มติชน 15 พฤศจิกายน 2555 >>>
หมายเหตุ - กลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) ที่ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือเสธ.อ้ายเป็นประธาน นัดชุมนุมกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้าในวันที่ 24 พฤศจิกายน ซึ่งรัฐบาลหวั่นว่าจะมีผู้ชุมนุมมาร่วมจำนวนมากและอาจมีมือที่ 3 สร้างสถานการณ์ความวุ่นวาย จึงมอบหมายให้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นผู้อำนวยการสถานการณ์ ส่วนด้านการข่าวมี พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เกาะติด ทั้งสองให้ความเห็นถึงภาระหน้าที่ในดูแลกลุ่มผู้ชุมนุม มีสาระสำคัญดังนี้
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว
ทางรัฐบาลจะมอบให้ผมเป็นผู้อำนวยการในการดูแลสถานการณ์ เป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ทางรัฐบาลน่าจะใช้กฎหมายฉบับนี้เข้ามาดำเนินการ รับมือการชุมนุม เพราะไม่มีกฎหมายอื่น ต้องใช้เพื่อให้มีอำนาจในการดูแล หลักคือให้การชุมนุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าจะใช้กำลังตำรวจ 50,000 นาย
- เป็นการเตรียมกำลังไว้ตามลำดับขั้น ไม่ได้ใช้กำลัง 50,000 นายในคราวเดียว เป็นลักษณะเตรียมพร้อมไว้ให้สอดคล้องกับจำนวนผู้ชุมนุม การระดมกำลังตำรวจเป็นไปตามลำดับขั้นตามแผนกรกฎ 52 ขั้นต้นใช้กำลังกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เป็นหลัก หากไม่พอจะระดมกำลังจากกองบัญชาการ (บช.) ใกล้ๆ เช่น กองบัญชาการตำรวจภูธร ภาค 1, ภาค 2 และภาค 7 และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) มาเสริม เบื้องต้นสั่งกำลังเตรียมพร้อม การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่เป็นไปตามลำดับขั้น ตามกฎการใช้กำลัง
เหตุการณ์ม็อบชนม็อบไม่น่าห่วง การข่าวยังไม่พบการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงคู่ขนานกันแต่อย่างใด ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกจำนวนผู้ชุมนุมได้ ต้องติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง แต่คาดว่าจะมาชุมนุมกันจำนวนมาก
ตำรวจยึดหลักว่าการชุมนุมคือสิทธิ ตำรวจมีหน้าที่ดูแลให้เป็นไปอย่างเรียบร้อยและปลอดภัยที่สุด ยืนยันว่าไม่มีการบล็อก หรือสกัดผู้ชุมนุมที่มาจากต่างจังหวัด แต่ที่ห่วงคือการมีอาวุธ หรือการแฝงมาของมือที่ 3 ต้องมีการตรวจ วางมาตรการดูแลจุดนี้ การดูแลการชุมนุมครั้งนี้มีแผนกรกฎ 52 เป็นแผนหลัก แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะออกแผนพิเศษเป็นการเฉพาะ
โดยผมจะควบคุมบัญชาการเองที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) ชั้น 20 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร
บอกไม่ได้ว่าใครอยู่เบื้องหลังการชุมนุมครั้งนี้ หากสังเกตจะเห็นว่าเป็นคนกลุ่มเดิม ที่ทำให้เกิดปัญหาระหว่างคน 2 ขั้ว และเป็นกลุ่มเดียวกันกับที่เคยสร้างปัญหาเมื่อก่อนเดือนกันยายน 2549
การชุมนุมของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยามในวันที่ 24 พฤศจิกายน ประเมินว่าประชาชนจะมาร่วมชุมนุมมากพอสมควร เนื่องจากมีการประสานงานและจัดตั้ง
หากดูจากการชุมนุมครั้งที่แล้วประกอบกับการข่าวที่ดูจากการพูดคุยของเขาในช่วงเวลาที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าค่อนข้างมีระบบ เพราะมีมวลชนของเขาเองในเบื้องต้นคาดว่าในวันที่ 24 พฤศจิกายน จะมีผู้มาชุมนุมสูงถึง 60,000 คน โดยไม่รวมการ์ดที่สังกัดพรรคการเมือง พอตัวเลขสูงขนาดนี้ต้องการมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มข้นขึ้น แต่ยังยืนบนหลักสันติวิธี
ความเข้มงวดของเราคือต้องตรวจค่อนข้างละเอียดก่อนเข้าพื้นที่ เพื่อป้องกันเหตุที่จะเกิดขึ้น ส่วนมือที่ 3 นั้น การที่มีผู้ร่วมชุมนุมมาก เบื้องหลังการชุมนุมตามที่เสนอมา 3-4 ข้อ แต่เมื่อขยายผลแล้วยังเห็นว่ายังไม่เพียงพอต่อการชุมนุม เพียงเป็นเหตุผลทางการเมืองมากกว่า แต่เมื่อยืนยันจะมาชุมนุม แสดงว่าต้องมีอะไรอยู่เบื้องหลัง ต้องมีแน่ และยังเป็นกลุ่มเดิมๆ
เนื้อหาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจอาจมีการจูงใจ ทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ ซึ่งไม่ประมาท เมื่อมีคนหมู่มากปัญหาระหว่างคน 2 ขั้วยังคงอยู่ อาจเกิดเป็นปัญหาอุบัติเหตุมือที่ 3 เข้ามาเกี่ยวข้องได้ มือที่ 3 เป็นไปตามที่ ร.ต.อ.เฉลิมพูดไว้ว่า อาจจะมีทั้ง 2 ฝ่าย หรือเป็นมือที่ 3 ที่ไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายใดเลยเข้ามาร่วมในสถานการณ์ ในแง่การข่าวประเมินกันอย่างนี้ เมื่อมีคนมาเยอะเราไม่ประมาท
คนมาชุมนุมเยอะไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นหากมีมวลชนมาปะทะกัน สิ่งสำคัญคือ ต้องป้องกันไม่ให้มวลชนมาปะทะกัน ฝ่ายรัฐบาลเลยสื่อไปทางมวลชนเสื้อแดงว่าไม่ต้องมา หากต้องการชุมนุมให้ไปชุมนุมที่อื่น เพื่อไม่ให้เกิดเงื่อนไขในการปะทะ แต่ถ้าจะเผชิญก็จะเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ แต่ทางรัฐบาลและทหารชัดเจนว่าจะไม่ใช้แนวทางนี้ เพราะเงื่อนไขจะเกิดและผู้ชุมนุมต้องการให้เป็นแบบนี้ เพื่อให้ทหารออกมาปราบ ถ้าเราป้องกันไม่ให้เกิดการปะทะได้ ไม่จำเป็นต้องเพิ่มกำลังทหาร
ครั้งนี้กำลังตำรวจที่เตรียมไว้ค่อนข้างมาก อาจใกล้เคียงจำนวนผู้ชุมนุมหรือมากกว่า กันไว้ดีกว่าแก้ เพื่อป้องกันเหตุเกี่ยวกับผู้ชุมนุม
ทั้งนี้ เราเคารพสิทธิของผู้ชุมนุม แต่ถ้าการชุมนุมเลยเถิด จำเป็นต้องเคารพสิทธิของผู้ที่อาจถูกละเมิดด้วยเช่นกัน และจะประชุมกันอีกครั้งเพื่อตกผลึกก่อนที่จะมีการชุมนุมว่าจะมีมาตรการและดำเนินการอย่างไรเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี
มองว่าการชุมนุมน่าจะยืดเยื้อ เพื่อความไม่ประมาทได้เตรียมกำลังรับมือ เตรียมรักษาความปลอดภัยของสถานที่ จัดระเบียบเรื่องสิ่งกีดขวาง
ที่สำคัญสุด ครั้งนี้เราได้เชิญคณะกรรมการองค์กรอิสระทั้งหลาย อาทิ ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ องค์กรต่างประเทศทั้งหลาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปรามปราม
กางแผนกรกฎ52
การปฏิบัติตามแผนรักษาความสงบ (กรกฎ/52) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แบ่งเป็น 4 ขั้นตอน
ขั้นตอนที่ 1 ขั้นเตรียมการ (ก่อนเกิดเหตุ) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการด้านการข่าวประสานงานกับหน่วยงานข่าวต่างๆ อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ตั้งหน่วยเฉพาะกิจเพื่อสนับสนุนตามแผน เตรียมกำลังหน่วยต่างๆ ทั้งหน่วยปฏิบัติ หน่วยสนับสนุน รวมทั้งหน่วยเฉพาะกิจ จัดการฝึกอบรมซักซ้อมการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง จัดเตรียม จัดหาสิ่งอุปกรณ์ เตรียมเคลื่อนย้ายหน่วยเข้าปฏิบัติภารกิจและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เตรียมการด้านส่งกำลังบำรุง
เตรียมสถานที่ควบคุม สถานที่สอบสวนกรณีมีการจับกุมและควบคุมผู้ก่อความไม่สงบจำนวนมาก ดำเนินการด้านชุมชนและมวลชนสัมพันธ์ทุกรูปแบบให้เป็นธรรม และเตรียมปฏิบัติการด้านประชาสัมพันธ์และจิตวิทยาต่อประชาชน จัดทำแผนปฏิบัติการเฉพาะกรณีเฉพาะพื้นที่ในการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบทุกรูปแบบ เตรียมตั้งศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า (ศปก.สน.) ในพื้นที่ เพื่อควบคุมสั่งการ กำหนดตัวผู้รับผิดชอบ อำนวยการและสั่งการแต่ละพื้นที่ แต่ละขั้นตอนไว้ให้ชัดเจน ให้สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ (สยศ.ตร.) ติดตามประเมินผลการปฏิบัติอย่างเป็นระบบและมีรูปธรรมชัดเจน
ขั้นตอนที่ 2 การเผชิญเหตุ (ขณะเกิดเหตุ) เมื่อมีสถานการณ์ก่อความไม่สงบเกิดขึ้น ให้หน่วยงานรับผิดชอบพื้นที่จัดส่งกำลังตำรวจท้องที่เข้าระงับเหตุ รักษากฎหมาย จัดระเบียบบริเวณที่เกิดเหตุและบริเวณใกล้เคียง ด้วยการแยกพื้นที่เกิดเหตุออกจากพื้นที่ทั่วไป กันประชาชนให้อยู่ห่าง ไม่ให้เข้าพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อความปลอดภัยและสะดวกต่อการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่
ดำเนินการรักษาความปลอดภัยสถานที่และบุคคลสำคัญ โดยเฉพาะเป้าหมายที่อยู่ใกล้สถานที่เกิดเหตุ จัดการจราจรบริเวณที่เกิดเหตุและพื้นที่ต่อเนื่อง เพื่อให้กระทบต่อสาธารณชนน้อยที่สุด ใช้ศูนย์ปฏิบัติการแต่ละระดับตั้งแต่ บก.ภ.จว. /บก.น./บช.น./บช.ภ.1-9 และ ศชต. ในการติดตามควบคุมสั่งการรักษาความสงบและแก้ไขปัญหาตามขั้นตอน
ใช้การเจรจาต่อรองหรือปฏิบัติการ โดยใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก เร่งสืบสวนข้อเท็จจริงรวบรวมพยานหลักฐาน เช่น ภาพถ่าย ชื่อสกุล ข้อมูลแกนนำ ผู้ปฏิบัติงานหลัก ฝ่ายรักษาความปลอดภัย ฝ่ายปฏิบัติการต่างๆ ของผู้มารวมตัวกัน และมีแนวโน้มว่าจะก่อความไม่สงบ รวมทั้งจัดเก็บภาพนิ่งและภาพวีดิทัศน์ในเหตุการณ์ เพื่อใช้ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและการดำเนินคดีอาญา ประชาสัมพันธ์ให้ทราบข้อเท็จจริงของสถานการณ์และการกระทำว่าผิดตามกฎหมายใด มีอัตราโทษอย่างไร
