‘ความจริงวิบัติ !’ ใบอนุญาตฆ่า ?

โลกวันนี้ 1 ตุลาคม 2555 >>>


   “รายงาน คอป. ไม่ใช่รายงานฉบับสุดท้าย และสถานการณ์จะคลี่คลาย ความจริงก็จะเปิด มากขึ้น แต่อย่าถือว่าเราเป็นความจริงที่เป็นจริงที่สุด แต่เราเป็นความจริงที่เชื่อถือได้”
คำแถลงของนายสมชาย หอมลออ ประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบและค้น หาความจริง คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และรายงานฉบับสมบูรณ์ที่ถือเป็นรายงานสุด ท้ายของ คอป. เมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา กลายเป็นประเด็นร้อนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากมาย โดยเฉพาะการเน้นว่ามี “ชายชุดดำ” เคลื่อนไหวแทบทุกจุดในการชุมนุมของคนเสื้อแดงหรือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และมีความใกล้ชิดกับ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก และการ์ด นปช. บางคนนั้น
นายสมชายระบุว่า “ชายชุดดำ” ทำให้ทหาร ตำรวจ และพลเรือนเสียชีวิตจำนวน 9 คน แม้แต่การเผาเซ็นทรัลเวิลด์ ระหว่างไฟไหม้มีผู้ชุมนุมอยู่ แต่ทหารยังไม่ได้เข้าไป โดยยืนยันว่ามี “ชายชุดดำ” จริง และมีการก่อวินาศกรรม
ขณะที่นายคณิต ณ นคร ประธาน คอป. กล่าวถึงการประชุมครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมว่า มีกรรมการ คอป. คนหนึ่งกล่าวว่า “หลังแถลงข่าวเสร็จ ขอให้คณะกรรมการแยกย้ายกันทันที เพราะ ผมเชื่อว่าหลังรายงานฉบับนี้ถูกเผยแพร่ คนเสื้อแดงและคุณทักษิณจะเกลียดผมและพวกคุณเข้าไส้”
อย่างไรก็ตาม นายคณิตยืนยันว่า คอป. ทำหน้าที่ได้ดีและสมบูรณ์ที่สุดแล้ว ส่วนที่ถูกมองว่ามีข้อมูลไม่ครบเพราะ คอป. ไม่มีอำนาจเรียกพยานมาให้ปากคำนั้น ส่วนตัวกลับมองว่าเป็นจุดแข็ง เพราะคนที่ให้ข้อมูลมาด้วยความสมัครใจ เต็มใจ และอยากมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาประเทศชาติ ส่วนการที่นายสมชายเน้นเรื่อง “ชายชุดดำ” มากกว่าการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐนั้น ต้องไปถามนายสมชายเอง แต่ในรายงานพูดถึงทุกภาคส่วน และส่วนใหญ่ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องของอารมณ์ทั้งนั้น จึงพูดมาตลอดว่าประสาทการรับฟังของคนเรามันบอด ถ้าเรารับฟังก็ต้องไม่พูดด้วยอารมณ์ แต่ใช้เหตุผลคุยกัน
   “ผมอาจยอมรับได้ว่ารายงานของเราไม่สมบูรณ์ ก็เราทำได้อย่างนี้ จะมาคาดคั้นอะไรอีก มีต่างชาติมาเสนอเงินช่วยเหลือแต่ผมปฏิเสธ บอกเลยว่าไม่รับเป็นเงิน แต่ถ้าจะส่งผู้เชี่ยวชาญมาเรายินดี ซึ่งหลายประเทศส่งคนมาช่วย”
ส่วนกรณีที่นายคณิตระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งหมด เพราะเห็นว่าหากไม่มีคดีซุกหุ้นที่ศาลรัฐธรรม นูญวินิจฉัยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ผิดแล้ว บ้านเมืองคง ไม่เกิดวิกฤตจนทุกวันนี้ จึงเรียกร้องให้เสียสละเพื่อชาติเหมือนนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส โดยยุติ บทบาททางการเมือง ไม่ได้บอกว่าไม่ให้กลับประเทศ ไทย แต่เป็นเรื่องที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องเป็นผู้พิจารณาเอง

แก้ตัวให้ “คนสั่ง-คนฆ่า"

นางพวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ประสานศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลาย การชุมนุมเดือน เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) กล่าวว่า สิ่งที่ คอป. พยายามนำเสนอเรื่อง “ชายชุดดำ” มาอธิบายทุกเหตุการณ์โดยขาดหลักฐานหนักแน่น ไม่เน้นข้อมูลฝ่ายประชาชน แต่เชื่อข้อมูลและลมปากของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยไม่มีการตรวจสอบอย่างชัดเจน การทำงานของ คอป. จึงเหมือนไฟลนก้นที่เอาข้อมูลมาตัดแปะตามโครงเรื่องที่วางไว้ แล้วสรุปว่ารัฐบาลและ ศอฉ. แค่ ประมาทเลินเล่อ ปกป้องผู้สั่งการ แต่โยนความผิดให้เจ้าหน้าที่ระดับล่าง “ผิดทั้งคู่” รายงานของ คอป. จึงเหมือนข้อแก้ตัวให้ ศอฉ. และรัฐบาลอภิสิทธิ์ในอนาคต
การเน้นว่า “ชายชุดดำ” ปรากฏตัวอยู่แทบทุกจุด ทุกสถานที่ที่มีความรุนแรงตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 และเกี่ยวข้องกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นนัยที่กำลังจะบอกว่าการชุมนุมของ นปช. เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม ไม่เป็นสันติวิธี รัฐจึงมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะใช้กำลังสลายการชุมนุมได้ หรือเจ้าหน้าที่รัฐสามารถใช้ความรุนแรงเพื่อตอบโต้ชายชุดดำได้ แต่รายงานไม่มีการกล่าวอย่างชัดเจนว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังเกินกว่าเหตุในกรณีใดบ้าง ไม่มีการวิจารณ์การพยายามควบคุมฝูงชนด้วยการขนอาวุธหนัก ใช้กระสุน 100,000-200,000 นัด ใช้กำลังทหารมากมายว่าเหมาะสมถูกต้องหรือไม่
ไม่มีการวิจารณ์ว่าเป้าหมายที่แท้จริงของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพียงเพื่อขอคืนพื้นที่ หรือเพื่อต้องการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง แต่ คอป. เขียนโดยเริ่มด้วยการอธิบายความรุนแรงในทุกจุด และมักเริ่มจากการย้ำก่อนว่า ศอฉ. ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามขั้นตอนการสลายการชุมนุมอย่างเคร่งครัดว่าการใช้กระสุนจริงกระทำได้ใน 3 กรณีเท่านั้นคือ ยิงขึ้นฟ้า ยิงเพื่อขู่ และยิงเพื่อป้องกันตัวเองในกรณีที่พบว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธร้ายแรง ซึ่งอาจส่งผลต่อชีวิตของเจ้าหน้าที่ จากนั้นตามด้วยการบรรยายว่าก่อนเกิดเหตุความรุนแรงมีผู้เห็นชายชุดดำในที่เกิดเหตุพร้อมอาวุธสงครามในทุกสถานที่ ไม่ว่าสี่แยกคอกวัว วัดปทุมวนาราม สวนลุมพินี และบ่อนไก่ ฯลฯ
การอธิบายลักษณะนี้ คอป. พยายามช่วยสร้าง เกราะกำบังให้ผู้นำรัฐบาลและผู้นำ ศอฉ. ขณะนั้นว่าได้กำชับแล้วว่าให้ใช้อาวุธอย่างถูกต้องตามขั้นตอน แต่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการไม่ได้ทำตามคำสั่ง อีกทั้ง คอป. ไม่สามารถทำให้เห็นได้ว่าทำไมเจ้าหน้าที่จึงไม่จับกุมหรือยิงชายชุดดำ แต่กลับใช้วิธียิงใส่ผู้ชุมนุมที่ไม่มีอาวุธ หรือผู้ชุมนุมที่มีอาวุธแต่ไม่ร้ายแรงพอที่จะทำร้ายเจ้าหน้าที่ในระยะใกล้ได้ รวมถึงคำถามว่าทำไมจึงยิง 6 ศพที่วัดปทุมวนาราม ซึ่ง คอป. ก็ไม่ได้อธิบาย คอป. จึงต้องชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการตายของผู้ชุมนุมและวิถีกระสุนมาจากจุดที่มีกองกำลังของทหารตั้งอยู่หรือชายชุดดำ
โดยก่อนหน้านี้ ศปช. ระบุว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ 87% ตายเพราะกระสุนเจาะเข้าที่ส่วนบนของร่างกายคือ ศีรษะ/คอ 30% หน้าอก 22% ลำตัวถึงเข่า 30% แสดงว่าทิศทางการยิงกระสุนจริงของเจ้าหน้าที่น่าจะเป็นแนวระนาบ หรือยิงจากด้านบน ไม่ใช่การยิงขึ้นฟ้าอย่างที่ ศอฉ. กล่าวอ้าง แต่รายงานหน้า 95 ของ คอป. ระบุว่าตรวจสอบพบว่าเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธปืนลูกซองยิงไปทางผู้ชุมนุม หลายคนใช้ ปลย. กระสุนจริงยิงขึ้นฟ้า บางคนมีอาวุธปืนพก แต่ไม่พบว่าเจ้าหน้าที่ยิงปืนในแนวระนาบไปในทิศทางที่ผู้ชุมนุมอยู่

