เมื่อเช้าวันที่ 5 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลปกครองกลางมีการพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 1569/2552 ระหว่าง นายชิงชัย อุดมเจริญกิจ กับพวกรวม 250 คน ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ผู้ถูกฟ้องที่ 1 และสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องที่ 2
จากกรณี เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ได้มีคำสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่บริเวณหน้าอาคารรัฐสภ ถ.อู่ทองใน บริเวณถนนพิชัย บริเวณถนนสุโขทัย บริเวณกองบัญชาการตำรวจนครบาล บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าและบริเวณใกล้เคียงท้องที่เขตดุสิต จนเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก
ศาลปกครองกลางพิเคราะห์แล้วจากข้อเท็จจริงพบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อาวุธร้ายแรงเข้าสลายการชุมนุมโดยไม่ปฏิบัติตามหลักการสลายการชุมนุมที่กำหนดไว้ว่า จะต้องดำเนินการจากเบาไปหาหนัก ไม่ปฏิบัติตามหลักการใช้อาวุธร้ายแรงที่ยิงใส่ประชาชนโดยตรง ทั้งมีการยิงใส่รถพยาบาลที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ชุมนุม ไม่มีการเตรียมรถพยาบาล หรือให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ชุมนุมที่บาดเจ็บ ภายหลังการสลายการชุมนุม ประกอบกับผลการทดสอบระเบิดมีผลต่อร่างกายร้ายแรง และจากถ้อยคำของสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ไม่เกี่ยวข้องและให้ถ้อยคำในทันทีทันใด ถือเป็นถ้อยคำที่เชื่อถือได้ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ปฏิบัติตามหลักของแผนกรกฎ ข้ออ้างตำรวจจึงมิอาจรับฟังได้ถือว่า เป็นการละเมิด
สำหรับการชดเชย ศาลกำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 จ่ายค่าชดเชย โดยแบ่งเป็นค่ารักษาพยาบาลที่ผู้ฟ้องจ่ายจริง ค่าประกอบอาชีพไม่ได้และค่าเสียหายอื่นๆ
อนึ่ง วันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม 2555 ในวาระครบรอบ 4 ปี เหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะจัดพิธีทำบุญตักบาตรเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวและวีรชนผู้สูญเสีย บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ตั้งแต่เวลา 06.00-09.30 น.
วันเดียวกัน ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นพ.เหวง โตจิรากา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยและแกนนำ นปช. เข้าพบ พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจและประชาชน 91 ศพ เพื่อให้ปากคำถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมในวันที่ 19 พ.ค. 2553 พร้อมนำภาพถ่ายชายชุดดำที่อ้างว่าแฝงตัวอยู่ในกลุ่มทหารเข้ามาสร้างสถานการณ์โยนผิดให้กลุ่มเสื้อแดง มอบให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ
นพ.เหวง โตจิราการ กล่าวว่า ตนได้ยื่นหนังสือให้ดีเอสไอเรียก นายคณิต ณ นคร ประธาน คอป. และนายสมชาย หอมละออ ประธานอนุกรรมการ คอป. มาสอบสวนถึงการสรุปรายงานเรื่องชายชุดดำว่า คอป. มีหลักฐานอะไรบ้าง หรือเป็นหลักฐานยุคอดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ไม่มีใครยืนยันได้ว่า ใครถ่ายได้ วันเวลาเท่าไหร่ ที่ไหน ต้องถือว่าภาพต่างๆ ที่อดีตนายกฯ เสนอต่อสาธารณะ มีจุดมุ่งหมายการเมืองแฝงเร้น เพื่อให้มีเหตุผลว่ามีชายชุดดำ เพื่อสั่งให้ทหารฆ่าพวกตน ดังนั้น หลักฐานจึงรับฟังไม่ได้ แต่ คอป. ได้ระบุใน 36 หน้าว่า มีชายชุดดำ แต่ตนดูแล้วไม่มีหลักฐานอ้างอิง ที่อ้างว่ามีชายชุดดำวิ่งหน้ากำแพงวัดปทุมวนาราม ตนจึงเอาภาพถ่ายมายืนยัน
ส่วนที่บอกว่ามีรอยที่ขอบรางรถไฟฟ้าบีทีเอส และพยายามวิเคราะห์ว่า เป็นรอยกระสุนเอ็ม 16 นั้น ถือว่าจงใจที่จะสร้างความชอบธรรมให้ทหารที่อยู่บนรางรถไฟฟ้าที่ยิง 6 ศพ วัดปทุมฯหรือไม่ เพราะ คอป. ระบุชัดว่า ชายชุดดำฆ่า 9 ศพและการ์ด นปช. อำนวยความสะดวกให้ ตนขอหลักฐานด้วย วันนี้ตนจะมอบภาพชายชุดดำที่พยายามไปแย่งร่างกาย เสธ.แดง ที่ถูกยิงอยู่ในอาการโคม่า และภาพชายชุดดำที่แฝงตัวเข้ามาสร้างสถานการณ์โยนความผิดให้กลุ่มเสื้อแดง ตนขอตั้งข้อกล่าวหากลับว่าชายชุดดำที่ปรากฏตัวต่างๆ น่าจะเป็นชายชุดดำ ที่อดีตรัฐบาลดำเนินการให้มีหรือไม่ หรือมีการสั่งการให้ปลอมเป็นชายชุดดำหรือไม่
ด้าน พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีดีเอสไอ กล่าวถึงความคืบหน้าการสอบสวนคดี 91 ศพว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างสอบปากคำทหารชุดปฎิบัติการและตรวจสอบรายชื่อของทหาร คงต้องใช้เวลาเพราะมีทหารเป็นหมื่นคนและมีการสับเปลี่ยนกำลังไปพักตลอดเวลา จึงยังไม่สามารถระบุรายละเอียดในการปฎิบัติหน้าที่ของทหารในแต่ละชุดในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้ในขณะนี้ ส่วนการวาดแผนผังกำลังทหารที่ประจำในแต่ละชุดในช่วงสลายการชุมนุมจะให้เอกชนที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาวาดแผนที่ เพื่อแสดงความเชื่อมโยงทั้งหมด
ผู้สื่อข่าวถามว่า จำเป็นต้องสอบปากคำ พล.อ.อนุพงษ์ เผาจินดา อดีต ผบ.ทบ .และนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ในฐานะกรรมการ ศอฉ. หรือไม่ พ.ต.อ.ประเวศน์ กล่าวว่า ตามความเห็นส่วนตัวของตนเห็นว่า ยังจำเป็นต้องสอบปากคำทั้ง 2 ท่าน เพราะมีส่วนออกมติของ ศอฉ. และเป็นผู้ที่ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม อย่างไรก็ตาม คงหารือกับพนักงานสอบสวนคดีสลายการชุมนุมอีกครั้ง เบื้องต้นอาจจะสอบปากคำพนักงานสอบสวนคดีก่อการร้ายก่อน เพราะในสำนวนคดีก่อการร้ายยืนยันว่า มีชายชุดดำ