ไต่สวนการตาย พ.ค.53 เสร็จคดีที่ 4 “ณัฐวุฒิ” ร่วมเบิกความ

ประชาไท 22 พฤศจิกายน 2555 >>>


ศาลนัดฟังคำสั่งไต่สวนการตายคดี “ลุงบุญมี” เหยื่อกระสุนเดือนพฤษภา 53 วันที่ 16 ม.ค.นี้ พนง.สอบสวน เบิกความ 3 ประเด็น “ชนิดกระสุน” “ทิศทาง” “และปากคำเจ้าหน้าที่” ชี้การตายเกิดจากกระกระทำของทหาร


                                      ภาพนายบุญมี เริ่มสุข ขณะรักษาตัวก่อนเสียชีวิต

20 พ.ย.55 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 402 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนคําร้อง คดีหมายเลขดํา ที่ ช. 7/2555 ที่พนักงานอัยการ จากสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ขอให้ ศาลไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิต ของนายบุญมี เริ่มสุข อายุ 71 ปี ซึ่งถูกยิงที่ยานบอนไก่ บริเวณท้อง ด้านซ้ายกระสุนตัดลำไส้เล็กขาดตอน เมื่อวันที่ 14 พ.ค.53 และเสียชีวิตเมื่อ วันที่ 28 ก.ค.53 ขณะถูก ยิงเป็นช่วงที่มีการสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายก รัฐมนตรี

โดยในวันนี้เป็นการนัดไต่สวนวันสุดท้ายของคดี โดยมีพยานเบิกความ 4 ปาก ประกอบด้วย พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ วิเศษเขตการณ์ เจ้าหน้าที่สอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) พ.ต.ท.สาธิต ภักดี เจ้าหน้าที่สอบสวน ผู้ชำนาญการพิเศษ สน.บางรัก นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ แห่งชาติ (นปช.) รวมทั้งทนายญาติผู้ตายคือนายดิศักดิ์ ดีสม ได้เบิกความในฐานะพยานด้วยเป็นปากสุดท้ายของการไต่สวนเพื่อนำคำเบิกความของพยานในคดีอื่นที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ส่งศาล

ช่วงเช้า เป็นการเบิกความของ เจ้าหน้าที่สอบสวนของ DSI และ สน.บางรัก ซึ่งทั้งสองปากเบิกความยื่นยันจากผลการสอบสวนเชื่อว่าเป็นการเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ คือจากคำให้การของเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่บริเวณที่เกิดเหตุยืนยันว่าได้ปฏิบัติการบริเวณนั้นจริง หัวกระสุนที่อยู่ในร่างผู้เสียชีวิตเป็นกระสุนขนาด .223 หรือ 5.56 ม.ม. ที่ใช้กับปืนเอ็ม 16 ซึ่งเป็นอาวุธปืนที่เบิกมาใช้ในการปฏิบัติการ ผลการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ที่พยานไปร่วมตรวจสอบด้วย พบรอยกระสุนจำนวนมากที่มีวิถีมาจากฝังเจ้าหน้าที่ประจำการอยู่ รวมทั้งรายงานการชุนสูตรพลิกศพที่ระบุว่าเสียชีวิตจากการติดเชื่อในกระแสเลือดรวมทั้งบาดแผลจากกระสุนปืน นอกจากนี้ผู้ตายยังได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับผู้เข้าเยี่ยมซึ่งมีบันทึกเป็นวีดีโอในระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล ระบุว่าถูกทหารยิง และตรงกับประจักษ์พยานที่ได้มาให้ปากคำ

พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ เบิกความด้วยว่าบริเวณที่ผู้เสียชีวิตถูกยิงมีร่องรอยกระสุนเจาะไปที่ตู้โทรศัพท์ เสา ป้ายต่างๆ สูงจากเข่าถึงหัว จนกระทั้งถึงบนสะพานลอยข้ามถนน ประมาณ เกิน 50 รอย ในช่วงเวลานั้นที่มาการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทราบว่ามีผู้ถูกกระสุนปืนแบบเดียวกับที่ผู้ตายถูกยิงคือ .223 เสียชีวิตประมาณ 15 ศพ ผู้บาดเจ็บประมาณ 100 คน ตั้งแต่สนามมวยมวยลุมพินีไปจนถึงใต้ทางด่วนพระราม 4