กระสุนที่ไม่มีคำตอบ

ข้อมูลอีกด้านที่น่าสนใจคือ วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหาร “บางกอกโพสต์” ได้โพสต์ข้อความเรื่อง “กระสุน” ที่ไม่มีในรายงาน คอป. ซึ่งกองทัพบกสรุปว่ายอดกระสุนที่ใช้สลายม็อบแดง 191,949 นัด มีกระสุนซุ่มยิงสไนเปอร์หลายแบบ แต่ที่เป็นสไนเปอร์จริงๆของหน่วยรบพิเศษใช้ไป 500 นัด ส่วนปืนซุ่มยิงดัดแปลง M1 ใช้ไป 4,842 นัด ซึ่งกองทัพพยายามให้เวลาหน่วยต่างๆนำมาคืนให้มากที่สุดทั้งที่ผ่านมาแล้ว 2 ปี
   “ครั้งแรกตัวเลขกระสุนสูงปรี๊ดจนไม่กล้าสรุป ทบ. ให้เวลาหน่วยไปหากระสุนมาคืนคลังให้ได้มากที่สุด จนมีการส่งคืนครั้งที่ 2 แล้วสรุปออกมาว่ามีการเบิกจ่ายกระสุนไป 9 ชนิด รวม 778,750 นัด และมีการส่งยอดคืนจำนวน 586,801 นัด สรุปใช้ไปจำนวน 191,949 นัด แม้ตัวเลขรวมจะมากกว่ารายงานของ คอป. แต่ยอดกระสุนสไนเปอร์จริงๆรวม 500 นัด โดยรายงานนี้จะนำเสนอต่อ พล.อ. ประยุทธ์ ผบ.ทบ. หลังกลับจากเยือนอินโดนีเซียศุกร์นี้ (21 กันยายน 2553)”

รากเหง้าความขัดแย้ง

แม้ความเห็นของนายคณิตที่พยายามตอกย้ำว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องเสียสละเพื่อชาติเพราะเป็นต้นเหตุสำคัญของวิกฤตนั้น แต่รายงานของ คอป. กลับไม่พูดถึงกลุ่มผู้มีบารมี ไม่ว่าจะเป็นองคมนตรีหรือตุลาการระดับสูงที่พบกันที่บ้านนายปีย์ มาลากุล เจ้าของสื่อใหญ่ที่ใกล้ชิดสถาบัน ก่อนเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่ง “วิกิลีกส์” เว็บไซต์จอมแฉชื่อดัง ได้เปิดเผยเอกสารหลายฉบับของสถานทูตสหรัฐที่พูดถึงการเมืองไทย โดยเฉพาะบุคคลระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารและการอยู่เบื้องหลังกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในการล้มรัฐบาลทักษิณ
แม้รากเหง้าความขัดแย้งส่วนหนึ่งมาจาก พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด หรือไม่ใช่เป็นต้นเหตุที่แท้จริง แต่เป็นการสูญเสียผลประโยชน์ทางการเมืองของหลายกลุ่มที่ไม่พอใจ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งในรายงานของ คอป. และนายคณิตก็ไม่พูดถึงหรือไม่กล้าพูด โดยเฉพาะกระบวนการ “ตุลาการภิวัฒน์” ที่นายคณิตยอมรับว่าทำให้กระบวน การยุติธรรมเสื่อม แม้แต่ศาลก็เกิดวิกฤตศรัทธาเพราะคำว่า “ความยุติธรรม 2 มาตรฐาน”