กรณีที่ยังไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้ทันทีหรือเป็นการละเมิด เป็นการสร้างความเดือดร้อนแก่สาธารณชน สังคม ให้ใช้มาตรการตามกฎหมาย โดยร้องขอต่อศาล ให้ผู้ก่อความไม่สงบหรือผู้มารวมตัว ยุติการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิทำความเดือดร้อนให้ผู้อื่น
ขั้นตอนที่ 3 ใช้กำลังเข้าคลี่คลายสถานการณ์ ประกอบด้วย
1.เมื่อการเจรจาต่อรองหรือปฏิบัติการอื่นใดไม่เป็นผล สถานการณ์กลับทวีความรุนแรงขึ้นจนถึงขั้นจะเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและของทางราชการ ให้ผู้บัญชาการเหตุการณ์พิจารณาสั่งใช้กำลังเข้าแก้ไขสถานการณ์ และรายงานให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทราบ ผ่าน ศปก.ตร.ทันที
2.กรณีความไม่สงบจากการชุมนุมเรียกร้อง เมื่อเกิดการละเมิดกฎหมายและอาจนำไปสู่ความรุนแรง นอกเขตกรุงเทพมหานคร ให้ผู้บัญชาการเหตุการณ์ประสานปรึกษากับผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ได้รับมอบหมายก่อนสั่งใช้กำลังเพื่อเข้ายับยั้งหรือคลี่คลายสถานการณ์
3.กรณีการชุมนุมเรียกร้องหากมีการกระทำผิดกฎหมายชัดเจน และผลการกระทำอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือผู้กระทำผิดอาจหลบหนีไปก่อน ให้ผู้บัญชาการเหตุการณ์พิจารณาดำเนินการตามความจำเป็นเร่งด่วน แล้วรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บังคับบัญชาทราบ
4.การใช้กำลังเข้าแก้ไขสถานการณ์ ให้เป็นไปตามสมควรแก่เหตุ และกฎการใช้กำลัง ตามลำดับดังนี้
4.1 การแสดงกำลังของตำรวจ
4.2 การใช้คำสั่งเตือน
4.3 การใช้มือเปล่าจับกุม
4.4 การใช้มือเปล่าจับล็อกบังคับ
4.5 การใช้เครื่องพันธนาการ ปืนยิงตาข่าย
4.6 การใช้คลื่นเสียง
4.7 การใช้น้ำฉีด
4.8 อุปกรณ์เคมี เช่น แก๊สน้ำตา สเปรย์พริกไทย
4.9 กระบองหรืออุปกรณ์ที่ใช้ตี และ
4.10 อาวุธที่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น กระสุนยาง และอุปกรณ์ชอร์ตไฟฟ้า
5.หากดำเนินการตามข้อ 4 แล้วยังไม่สามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้ ให้เสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผ่าน ศปก.ตร. เพื่อเสนอรัฐบาล ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและมอบหมายให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าวเข้ารับผิดชอบ หรือพิจารณาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเฉพาะพื้นที่เพื่อเพิ่มอำนาจในการปฏิบัติตามกฎหมายให้แก่เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ หรือประกาศกฎอัยการศึกเพื่อปราบปรามขั้นเด็ดขาด ซึ่งการปฏิบัติชั้นนี้ฝ่ายทหารจะเป็นผู้รับผิดชอบสั่งการ
ขั้นตอนที่ 4 การฟื้นฟู (หลังเกิดเหตุ) เมื่อสถานการณ์อันเกิดจากความไม่สงบเรียบร้อยคลี่คลายสู่สภาวะปกติ ให้หน่วยงานดำเนินการสอบสวนดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด จัดหน่วยทำหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของผู้ปฏิบัติงาน สนับสนุนส่วนราชการที่มีหน้าที่ฟื้นฟู บูรณะทรัพย์สินของทางราชการ เมื่อได้รับการร้องขอ