สำหรับกระสุนที่ผู้ตายถูกยิงนั้นจากการตรวจสอบ กระสุนมาจากฝั่ง ถนนพระราม 4 ขาเข้า บริเวณหน้าสนามมวยลุมพินี โดยขณะนั้นมีทหารตั้งแนว อยู่หน้าสนามมวย ทั้ง 2 ฝัง วิถีกระสุนมุ่งหน้าไปทางฝั่งคลองเตย และเป็นทิศทางเดียวกับที่พบรอยกระสุนจำนวนมากบริเวณนั้น

เจ้าหน้าที่สอบสวนจาก DSI ยังเบิกความอีกว่า จากการสอบสวนในภายหลังและตรวจที่เกิดเหตุ และการตรวจคลิปเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 14-19 พ.ค.53 กระสุนจะยิงจาก 2 ฝั่งเป็นลักษณะสลับฟันปลา ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารจะตั้งกระสอบทราย หน้าสนามมวยลุมพินี โดยหากอยู่ฝั่งซอยงามดูพลีจะยิงไปฝั่ง ซ.ปลุกจิตหรือปั้ม ปตท. รวมทั้งจากการสอบสวนเจ้าหน้าที่ทหารผู้ปฏิบัติการ นอกจากประจำอยู่หน้าสนามมวยแล้วยังมีการเคลื่อนที่ในวันแรก คือวันที่ 14 พ.ค. เลยปั้ม ปตท. สาขาพระรามสี่ และกลับมาตั้งแนวถาวรที่หน้ามสนามมวย

พ.ต.ท. สาธิต เบิกความว่าได้รับเอกสารจาก DSI  เป็นซีดีวีดีโอและการถอดเทปวีดีโอที่มีการสัมภาษณ์ผู้ตายในระหว่างการรักษาตัวที่โรงพยาบาลระบุว่าถูกยิงมาจากฝั่งทหาร

เจ้าหน้าที่สอบสวน สน.บางรัก เบิกความผลการสอบสวนว่าผู้ตาย ถูกยิงเวลา 16.00 น. วันที่ 14 พ.ค. 53 บริเวนถนน พระราม 4 รักษาตัวและเสียชีวิตวันที่ 28 ก.ค. 53 สาเหตุเสียชีวิตจากติดเชื้อในกระแสเลือดร่วมกับบาดแผลที่ถูกยิง

พ.ต.ท. สาธิต เบิกความด้วยว่า จากการสอบสวน พ.อ.เพชรพนม โพธิ์ชัย อดีตผบ.กองพันทหารม้าที่ 5 รักษาพระองค์(ม.พัน 5 รอ.) และเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่บริเวณเกิดเหตุยอมรับได้เขาไปปฏิบัติการในที่เกิดเหตุ ซึ่งในระหว่างนั้นก็ได้ยิงปืนเอ็ม 16 และลุกซอง แต่ให้การว่าใช้กระสุนซ้อมและยาง

ทั้งนี้ พ.ต.ท. สาธิต เบิกความอีกว่าตนเองได้ซีดีวีดีโอจากช่างภาพช่อง 7 ที่ตามบันทึกภาพวีดีโอขณะเจ้าหน้าที่ทหารปฏิบัติการและยิงปืน จึงได้ให้ผู้ชำนาญการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติดูภาพลักษณะการใช้อาวุธปืน ซึ่งได้พิจารณาว่าหากกรณียิงกระสุนซ้อม จะต้องมีการคัดปลอกกระสุนออก แต่ตามภาพวีดีโอไม่มีการดึงคันรั้งลูกเลื่อนเพื่อคัดปลอกกระสุน อย่างไรก็ตามกรณีที่ไม่มีการดึงคันรั้งเพื่อคัดปลอกกระสุนออก ผู้ชำนาญการอธิบายว่าจะต้องมีอแดปเตอร์สวมไว้ที่ปากลำกล้องปืน เพราะอุปกรณ์นี้ทำให้ปากกระบอกปืนเล็กลงจึงมีแรงดันพอที่จะคัดปลอกกระสุนออกมาเองได้ แต่ตามภาพวีดีโอนั้นไม่พบอุปกรณ์ดังกล่าวติดอยู่ จึงเชื่อได้ว่าลักษณะการยิงดังกล่าวจะเป็นการใช้กระสุนจริง

