชุมนุม และเล็งปืนยิงไปทางฝั่งของประชาชน เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2553 และประจักษ์พยานที่เป็นคนอุ้มนายบุญมีขึ้นรถจักรยานยนต์รับจ้างนำส่งโรงพยาบาล ที่เบิกความว่าเจ้าหน้าที่เป็นผู้ยิง สอดคล้องกับการตรวจสถานที่เกิดเหตุ และการจำลองเหตุการณ์ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ก็สรุปสำนวนว่าทิศทางแนวกระสุนปืนมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่
นายณัฐพลกล่าวต่อว่า ส่วนพยานรายอื่นๆ ก็เบิกความไปในทิศทางเดียวกัน และยังบอกว่าไม่เห็นประชาชน หรือผู้ชุมนุมมีอาวุธปืนแต่อย่างใด ที่สำคัญนายบุญมีไม่ใช่ผู้ร่วมชุมนุมและไม่มี อาวุธ รวมถึงหัวกระสุนที่ผ่าจากผู้ตายนั้นเป็นขนาด .223 หรือ 5.56 ม.ม. ที่อนุญาตให้ใช้ในราชการเท่านั้น จึงไม่สามารถออกใบอนุญาตให้บุคคลทั่วไปมีไว้ครอบครองได้ ทางฝ่ายทนายญาติผู้ตายจึงมั่นใจว่า จากพยานหลักฐานทั้งหมดครอบคลุมพอที่ศาลจะวินิจฉัยได้ว่าเกิดจากการ กระทำของใคร แต่ทั้งนี้ก็เป็นดุลพินิจของศาลว่าจะมีคำสั่งอย่างไร
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับคดีผู้เสียชีวิตที่คาดว่าอาจเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ในเหตุการณ์สลายม็อบเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 ที่พนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้ศาลไต่สวนหาสาเหตุการเสียชีวิต และใครทำให้ตายนั้น เริ่มจากคดีนายพัน คำกอง คนขับรถแท็กซี่ ที่ศาลมีคำสั่งไปแล้วว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ต่อมาคดีนายชาญณรงค์ พลศรีลา ศาลนัดฟังคำสั่งวันที่ 26 พ.ย. ตามด้วยคดีนายชาติชาย ชาเหลา ฟังคำสั่งวันที่ 17 ธ.ค. และคดีนายบุญมี เป็นสำนวนที่ 4 ศาลนัดฟังคำสั่งในวันที่ 15 ม.ค.2556
วันเดียวกัน มีรายงานข่าวจากพนักงานสอบ สวนดีเอสไอ เปิดเผยว่า ในวันที่ 21 พ.ย. เวลา 10.00 น. นายวีระชัย วีระเมธีกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะเดินทางเข้าให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนคดี 99 ศพ เนื่องจากนายวีระชัยเป็น 1 ใน 13 อดีตรัฐมนตรีที่ร่วมประชุมครม.นัดพิเศษในกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ เมื่อวันที่ 7 เม.ย.2553 ก่อนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และเป็นบุคคลรายที่ 4 ที่จะเข้าให้การ ส่วนอีก 9 ราย ยังไม่ติดต่อขอเข้าพบพนักงานสอบสวนแต่อย่างใด ส่วนกลุ่มนายทหารผู้คุมกำลังระดับผบ.พัน นั้น พนักงานสอบสวนส่งหมายเรียกไปหมดแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการติดต่อมาว่าจะเข้าพบวันเวลาใด