ศาลไต่สวน "คดีชาติชาย ชาเหลา"

ข่าวสด 31 ตุลาคม 2555 >>>


เมื่อเวลา 09.30 น. วันเดียวกัน ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลนัดไต่สวนคำร้องชันสูตรศพ คดีหมายเลขดำ ช.6/2555 ที่พนักงานอัยการ สำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรสาเหตุการเสียชีวิตของ นายชาติชาย ชาเหลา ที่ถูกยิงเสียชีวิต เมื่อคืนวันที่ 13 ต.ค. 2553 บริเวณหน้าบริษัท กฤษณา มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ถ.พระราม 4 ตรงข้ามสวนลุมพินี ในช่วงกระชับพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ สมัยที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี
พ.ท.กิตติพงศ์ เนื่องชมพู ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 8 ค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา พยานปากที่ 1 เบิกความว่า ช่วงที่มีการชุมนุมตนได้รับคำสั่งให้มาประจำอยู่ที่กรมทหารราบที่ 11 ในวันที่ 9 เม.ย. 2553 ก่อนมีคำสั่งขอเพิ่มกำลังมาช่วยอำนวยความสะดวกในช่วงกลางวัน และรักษาความปลอดภัยช่วงกลางคืน โดยตั้งด่านแข็งแรงบริเวณสะพานลอย ถ.พระราม 4 ห่างจาก ศาลาแดง ซ.1 ประมาณ 30 เมตร

พ.ท. อ้างทหารถูกกวนด้วยตะไล

พ.ท.กิตติพงศ์ เบิกความต่อว่า วันที่ 13 พ.ค. 2553 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ ตนนำกำลังตั้งด่านตั้งแต่เวลา 06.00 น. ของวันที่ 13 พ.ค. จนถึงเวลา 06.00 น. ของวันที่ 14 พ.ค. รวม 24 ช.ม. โดยอาวุธประจำกายของทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในตอนนั้น ประกอบด้วย ปืนลูกซอง ปืนพก ปืนเอ็ม 16 และปืนเอชเค แต่ไม่มีการจำหน่ายกระสุนจริง โดยช่วงเช้าเหตุการณ์บริเวณ ถ.พระราม 4 ปกติเรียบร้อยดี และช่วงกลางคืนวันที่ 13 เหตุการณ์ก็ไม่ได้มีอะไรรุนแรง นอกจากช่วงเวลาประมาณ 21.00 น. ทหารเริ่มได้รับการก่อกวนจากผู้ชุมนุม โดยมีรถซาเล้งขับมายังรั้วลวดหนามของเจ้าหน้าที่ และพยายามรื้อออก ขณะเดียวกันผู้ชุมนุมบางส่วนเริ่มตั้งด่านบริเวณสะพานไทย-เบลเยียม เมื่อตนทราบจึงสั่งการให้ทหารตะโกนไล่ออกไป แต่ผู้ชุมนุมก็ยังไม่ไป จึงสั่งการให้ทหารนายหนึ่งยิงปืนลูกซองขึ้น 2 ชุด เพื่อให้รู้ว่าบริเวณดังกล่าวมีทหารอยู่ไม่ให้ก่อกวน และเป็นเพียงการยิงกระสุนยางเท่านั้น ซึ่งผู้ชุมนุมได้ล่าถอยไป แต่ไม่นานก็เริ่มก่อกวนด้วยเสียงตะไล บั้งไฟ คล้ายเสียงปืน แต่ทหารรู้ว่าไม่ใช่ปืนแน่นอนจึงถอยกลับเข้าจุด จากนั้นประมาณ 23.00 น. ผู้ชุมนุมจึงหยุดการก่อกวนและถอยออกไป

ทราบมีผู้ถูกยิงตายก็4เดือนให้หลัง


พ.ท.กิตติพงศ์ เบิกความอีกว่า การปฏิบัติหน้าที่ในคราวนี้เป็นการปฏิบัติตามหลักอย่างเคร่งครัด 7 ขั้นตอน ซึ่งตนปฏิบัติเพียงการแสดงกำลังเพื่อให้รู้ว่าทหารมีจำนวนมาก พร้อมกับยืนยันว่าในขอบเขตความรับผิดชอบของตนไม่มีการใช้กระสุนจริงเด็ดขาดเป็นกระสุนยางทั้งหมด แม้ว่าจะมีอาวุธประจำกายตลอดเวลา แต่กระสุนไม่ได้ประจำกายตลอดเวลาด้วย เพราะขึ้นอยู่กับคำสั่งของผู้บังคับกองพัน และในวันเกิดเหตุตนไม่ทราบว่ามีผู้ถูกยิงเสียชีวิต มาทราบเมื่อเวลาผ่านไป 4 เดือนแล้ว เนื่องจาก พล.ม.2 เรียกประชุม และแจ้งว่ามีผู้เสียชีวิตในพื้นที่ความรับผิดชอบของตน ซึ่งตนไม่ทราบว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะในคืนที่เกิดเหตุบริเวณ ถ.พระราม 4 ที่ตนดูแลอยู่ไม่มีเหตุรุนแรง มีเพียงการยิงขู่แสดงสัญลักษณ์ให้ผู้ชุมนุมรู้ว่ามีทหาร และไม่ได้ใช้กระสุนจริง