ส่วนเรื่องชายชุดดำในกลุ่มผู้ชุมนุม พ.ต.ท. สาธิต เบิกความว่าจากการสอบสวน เจ้าหน้าที่ทหารและชาวบ้านบริเวณนั้น ระบุว่าไม่พบ และจากการสอบสวนในบริเวณผู้ตายถูกยิง เจ้าหน้าที่ตั้งด่านแข็งแรง ที่ห้ามคนเข้าออกไปที่สี่แยกราชประสงค์ได้ การตั้งด่านแบบนั้นจากทิศทางกระสุนปืนด้านหลังจึงทหารไม่สามารถมีใครเข้าไปหรือยิงมาได้ และขณะที่ผู้ตายถูกยิงนั้นไม่มีอาวุธ และไม่ได้เป็นผู้ชุมนุมกับ นปช. แต่อาศัยบริเวณนั้น ซึ่งขณะเกิดเหตุออกมากินข้าว และดูกลุ่มผู้ชุมนุม จากนั้น ทหารไล่ผู้ชุมนุมมา จึงถูกยิง

หลังจากนั้นในช่วงบ่าย นายณัฐวุฒิ ได้เข้าเบิกความยืนยันการชุมนุมของ นปช. เมื่อ มี.ค.-พ.ค.53 มีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้นายก คือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนเพื่อให้มีการเลือกตั้ง เพราะเห็นว่าการเป็นรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์นั้นไม่ได้มาด้วยกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย แต่กลับถูกรัฐบาลปฏิเสธข้อเรียกร้อง โดยมีการชุมนุมตั้ง แต่วันที่ 12 มี.ค. ที่ราชดำเนิน 7 เม.ย.53 รัฐบาลประกาศสถานการฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ตาม พรก.ฉุกเฉิน และตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินหรือ ศอฉ. ดูแลสถานการณ์โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ขณะนั้น เป็นผู้อำนายการ

นายณัฐวุฒิ เบิกความว่า ตลอดเวลาตั้งแต่ชุมนุมถึงวันที่ 7 เม.ย.53 ผู้ชุมนุมไปที่ต่างๆ โดยไม่มีความรุนแรง หลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐบาลได้ตัดสัญญาณช่องพีเพิลชาแนลที่ถ่ายทอดสื่อสารการเคลื่อนไหวของ นปช.ให้กับประชาชนได้รับทราบ หลังจากนั้น 9 เม.ย. ตนและนปช. จึงเพื่อไปชุมนุมที่สถานีดาวเทียมไทยคม เพื่อเรียกร้องให้ต่อสัญญาณ โดยที่นั่นมีเจ้าหน้าที่ที่มีอาวุธสงครามแต่ก็ไม่มีเหตุร้ายแรงใดๆ และได้รัฐบาลได้ต่อสัญญาณดาวเทียม พวกตนได้กลับไปที่ชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์ แต่กลับถูกตัดสัญญาณอีก และนายกแสดงความไม่พอใจทางโทรทัศน์ และประกาศจะไม่ยอมให้เกิดเหตุนี้อีก

จนกระทั้งวันที่ 10 เม.ย.53 ช่วงสายได้รับรายงานว่าจะมีการเคลื่อนที่ สะพานผ่านฟ้า ผู้ชุมนุมได้เผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่เพื่อไม่ให้เข้ามา ในเหตุการณ์นั้นทหารมีอาวุธสงคราม มีปฏิบัติการต่อเนื่องจนถึงค่ำ จนกระทั้งมีประชาชนและเจ้าหน้าที่ทหารถูกยิงเสียชีวิต 25 ราย โดยประชาชนส่วนใหญ่ถูกยิงที่อวัยวะสำคัญและศีรษะ ก่อนที่ทหารจะหยุดปฏิบัติการ