License to kill

ด้าน น.ส.จารุพรรณ กุลดิลก ที่ร่วมกับ น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล และ นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แสดงความไม่ยอมรับรายงาน คอป. โดยฉีกรายงานของ คอป. กลับถูกนายคณิตย้อนถามว่าเป็นผู้ใหญ่เพียงพอหรือไม่ โดยเฉพาะคนที่เป็น ส.ส. ต้องยึดหลักจริยธรรมทางการเมือง ทำให้ น.ส.จารุพรรณโพสต์ข้อความโดยยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ไอร์แลนด์เหนือที่มีการจัดกิจกรรมการฉีกรายงานของ Lord Wid gery หัวหน้าคณะกรรมการอิสระค้นหาความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ Bloody Sunday วันที่ 30 มกราคม 1972 ที่ทหารอังกฤษใช้อาวุธสงครามสลายการชุมนุมของผู้ชุมนุมที่เรียกร้องสิทธิเสรี ภาพ และทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นรัฐบาลอังกฤษได้ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อค้นหาความจริงขึ้น และกล่าวหาว่าผู้ชุมนุมติดอาวุธ ทำให้เกิดความชอบธรรมแก่ทหารในการใช้อาวุธสงครามปราบปรามผู้ชุมนุม
แต่รายงานดังกล่าวเป็นต้นเหตุให้เกิดความขัดแย้งในไอร์แลนด์เหนือตลอด 38 ปี จนกระทั่งมีคณะกรรมการอิสระชุดใหม่และพิสูจน์ว่าผู้ชุมนุมไม่มีการติดอาวุธและไม่ได้เป็นผู้ก่อการร้ายอย่างที่รายงานของ Lord Widgery กล่าวหา รายงานของ คอป. จึงเปรียบได้กับ “ใบอนุญาตฆ่า” (License to kill) ที่ทำการฟอกขาวให้กับฝ่ายปราบปราม ซึ่งจะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าหากให้ความชอบธรรมกับ “ใบอนุญาตฆ่าคนมือเปล่า”
   “เราไม่อยากให้ประเทศไทยเป็นแบบไอร์ แลนด์เหนือ และเราไม่จำเป็นต้องรอถึง 30-40 ปี เพื่อเรียนรู้บทเรียนอันเจ็บปวดและสูญเสียพี่น้องในประเทศไปมากกว่านี้ สุดท้ายหากเราฉีกรายงานที่ไร้มนุษยธรรมช้าเกินไป ประเทศเราก็จะอยู่ในวังวนของความขัดแย้ง ไม่ต่างจากกรณี Bloody Sunday ที่โด่งดังไปทั่วโลก...ฉีกความลวงกันเถอะ ก่อนที่จะสายเกินไป...Tear down the Lies”

ความจริง 2 ด้าน

จึงน่าเสียดายช่วงเวลา 2 ปีของ คอป. ทั้งที่มีข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปมขัดแย้งเพื่อนำไปสู่การสร้างความปรองดองก็ตาม แต่การให้น้ำหนักความรุนแรงกลับไปเน้นที่ประเด็น “ชายชุดดำ” จนทำให้ รายงานของ คอป. แทบไม่มีความหมาย เหมือนเหรียญที่มี 2 ด้าน แต่ คอป. พยายามให้ความจริงด้านเดียว จนความจริงอีกด้านเบาหวิว ไม่ต่างกับ “ความยุติธรรม 2 มาตรฐาน” ที่ คอป. เสนอให้มีการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
แม้แต่ความเห็นของนายคณิตที่ระบุกรณีศาลรัฐธรรมนูญในคดีซุกหุ้นว่าเป็นการแทรกแซง “อำนาจตุลาการ” แต่ คอป. กลับไม่พูดถึงเหตุการณ์อีกมากมายที่ใช้ “อำนาจตุลาการ” หรือ “ตุลาการภิวัฒน์” เป็นเครื่องมือทางการเมืองผ่านคณะกรรม การหรือองค์กรอิสระต่างๆ รวมถึงการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่ทำลายประชาธิปไตยและระบบนิติรัฐ นิติธรรมอย่างสิ้นเชิง
เหมือนที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ พยายามตอกย้ำวาทกรรม “ขอคืนพื้นที่” และ “กระชับวงล้อม” ว่าไม่ใช่การสลายการชุมนุม และไม่เคยสั่งให้ทหารฆ่าใคร จึงไม่มีความผิด ขณะที่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ก็โหมประโคมข่าวถ้ามีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐและ “ผู้สั่งการ” จะมีประชาชนออกมาชุมนุมใหญ่ ทั้งที่ยังไม่มีการตั้งข้อหาแม้แต่คดีเดียว แม้นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบ ดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้สัมภาษณ์ว่าอาจมีการตั้งข้อหา “ฆ่าคนตายโดยเจตนา” กับ “ผู้สั่งการ” และ “ผู้มีอำนาจสูงสุด” ก็ตาม ซึ่งที่ผ่านมาดีเอสไอยังไม่มีการดำเนินคดีกับฝ่ายการเมืองหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ขณะที่แกนนำและแนวร่วม นปช. ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีไปแล้วถึง 213 คดี