"เทือก" เบิกความอ้างก่อการร้าย

ต่อมาเวลา 13.50 น. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ในฐานะผู้อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) พยานปากที่ 2 เบิกความว่า การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ในปี 2553 เพื่อต้องการขับไล่รัฐบาลให้นายอภิสิทธิ์ขณะนั้นลาออก หรือยุบสภา เป็นการชุมนุมที่แตกต่างจากการชุมนุมปี 2552 เพราะมีการก่อการร้ายคู่ขนานกับการชุมนุมด้วย ได้แก่ การใช้อาวุธปืนยิงตามธนาคาร ที่ทำการของรัฐ ใช้อาร์พีจียิงที่เก็บน้ำมันเครื่องบิน ใช้ระเบิด อาวุธสงครามปืนเอ็ม 16 เข่นฆ่าทหาร และประชาชน
กระทั่งวันที่ 7 ต.ค. 2553 นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง และนายยศวริศ ชูกล่อม แกนนำ นปช. นำผู้ชุมนุมบุกเข้ารัฐสภา ทำร้ายเจ้าหน้าที่ และแย่งอาวุธปืน ก่อนบุกเข้ามาที่ห้องอาหารรัฐสภาเพื่อจับตน จากเหตุดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการที่คณะรัฐมนตรีมีมติประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และตั้ง ศอฉ. ในค่ำวันดังกล่าว เพราะเห็นว่าไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งให้ตนเป็น ผอ.ศอฉ. รับผิดชอบดูแล กำกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
ดังนั้นคำสั่งทั้งหมดตั้งแต่ คำสั่งที่ 1/2553 ตนจึงเป็นผู้ที่เซ็นคำสั่งทั้งหมด โดยยึดหลักสากลจากเบาไปหาหนัก มีโล่ กระบอง แก๊สน้ำตา รถฉีดน้ำ และปืนลูกซองที่ใช้กระสุนยาง เป็นเครื่องมือในการควบคุมฝูงชน ซึ่งใช้กำลังทหารกว่า 2 หมื่นคน ในส่วนของการออกคำสั่งจะมีบันทึกข้อความที่ตนเซ็นสั่งการ โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติจะมีคำสั่งต่อทางวิทยุ หากไม่ได้รับคำสั่งจาก ศอฉ. จะไม่สามารถปฏิบัติการใดๆ ได้

เขตใช้กระสุนจริงขู่ให้ม็อบกลัว

นายสุเทพเบิกความต่อว่า แต่หลังจากเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. 2553 คนร้ายที่ปะปนมากับกลุ่มผู้ชุมนุมยิงเจ้าหน้าที่ และประชาชนเสียชีวิต ศอฉ.จึงมีนโยบายให้ทุกหน่วยป้องกันไม่ให้มีการปะทะระยะประชิด และไม่ให้เผชิญหน้ากับผู้ชุมนุม จึงมีคำสั่งตั้งด่านแข็งแรงด้วยวัตถุ ประสงค์ไม่ต้องการให้เข้าถึงตัวเจ้าหน้าที่ และทำป้ายห้ามผ่านเด็ดขาด แต่ตนได้รับรายงานภายหลังว่าบางจุดเจ้าหน้าที่กลับเขียนป้ายว่าเขตใช้กระสุนจริง ซึ่งตนเข้าใจว่าเพื่อขู่เตือนประชาชนไม่ให้บุกฝ่าเข้ามายังเขตห้ามผ่านเด็ดขาด โดยอนุญาตให้ใช้ปืนพก และปืนเอ็ม 16 ได้ แต่ไม่อนุญาตให้ใช้ปืนเอ็ม 79 เด็ดขาด ขณะที่กระสุนก็มีทั้งกระสุนจริง และกระสุนซ้อม ซึ่งตนเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ได้เบิกกระสุนแล้ว ซึ่งสาเหตุที่อนุญาตให้ใช้ปืนกล เนื่องจากให้เจ้าหน้าที่ได้คุ้มครองตัวเอง และประชาชน หลังเกิดเหตุการณ์ 10 เม.ย. 2553 ซึ่งเป็นไปตามหลักสากล โดยอัยการสูงสุดทำบันทึกรายงานเสนอต่อศอฉ.ว่าหากมีการก่อการร้ายรัฐบาลก็มีสิทธิมีอำนาจใช้อาวุธเพื่อป้องกันเหตุร้าย

อ้างรู้ทีหลังมีตาย-ไม่รู้ใครทำ

นอกจากนี้ คำสั่ง ศอฉ. ยังสั่งเจ้าหน้าที่ให้เฝ้าระวังในพื้นที่สูงข่มเพื่อป้องกันการโจมตีในระยะไกล หรือกระสุนวิถีโค้ง โดยส่งเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่ข่มสูงที่อยู่ใกล้กับจุดที่เจ้าหน้าที่ตั้งด่าน ซึ่งไม่ใช่การซุ่มยิง ส่วนการเสียชีวิตของนายชาติชาย ตนได้รับทราบภายหลัง และไม่รู้ว่าขณะที่นายชาติชายถูกยิงอยู่ในลักษณะใด และใครเป็นผู้กระทำ
ภายหลังการไต่สวนเสร็จสิ้น นายณัฐพล ปัญญาสูง ทนายความผู้เสียหาย กล่าวว่า การเบิกความของพยานในวันนี้เหมือนกับที่เคยให้การในชั้นพนักงานสอบสวนไว้แล้ว หลังจากนี้คดีของนายชาติชาย จะเหลือการไต่สวนอีกเพียง 1 นัด คือ วันที่ 14 พ.ย. 2555 โดยมีนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช. มาเป็นพยานในการเบิกความก็จะเสร็จสิ้น จากนั้นเป็นการรอคำสั่งศาลว่านายชาติชายเสียชีวิตจริง และเกิดจากการกระทำเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่