วันที่ 13 พ.ค.ถ- เกิดเหตุลอบยิง เสธ.แดง หรือ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ที่ ที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินศาลาแดง(สีลม) หลังจากนั้นได้รับรายงานว่าทหารได้ปิดกั้นบริเณรอบราชประสงค์ ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าร่วมได้ จึงเกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารกับประชาชนตามจุดต่างๆ เช่น ถนนพระรามสี่ ราชปรารภ แดนแดง ซ.รางน้ำ ส่งผลคนเข้าก็ไม่ได้ออกก็ไม่ได้เพราะทหารยิงสกัดอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งรัฐบาลประกาศตัดน้ำ ไฟ สัญญาณโทรศัพท์ บริเวณที่ชุมนุม

นอกจากนี้ แกนนำ นปช. เบิกความว่า ผู้ที่มาชุมนุม มีทั้งบุคคลทุกเพศวัย หลายสาขาอาชีพ สำหรับคำว่า การ “กระชับพื้นที่” ของ ศอฉ. นั้นหมายถึงการสลายการชุมนุม การวางกำลังอาวุธครบมือเพื่อสลายการชุมนุมในเหตุการณ 10 เม.ย. และ 13 ถึง 19 พ.ค.ถ- นั้น เป็นการปฏิบัติการทางการทหาร มีการใช้อาวุธสงคราม เขตกระสุนจริง อาวุธปืนติดลำกล้อง กระสุนจริง เป็นต้น รวมทั้งมีการนำส่งภาพพลซุ่มยิงให้กับศาล เพื่อยืนยันถึงการปฏิบัติการว่าไม่เป็นไปตามหลักสากล

แกนนำ นปช. เบิกความยืนยันว่าการชุมนุมของ นปช. ไม่ใช่การก่อการร้ายตามที่ ศอฉ.กล่าวอ้าง เนื่องจากชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ สำหรับคดีนี้ทราบจากข่าวว่าลุงบุญมีหรือผู้ตายถูกยิงที่บริเวณลำตัว วันที่ 14 พ.ค 53 ที่หน้าปั้มน้ำมัน ปตท. ทราบว่าแนวที่ถูกยิงมาจากทิศที่ทหารตั้งกำลังอยู่ โดยผู้ตายไม่มีอาวุธ ผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธทำร้ายเจ้าหน้าที่ แต่ทราบว่ามีการยิงลูกพลุตะไลของเล่นที่มีระยะยิงเพียง 10 เมตร ซึ่งไม่ถึงแบะไม่เป็นอันตรายกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งใช้บางส่วนมีการใช้หนังสติ๊ก

ทั้งนี้คดีไต่สวนการเสียชีวิตลุงบุญมี ถือเป็นคดีที่ 4 ที่ไต่สวนเสร็จสิ้น ในคดีการเสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุม เม.ย.- พ.ค. 53 โดยศาลจะมีคำสั่งในวันที่ 16 ม.ค. 56 เวลา 9.00 น. ซึ่งเมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา มี 1 คดีที่ ศาลได้มีคำสั่งว่าเป็นการเสียชีวิตจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่แล้ว คือคดีของการตายนายพัน คำกอง คนขับแท็กซี่ที่ถูกยิงเสียชีวิตคืนวันที่ 14 ต่อ 15 พ.ค.53 บริเวณแอร์พอร์ตลิงก์ราชปรารภในเหตุการณ์ทหารยิงรถตู้ที่วิ่งเข้ามา ส่วนอีก 2 คดีที่มีการไต่สวนเสร็จและรอคำสั่งศาล คือคดีนายชาญณรงค์ พลศรีลา คนขับรถแท็กซี่เสื้อแดงที่ถูกยิงและเสียชีวิตบริเวณหน้าปั้มเชลล์ ถนนราชปรารภ โดยศาลอาญา รัชดา จะมีคำสั่งในวันที่ 26 พ.ย. นี้ ส่วนอีกคดีคือคดีของนายชาติชาย ชาเหลา อายุ 25 ปี ที่ถูกยิงเสียชีวิตคืนวันที่ 13 พ.ค.53 ที่บริเวณหน้าบริษัท กฤษณา มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ถนนพระราม 4 ตรงข้ามสวนลุมพินี โดยศาลนัดฟังคำสั่ง 17 ธ.ค. นี้