ความจริงวิบัติ

แม้แต่นาวี พิลเลย์ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่ คอป. อ้างว่าชื่นชมรายงานของ คอป. ว่าเป็นก้าวสำคัญในการได้มาซึ่งความ โปร่งใสและการปรองดองในภาคส่วนต่างๆของสังคมไทย ก็ผิดหวังที่รายงานของ คอป. ไม่ระบุ “ผู้กระทำความผิด” กับ “การใช้ความรุนแรง” ทั้งที่มี หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์หนักแน่น จึงเรียกร้องให้หาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษอย่างเร่งด่วน
“การนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษไม่เพียงแต่จะสร้างหมุดหมายสำคัญให้กับประเทศไทย แต่ยังมีความหมายสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย” ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนฯกล่าว โดยเฉพาะข้อเสนอที่ทำให้กองทัพเป็นกลางทาง การเมือง ทำให้ตุลาการเป็นอิสระมากขึ้น และการปฏิรูปกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพื่อพิทักษ์เสรีภาพทางการแสดงออกในไทย
ขณะที่นายธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ยอมรับว่ารายงานบางส่วนของ คอป. ที่มีคำแนะนำนั้นควรยกย่อง แต่ส่วนที่กล่าวถึงความรุนแรงกลับล้มเหลวอย่างน่าสังเวช เพราะชี้นำด้วยอคติ ซึ่งมีกรรมการของ คอป. หลายรายที่สนับสนุนการทำรัฐประหารในปี 2549 องค์กรสิทธิมนุษยชนจึงควรใช้ความระมัดระวังก่อนที่จะรับรองรายงานฉบับนี้
ส่วนนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า รายงานของ คอป. เป็นการยืนยันว่าขณะนี้สังคมไทยยังอยู่ในภาวะวิกฤต คือไม่มี “จุดร่วมตรงกลาง” ไม่ว่าจะ เป็นบุคคล องค์กร หรือกลไกที่จะ “อยู่ตรงกลาง” ที่ทุกฝ่ายยอมรับ หรือพูดอีกอย่างคือมาถึงจุดที่ไม่สามารถหา “ฉันทามติ” หรือ consensus ในเรื่องใดที่สำคัญๆได้แล้ว
วัตถุประสงค์ของ คอป. ระบุชัดเจนว่า “ค้นหาความจริงเพื่อนำไปสู่การปรองดอง” แต่รายงานของ คอป. ที่ยืนยันว่าทำดีที่สุดแล้วและเป็น “ความจริงที่เชื่อถือได้” นั้นไม่ใช่ “ความจริงที่สุด” และ “ความจริงทั้งหมด” โดยเฉพาะประเด็นการใช้ความรุนแรงที่กลายเป็น “ความจริงสีดำ” ของ “ชายชุดดำ” มากกว่า “ความจริงสีขาว” ที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ
รายงานของ คอป. จึงเป็น “ความจริงวิบัติ” ที่กลายเป็นข้อแก้ตัวให้ ศอฉ. และรัฐบาลอภิสิทธิ์ เหมือน “ใบอนุญาตฆ่า” ที่สร้างความชอบธรรมให้ “คนสั่ง-คนฆ่า” นั่นเอง !